ดิจิตอลเซ็นเตอร์พ้อยท์ เกตเวย์ “สยามสแควร์”

สยามสแควร์กับแผนความเป็น “Walking Street Mall” แห่งแรกของประเทศไทย กำลังเข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น เมื่อสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตกลงเลือกแผนของยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจน้ำเมา และอสังหาริมทรัพย์ในเครือของ “เสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี” เป็นผู้ลงทุนพัฒนาพื้นที่ใจกลางของสยามสแควร์ หรือ“เซ็นเตอร์พ้อยท์” ด้วยรูปแบบที่ทันสมัยทั้งลักษณะอาคาร สินค้า และกิจกรรมภายใน

เป็น “ดิจิตอล ซิตี้” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าผ่านส่วนที่เรียกว่า “ดิจิตอล เกตเวย์” เพื่อนำมนุษย์พันธุ์รถไฟฟ้าเข้าสู่พื้นที่ได้อย่างสะดวกและง่ายขึ้น

เป็นการกรุยทางไปสู่การปรับโฉมทั้งหมดของสยามสแควร์อย่างน่าสนใจ

โฉมใหม่เซ็นเตอร์พ้อยท์

“มองจากสถานีรถไฟฟ้าจะเห็นหลังคาเป็นคลื่น ถ้ามุม Bird Eye View จากตึกศูนย์หนังสือจุฬาฯ จะเห็นหลังคาเป็นตัวหนอนเลื้อยมา”

นี่คือภาพใหม่ของพื้นที่สยามเซ็นเตอร์พ้อยท์ หรือชื่อโครงการใหม่คือ “เซ็นเตอร์พ้อยท์ แอนด์ เกตเวย์ สยามสแควร์” ที่รองศาสตราจารย์ ดร.บุญสม เลิศหิรัญวงศ์ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำกับดูแลสำนักงานจัดการทรัพย์สิน แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงหลังจากตัดสินเลือกบริษัททิพย์พัฒนอาร์เขต ในเครือของบริษัท ที.ซี.ซี. แคปปิตอล แลนด์ ของ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” เป็นผู้ชนะประมูล ลงทุนพัฒนาพื้นที่ที่เป็น “ไข่แดง” ของสยามสแควร์ เป็นเวลา 15 ปี ด้วยงบลงทุน 289 ล้านบาท

บนพื้นที่รวม 1 ไร่ 64 ตารางวานี้ จะสว่างไสวด้วยอาคาร 4 ชั้น หลังคาก่อสร้างแบบ Free Form ไม่ใช่รูปทรงเรขาคณิต แต่จะคล้ายคลื่น และทั้งหมดใช้วัสดุก่อสร้างที่ทันสมัยที่สุด คือกระจก อะลูมิเนียม และหลังคาผ้าใบ ภายในอาคารมีร้านค้าปลีก โดยเฉพาะชั้น 2 และชั้น 3 ที่ไม่ใช่แค่เสื้อผ้า และอาหาร แต่จะมีสินค้าไอที เพราะสยามสแควร์ยังไม่มีแหล่งสินค้าไอที แต่สินค้าไอทีที่นี่จะเน้นรุ่นใหม่ล่าสุดเพื่อตอบสนองลูกค้าสยามสแควร์

จุดเด่นคือชั้นบนสุด เป็นลานกว้าง และสวนต้นไม้ ที่เรียกว่า Roof Garden ส่วนชั้น 3 ต่อเชื่อมกับ Digital Gateway หรือทางเข้าสู่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส และชั้นล่างสุดคือลานแสดงเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็น Digital Convention Hall เป็นที่สำหรับสิ่งที่ทันสมัยในโลกจะมาแสดง เหมือนศูนย์แสดงนิทรรศการ

และด้วยจุดเด่นของโครงสร้างที่เป็นหลังคากระจก 2 ชั้น (Double Glazing) มีช่องว่างให้ลมผ่าน ทำให้สามารถประหยัดพลังงาน ผนวกกับรูปแบบโดยรวมที่ทันสมัย และความน่าเชื่อถือของเงินทุน เพราะทิพย์พัฒนอาร์เขต อยู่ในเครือของธุรกิจขนาดใหญ่ มีรายได้จากหลายสาขา และเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์จากการพัฒนาพันธุ์ทิพย์พลาซาเป็นศูนย์การค้าไอที นั้น ดร.บุญสมบอกว่าจึงเป็นข้อเสนอที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเซ็นเตอร์พ้อยท์

สิ่งที่ดร.บุญสมมองเห็นเป้าหมายสำหรับกลุ่ม “เสี่ยเจริญ” นอกจากผลตอบแทนทางธุรกิจแล้ว กลุ่มนี้ไม่ต่างจากธุรกิจขนาดใหญ่ๆ รายอื่น ที่จะเข้ามาในพื้นที่สยามสแควร์ เพราะเป็นที่สามารถสร้างแบรนด์ และสร้าง Image ของบริษัทได้อย่างดี

สรุปข้อเสนอที่ทำให้สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ อนุมัติให้บริษัททิพย์พัฒนอาร์เขตชนะประมูล
1. คะแนนรวมเทคนิคเป็นอันดับ 1
-จากคุณสมบัติของบริษัทที่มีพื้นฐานมั่นคง เพราะมีธุรกิจหลากหลายในเครือ
-ประสบการณ์จากการบริหารห้างสรรพสินค้าไอที โดยเฉพาะพันธุ์ทิพย์ พลาซา
2. รูปแบบการก่อสร้างที่ทันสมัย ด้วยวัสดุกระจก อะลูมิเนียม และผ้าใบ พื้นที่เปิดโล่ง
-วัสดุกระจก 2 ชั้น มีช่องอากาศระหว่างกลาง เป็นฉนวนกันความร้อน ทำให้ประหยัดพลังงาน
3. ลักษณะหลังคา Free Form เป็นคลื่น ทำให้ดูสวยงาม จุดเด่นบนชั้น 4 ที่มี Roof Garden
4. คอนเซ็ปต์ของประโยชน์ใช้สอยสำหรับ “ยุคดิจิตอล” โดยเน้นสินค้าไอที และจัดมีห้องโถงสำหรับแสดงผลิตภัณฑ์นวัตกรรม “ดิจิตอล คอนเวนชั่น ฮอลล์” ในชั้นล่าง พื้นที่ 900 ตารางเมตร รวมพื้นที่ให้เช่า 4,604 ตารางเมตร

กิจกรรมและไลฟ์สไตล์ในอนาคตของเซ็นเตอร์พ้อยท์ตามข้อเสนอของทิพย์พัฒนอาร์เขต
1. Digital Event &Media
เป็นพื้นที่ที่เน้นกิจกรรมทันสมัย และมีสื่อทันสมัย รวมถึงป้ายบิลบอร์ดสำหรับสินค้าและบริการต่างๆ
2. Exploration เป็นที่สำรวจและค้นพบสิ่งใหม่ๆ
3. IT Spot จุดแสดงเทคโนโลยีใหม่ๆ
4. Innovative Effects แหล่งสะท้อนนวัตกรรมใหม่ๆ
5. Freedom & Uplifting ให้ความรู้สึกอิสระ และเบิกบานใจ

กว่าจะเป็นเซ็นเตอร์พ้อยท์โฉมใหม่ฉบับของ “เสี่ยเจริญ” ทีมงานของทิพย์พัฒน อาร์เขตได้สำรวจกิจกรรม และไลฟ์สไตล์ของกลุ่มคนที่อยู่ในสยามสแควร์พบว่ามีดังนี้
1. เป็นแหล่งรวมดาราดังๆ
2. เป็นแหล่งที่มีความสนุกสนาน และจะเป็นเป้าหมายของการโปรโมชั่นสินค้าบริการต่างๆ
3. เป็นศูนย์ความบันเทิง
4. มีร้านค้าที่แสดงคอนเซ็ปต์ที่โดดเด่นชัดเจน
5. เป็นแหล่งเดินเล่น และช้อปปิ้ง
6. เป็นศูนย์การเรียนรู้
7. เป็นแหล่งที่นิยมเป็นที่นัดพบ

อาคารพันธุ์ทิพย์ พลาซา เปิดตั้งแต่ปี 2528 เดิมเป็นห้างสรรพสินค้าทั่วไป แต่กลุ่มของ “เสี่ยเจริญ” เข้ามาเทกโอเวอร์เมื่อปี 2532 โดยมี “ชัยพงศ์ ภู่สุนทรศรี” อดีตผู้จัดการฝ่ายการตลาดของเดอะมอลล์ เข้ามาเป็นผู้บริหาร ภายใต้ชื่อบริษัททิพย์พัฒนอาร์เขต จากห้างที่เงียบเหงาในช่วงนั้น ภายใน 3 ปี “ชัยพงศ์” พัฒนาให้เป็นห้างสำหรับสินค้าไอทีคอมพิวเตอร์ เพราะแนวโน้มของสินค้าคอมพิวเตอร์ในช่วงเวลานั้นกำลังเติบโต จนประสบความสำเร็จ และด้วยนโยบายการเปิดให้รายเล็กเข้าเช่าพื้นที่ ทำให้มีสินค้าด้านไอทีให้เลือกจำนวนมาก มีเงินสะพัดวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาทในปัจจุบัน จากประสบการณ์ดังกล่าวนี้ทำให้การบริหารธุรกิจเซ็นเตอร์พ้อยท์ ในรูปแบบดิจิตอล ซิตี้ จึงเป็นเรื่องที่ถนัดและสร้างความสำเร็จได้อย่างสูง