เส้นทางสายไหม กับเงินบาทแข็ง ของ “จิม ทอมป์สัน”

ไม่บ่อยครั้งที่ “จิม ทอมป์สัน” จะเปิดให้สื่อมวลชนเยี่ยมชมโรงงานผลิตผ้าไหม และแถลงผลประกอบการในคราวเดียวกัน การแถลงข่าวครั้งนี้จัดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศสะอาด ร่มรื่น ภายในโรงงานบริษัทเอส เค เค แมนูแฟคเจอริ่ง ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ตั้งอยู่ในสุขุมวิท 93 โดยมีสื่อมวลชนจากไทย และต่างประเทศให้ความสนใจ สวนทางกับประกอบการครึ่งปีแรกที่ต่ำกว่าเป้าหมาย และช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

“เอริค บู๊ทธ์” ผู้อำนวยการตลาดต่างประเทศ บริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบรนด์ “จิม ทอมป์สัน” รับทำหน้าที่เป็นโฆษกของบริษัท แถลงถึงผลประกอบการช่วงครึ่งแรกของปี 2550 มีรายได้ 1,400 ล้านบาท เป็นตัวเลขลดลง 5% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2549 ที่ทำยอดขายได้ 1,412 ล้านบาท

ยอดรายได้ปี 2550 คาดหมายว่าจะทำได้ 2,500 ล้านบาท ลดลง 5% จากปีที่ 2549 ที่มีรายได้ 2,604 ล้านบาท อันเป็นผลมาจากเงินบาทแข็งค่า ส่งผลให้รายได้จากการส่งออก และธุรกิจร้านค้าปลีกลดลง

ค่าเงินบาทแข็งตัว ไม่เพียงส่งผลให้รายได้จากการส่งออกผ้าตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งมีตลาดใหญ่อยู่ที่สหรัฐอเมริกาและยุโรป ของโรงงานผู้ผลิตไหมไทยแห่งนี้จะลดลง จากที่เคยทำได้ในช่วงครึ่งปีแรกของปีที่แล้ว 276 ล้านบาท ลดลงเหลือ 261 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีนี้

หากแต่รายได้จาก “ธุรกิจรีเทล” หรือการจำหน่ายสินค้าในร้านจิม ทอมป์สัน ลดลงเหลือ 744 ล้านบาท จากที่เคยทำได้ 783 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 เป็นผลมาจากค่าเงินบาท ที่ส่งผลให้การลงทุนในไทยและท่องเที่ยวไทยซบเซาลง กระทบต่อธุรกิจรีเทล เนื่องจากลูกค้าของจิม ทอมป์สันเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 90%

“บางปีเราก็มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจในประเทศบ้าง เช่น เรื่องสึนามิ หรือ โรคซาร์สที่ส่งผลต่อรายได้ แต่ปีนี้มาเจอปัญหาทั้ง 2 ด้าน รายได้ส่งออกก็ลดลง รายได้จากธุรกิจรีเทลก็หดตัว เพราะลูกค้าร้านจิม ทอมป์สันจะเป็นนักธุรกิจท่องเที่ยวถึง 30% เมื่อชาวต่างชาติไม่เข้ามาลงทุน เราเลยได้รับผลกระทบ”

เอริค เล่าว่า ปัญหาค่าเงินบาทส่งผลกระทบต่อรายได้ของจิม ทอมป์สันมาได้ ปีครึ่งแล้ว พวกเขาแก้ปัญหาด้วยการขึ้นราคาสินค้าส่งออก เริ่มจาก 3% จากนั้นราคาถูกปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยมาจนไปถึง 10% แต่เป็นการปรับราคาเฉพาะสินค้าส่งออกเท่านั้น สินค้าในประเทศไม่ขึ้นราคา

แม้ว่าจิม ทอมป์สันจะมีความมั่นใจในเรื่องของคุณภาพสินค้า โดยเฉพาะจุดแข็งในเรื่องของผ้าไหม และฝีมือการทอผ้าไหมด้วยมือ ที่แข่งขันกับคู่แข่งอย่างฝรั่งเศสและอิตาลี ขายในระดับราคา 200 เหรียญสหรัฐต่อเมตร จนสามารถเลือกแก้ปัญหาด้วยการขึ้นราคาสินค้าได้ก็ตาม หากแต่พวกเขาก็รู้ดีว่า เป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้น ยุทธศาสตร์ทางธุรกิจที่ยาวไกลกว่านั้น คือการเพิ่มรายได้จากการส่งออก

แม้ว่าทุกวันนี้ จิม ทอมป์สันจะมีสินค้า เช่น เนกไท ผ้าพันพอ ผ้าเช็ดหน้า กระเป๋าสตรี ของใช้กระจุกกระจิก เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทย แต่ก็เป็นลูกค้ากลุ่มเดียว ไม่ใช่สำหรับเพื่อส่งออก ซึ่งต้องมีดีไซน์ที่ตอบสนองรสนิยมลูกค้าต่างประเทศที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะการวางตำแหน่งสินค้าในระดับ “บน” โดยมี อเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นเป็นตลาดเป้าหมาย

ล่าสุด พวกเขาได้ก่อตั้งบริษัท จิม ทอมป์สัน ยุโรป ที่เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี เพื่อเปิดตลาดในเยอรมนี และประเทศอื่นๆ ในยุโรป ส่วนบริษัท จิม ทอมป์สัน ฟรานซ์ ดูแลการจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ เนื่องจากฝรั่งเศส เป็นประเทศที่มีโนว์ฮาวเรื่องเฟอร์นิเจอร์ที่ดีมาก

สิ่งที่ จิม ทอมป์สัน ต้องทำมากกว่านั้น คือ การออกแบบให้ถูกใจลูกค้าในตลาดเหล่านี้ รวมถึงการสร้างแบรนด์ และการหาพันธมิตรทางธุรกิจ ที่มีประสบการณ์เรื่องของงานดีไซน์ ส่งออก งานประชาสัมพันธ์ เข้ามาช่วยในเรื่องของจัดตั้งสำนักงาน และร้านอาหาร

เอริค บอกว่า พนักงานของจิม ทอมป์สันจะต้องได้รับการพัฒนาเรื่องของ ความคิดสร้างสรรค์ และการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มากขึ้น และการพัฒนานี้ไม่ได้หมายถึงตัว “สินค้า”เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงแผนกอื่นๆ อย่าง บัญชี การเงิน ส่วนของการผลิต ที่ต้องใช้ “อินโนเวชั่น”ช่วยลดต้นทุน และเวลาในการผลิตลดลง

นอกจากดีไซเนอร์ไทย ทำงานประจำในสตูดิโอออกแบบ เมื่อเร็วๆ นี้ จิม ทอมป์สันได้จ้างดีไซเนอร์ ฟรีแลนซ์ จากนิวยอร์ก ลอนดอน และปารีส มาร่วมงานเป็นฟรีแลนซ์ โดยหวังว่าใช้ประสบการณ์จากดีไซเนอร์เหล่านี้ออกแบบสินค้าเพื่อขยายไปยังตลาดต่างประเทศ

ร้านอาหารไทย จะเป็นธุรกิจแห่งอนาคต ที่ผู้ผลิตผ้าไหมอย่าง “จิม ทอมป์สัน” กำลังฝากความหวังไว้ไม่น้อยว่าเป็นแหล่งรายได้ในอนาคต ทั้งจากในไทยและต่างประเทศ โดยได้เริ่มปักหลักลงทุนไปแล้ว ทั้งไทยและต่างประเทศ ที่จิม ทอมป์สัน สุรวงศ์, ศาลาแดงคาเฟ่ บ้านจิม ทอมป์สัน สยามพารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ มาเลเซีย และเตรียมเพิ่มเติมในกรุงโตเกียว และการปรับปรุงร้านอาหารใน อิเซตันในไทย และสิงคโปร์

แบรนด์ร้านอาหารของจิม ทอมป์สันถึง 3 แบรนด์ ร้านทอมป์สัน บาร์ แอนด์ เรสเตอรองต์ ร้านอาหารมายไท (MyThai) และคาเฟ่ 9 เป็น 3 แบรนด์ที่ใช้ในการบุกตลาดต่อไป ทั้งในและต่างประเทศ เตรียมเปิดในห้างอิเซตัน ในกรุงเทพฯ และสิงคโปร์

“อาหารไทย คนนิยมกินมาก และไปได้ทั่วโลก จุดขายของเราคือรสชาติอาหาร บริการ และบรรยากาศ ที่เราสามารถใช้ประสบการณ์ที่มีอยู่สร้างสิ่งเหล่านี้ให้ลูกค้า และเป็น 3 สิ่งที่เป็นจุดขายสำคัญ”

บนเส้นทางอันยาวไกลของผู้ผลิตผ้าไหม ที่มีตำนานที่น่าค้นหา กับปัญหา “ค่าเงินบาท” ที่จะเป็นทั้งบททดสอบ และการแสวงหาหนทางใหม่ อย่างที่เรียกว่า ในทุกวิกฤตย่อมมีทางออกเสมอ

ค่าเงินบาท 30-32 บาท ก็ไม่มีปัญหา

แม้ว่าผู้ผลิตและจำหน่ายผ้าไหม จิม ทอมป์สัน จะโดนพิษ “เงินบาท” จนส่งผลกระทบต่อรายได้ต่ำกว่าปีที่แล้ว จนต้องแก้ปัญหาด้วยการขึ้นราคาสินค้าที่ส่งออกไป 10% แต่ เอริค บู๊ทธ์ ก็เชื่อว่า จะรับมือกับเงินบาทได้

“เรารับมือได้แล้ว ถ้าจะเงินบาทจะแข็งค่าไปถึง 30-32 บาท ก็ไม่น่ามีปัญหา” เอริคบอกด้วยความมั่นใจ ส่วนค่าเงินบาทที่เขาคิดว่าเหมาะสมในความเห็นของเขา เอริคไม่ได้ตอบมาเป็นตัวเลข มีแต่เสียงหัวเราะ ที่เจือออกมากับคำพูดที่ว่า ค่าเงินเท่าไหร่ก็ไม่มีปัญหาสำหรับเรา

เส้นทางสายไหม

โรงงานแห่งนี้เป็น 1 ใน 2 แห่งของจิม ทอมป์สัน แห่งแรกตั้งอยู่ที่ปักธงไชย จังหวัดนครราชสีมา เปรียบเป็นแหล่งผลิต “ต้นน้ำ” ของเส้นทางสายไหมของจิม ทอมป์สัน เริ่มตั้งแต่การแจกจ่าย “ไข่ไหม”ให้กับชาวบ้าน 8,000 ราย นำไปเพาะเลี้ยง และรับซื้อรังไหมสดจากชาวบ้าน เพื่อนำมาทอ จนกลายเป็นผืนผ้าไหม มีกำลังผลิตผ้าทอได้ปีละ 1.5 ล้านเมตรต่อปี

ผืนผ้าไหมที่ผ่านการทอ และย้อมสีแล้ว จะถูกส่งมายังโรงงาน สุขุมวิท 93 เพื่อผลิตมาเป็นเนกไท ผ้าพันคอ เสื้อผ้าไหม ในลักษณะของ Finish Product ถ้าอยากเห็นขั้นตอนการทอผ้าไหม ต้องมาที่โรงงานแห่งนี้

โรงงานอันเงียบสงบแห่งนี้ มีพนักงาน 571 คน แบ่งหน้าที่กันไปตามกระบวนการผลิต ที่เริ่มตั้งแต่ ตัดผ้า เย็บ ไปตามแพตเทิร์นที่กำหนดไว้

ตัวอาคารที่ใช้ผลิต จะอยู่ด้านในสุด เป็นอาคาร 5 ชั้น ชั้นแรก เป็นแผนกเนกไท ถัดขึ้นไปเป็นแผนกผ้าพันคอ กระเป๋า สินค้าที่ผลิตเสร็จแล้วจะถูกทยอยไปบรรจุแพ็กเกจ นำไปวางจำหน่ายในร้านจิม ทอมป์สัน 35 แห่ง ที่กระจายอยู่ในกรุงเทพฯ สมุย ภูเก็ต พัทยา รวมถึงสิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน