ปรากฏการณ์ “บาทแข็ง”

ปอกเปลือกปัญหา “ค่าบาทแข็ง” อะไรคือปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า ทำไมค่าเงินบาทสองตลาด ออฟชอร์ และออนชอร์ ได้กลายเป็นเครื่องมือทำกำไร เกิดเป็น“โพยก๊วนยุคดิจิตอล” เอทีเอ็ม และบัตรเครดิต กลายเป็นเครื่องมือของของการหากำไรค่าเงินบาท ทำไม ยารักษาค่าบาทแข็งของแบงก์ชาติยังไม่สัมฤทธิผล

เงิน 1 ดอลลาร์ ที่เคยแลกได้ 45 บาท เมื่อปี 2001 แต่ 6 ปีผ่านไป แลกได้เพียง 32-33 บาท ค่าเงินที่หายไปกว่า 10 บาท อย่างนี้จะไม่ให้ผู้ค้าขายหรือผู้มีรายได้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ เกิดอาการสะดุ้งได้อย่างไร เพราะหากเคยมีรายได้ปีหนึ่ง100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อแลกมาเป็นเงินบาท จะได้เงินถึง 4,500 ล้านบาท แต่วันนี้เหลือเพียง 3,300 ล้านบาทเท่านั้น หายไปถึง 1,200 ล้านบาท

นี่คือความจริงที่เกิดขึ้น จากเงินในกระเป๋าของหลายคนหายไปเพราะ “เงินบาทแข็งค่า” แต่ก็มีอีกหลายคนที่รู้สึกยินดี เพราะจ่ายบาทน้อยลงเพื่อซื้อดอลลาร์ เช่น กลุ่มที่ไปเรียนต่อต่างประเทศ กลุ่มที่เดินทางไปต่างประเทศ และกลุ่มที่ต้องซื้อวัตถุดิบ เครื่องจักร ข้าวของเครื่องใช้จากต่างประเทศ

“เงินบาทแข็งค่า” จึงมีทั้งได้และเสีย เพราะหากไม่พอดีกับความต้องการของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ปัญหาจึงเกิดขึ้น โดยเฉพาะผู้ส่งออกของไทย ที่ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ

เมื่อภาคส่งออกตกที่นั่งลำบาก ย่อมส่งผลกระทบทุกคนในประเทศ เนื่องจากไทยพึ่งพิงรายได้กว่า 60% จากการส่งออก คิดเป็นสัดส่วนถึง 68% ของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในรูปของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี

ตัวเลขกว่า 20% ที่หายไปกับเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้มูลค่าการส่งออกที่คาดว่าปี 2550 จะได้กว่า 4 ล้านล้านบาท หายไปนับแสนล้านบาท เป็นตัวเลขที่ส่งผลต่อรายได้รวมของประเทศลดลงทันที

ปัญหาที่เกิดขึ้น คือบาทแข็งค่าจนเกินสมดุล เมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลต่างประเทศ โดยเฉพาะย่านเอเชียที่เป็นประเทศคู่แข่งทางการค้าของไทย เช่น ค่าเงินเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2007 เทียบกับ 30 ธันวาคม 2005 บาทแข็งค่ากว่าเงินหยวนของจีน เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยบาทแข็งขึ้น 16.6% ส่วนหยวนแข็งขึ้น 3.1%

เมื่อรายได้เงินดอลลาร์แลกกลับมาเป็นเงินบาทได้น้อยลง ทำให้การแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง ในเรื่องราคาย่อมทำได้ยาก ยิ่งเมื่อนับรวมเรื่องต้นทุนอื่นๆ โดยเฉพาะค่าแรงของจีนและเวียดนามถูกกว่า ไทยจึงตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในเรื่องการแข่งขัน

เมื่อส่งออกไม่ได้ การอยู่รอดในธุรกิจย่อมลำบาก และอาจต้องปลดคนงาน หรือปิดโรงงานในที่สุด นี่คือจุดเริ่มต้นของปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่หลายคนเริ่มต้องการค้นหาอะไรคือสาเหตุ และวิธีการจัดการที่ผ่านมาคืออะไร เหตุใดจึงยังคงมีปัญหาและดูเหมือนจะยิ่งแก้อาการหนักยิ่งขึ้น

3 ปัจจัยเงินบาทแข็งค่า

สาเหตุของค่าเงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้ มี 3 ปัจจัยคือ 1.ปัจจัยนอกประเทศ 2.ปัจจัยภายใน และ3.การเก็งกำไรค่าเงินของบรรดาพ่อค้าหัวใส โดยเฉพาะความต่างของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างตลาดออนชอร์ กับตลาดออฟชอร์

1. ปัจจัยภายนอก
ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก (Global Imbalance) อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ในปี 2006 ที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก มีสาเหตุมาจากประเทศในภูมิภาคเอเชียเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาก และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ขณะที่สหรัฐอเมริกาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างมาก โดยในปี 2006 เอเชียมีตัวเลขเกินดุลบัญชีเดินสะพัดรวม 456,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนสหรัฐอเมริกาขาดดุล 861,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อสภาพเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาเสียสมดุล ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นในการบริโภค จนเศรษฐกิจชะลอตัว ยิ่งมาเจอกับปัญหาล่าสุด “ซับไพร์มโลน” จนทำให้เงินดอลลาร์อ่อนตัวอย่างต่อเนื่อง การคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเอเชียจะเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่อีกฝากหนึ่งของโลกกำลังเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้เงินทุนไหลเข้าเอเชียมากขึ้น ค่าเงินในกลุ่มประเทศเอเชีย รวมทั้งไทยจึงแข็งค่าขึ้น

นักลงทุนใช้เงินทุนจากสกุลเงินที่มีต้นทุนต่ำแล้วทำกำไร (Carry Trade)
Carry Trade เป็นการลงทุนโดยดูผลตอบแทนของอัตราดอกเบี้ย นักลงทุนจะใช้กลยุทธ์การลงทุนโดยการ “กู้ยืม” เงินสกุลที่มีดอกเบี้ยต่ำ แล้วนำไปลงทุนในเงินสกุลที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่า

เช่น เงินทุนในญี่ปุ่นมีจำนวนมาก แต่ประเทศญี่ปุ่นให้ผลตอบแทนดอกเบี้ยต่ำ ทำให้มีการกู้เงินจากญี่ปุ่น แล้วไหลเข้าประเทศที่ให้ดอกเบี้ยสูง เช่นประเทศไทย เมื่อเงินทุนต่างชาติไหลเข้าไทยมาก ก็ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น จะยิ่งทำให้ระบบ Carry Trade ได้กำไรทั้งจากดอกเบี้ย และค่าเงิน

2. ปัจจัยภายใน
เกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องของไทย และการเคลื่อนย้ายเงินทุนทั้งในรูปของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และเงินลงทุนในหลักทรัพย์

ในส่วนของดุลบัญชีเดินสะพัด ส่วนหนึ่งมาจากมูลค่าการส่งออกของไทยในอัตราเติบโตต่อเนื่อง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกินดุลการค้า และเมื่อรวมกับดุลบริการ ทำให้ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2006 ที่เกินดุล 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2005 ที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 7,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ยิ่งเห็นชัดคือในครึ่งปีแรกของปี 2007 ที่บาทแข็งค่าต่อเนื่อง เพราะดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลถึง 6,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะเดียวกัน การเคลื่อนย้ายของเงินทุน โดยเฉพาะ Non Bank ไหลเข้ามามาก เมื่อเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเงินลงทุนในตลาดหุ้น

3. ออนชอร์-ออฟชอร์
อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่ต่างประเทศ (ออฟชอร์) และตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศ (ออนชอร์) ที่แตกต่างกัน

ออฟชอร์แข็งค่ากว่าตลาดออนชอร์ เพราะเงินบาทในตลาดต่างประเทศมีน้อย เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นได้มากยิ่งขึ้น และจาก ”ส่วนต่าง” หรืออัตราที่ไม่เท่ากัน ทำให้นักเก็งกำไรเห็นช่องทางในการนำเงินไปแลกที่ต่างประเทศ (ออฟชอร์) ที่บาทแข็งกว่า และกลับมาในประเทศไทย (ออนชอร์) แลกกลับมาอีกครั้ง เมื่อเห็นช่องทางกำไรมาก ก็ยิ่งทำให้ ”เงินบาท” เป็นที่ต้องการมาก ซึ่งมีหลายวิธี มีทั้งซับซ้อน และธรรมดาที่สุด

“โพยก๊วน”ทำกำไรงาม
วิธีการที่ไม่ซับซ้อนและทำกำไรกันได้ง่ายๆ คือการ ”หิ้วเงิน” ออกนอกประเทศ วิธีการนี้ต้องได้ ปัจจัยสนับสนุน จึงจะทำให้ได้กำไร

1.ต้องได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ของสนามบิน เพราะตามกฎของแบงก์ชาติ ห้ามคนทั่วไปนำเงินออกนอกประเทศเกินครั้งละ 50,000 บาท หากนำออกไปน้อยๆ เพื่อแลกกลับมา ถือว่าไม่ได้ประโยชน์มากนัก

2.ได้รับความร่วมมือจากแบงก์ในต่างประเทศที่รับแลกเงินบาทเป็นดอลลาร์ ยินยอมให้แลกในอัตราที่แลกระหว่างธนาคาร หรือ ออฟชอร์ เพราะหากให้แลกในอัตราออนชอร์จะไม่ได้ประโยชน์ใดๆ

หาก 2 ปัจจัยดังกล่าวพร้อมแล้ว ก็เริ่มดำเนินการเก็งกำไรได้

ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2007 นาย ก. ขนเงินออกนอกประเทศไป 100 ล้านบาท สมมติว่าเดินทางไปฮ่องกง เมื่อไปถึงแลกบาทเป็นดอลลาร์ ในอัตราออฟชอร์ที่โค้ดอยู่ที่ 32.40 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ นาย ก.จะได้มาประมาณ 3.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อนาย ก. บินกลับเมืองไทย ในวันเดียวกันนั้น นำดอลลาร์กลับมาแลกเป็นเงินบาท ที่อัตราออนชอร์กำหนดไว้ที่ 34.37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับว่านาย ก.จะได้เงินบาทกลับมาประมาณ 106 ล้านบาท หรือได้กำไรในวันเดียวกันนั้น 6 ล้านบาท

วิธีการนี้คล้ายกับในอดีตที่คนจีนกลุ่มหนึ่งจะส่งเงินไทยกลับไปประเทศจีน โดยไม่ผ่านระบบธนาคาร ที่เรียกว่า ”โพยก๊วน” เพราะเพียงนำเงินบาทไปแลกในต่างประเทศในอัตราออฟชอร์ ก็ถือว่าได้กำไรจากค่าเงินแล้ว

สำหรับวิธีการอื่นๆ อาจมีขั้นตอนมากขึ้น เพื่อหลบเลี่ยงกฎของแบงก์ชาติที่หากนำเงินบาทออกนอกประเทศเกิน 50,000 บาทต้องรายงานแบงก์ชาติ โดยนักเก็งกำไรค่าเงินอาจนำเงินบาทไปออกไปโดยผ่านธนาคาร ผ่านระบบการชำระบัญชี หรือการไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ หรือการซื้อทองคำในประเทศ แล้วนำไปขายต่างประเทศ จากนั้นนำเงินดอลลาร์กลับมาแลกเป็นเงินบาทในไทย แต่วิธีการนี้ต้องดูความผันผวนของราคาทองคำในตลาดโลก และมาตรฐานของตลาดประเทศในการคิดราคาทองคำที่ไม่เท่ากัน เพราะคุณภาพทองคำในแต่ละประเทศไม่เท่ากัน

กันสำรอง 30% ยิ่งเอื้อให้เก็งกำไร

จากมาตรการของแบงก์ชาติที่ให้นักลงทุนที่นำเงินจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 ปี) ในไทย ต้องกันสำรอง 30% แต่ก็ยังเอื้อให้มีการเก็งกำไรค่าเงินบาทมากยิ่งขึ้น เพราะทำให้เงินบาทในต่างประเทศยิ่งหายากมากขึ้น

วิธีการ คือ นักลงทุนต่างประเทศนำเงินดอลลาร์สหรัฐเข้ามาซื้อพันธบัตรในไทยระยะเวลา 1 ปี โดยแลกเป็นเงินบาทในประเทศทันทีตั้งแต่วันแรก เช่น ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2007 อัตราแลกเปลี่ยนออนชอร์ อยู่ที่ 34.37 บาทต่อดอลลาร์ และทำตามมาตรการกันสำรอง 30% ซึ่งนักลงทุนต่างประเทศยอมถูกหัก 30% พักไว้ที่แบงก์ชาติ ส่วน 70% ที่เหลือนำไปซื้อพันธบัตรระยะเวลา 1 ปี และถือจนครบกำหนด 1 ปี ก็จะได้เงิน 30% คืน เท่ากับว่านักลงทุนต่างประเทศได้เงินคืน 100% บวกกับผลตอบแทนจากการถือพันธบัตรระยะเวลา 1 ปี ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 4-5%

แม้เงินที่นำเข้ามาซื้อพันธบัตรจะเหลือ 70% แต่นักลงทุนต่างประเทศสามารถทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (ฟอร์เวิร์ด) กับสถาบันการเงินในต่างประเทศจำนวนที่เท่ากันคือ 70% ในระยะเวลาเดียวกันกับที่ถือพันธบัตรในไทยคือ 1 ปี

ขั้นตอนนี้ถือว่าถูกต้องตามกฎของแบงก์ชาติ ที่นักลงทุนต่างประเทศสามารถซื้อฟอร์เวิร์ดได้ เพราะอยู่ในกลุ่มบัญชีผู้ที่มีถิ่นฐานนอกประเทศ (Non Resident) เท่ากับว่าภายในระยะเวลา 1 ปีข้างหน้า หากเงินบาทในตลาดออฟชอร์อยู่ที่ 29 บาท ถึงเวลาส่งมอบเงิน นักลงทุนต่างประเทศก็จะได้ส่วนต่างจากเงินบาทสองตลาดพร้อมทั้งได้ผลตอบแทนจากการถือครองพันธบัตรครบ 1 ปีบวกดอกเบี้ยที่ได้รับ

รวมแล้วนักลงทุนต่างประเทศจะได้ผลตอบแทนประมาณ 8-9% จากที่ลงทุนไป มากกว่า ผลตอบแทนที่ได้รับจากพันธบัตรเพียงอย่างเดียว ฉะนั้นจึงหมายความว่า หากไม่มีมาตรการ 30% เงินบาทจะเป็นตลาดเดียว เมื่อนักลงทุนต่างประเทศนำเงินเข้ามาก็จะได้รับผลตอบแทนทางเดียว

ทั้งนี้จากข้อมูลสมาคมตราสารหนี้ไทย พบว่าช่วง 6 เดือนก่อนหน้านี้ต่างชาติขายสุทธิพันธบัตรมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วง 16-31 กรกฎาคม 2007 ซึ่งเป็นช่วงที่ค่าเงินบาทออนชอร์กับออฟชอร์มีส่วนต่างถึงประมาณ 4 บาทต่อดอลลาร์ นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิถึง 2,000 ล้านบาท และสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม 2007 ซื้อสุทธิถึง 1,500 ล้านบาท

บัตรเครดิตสะดวกเก็งกำไร

ทั้งบัตรเครดิต และบัตรเอทีเอ็ม เป็นเครื่องมืออย่างดีและถูกกฎหมายในการเก็งกำไรค่าเงิน เริ่มจากผู้ถือบัตรเครดิต และผู้ถือบัตรเอทีเอ็ม กดเงินสดที่ต่างประเทศ ซึ่งมีการคิดอัตราแลกเปลี่ยนแบบออฟชอร์ เมื่อนำกลับมาไทยแลกกลับเป็นเงินบาทในอัตราออนชอร์ ส่วนต่างจะเพิ่มขึ้นทันที

เช่น หากดำเนินการในช่วงเดือนกรกฎาคม 2007 ซึ่งก่อนหน้าที่แบงก์ชาติจะประกาศมาตรการกันสำรอง 30% จะได้กำไรถึง 4 บาทต่อดอลลาร์

ส่วนการรูดบัตรเครดิตเพื่อซื้อสินค้าในต่างประเทศ แบงก์ผู้ให้บริการบัตรเครดิตจะเรียกเก็บเงินจากลูกค้าในอัตราออฟชอร์ เมื่อธนาคารรับชำระจากลูกค้าในไทยเป็นเงินบาทแล้ว แบงก์ ต้องส่งเงินไปชำระที่ต่างประเทศในอัตราออนชอร์ เพราะส่งจากประเทศไทย ทำให้ผู้ให้บริการบัตรเครดิตเสียประโยชน์ ขณะที่ลูกค้าที่ต้องการเก็งกำไรค่าเงินจากช่องทางได้ประโยชน์

เมื่อวิธีการนี้ทำให้แบงก์ผู้ให้บริการบัตรเครดิตเสียประโยชน์ จึงมีการตกลงกันว่าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2007 แบงก์จะเรียกเก็บเงินจากลูกค้าในอัตราออนชอร์ ทำให้วิธีการเก็งกำไรผ่านบัตรเครดิต และเอทีเอ็ม ในขณะนี้จึงอาจไม่ใช่วิธีการที่ได้ผลแล้ว

แบงก์ต่างชาติเปิดช่อง
นอกจากนี้ยังมีช่องทางอื่น ๆ อีกไม่ว่าจะเป็นการหากำไรจากส่วนต่างของบริษัทแม่ลูกในเมืองไทย และต่างประเทศ โดยกู้เงินดอลลาร์จากตลาดออฟชอร์แล้วโอนมาไทย โดยผ่านธนาคารต่างชาติ หรือเอาเงินบาทในประเทศไปชำระค่าสินค้า

หรือ การฝากเงินกับธนาคารต่างชาติ ซึ่งแบงก์เหล่านี้จะมีบริการช่วยลูกค้าในการทำกำไรส่วนต่างจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือธนาคารต่างประเทศมีบริการหักบัญชีลูกค้าที่อยู่ในและต่างประเทศ เช่น ร้านอาหาร ร้านค้า ที่ต้องการชำระค่าสินค้าระหว่างในประเทศ และต่างประเทศ ที่แบงก์ต่างชาติมีบริการตัดบัญชีให้ ซึ่งลูกค้าจะได้อัตราที่ถูกกว่า

มีช่องว่างมากมายที่เปิดไว้สำหรับนักเก็งกำไรหัวใสที่เห็นโอกาสจากความต่างของ 2 อัตราใน 2 ตลาด ยิ่งมีโอกาสมากก็ยิ่งทำให้ปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าหนักขึ้น

สำหรับข้อเสนอที่หลายคนต้องการ เพื่อสกัดกั้นการเก็งกำไรและปั่นค่าบาท เช่น การใช้อัตราแลกเปลี่ยนอัตราเดียว หรือการเก็บภาษีเงินเข้าออก ซึ่งแรงกว่ามาตรการกันสำรอง 30% หรือแม้แต่การปิดตลาดออฟชอร์ โดยยกเลิกหรือลดสัดส่วนการนำเงินบาทออกไปนอกประเทศจากบัญชีผู้มีถิ่นฐานนอกประเทศ (Non Resident Baht Account หรือ NRBA) จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 300 ล้านบาท แต่แนวทางอาจทำให้เกิดตลาด Non – Deliverable Forward หรือ NDF ที่ทำให้เกิดการเก็งกำไรเงินบาทล่วงหน้านอกประเทศ โดยไม่มีการส่งมอบเงินจริง เหมือนช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 1997

แบงก์ชาติยังไม่ได้ตอบรับใดๆ เพราะในความเห็นของแบงก์ชาติแล้ว บาทแข็งค่า คือดีมานด์และซัพพลายบาทในตลาดโลกซึ่งเป็นระบบปกติ และยิ่งไปกว่านั้นบางมาตรการสามารถแก้ปัญหาได้จุดหนึ่งแต่อาจก่อให้เกิดปัญหาอีกจุดหนึ่ง

ยังต้องรอดู และต้องลุ้นต่อว่าระยะห่างของค่าเงินบาทใน 2 ตลาดระหว่าง ออนชอร์ และออฟชอร์ ว่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่ และสุดท้ายจะมีคนรวยจากการเก็งกำไรค่าเงินเพิ่มขึ้นหรือไม่