Web2.0 ถึงยุคแบ่งปัน

เส้นแบ่งยุคของเว็บเกิดขึ้นแล้วนับจากนี้ไป จากเว็บยุคที่ 1 ที่เน้นสื่อสารทางเดียว ที่เจ้าของเว็บเป็นผู้ผลิตเนื้อหา กำลังถูกแทนที่ด้วยเว็บยุคที่สอง หรือ “Web 2.0” “ซึ่งเป็นยุคที่ทุกคนมีส่วนร่วม เกิดเป็นสังคมใหม่ๆ ในโลกออนไลน์ที่แบ่งปันกันมากขึ้น หรือที่เรียกว่า “social network”

จตุภูมิ สุทธสาร General Manager บริษัท Proximity ในเครือ BBDO หนึ่งในผู้ที่คร่ำหวอดทั้งงานการตลาดทั่วไปและการตลาดผ่านอินเทอร์เน็ต ขยายความให้กองบรรณาธิการนิตยสาร POSITIONING ฟังว่า Web2.0 นั้น ไม่ใช่เรื่องทางเทคนิค แต่เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เว็บของคนยุคนี้และยุคต่อไป

เว็บต้องไม่เป็นแค่ Brochure…
เว็บรุ่นก่อนๆ อาจเรียกได้ว่าเป็น “Brochureware” คือจัดเตรียมสำเร็จไว้ให้ผู้ใช้เปิดมาแล้วอ่านๆ ๆ สื่อสารทางเดียว โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ก็มาจากเจ้าของเว็บ

แต่เมื่อข้อมูลข่าวสารปะปนกับคำโฆษณาและข่าว PR อย่างล้นหลาม ผู้คนเริ่มเฉยชากับเนื้อหาออนไลน์แบบเดิมๆ นี้ หันไปสนใจความคิดเห็นต่างๆ นำไปสู่ยุค “Attention Economy” ที่ใครเรียกร้องความสนใจได้มากกว่าจะเป็นผู้ชนะ มิใช่ใครให้ข้อมูลมากกว่า

เมื่อผู้ฟังคุยกันเอง…
จตุภูมิชี้ชัดจุดสำคัญของยุค Web2.0 ว่า แต่เดิมใน “Web1.0” หรือเว็บยุคเก่านั้น เราเข้าถึง Information โดยตรง แต่ใน Web2.0 เราจะได้เข้าถึงตัวตนของผู้บอกเล่าก่อน แล้วถึงจะเข้าถึง Information ผ่านมุมมองของคนๆ นั้น ซึ่งอาจจะเป็นคนเขียนบล็อก เจ้าของอัลบั้มรูปออนไลน์ เจ้าของอัลบั้มรวมคลิป หรือเจ้าของ Space ที่รวมทุกอย่างข้างต้นไว้ด้วยกัน

พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวกันอย่างโดดเดี่ยว แต่จะมีการโยงใยเชื่อมต่อและแนะนำกันเป็นกลุ่มๆ เกิดสิ่งที่เรียกกันในยุคนี้ว่า “Social Network” ของ “ผู้ฟัง” คุยกับ “ผู้ฟัง” ด้วยกันเอง และเชื่อถือกันเอง มากกว่าฟังจากโฆษณาอย่างเทียบกันไม่ได้

ตัวอย่างง่ายๆ เช่นเมื่อเราจะซื้อสินค้าราคาแพง เราย่อมเชื่อเพื่อนที่เคยใช้แล้วมาบอกเล่ามากกว่าโฆษณา การรีวิวสินค้าในหมู่ผู้สนใจตามเว็บบอร์ด เว็บบล็อกต่างๆ จึงมีอิทธิพลกว่าโฆษณา

แค่ Webboard ยังไม่เป็น 2.0…
แม้การ “คุยกันเอง” จะมีมานานแล้วตามเว็บบอร์ดต่างๆ และเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นกระทู้จากผู้อ่าน แต่ว่าความเห็นทั้งหลายต่างที่ถูกส่งขึ้นมานั้น ไม่นานก็หายไป ไม่มีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ มีที่อยู่แน่นอนเฉพาะผู้เขียนคนนั้นๆ และยากที่จะเชื่อมโยงไปแสดงที่เว็บอื่นหลายๆ แห่ง (หากพูดภาษาเทคนิคคือไม่มี Blogroll, ไม่มี RSS feed, ไม่มีการ Tag ฯลฯ) เว็บบอร์ดจึงยังไม่ถูกนับเป็น Web 2.0

ในยุค Web2.0 การนำเนื้อหา ภาพ เสียง หรือวิดีโอง่ายและเสร็จได้ในไม่กี่นาที ไม่ต้องอาศัยความรู้ในการออกแบบเว็บหรือภาษา HTML แต่อย่างใด ไม่ว่าจะเขียน Blog, ทำอัลบั้มรูปหรือคลิป ก็มีเครื่องมือพร้อมแค่กดไม่กี่ขั้นตอนคล้ายการส่งเมล

ความง่ายและความสะดวกทั้งหมด เป็นหน้าที่หลักของเจ้าของเว็บยุค 2.0 ไม่ใช่หน้าที่จัดเตรียมเนื้อหาเหมือนยุคก่อนๆ แต่อย่างใด จตุภูมิเปรียบเทียบว่าในยุค Web2.0 นี้ เจ้าของเว็บก็เหมือน “เจ้าของหมู่บ้าน” ที่มีหน้าที่สร้างบ้านและจัดระบบท่อระบบต่างๆ ไว้ จากนั้นใครจะเลือกเข้ามาอยู่ จะตกแต่งอย่างไร ใช้ทำอะไรบ้าง ก็แล้วแต่เขาเหล่านั้นจะกำหนดกันเอง

แต่ในความง่ายก็ยังมีจุดที่น่าห่วงอยู่ เพราะมีผู้เชี่ยวชาญหลายคนในวงการเว็บโลกเริ่มออกมาติติงว่าการปล่อยให้ทุกอย่างกำหนดโดย User มากเกินไป ก็ทำให้เว็บอย่างเช่น youtube.com ดูไม่สวย ไร้ระเบียบ เข้าใจยาก ค้นหาข้อมูลยากขึ้นกว่าเว็บยุคเดิมที่ออกแบบและทดสอบอย่างรอบคอบมาก่อนโดยเจ้าของก่อนที่จะเผยแพร่

วัย “16 – 24” ครองโลก Web 2.0

ผลสำรวจภายในเอเยนซี่ยักษ์ BBDO เอง พบว่าผู้ใช้เว็บประเภท Web2.0 เช่น Blog หรืออื่นๆ ในเอเชีย ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 16 ถึง 24 ปี

นอกจากนี้ผลการสำรวจผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเอเชีย พบว่า ทุกคนมีส่วนร่วมในโลกของอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ทั้งการเป็นผู้ผลิต และผู้ดู โดยในจำนวนผู้ใช้เว็บ 2.0 จำนวน 100 คน จะมีผู้สร้างเนื้อหา เช่น เขียนบล็อกประจำอยู่ 1 คน และผู้ออกความเห็นในบล็อกเป็นประจำ 10 คน ที่เหลือ 89 จะเป็นผู้อ่านเพียงอย่างเดียว เขาเรียกกฎข้อใหม่ขึ้น เรียกว่า “กฎ 1%”

บล็อกคือเครื่องมือชิ้นใหม่ของงานโฆษณา

จตุภูมิ ยกตัวอย่างผลงานโฆษณา Air Newzealand ของ BBDO ระดับภูมิภาค โดยเลือกใช้ “บล็อก” มาเป็นสื่อในการโฆษณา ในการโปรโมต แอร์ นิวซีแลนด์ ให้ชาวจีนรู้จัก และเป็นทางเลือกใหม่ในการท่องเที่ยว นอกเหนือจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย

BBDO จึงเลือกว่าจ้างดาราดังขวัญใจชาวจีนไปเที่ยวนิวซีแลนด์ จากนั้นให้ดาราเหล่านี้เขียนบล็อกมาบอกเล่าการท่องเที่ยวแต่ละวันด้วยสำนวนแบบส่วนตัวเป็นกันเอง ปรากฏว่าสามารถสร้างกระแสให้แฟนๆ เข้ามาติดตามอ่านและซึมซับรู้ความน่าเที่ยวของนิวซีแลนด์อย่างได้ผล

อีกตัวอย่าง คือ Pepsi ในจีน ที่เปลี่ยนจากโฆษณาในทีวี มาเป็น “เว็บ” โดยให้ผู้อ่านเขียนพลอตเรื่องไอเดียโฆษณาทีวีตัวใหม่ของเป๊ปซี่ โดยมีแม่เหล็กคือพระเอกดัง เจย์ โชว มากระตุ้นให้แฟนๆ เขียนบทให้เขาแสดง แล้วแคมเปญนี้ก็ทะลุเป้าด้วยเวลาแค่เดือนเดียว ด้วยตัวเลขคนเข้าชมนับล้าน คนโหวต 3 แสนกว่าคน และคนส่งไอเดียเข้าร่วม 2 หมื่นคน นอกจากสร้างประสบการณ์แบรนด์ Pepsi ให้กลุ่มเป้าหมาย ยังได้ทำวิจัยทางการตลาด เก็บข้อมูลกลุ่มเป้าหมายไปด้วยในตัว

ลงท้ายจตุภูมิถึงกับฟันธงว่า “ยุคนี้และต่อๆ ไป Blog จะเป็นเครื่องมือ PR ที่ดีที่สุด แต่ไม่ใช่อย่างเดียว ควรต้องมีการ PR โปรโมตทางอื่นให้คนมารู้จัก Blog ด้วย นั่นคือใช้ Blog เป็นหัวใจ ใช้สื่ออื่นเป็นตัวเสริม”

จาก Web1.0 สู่ยุค Web2.0

เว็บรุ่นเก่านั้น Content มักเป็นลิขสิทธิ์ของเจ้าของเว็บ ที่ไม่ต้องการให้นำไปลงที่อื่น แต่ด้วยความเป็นเครือข่ายที่เปิดกว้างของ Web2.0 กติกานี้จึงเปลี่ยนไป เจ้าของเนื้อหากลับต้องการให้เนื้อหาของตัวเองแพร่หลายมากที่สุด เช่น Youtube ให้แปะ Code สั้นๆ แล้วนำคลิปไปฉายในเว็บใดก็ได้ หรือ Blog แทบทุกแห่งก็มี RSS ให้ผู้อ่านเข้าดูผ่านโปรแกรมอื่นๆ หรือเว็บอื่นๆ ได้

และนี่คือตัวอย่างของ รูปแบบของเว็บไซต์ ที่เปลี่ยนจาก Web1.0 ไปสู่ยุค Web2.0

Web1.0
doubleClick.com ระบบแปะแบนเนอร์โฆษณาตายตัว
ofoto.com เว็บอัลบั้มเก็บรูปออนไลน์แบบเก่า
akamai.com เว็บศูนย์กลางรับฝากไฟล์ให้ดาวน์โหลด
britannica.com จับสารานุกรมมาออนไลน์ใส่เว็บ
Homepage ส่วนตัว ผู้เขียนต้องมีความรู้พื้นฐานการทำเว็บ และยากที่จะแบ่งปันส่งต่อเนื้อหาออกไป
แข่งกันจอง Domain Name ชื่อเว็บดีๆ ไว้เก็งกำไร

Web2.0
ogle Adsense ระบบโฆษณาเป็นลิงค์ตามแต่คำที่ผู้ใช้ค้นหา
flickr.com เว็บอัลบั้มเก็บและแชร์รูปออนไลน์ที่มีการโยงใยเป็นชุมชน ส่งต่อรูปกันง่าย
BitTorrent ระบบที่ผู้ใช้ต่างก็ดาวน์โหลดไฟล์จากกันและกันเอง
wikipedia.com เว็บสารานุกรมที่ผู้ใช้บัญญัติคำกันเอง ให้ความหมายกันเอง และแก้ไขคำของคนอื่นได้ตลอดเวลา
Blog เขียนง่าย ใส่รูป เสียง คลิปได้ง่ายๆ เหมือนส่งเมล เผยแพร่ส่งต่อได้กว้างขวาง
SEO (Search Engine Optimization) ลงทุนกับเทคนิคทำให้ลิงค์เว็บบริษัทตัวเองได้อยู่หน้าแรกบนๆ ใน Google, เสิร์ชอื่นๆ