ซัมซุงสร้างแบรนด์ผ่านหนังรักซึ้ง

เครื่องไฟฟ้าไม่ว่าชนิดไหน ก็ล้วนผูกติดเข้ามาในชีวิตประจำวันของคนเมืองยุคนี้ ยิ่งถ้าเป็นแบรนด์ที่มีเครื่องไฟฟ้าแทบจะครบทุกอย่าง ตั้งแต่มือถือ โน้ตบุ๊ก เครื่องดูดฝุ่น ไปถึงตู้เย็น ล่ะก็ การทำหนัง 90 นาทีสักเรื่องอาจจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ในการนำเสนอสินค้าทั้งหมดและสร้างประสบการณ์เกี่ยวกับแบรนด์ให้ลูกค้าได้จดจำ ที่สำคัญเป็นหนังที่ฉายเฉพาะในเว็บไซต์เท่านั้น

สปอตโฆษณาในทีวี อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดอีกต่อไปแล้ว เมื่อคนใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับคนใช้เวลาดูทีวีน้อยลง แถมการทำหนังโฆษณาบนเน็ตก็ถูกแสนถูก เทียบไม่ได้กับสปอตทีวี แค่นาทีเดียวก็ต้องจ่ายหลายแสน ปัญาหาอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรที่จะดึงคนมาให้รับรู้

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ทำให้ วรุตม์ เหลืองวัฒนากิจ Senior Account Manager บริษัท New Media ตีโจทย์ของ “ซัมซุง” ซึ่งมีสินค้าหลากหลาย ออกมาเป็นหนังชุดซีรี่ส์ทางเว็บไซต์ หรือที่เรียกว่า “Webizode” โดยร่วมคิดร่วมทำกับ Account Executive ผู้ช่วย คือ ภัทรา มั่นพิริยะกุล

“การที่คนอยู่ในเว็บเรานานๆ ดู Content ใช้เวลารับเนื้อหา Content จากเราจริงจัง มันทำให้เกิด Brand Exposure สร้างประสบการณ์ติดตรึงแบรนด์เข้าไป มีอะไรก็จะนึกถึง Samsung ซึ่งโจทย์ที่ซัมซุงให้มาคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้คนอยู่ในเว็บนานๆ เพราะเดิมในเว็บซัมซุงนั้น ผู้ใช้ก็เพียงแต่เข้ามาดูสเปคสินค้า อ่านคู่มือใช้งาน ไม่นานก็ปิดออกไป ไม่เกิดการฝังแบรนด์ลงในใจ” วรุตม์เริ่มเล่าที่โจทย์ของลูกค้าคือซัมซุง

“วิดีโอคลิปกำลังเป็นสื่อที่มาแรงบนอินเทอร์เน็ต ก่อนนี้เราสร้างเกมวิดีคลิปที่เรียกว่า VDO Interactive ให้ Axe มา ได้ผลตอบรับน่าพอใจ”

แรงบันดาลใจของงานนี้ ได้มากจาก Webizode ในต่างประเทศ 2 ชิ้น คือ “High” ของ BMW ซึ่งเป็นเรื่องของคนขับรถอาชีพ ที่ขับรถให้กับบุคคลสำคัญต่างๆ แล้วต้องฝ่าฟันภยันตรายหลายครั้ง แต่ละตอนสั้นๆ 3 – 5 นาที ผลัดเปลี่ยนกันโดยผู้กำกับดังหลายๆ คน และแน่นอน รถที่พระเอกขับคือ BMW

และอีกชิ้นคือ “Hana & Alice” ของช็อกโกแลต Kitkat ซึ่งเนื้อหาไม่เกี่ยวกับตัวสินค้าเลย แต่เป็น 2 สาวที่ชอบหนุ่มคนเดียวกัน แบ่งเรื่องเป็น 4 ตอน 4 ฤดูฉายทั้งปี โดยฉากในเรื่องแบ่งตามฤดูจริง สิ่งเดียวที่โยงซีรี่ส์เรื่องนี้เข้ากับ Kitkat ก็แค่ว่าต้องเข้าไปดูในเว็บของคิตแคตเท่านั้น

“มีฉากเดียวในเรื่องที่มีสินค้ามาให้เห็น เป็นบัลลูนที่มีตรา Kitkat ลอยเป็นฉากหลัง” ภัทราเล่าถึงความแปลกที่ Webisode ทำได้ เพราะตัวหนังอยู่ในเว็บสินค้าอยู่แล้ว

งบการผลิต 2 ล้าน และโปรโมต 1 ล้าน รวมเป็น 3 ล้านบาท ตัวเลขนี้จะสูงเป็นเกือบ 10 เท่าของเว็บโฆษณาทั่วไปบนอินเทอร์เน็ต แต่ยังถูกการทำสปอตโฆษณาทางทีวีมากเช่นกัน แม้แต่จะเทียบกับมิวสิกวิดีโอก็ยังถูกกว่ามาก เมื่อแลกกับการสามารถสร้างแบรนด์ในใจผู้ชมได้มากกว่า โดยเฉพาะสินค้าของซัมซุงที่มุ่งจับตั้งแต่คนหนุ่มสาว

วรุตม์ให้เครดิตทีมนี้ว่า “งานเสร็จทันกำหนดที่เร่งรัดมากๆ และประหยัดงบได้อย่างเหลือเชื่อสำหรับหนังยาว 90 นาทีและคุณภาพระดับนี้ด้วยงบผลิตเพียง 2 ล้านบาท เทียบกับมิวสิกวิดีโอเพลงไทย 4 นาทีที่ส่วนใหญ่ใช้ถึง 5 แสนบาท”

ซีรี่ส์เรื่อง “Read The Diary” จึงเกิดขึ้น โดยแบ่งเป็น 9 ตอนๆ ละ 10 นาที ฉายตอนละ 2 สัปดาห์ในเว็บ th.samsung.com โดยพูดไทยมี Subtitle อังกฤษ แต่เมื่อครบ 9 ตอนแล้วจะรวมเป็น DVD แจก

“ภาพในเรื่องนี้จะฟุ้งๆ สวยๆ แบบหนังรักเกาหลี” ภัทราเล่าพร้อมกับเสริมว่า ทั้งพระเอกนางเอกนั้นเป็นหน้าใหม่ไม่เคยแสดงละครแต่เล่นโฆษณามาหลายชิ้น ส่วนตัวประกอบอื่นๆ ก็เป็นหน้าใหม่ทั้งหมด รวมถึงตัววรุตม์เองด้วย แต่ทีมสร้างและผู้เขียนบทนั้นเป็นทีมงานอาชีพบริษัทอื่นที่มีผลงานทำมิวสิกวิดีโอให้แกรมมี่มาแล้วหลายชิ้น

สำหรับโฆษณาชักชวนหนุ่มสาวชาวเน็ตให้เข้ามาดูนั้น ใช้วิธีลง Banner โฆษณาตามเว็บดังๆ แทบครบทุกแห่ง แต่ที่เน้นหนักที่สุดคือ Banner ด้านล่างจอสนทนาสุดดังในไทย MSN Messenger ที่ดูแลการโฆษณาในไทยโดยบริษัท Impaq ในเครือเดียวกับ New Media นั่นเอง และหากผู้ชมลง Email ฝากไว้ ทุกครั้งที่ตอนใหม่ขึ้นมา ทางซัมซุงจะอีเมลไปบอกทันที

นอกจากการโปรโมต Online ก็ยังมี Offline Campaign โดยไปเปิดฉายตามร้านของ Samsung เองตามศูนย์การค้าต่างๆ สร้างกระแสดึงคนที่ไม่ค่อยใช้เน็ตให้มีโอกาสได้ลองดูและอยากติดตาม

ในบรรยากาศแนวหนังรักเกาหลี เนื้อเรื่องยังได้แรงบันดาลใจเล็กน้อยจาก Il Mare คือมีคู่รักที่ย้ายเข้าไปเช่าคอนโดหนึ่ง แล้วฝ่ายชายไปพบไดอารี่ของสาวน้อยอีกคนที่เป็นอดีตเจ้าของห้องที่เขียนไว้อย่างน่าสนใจ จนเขาติดตามอ่านทุกวันแทบจะทั้งวันไม่เป็นอันทำงานและไม่เป็นอันดูแลแฟนปัจจุบัน

“ฉากจะตัดสลับไปมาระหว่างสองยุค คือปัจจุบันกับสิบปีที่แล้ว ซึ่งตัวสินค้า Samsung ที่แทรก Tie in เข้ามาในฉากก็จะทำให้เห็นได้ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้างแล้วด้วย แต่ว่าเราก็ไม่เน้นจนน่าเกลียด จะไม่มีการมาสาธิตการใช้งานให้ดูแบบหนังโฆษณาแน่นอน เพราะเราจะเน้นที่เนื้อเรื่องมากกว่า ตัวสินค้าเป็นแค่บรรยากาศเสริม” วรุตม์อธิบายอย่างระมัดระวัง

เนื้อเรื่องที่ตัดสลับไปมาระหว่างสองยุคนั้นสุดท้ายจะขมวดจบอย่างไรต้องติดตามใน www.readthediary.com ซึ่งจะมีลิงค์โยงกับ samsung.com/th ด้วย

People
ภัทรา มั่นพิริยะกุล AE สาวแห่ง New Media เป็นนักแสดงละครค่าย X-Act ช่อง 5 ด้วยผลงานที่ผ่านมาทั้งใน “เป็นต่อ”, “ลอดลายมังกร” จนถึงปัจจุบันใน “หัวใจศิลา” ทางช่อง 5 เคยประกวดนางสาวไทยปี 2546 เข้ารอบ 20 คนสุดท้าย รุ่นเดียวกับชาลิศา บุญครองทรัพย์

Tips

การทำ Webisode
1. ความยาวเรื่องขนาดไฟล์ตอนหนึ่งๆ อย่ายาวเกินไป เพราะหากต้องโหลดนานผู้ใช้จะไม่รอ
2. ห้ามแฝงโฆษณาในเรื่องอย่างโจ่งแจ้ง จะทำให้ผู้ดูรู้สึกปฏิเสธ ทางที่ดีควรทำให้น้อยที่สุด แต่ให้ได้ผลแค่การสร้างแบรนด์หรือสร้างความคุ้นเคยก็พอ
3. ตั้งชื่อเรื่องอย่าให้เกี่ยวข้องกับตัวแบรนด์หรือสินค้า และควรตั้งเว็บเฉพาะของ Webisode เรื่องนั้นๆ แล้วค่อยทำลิงค์ไปยังเว็บของแบรนด์ เพราะหากต้องเข้าไปในเว็บแบรนด์เท่านั้นเพื่อดู Webisode ผู้ใช้จะรู้สึกว่าเป็นหนังโฆษณา ไม่อยากเข้า และจะไม่แนะนำส่งต่อๆ กัน

Did u know ?

“Webisode” ย่อจาก Web Episode คือหนังชุดที่มีลักษณะเหมือนหนังชุดทางโทรทัศน์เดิม แต่เปลี่ยนจากออกอากาศทางทีวี มาเป็นให้ดูผ่านเว็บทางระบบ Streaming หรือให้ดาวน์โหลดทางเว็บ ทั้งทางแหล่งสาธารณะอย่าง Youtube หรือเว็บแบรนด์สินค้า ทั้งเพื่อดึงผู้ชมและสร้างแบรนด์ในลักษณะเดียวกับที่ซีรี่ส์ทางทีวีมีการแทรกโฆษณาแฝงสินค้า