LG ปรับลดกำลังการผลิต

มร.ซอง นัก กิล กรรมการผู้จัดการบริษัท LG Electronics ประเทศไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งตัวส่งผลกระทบต่อ LG เป็นอย่างมาก เนื่องจากโรงงาน LG ประเทศไทย ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเป็นส่วนใหญ่ โดยปีที่ผ่านมาอัตราส่วนการผลิตเพื่อส่งออกต่อการขายภายในประเทศอยู่ที่ 70:30 ทว่าในปีนี้ต้องปรับลดลงมาอยู่ที่สัดส่วน 65:35

กับครึ่งปีแรก แม้ LG จะมีรายได้รวมโตสวนกระแสเศรษฐกิจกว่า 30% ด้วยตัวเลข 1.8 หมื่นล้านบาท แต่ทว่าผลกำไรรวมของบริษัทกลับมีแบบ”พอกินพออยู่” ด้วยผลกำไรจากส่วนของการส่งออกที่ลดลงมากจากภาวะค่าเงินบาทที่แข็งตัว ทำให้ปีนี้เกิด ”ปรากฏการณ์” รายได้หลักของ LG เกิดจากรายได้จากการขายภายในประเทศ

แผนการลงทุนเพื่อภาคการส่งออกของ LG ในไทย ถูกชะลอไว้เพื่อดูลาดเลาค่าเงินบาทจนถึง ”ปีหน้า” การลงทุนของ LG ในขณะนี้ จึงเป็นไปเพื่อการขายในประเทศเพียงอย่างเดียว ได้แก่ การนำเข้าอุปกรณ์เครื่องจักรเพื่อผลิตมอนิเตอร์และเครื่องซักผ้าฝาหน้า ด้วยเงินลงทุนราว 15 ล้านเหรียญสหรัฐ

อนึ่ง ค่าเงินบาทยังส่งผลให้เกิด Aftershock กับสุขภาพจิตของหนุ่มสาวชาวโรงงานของ LG พวกเขาเริ่มไม่มั่นใจกับอนาคตการทำของตนเมื่อได้รับรู้ความลำบากของบริษัทในการเผชิญกับค่าเงินบาทผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ …มร.ซอง นัก กิล กล่าว

Survival 33 : วิถีผ่าทางตันของ LG

“Survival 33” ฟังดูผิวเผินอาจคิดว่าเป็นหน่วยรบของทหาร แต่แท้จริงแล้ว “Survival 33” คือชื่อแผนปฏิบัติการเฉพาะกิจของ LG Electronics ประเทศไทย ที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2549

“Survival 33” คือแผนการรับมือกับโจทย์ที่ว่า เราจะทำอย่างไรกันดีถ้าในอนาคตสภาวะค่าเงินบาทไทยอยู่ที่ 33 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในตอนนั้นค่าเงินบาทแข็งค่าอยู่ที่ 37 บาท แสดงให้เห็นถึงความเชื่อที่ว่าค่าเงินบาทน่าจะแข็งค่าขึ้นตามลำดับของ LG

การดำเนินการภายใต้แผน Survival 33 เป็นไปเพื่อให้ LG สามารถยืนหยัดอยู่ได้โดยส่งผลกระทบกับส่วนของ ”กำไร” ให้น้อยที่สุด อาทิ

-การลดต้นทุนในส่วนของโรงงานลง 15% เช่น หาวัตถุดิบ (ที่เป็น Spare Part)ใน Local ให้มากขึ้น จากเดิมที่ใช้ 50% ปรับเป็น 70%
-สร้าง Cost innovation
-บริหารจัดการแบบ Waste Elimination ลดการดำเนินงานที่ไม่สร้างมูลค่าต่อองค์กร
-เน้นการดำเนินงานที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรและลูกค้า
ตั้ง Internal Team ชื่อ “TDR (Tear Down & Redesign)” เพื่อรับมือกับการปฏิรูปในองค์กร