พอลล่า Effect

ถ้ามีการวัดเรตติ้งของสีสันการทำตลาดของกล้องดิจิตอลทั่วโลก การแข่งขันของตลาดไทยต้องติดโผอันดับต้นๆ แน่ๆ เพราะเป็นตลาดเดียวในโลกที่มีดาราดังพาเหรดมาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ หรือที่เรียกกันติดปากคนไทยว่า พรีเซ็นเตอร์ กันอย่างคึกคัก

พรีเซ็นเตอร์ที่แต่ละค่ายเลือกใช้ ไม่ได้สะท้อนแค่ลักษณะเฉพาะของตลาดไทยที่ตอบสนองต่อพรีเซ็นเตอร์อย่างแรงเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงการปรับรูปแบบการทำตลาดของค่ายญี่ปุ่น 3 ค่ายดัง ที่ต้องยอมปล่อยหน้าที่การตลาดให้เป็นเรื่องของคนไทยเต็มตัว เพราะตลาดใหญ่ขนาดนี้ถ้าเข้าไม่ถึง Insight ผู้บริโภคไทยจริงๆ ก็มีสิทธิ์เสียแชมป์กันง่ายๆ

เมื่อเบอร์หนึ่งถูกแซง

ช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ เมื่อแคนนอนเปิดตัว “พอลล่า” เป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับกล้องดิจิตอลแคนนอน IXUS (อิกซัส) 70 และ IXUS 75 เป็นครั้งแรก และเริ่มกระจายสินค้าสู่ตลาด กล้องอิกซัส ซึ่งเคยมีสัดส่วนการขายเพียง 20 % ในพอร์ตกล้องดิจิตอลคอมแพคของแคนนอน ก็ค่อยๆ เพิ่มส่วนแบ่งขึ้นมาจนมีสัดส่วนยอดขายขึ้นเป็น 50/50 ในพอร์ตกล้องดิจิตอลของแคนนอน เมื่อเทียบกับ Power-Shot แบรนด์กล้องดิจิตอลคอมแพคอีกแบรนด์ของแคนนอน แม้ว่า IXUS จะมีราคาเฉลี่ยสูงกว่า เพราะเป็นกล้องที่ต้องการเจาะกลุ่มผู้ซื้อที่เตรียมเงินขั้นต่ำสำหรับซื้อกล้องที่วงเงินเฉลี่ยที่ 15,000 บาทก็ตาม

“ช่วงนั้นเราเริ่มแซงโซนี่ ซึ่งพรีเซ็นเตอร์ที่เลือกใช้เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ผมเชื่อว่ามีผลต่อตลาดโดยตรง” วรินทร์ ตันติพงศ์พาณิช ผู้อำนวยการอาวุโสและผู้จัดการทั่วไป ส่วนงานคอนซูเมอร์ อิมเมจิ้ง แอนด์ อินฟอร์เมชั่น บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด ให้ข้อมูล

ขณะที่สมชาย ครองสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โฟโต้ฮัท กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของสาขาร้านจำหน่ายกล้องโฟโตฮัทกว่า 140 สาขา ก็ยืนยันเช่นกันว่า ยอดขายแคนนอนแซงหน้าโซนี่ในช่วงเดียวกัน

“ข้อมูลจีเอฟเคระบุว่าแคนนอนขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในแง่ของมูลค่า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ตัวยูนิตยังไม่ถึงกับแซง เพราะเฉลี่ยราคาแคนนอนสูงกว่า และเป็นการรวมยอดขายของกล้องซิงเกิลเลนส์เข้ามาด้วย ทำให้ช่วงกลางๆ ปีแคนนอนเลยขยับขึ้นเป็นที่หนึ่ง โซนี่ลงมาที่สอง และซัมซุงซึ่งราคาลงเร็วมากมาเป็นที่สาม”

สมชายวิเคราะห์เพิ่มเติมว่า กลยุทธ์ที่แคนนอนขึ้นมาเป็นที่หนึ่งของตลาดแม้ในช่วงสั้นๆ ไม่ใช่เพราะความได้เปรียบในเรื่องราคาอย่างเดียว แต่ปัจจัยสำคัญมาจากรูปแบบการทำตลาด ทั้งการจัดกิจกรรมโรดโชว์อย่างต่อเนื่อง มีภาพยนตร์โฆษณาทีวี และที่สำคัญ

“การเอาพอลล่ามาเป็นพรีเซ็นเตอร์มีผลอย่างมาก เพราะทำให้รูปแบบตลาดของแคนนอนแตกต่างจากแบรนด์อื่นอย่างชัดเจน ผู้บริโภคก็เห็นชัดและจำได้”

พอลล่าทำให้ผู้ซื้อกล้องแคนนอนถึงกับเรียกหาอิกซัส 70, 75 ว่ากล้องรุ่นพอลล่า ถือเป็นความสำเร็จที่ทำให้อีกหลายแบรนด์ต้องเฟ้นหาพรีเซ็นเตอร์มาชน

ทำไมต้องพอลล่า

“พอลล่าตอบโจทย์หลายอย่าง เป็นคนรุ่นใหม่ โดยบุคลิกพอลล่าเป็นคนที่มีปฏิภาณไหวพริบดี มีความนิยมอยู่ในวงการแฟชั่น ซึ่งเราต้องการคนที่จะมาเป็นตัวแทนของกลุ่มเป้าหมายที่ชอบความทันสมัย มีไลฟ์สไตล์ และมีความเป็นไฮเทคโนโลยีด้วย”

วรินทร์สรุปความเป็นพอลล่าที่สอดคล้องกันกับอิมเมจที่ตรงกับบุคลิกของกล้องอิกซัส ซึ่งเป็นกล้องที่เน้นดีไซน์ ต่างจากกล้องในตระกูลอื่นของแคนนอนอย่าง Power-Shot

ก่อนหน้านั้น กล้องดิจิตอลของแต่ละค่าย รวมทั้งแคนนอนเอง ต่างก็ใช้ภาพยนตร์โฆษณาจากต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งไม่เป็นที่จดจำเว้นแต่กลุ่มคนที่เป็นแฟนตัวจริงของ มาเรีย ซาราโปว่า นักเทนนิสสาวสวย ซึ่งแคนนอนเลือกใช้มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ของไซเบอร์ช็อตสำหรับตลาดกล้องดิจิตอลทั่วโลก

“ผมว่าโฆษณาต่างประเทศส่วนใหญ่เน้นให้เห็นฟีเจอร์หลักของกล้องแต่ละรุ่นที่ออกมา ถ้าคนที่ไม่คุ้นกับการใช้งานกล้องอยู่แล้วก็อาจจะดูไม่เข้าใจว่าต้องการสื่ออะไร ไลฟ์สไตล์คนไทยกับการใช้กล้องก็อาจไม่เหมือนในต่างประเทศที่ผู้ใช้เขามีความรู้มากกว่าเราเยอะ ทำโฆษณาเองในไทยดีกว่า อยากเสนออะไรก็ทำให้เข้าใจง่ายกว่า” เจ้าของร้านกล้องรายหนึ่งให้ความเห็น

ดังนั้น ข้อดีของการเลือกใช้พรีเซ็นเตอร์ระดับโลก ส่วนใหญ่จึงได้แค่เรื่องของภาพลักษณ์ของแบรนด์ระดับโลก แต่ปัญหาคือเข้าไม่ถึงผู้บริโภคคนไทย

แต่ถ้าเป็นพรีเซ็นเตอร์ไทย นอกจากจำง่าย เข้าใจ สื่อสารชัดกว่า ยังมีความต่อเนื่องหรือ Recall แบรนด์หรือกล้องรุ่นนั้นได้จากการจัดกิจกรรม ที่พรีเซ็นเตอร์มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมได้ด้วย

“ซาราโปว่าเป็นพรีเซ็นเตอร์เพาเวอร์ช็อต ซึ่งเป็นกล้องที่เน้นเรื่องฟังก์ชั่นมากกว่าดีไซน์ สำหรับตลาดไทยที่เราต้อง Localize เพราะผู้บริโภคคนไทยรสนิยมค่อนข้างดี ชอบกล้องมีสไตลิสต์ จึงเป็นแนวทางที่เราต้องเลือกการนำเสนอให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งพอลล่าเหมาะสมมากกว่าใช้ซาราโปว่า”

ความสำเร็จของแคนนอนในการใช้พรีเซ็นเตอร์มาร์เก็ตติ้ง ดำเนินงานภายใต้แคมเปญ My Image My Canon ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ต้นปี
นอกจากใช้พอลล่านำเสนอกล้อง IXUS 75 และ IXUS 70 ในภาพยนตร์โฆษณาชุดแรกยังมีสัญลักษณ์มือรูป “C” หรือท่าจับกล้องที่พอลล่าแสดงให้เห็นเป็นประจำประกอบ พร้อมคำพูดแคมเปญที่ทำให้คนจำได้ขึ้นหู ทั้งหมดเพื่อต้องการสื่อว่า เพียงแค่คุณมีกล้องอิกซัสอยู่ในมือภาพทุกภาพก็ชัดขึ้นมาทันที

“เราเซ็นสัญญาปีต่อปีกับพอลล่า ภาพยนตร์โฆษณาชุดที่สองสำหรับสินค้าที่จำหน่ายในช่วงไตรมาสสุดท้าย ก็อยู่ในแผนการรันแคมเปญในรูปแบบนี้ที่วางมาตั้งแต่ต้น” วรินทร์กล่าว

ภาพยนตร์โฆษณาชุดที่สอง ใช้ธีม IXUS in Paris ถ่ายทำทั้งหมด 4 เวอร์ชั่น ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส แต่ละตอนสื่อถึงฟังก์ชันการใช้งานของกล้องดิจิตอลแคนนอนในแต่ละด้าน เช่น ระบบป้องกันการสั่นไหว ปรับโฟกัสใบหน้าบุคคล ซึ่ง IXUS 860 เปิดตัวเป็นรายล่าสุดในตลาดจึงต้องทำลายสถิติด้วยการจับใบหน้าบุคคลได้ถึง 35 หน้า แซงหน้าพานาโซนิคที่ถูกทำลายสถิติสูงสุดจับได้ 15 หน้าเพียงไม่ถึงสัปดาห์

ส่วนหนึ่งของความสำเร็จจากพอลล่า แคนนอนยังขยายผลแคมเปญไปสู่ตลาดเครื่องพิมพ์ PIXMA ซึ่งเป็นเครื่องพิมพ์ที่เน้นดีไซน์ และเป็นการสะท้อนภาพลักษณ์สินค้าทันสมัย ผ่านพอลล่า และทำให้ลูกค้าเข้าถึงภาพความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอิมเมจจิ้งมากขึ้น อีกทั้งสินค้าทั้งสองไลน์ของแคนนอนเป็นสินค้าที่ใช้งานร่วมกันได้ด้วย

ข้อมูลของแคนนอนเป็นการย้ำเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน ซึ่ง วรินทร์ ยังเชื่อว่า ผลจากความสำเร็จของแคนนอนที่เลือกใช้พอลล่า ทำให้หลายค่ายหันมาดันพรีเซ็นเตอร์ และปรับแผนด้านการตลาด

10 ปี ไซเบอร์ช็อต ขอพรีเซ็นเตอร์เป็นตัวช่วย

ฝั่ง “โซนี่” เมื่อเสียแชมป์ แม้เพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ ย่อมอยู่ไม่ติด จากที่กล้องดิจิตอลที่ไม่เคยครีเอตภาพยนตร์โฆษณาเองเลยในเมืองไทย ก็เริ่มต้องหันมาหา “แบรนด์แอมบาสเดอร์” ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายของกล้องไซเบอร์ช็อตบ้าง โดยถือโอกาสในช่วงครบรอบ 10 ปี ไซเบอร์ช็อต เปิดตัวพรีเซ็นเตอร์ของกล้องโซนี่ครั้งแรกพร้อมกันทีเดียว 2 คน ตามสไตล์เบอร์หนึ่งถ้าต้องทำการตลาดที่ต้องตามเบอร์ 2 ก็ต้องมีมากกว่า

พรีเซ็นเตอร์ของโซนี่ ลงตัวที่ สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว หรือบี้ เดอะสตาร์ และแพรดาว พานิชสมัย หรือมัดมุก คนแรกเป็นขวัญใจวัยรุ่นที่กำลังมีผลงานทั้งซิทคอม พรีเซ็นเตอร์โฆษณา ผลงานเพลงฮิตติดปาก และละครเวที ขณะที่คนหลังเป็นคนรุ่นใหม่ ทันสมัย ไฮโซ และเปี่ยมด้วยความสามารถ

เป้าหมายของโซนี่ในการเลือกพรีเซ็นเตอร์ ต้องการสะท้อนบุคลิกที่สดใสของคนรุ่นใหม่ มีความฝัน และความสามารถหลายด้าน ซึ่งตรงกับกลุ่มเป้าหมายของไซเบอร์ช็อตนั่นเอง

แค่พรีเซ็นเตอร์อย่างเดียวไม่พอ ตัวกล้องเองก็ต้องมีลูกเล่นใหม่ด้วย ลูกเล่นล่าสุดของโซนี่ที่ออกมาพร้อมกล้องที่ให้ 2 คนรุ่นใหม่เป็นพรีเซ็นเตอร์ ยังคงเน้นที่ดีไซน์และสีสัน โดยเฉพาะการพัฒนากล้องสีชมพู ที่กลายเป็นเทรนด์ Gadget ในปัจจุบัน

ส่วนเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นก็หนีไม่พ้นระบบป้องกันการสั่นไหว เพิ่มความละเอียด ระดับเฟซดีเทคชั่น และลูกเล่นใหม่ที่แตกต่างจากรายอื่นได้แก่ Smile Shutter กล้องที่กดชัตเตอร์ได้เองเหมือนผู้ถูกถ่ายยิ้มเห็นฟัน รวมถึงการพัฒนากล้องดิจิตอลให้เป็นส่วนหนึ่งของสินค้าฟูลเอชดีเพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ในการสร้างคอนเทนต์ของผู้บริโภค

หลังเปิดตัวพรีเซ็นเตอร์ ยอดขายกล้องโซนี่เติบโตอย่างรวดเร็ว และทำให้โซนี่กลับมายืนอยู่ในตำแหน่งเบอร์หนึ่งได้อย่างมั่นใจเช่นเดิม ถือว่าการเลือกใช้พรีเซ็นเตอร์เป็นการตอบโจทย์ที่แม้ต้องเดินตามเบอร์สอง แต่ก็ให้ผลตอบรับที่คุ้มค่า

เคน-โดม เดิมพันครั้งใหญ่ของพานาโซนิค

ไดโซะ อิโตะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท พานาโซนิค ประเทศไทย จำกัด ยอมรับอย่างหนักแน่นว่าพรีเซ็นเตอร์ไทยให้อิมแพคแรงมากในตลาด พานาโซนิคเองก็เตรียมใช้กลยุทธ์พรีเซ็นเตอร์มาร์เก็ตติ้งมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เพียงแต่คิวของเคน ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์ และโดม ปกรณ์ ลัม ไม่ว่างตรงกันสักที

ทั้งสองคนต่างได้ชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อพรีเซ็นเตอร์ด้วยกันทั้งคู่ และเป็นดาราที่มีงานต่อเนื่องตามคอนเซ็ปต์ของพรีเซ็นเตอร์ที่ดี โดยเคน เป็นงานสายละคร และโดม เป็นงานสายดนตรี ที่ทำให้พานาโซนิคเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายวัยรุ่นในสองตลาดสำคัญที่นิยมชมชอบเคนและโดม อย่างง่ายดาย

“เป้าหมายของพานาโซนิคต้องการเป็นที่หนึ่งในไทยในระยะเวลาอันสั้น จึงต้องเดินเกมเองในไทย ทำภาพยนตร์โฆษณาเฉพาะในไทย”

คำว่า “เดินเกมเองในไทย” ที่ ไดโซะ อิโตะ พูดถึง ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นภายใต้การบริหารงานของพานาโซนิคในไทยในตลาดกล้องดิจิตอล เพราะก่อนหน้านี้ภาพยนตร์โฆษณาทุกเรื่องของ Lumix กล้องดิจิตอลคอมแพคของพานาโซนิค นำเข้ามาจากริจินัล ซึ่ง ไดโซะ อิโตะ ยอมรับว่า ไม่ได้รับความสนใจมากเท่ากับการใช้พรีเซ็นเตอร์ที่เป็นคนไทย

“ที่สำคัญทีวีซีที่นำเข้าจากต่างประเทศที่ผ่านมา สื่อสารกับลูกค้าไม่ชัดว่าต้องการเน้นอะไร เชื่อว่าเคน-โดม น่าจะทำให้พานาโซนิคมาแรงพอสมควร เท่าที่รู้บริษัทอยากให้เรียกขาน Lumix55 และ 33 เป็นรุ่นเคนกับโดม งานนี้ข่าวว่าพานาโซนิคตั้งใจจะขายเป็นแสนตัว เทียบสเป็กใกล้กันราคาก็ค่อนข้างสูง คิดว่าจะน่าจะเป็นไปได้ เพราะตอนนี้เบอร์ 3 อย่างซัมซุงก็ค่อนข้างนิ่ง” ตัวแทนจำหน่ายกล้องพานาโซนิคให้ความเห็น

กล้องทั้งสองรุ่น ต่างกันแค่เพียง หน้าจอแอลซีดี Lumix55 จอกว้าง 3 นิ้ว ส่วน Lumix 33 กว้าง 2.5 นิ้ว ฟังก์ชันอื่นๆ เหมือนกันทุกอย่าง รวมทั้งเป็น 2 รุ่นแรกที่เปิดตัวพร้อมเทคโนโลยี IA (Intelligent Auto Mode) ที่ทำให้ผู้ถ่ายสนุกและถ่ายภาพได้ไวขึ้นโดยที่กล้องจะเปลี่ยนโหมดตามความเหมาะสมของภาพที่ต้องการถ่ายโดยอัตโนมัติโดยผู้ใช้ไม่ต้องปรับด้วยตัวเอง

เมื่อพานาโซนิคมีเป้าหมายที่จะกระโดดจากเบอร์ 5 ขึ้นเป็นเบอร์ 3 ภายใน 3 เดือน ภารกิจของเคน-โดม ที่ถูกวางไว้จึงไม่ได้จบแค่ทีวีซี แต่ตลอดช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี ซึ่งเป็นฤดูกาลขายสินค้า ทั้งคู่ต้องเตรียมทีมไปปะทะกับกลุ่มเป้าหมายของพานาโซนิคตามโปรแกรมโรดโชว์ทุกภาคทั่วประเทศ พร้อมๆ กับทำหน้าที่แบรนด์แอมบาสเดอร์ที่จะอยู่ติดตัวเขาไปอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1 ปี

แบรนด์กล้องดิจิตอล…ต่างที่มาแต่เป้าหมายเดียว

กลุ่มที่ 1 มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง ได้แก่ นิคอน แคนนอน โอลิมปัส การพัฒนาของกลุ่มนี้จะเน้นพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นคุณสมบัติหลักของกล้องเป็นหลัก เช่น เรื่องเลนส์ เทคโนโลยีที่ช่วยให้ได้ภาพที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

จุดแข็ง เป็นแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่งในตลาดกล้องซิงเกิลเลนส์ ซึ่งเป็นกล้องที่มูลค่าตลาดสูง และทั้งสามแบรนด์ยังคงรักษาส่วนแบ่งในตลาดซิงเกิลเลนส์ได้แบบยากที่ผู้ผลิตกล้องที่ไม่ได้เริ่มต้นจากธุรกิจกล้องเข้าถึงยาก

กลยุทธ์การตลาด กลุ่มนี้เมื่อพัฒนากล้องคอมแพค จะเน้นพัฒนาเรื่องคุณภาพกล้องเป็นหลักมากกว่าการใส่ลูกเล่นอื่นๆ เข้าไป และได้ความเชื่อถือในความเป็นแบรนด์กล้อง เช่น ความละเอียดมากขึ้น วัดแสงดีขึ้น แฟลชดีขึ้น ถ่ายภาพได้คมชัดง่ายขึ้น เป็นต้น

โอกาสทางการตลาด เซ็กเมนต์ตลาดกล้องดิจิตอลที่เติบโตสูงสุดคือกล้องในกลุ่มเอสแอลอาร์หรือซิงเกิลเลนส์ ซึ่งมีอัตราเติบโตเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และเมื่อบวกกับมูลค่าต่อหน่วยที่สูงกว่ากล้องคอมแพค ยิ่งทำให้แบรนด์ในกลุ่มนี้มีโอกาสสร้างส่วนแบ่งการตลาดได้สูงขึ้น

กลุ่มที่ 2 ค่ายที่ไม่ได้ผลิตกล้องเป็นหลัก ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ที่มาจากฝั่งเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น โซนี่ ซัมซุง พานาโซนิค หรือจากผู้ผลิตฟิล์ม เช่น ฟูจิ โกดัก

จุดแข็ง มีเครือข่ายการตลาดกว้างกว่า จากช่องทางของผู้จำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมากกว่าร้านกล้อง จึงมีเทคนิคการทำตลาดที่เข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างกว่า และได้เปรียบมากขึ้นในการที่ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ในใจผู้บริโภคอยู่แล้วทำให้ผู้บริโภคทั่วไปที่ไม่ใช่กลุ่มนักเลงกล้องซึ่งมีจำนวนมากกว่าในตลาดยอมรับง่าย

กลยุทธ์การตลาด การพัฒนากล้องของแบรนด์เหล่านี้จะเน้นลูกเล่นและความสนุกสนานในตัวกล้อง มากกว่าเน้นพัฒนาเรื่องกล้องอย่างเดียว เช่น ดูหนัง ฟังเพลงได้ แต่เมื่อทุกแบรนด์ต่างรู้ว่าเซ็กเมนต์ที่เติบโตมากที่สุดคือกล้องเอสแอลอาร์ ทำให้หลายแบรนด์ใช้กลยุทธ์หาพันธมิตรเพื่อนำโนว์ฮาวด้านกล้องจากแบรนด์ที่ยังไม่ได้เข้ามาในตลาดกล้องดิจิตอลเต็มตัวมาช่วยเพื่อรุกตลาด เช่น โซนี่จับมือกับมินอลต้า ซัมซุงใช้โนว์ฮาวของเพนแท็กซ์ พานาโซนิคซื้อลิขสิทธิ์ของไลก้า เป็นต้น

โอกาสทางการตลาด กลยุทธ์โคแบรนด์นอกจากเป็นการปิดจุดอ่อนเรื่องกล้องให้กับแบรนด์ในกลุ่มนี้ ยังถือเป็นดับเบิลอิมแพค ของการใช้ Co-Branding ที่ทำให้แบรนด์เหล่านี้สร้างความมั่นใจกับผู้ใช้กล้องได้มากยิ่งขึ้น

ส่วนแบ่งตลาดกล้องดิจิตอลคอมแพค*
อันดับ ยี่ห้อ ส่วนแบ่ง (%)
1 โซนี่ 24
2 แคนนอน 20
3 ซัมซุง 12
4 นิคอน 10
5 พานาโซนิค 8
*IDC คาดการณ์ตลาดรวมกล้องดิจิตอลในประเทศไทยปีนี้ประมาณ 9.5 แสนเครื่อง

เป้าหมายของท็อปแบรนด์
โซนี่รักษาผู้นำอันดับหนึ่ง ด้วยส่วนแบ่งเชิงมูลค่าจาก 32% ในปัจจุบัน เพิ่มเป็น 34% ภายในสิ้นปี 2550
แคนนอนตั้งเป้าขึ้นเป็นผู้นำตลาดภายในสิ้นปีนี้ โดยจะต้องทำส่วนแบ่งการตลาดในเชิงปริมาณให้ได้ 24-25% เท่ากับผู้นำอย่างโซนี่
พานาโซนิค ใช้พรีเซ็นเตอร์ดันยอดขายรุ่น Lumix FX33 และ FX55 ให้ได้อย่างน้อย 2.5 หมื่นยูนิตภายใน 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ เพื่อให้มีส่วนแบ่งตลาดเป็น 15% เพื่อขึ้นเป็นเบอร์ 3 ของตลาด