ความพยายามครั้งใหม่ของซิงเกอร์

ฤกษ์เปิดตัวบริการ Singer Rental Service เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ไม่ได้ดูตามหลักโหราศาสตร์ แต่อาศัยความสะดวกที่ผู้บริหารสำคัญ 2 คน ได้แก่ ดาเนียล ไมเคิล ฟิลิโปเนท์ รองประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) และบุญยง ตันสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด มีโอกาสอยู่เมืองไทยพร้อมกันในรอบหลายเดือน

ทั้งคู่อยู่ระหว่างการวิ่งวนดูงานซิงเกอร์ในประเทศต่างๆ ทั้งไกลและใกล้ เพื่อหากลยุทธ์หรือธุรกิจใหม่ๆ กลับมาฟื้นฟูรายได้ของซิงเกอร์ที่รู้กันดีว่าจะมีรายได้หายไปมากกว่า 1 พันล้านบาทในปีนี้

หลังเลิกงาน บุญยงก็ต้องบินไปที่อินเดียต่อ เพื่อเฟ้นหาธุรกิจใหม่ๆ มาใช้

ซิงเกอร์ ต้องกลับมาพบกับความยุ่งยากใจอีกครั้ง จากการตัดสินใจผิดพลาดในการกระโดดเข้าสู่ธุรกิจให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์เมื่อช่วงปี 2545 โดยหวังว่าจะเป็นฐานรายได้ใหม่ของบริษัทจากสถานการณ์การขายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่แบรนด์ซิงเกอร์ได้รับความนิยมน้อยลง ขณะที่บริการเช่าซื้อซึ่งเคยเป็นเจ้าตลาดก็มีคู่แข่งรายใหม่รวมทั้งธนาคารต่างๆ ที่ลงมาทำธุรกิจแข่งและเข้าไปให้บริการกับลูกค้า ณ จุดขาย

ฝันสวยหรูของซิงเกอร์ในครั้งนั้น เกิดขึ้นเพราะคิดว่าการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์กับการเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่น่าจะแตกต่างกัน เพราะเป็นเรื่องของการเช่าซื้อเหมือนๆ กัน

ซิงเกอร์ทำฝันเป็นจริง เพียงไม่กี่ปีสามารถทำยอดขายจักรยานยนต์ขึ้นมาเป็นรายได้หลัก ล่าสุดปี 2549 คิดเป็นสัดส่วนรายได้ถึง 65% ของรายได้รวมของบริษัทจำนวน 4,000 ล้านบาท

แต่สถานการณ์ก็พลิกผันเมื่อผู้ค้าจักรยานยนต์ต้องได้รับผลกระทบจากการแข่งขันในตลาด ทั้งการดาวน์และความง่ายในการปล่อยเช่าซื้อ จนกลายเป็นเป้าหมายให้มิจฉาชีพเข้ามาฉ้อโกงการซื้อรถ ส่วนหนึ่งยังถูกซ้ำเติมด้วยสภาพเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ซื้อขาดสภาพคล่อง และค้างค่างวด จนทำให้บริษัทมีภาระต้องตามยึดรถคืน

“ปีนี้เราจะมีรายได้จากมอเตอร์ไซค์ 35% กลับกันจากสัดส่วนเดิมของปีที่แล้ว และเป็นรายได้จากการขายมอเตอร์ไซค์มือสองที่ตามยึดคืนจากลูกค้า และตั้งเป้ารายได้แค่3,000 ล้านบาท เพราะรายได้จากการขายมอเตอร์ไซค์จะหายไปประมาณพันกว่าล้าน” บุญยงกล่าว

นี่คือเหตุผลว่า ทำไมเขาและนายใหญ่ของซิงเกอร์ต้องหัวหมุนกันในช่วงนี้ เพราะแม้ว่าล่าสุดซิงเกอร์จะเปิดตัวธุรกิจบริการเช่าเครื่องใช้ไฟฟ้า “Singer Rental Service” แต่ว่ากันตามตรง รายได้ที่จะมาจากธุรกิจใหม่ก็เพียงแค่ปีละไม่กี่สิบล้าน เทียบแล้วไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้ที่หายไป

แล้วอย่างนี้จะให้ทั้งคู่นิ่งเฉยอยู่แต่ในเมืองไทยได้อย่างไรกัน

Singer Rental Service
กลุ่มเป้าหมาย ลูกค้าระดับเอและบี ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ กำลังซื้อสูง ใช้งานระยะสั้น เปลี่ยนสินค้าบ่อย และต้องการความสะดวก
สินค้าให้เช่า จักรเย็บผ้า และสินค้าในกลุ่มเครื่องทำความเย็น เช่น ตู้เย็น ตู้แช่ ตู้แช่แข็ง ตู้น้ำร้อนน้ำเย็น และตู้แช่ไวน์
การให้บริการ ผ่านคอลเซ็นเตอร์ ค่าเช่ามีทั้งแบบรายวัน ตั้งแต่ 100-380 บาท รายสัปดาห์ 250-950 บาท และรายเดือน 840-2,300 บาท ค่าประกันสินค้า 750-3,250 บาท คิดค่าส่งตามระยะทาง ส่งฟรีภายใน 50 กม.
เป้าหมายลูกค้า 1พันรายในปีแรก และเพิ่มเท่าตัวในปีต่อไป
โอกาสทางธุรกิจ ลูกค้าที่เช่าใช้สินค้ามีโอกาสพัฒนาเป็นลูกค้าหลังจากมีประสบการณ์ตรงจากการใช้สินค้า เป็นธุรกิจที่ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม ทำธุรกิจได้ภายใต้การทำงานรูปแบบเดิม ไม่ว่าจะเป็นการรับส่งสินค้า หรือการเก็บค่าเช่ารายเดือน

Did you know?

งานเพลินจิตแฟร์ที่จัดขึ้นโดยสถานทูตอังกฤษ คือลูกค้ารายใหญ่ที่เช่าใช้สินค้าซิงเกอร์เป็นประจำทุกปี