วุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ ขุนพลฉบับ Toyota Way

คำว่า องค์กรหมายเลข 1 ยอดขายอันดับ 1 ย่อมเปรียบเสมือนความท้าทายหมายเลข 1 สำหรับผู้บริหารคนนี้ “วุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์” ขุนพลทางการตลาดของค่ายรถยนต์โตโยต้า เขาอาจจะเหมือนนักแข่งรถ ถือพวงมาลัย เหยียบคันเร่ง รักษาตำแหน่งผู้นำในเส้นทางนี้ให้ได้ แม้ถนนจะลื่นบ้าง โค้งบางช่วงจะอันตราย แต่สิ่งเหล่านี้คือความท้าทาย เป็นการขับเคลื่อนที่เขาพูดว่า ต้องต่อสู้ด้วยจิตวิญญาณแบบ Kaizen และการใช้ทฤษฎีบริหารสไตล์ Toyota Way

วุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ แม้ชื่อของเขาจะไม่ใช่คนดังระดับมาสเตอร์พีซ แต่ในแวดวงของธุรกิจรถยนต์ ชื่อของวุฒิกรกับโตโยต้า ในฐานะผู้บริหารระดับสูงดูแลด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ ย่อมเป็นที่รู้จัก และได้รับความสนใจอย่างมาก ยิ่งช่วงการเปิดตัวรถใหม่ๆ และมีกิจกรรมทางการตลาดของโตโยต้า รวมทั้งเกิดความเคลื่อนไหวในตลาดรถ เขาจะได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนมากเป็นพิเศษ

ความท้าทายหมายเลข 1

ถ้าเปรียบเขาเป็นนักแข่งรถ วุฒิกร ถือเป็นนักขับรถในสังกัดค่ายรถยนต์ระดับแชมเปี้ยนในเมืองไทย ซึ่งครองแชมป์มาหลายยุคหลายสมัย บนสนามแข่งขันที่ต้องประลองกันด้วย ความสามารถในการขับขี่ สมรรถณะเครื่องยนต์ จังหวะ และโอกาส ล้วนเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับนักขับรถแข่งเช่นเขา

วุฒิกร ถือเป็น “ลูกหม้อ” ของโตโยต้าโดยแท้ เพราะนับตั้งแต่เขาเรียนจบด้านวิศวกรเครื่องกล เมื่อปี 2524 เขาก็เริ่มทำงานที่นี่เป็นที่แรกและไต่เต้าจากพนักงานระดับเล็กๆ มาสู่ตำแหน่งระดับสูงในปัจจุบัน คือ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รับผิดชอบงานด้านการตลาด และการประชาสัมพันธ์

“ถ้านับจากวันที่ผมก้าวเข้าสู่โตโยต้าเมื่อปี พ.ศ. 2524 วันนี้ก็ครบ 26 ปีแล้ว ผมจำได้แม่นว่า เริ่มทำงานโตโยต้าวันแรกเมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2524 ทำงานในแผนกรับประกันคุณภาพ ฝ่ายบริการ เป็นวิศวกรตรวจสอบเครื่องยนต์ ตำแหน่งความรับผิดชอบค่อยๆ สูงขึ้น ผมถือเป็นยุคบุกเบิกด้านเซอร์วิสหรือบริการหลังการขาย อยู่ฝ่ายวางแผนและอบรม ส่วนมารับผิดชอบงานด้านการตลาดจริงๆ นั้นเริ่มตั้งแต่ปี 2002”

มองจากภาระหน้าที่ของเขา วุฒิกร นับเป็นผู้บริหารไทยที่ได้รับวางใจจากโตโยต้าอย่างมาก โดยเฉพาะการมาดูแลด้านการตลาด เพราะสำหรับการแข่งขันค่ายรถยนต์ที่มุ่งเน้นเป้าหมายยอดขายรถ และยิ่งเป็นค่ายโตโยต้า ซึ่งถือเป็นยักษ์ใหญ่ในตลาดรถเมืองไทย ตำแหน่งด้านการตลาด จึงเป็นเหมือนขุนพลนำศึกในตลาดรถเมืองไทย

ยิ่งในช่วงหนึ่งถึงสองปีที่ผ่านมา ปัจจัยลบหลายด้านรุมเร้าให้ธุรกิจรถยนต์ซบเซาลง แต่การรักษายอดขายให้โตโยต้าเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ ด้วยยอดขายแต่ละปีเกือบปีละแสนคัน ย่อมเป็นสิ่งที่ท้าทายในความสามารถของผู้รับผิดชอบด้านการตลาด

วุฒิกร เล่าว่า ในความรับผิดชอบของเขานั้น ต้องมีแผนกให้ดูแลถึง 8 ฝ่าย เป็นแผนกที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการตลาดรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นแผนกด้านการวางแผนเพื่อออกโปรดักส์ใหม่ การกำหนดราคา อุปสงค์ อุปทาน รวมไปถึงฝ่ายพัฒนาลูกค้าสัมพันธ์ และฝ่ายประชาสัมพันธ์

หลักการทำงานที่นี่ จะกำหนดเป็นนโยบายรวม แต่ละฝ่ายแต่แผนกจะนำไปปฏิบัติตามเป้าประสงค์ การประชุมเป็นการสื่อสารในองค์กรที่ให้ความสำคัญมากที่สุด เพื่อขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน การประชุมจะเป็นการรับรู้ถึงแผนงาน ปัญหา อุปสรรค และความก้าวหน้าในทางปฏิบัติ

เวลาทำงานของวุฒิกร จากเช้าจรดเย็น ประมาณ 90% จึงอยู่กับห้องประชุม เนื่องจากภาระรับผิดชอบในหน้าที่การงาน ดูแลสายงานถึง 8 ฝ่าย ดังนั้นเขาแทบไม่ได้ใช้โต๊ะทำงานเลย

“การตลาดรถยนต์ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ยิ่งโตโยต้าเป็นผู้นำในตลาดรถ การทำงานทุกอย่างจึงต้องมีรุกและรับ หมายถึง ต้องมีวางแผน คิดกลยุทธ์ตลอดเวลา ทั้งหลายทั้งมวล ยังมีปัจจัยภายใน ภายนอก ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เป็นโจทย์ที่เราต้องคิดตลอดเวลา”

หากแต่ภาระจำเป็นที่เขาขาดไม่ได้เลย คือ การเดินทางไปร่วมกิจกรรมทางการตลาดในต่างจังหวัด ความหมายของการเดินทางครั้งนี้ไม่ใช่แค่การเข้าร่วมงานเท่านั้น แต่หมายถึง การเข้าพบปะดีลเลอร์ ซึ่งเป็นเหมือนเส้นเลือดสำคัญทางการตลาด ดังนั้นในฐานะที่เขาดูแลด้านงานขาย การสร้างความสัมพันธ์กับดีลเลอร์เป็นเรื่องที่สำคัญมาก

“บางอาทิตย์ทำงานเกือบ 7 วัน เสาร์-อาทิตย์ต้องไปต่างจังหวัด ถามว่าเหนื่อยไหม คำตอบคือ เหนื่อยแน่ๆ แต่มาคิดถึงลูกน้องล่ะ เขาต้องไปบ่อยกว่าผม เหนื่อยกว่าเราหลายเท่า แต่การไปพบดีลเลอร์สำหรับผมถือเป็นสิ่งสำคัญที่งานขายต้องขับเคลื่อนไปร่วมกัน”

วุฒิกร สะท้อนให้เห็นอีกว่า ตลาดแข่งขันของตลาดรถยนต์ ไม่ใช่แข่งกันแค่ตัวโปรดักส์อย่างเดียวแล้ว ยังมีองค์ประกอบอีกหลายส่วนที่ต้องต่อสู้ โดยเฉพาะการแข่งขันด้านแบรนด์ ต้องสร้างให้แบรนด์ให้ไม่หยุดนิ่ง ที่สำคัญหาพื้นที่ทางการตลาดใหม่ๆ หรือลูกค้าในอนาคต เช่น กลุ่มวัยรุ่น วัยเรียน ล้วนเป็นโจทย์ที่ต้องทำอย่างจริงจัง

The Style by Toyota สยามสแควร์ เป็นสิ่งปลูกสร้างที่ตอบโจทย์ของการสร้างแบรนด์สำหรับกลุ่มวัยรุ่นที่ถือเป็นผลงานชิ้นสำคัญของวุฒิกร ที่มองเห็นโลกของคนรุ่นใหม่สามารถปลูกฝังแบรนด์ ด้วยกิจกรรมที่คนกลุ่มนี้สนใจ เช่น แฟชั่น ดนตรี

งานหลายสิ่ง ความท้าท้ายหลายอย่าง กลายเป็นเรื่องปกติสำหรับวุฒิกรไปแล้ว ปัญหาและอุปสรรคสำหรับเขาเป็นเรื่องธรรมดา ทุกองค์กรต้องเผชิญ แต่อยู่ที่ว่ามีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร หลักการที่นี่ คือ นำปัญหามาประชุมร่วมกัน แก้ปัญหาจากส่วนย่อย และสร้างหน่วยงานในแต่ละจุดในองค์กรให้เชื่อมต่อสัมพันธ์กัน ทำงานงานแบบสอดประสาน ไม่อยู่แบบตัวใครตัวมัน

โตแบบ Toyota Way

วิเคราะห์จากบุคลิกภายนอก วุฒิกรมีความเป็น Kaizen สูง (หลักการทำงานของญี่ปุ่น หมายถึง เราปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดยั้ง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและการเจริญเติบโต) สมกับอยู่ในองค์กรญี่ปุ่นมานานถึง 26 ปีเต็ม โดยเฉพาะจิตวิญญาณในการรักในองค์กรโตโยต้า และความตั้งใจนำพาองค์กรความสำเร็จของเขา สะท้อนได้จากการสนทนากับเขา ผู้บริหารคนนี้สามารถอธิบายหลักการคิดและวิถีทางแห่งโตโยต้าได้อย่างละเอียด

อาจเพราะเขาเคยอยู่ฝ่ายอบรม เป็นวิทยากรในการอบรมพนักงานโตโยต้ารุ่นใหม่ๆ ความคิดแบบ Kaizen จึงดูซึมซับไปในจิตใจเขาสูง

วุฒิกร อธิบายว่า หลักบริหารงานของเขา ต้องมีทั้งระดับแนวตั้งและแนวนอน แนวตั้ง คือ การทำงานอย่างกระตือรือร้น ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งไหน ต้องไม่หยุดนิ่ง ต้องช่วยผู้บังคับบัญชาคิด มองไปข้างหน้าร่วมกัน ขณะที่แนวนอน หน่วยงานหรือแผนกทุกส่วนองค์กร จะต้องทำงานอย่างสัมพันธ์กัน เกื้อหนุนกัน ไม่ใช่ต่างกันต่างอยู่

Toyota Way เป็นทฤษฎีหลักการบริหารของโตโยต้า มุ่งประเด็นหลักอยู่สองอย่าง คือ “การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง” (Continuous Improvement) และ “การเคารพนับถือในคน” (Respect for People) ล้วนเป็นหลักการที่ถูกหล่อหลอมความเป็นนักบริหารของเขา

เขาเรียนรู้ว่าหลักการเหล่านี้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานได้ตลอด อย่างการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ในแง่การตลาดที่เขาดูแล ก็ต้องไปถึง การสร้างงานบริการทั้งก่อนการขาย และหลังการขายให้พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการพัฒนาคน และสิ่งปลูกสร้าง อย่างเช่น โชว์รูมของโตโยต้า

“การตลาดรถยนต์ เป็นเรื่อง Emotional เป็นหัวใจสำคัญ ความรู้สึกของการตัดสินใจซื้อ และความพึงพอใจของลูกค้าเป็นกลยุทธ์สำคัญ ด้วยคำตอบที่ดีว่า ทำอย่างไรให้พึงพอใจ และเลือกรถยนต์โตโยต้า ต้องพยายามสร้างแบรนด์โตโยต้าให้เข้าถึงผู้บริโภค ตั้งแต่การสร้างโชว์รูมรถให้น่านั่ง มีการบริการตรวจเช็กซ่อมที่รวดเร็วทันใจ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดพลังปากต่อปากในทางการตลาด”

ขณะเดียวกัน การตลาดในยุคปัจจุบัน เทคโนโลยีคือเครื่องมือสำคัญอย่างมากในการเข้าถึงผู้บริโภค สิ่งเหล่านี้ผู้ทำงานด้านการตลาดต้องเรียนรู้ และนำมาใช้ ตามกระแสของเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้ทัน

เขายกตัวอย่างว่า กิจกรรมโตโยต้าที่จัดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกือบร้อยละ 50 เดินทางมาร่วมงานเพราะการส่ง SMS และการรับรู้ทางอินเทอร์เน็ต นั่นเป็นคำตอบว่า การสื่อสารที่เข้าถึงคนได้รวดเร็วและดีที่สุดขณะนี้ คือเครื่องมือออนไลน์ ซึ่งพลังแห่งการสื่อสารรูปแบบนี้จะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ โจทย์เหล่านี้นักการตลาดจำเป็นต้องเรียนรู้

ความท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา สำหรับวุฒิกรแล้ว จึงมีเรื่องใหม่ๆ ให้เขาคิดมากขึ้นตลอดเวลา นี่เป็นโลกของผู้บริหารยุคใหม่ที่ต้องไม่หยุดนิ่ง พร้อมต่อสู่กับการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาตัวเอง

…เขาเปรียบตัวเองทิ้งท้ายว่า ถ้าเขาเป็นรถ น่าจะเป็น “โตโยต้า แคมรี” เพราะได้ถูกออกแบบ พัฒนา มาได้อย่างลงตัว ทั้งดีไซน์ ภายใน และภายนอก รวมทั้งประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ ไม่แตกต่างจากชีวิตการทำงานของเขาที่สะสม และพัฒนามาตลอด

เซียนเครื่องเสียง

นิตยสาร POSITIONING ได้มีโอกาสเข้าไปสัมภาษณ์พูดคุยกับวุฒิกรถึง 2 ครั้ง ใน 2 สถานที่ ครั้งแรกที่ The Style by Toyota สยามสแควร์ และที่บ้านของเขา ย่านลาดพร้าว ซึ่งไม่ค่อยมีสื่อมวลชนฉบับใดได้ไปบ้านของเขามากนัก

สิ่งหนึ่งที่สะท้อนความเป็นตัวตนของเขา คือ เขาเป็นคนที่ดูเนี้ยบมากคนหนึ่ง สังเกตได้จากการแต่งกาย แม้เวลาอยู่บ้านเขายังสวมเสื้อเชิ้ต ทับเสื้อในกางเกงสแลคอย่างเรียบร้อย

อีกด้านหนึ่งในไลฟ์สไตล์ของวุฒิกร นอกจากอุปกรณ์เครื่องใช้ที่เขาชอบอย่างพีดีเอโฟน ปาล์ม และพ็อกเก็ตพีซี ที่ชอบซื้อรุ่นใหม่ๆ มาใช้งาน ทั้งการเก็บข้อมูลด้านยอดขายรถ นัดหมายการประชุม แต่สิ่งเขาชอบมากเป็นพิเศษคือ อุปกรณ์เครื่องเสียง

ความชอบของเขาเข้าขั้นคลั่งไคล้มากคนหนึ่ง ถึงขนาดลงทุนสร้างห้องบริเวณชั้นล่างของบ้าน เป็นห้องฟังเพลงมีเครื่องเสียงชั้นยอด ราคาเกิน 6-7 หลัก ห้องนี้ถือเป็นห้องที่เขาหวงแหนที่สุด สังเกตได้ดีว่าแทบไม่มีฝุ่นเกาะ หรือรอยข่วนบนเครื่องเสียงของเขาเลย

เขาไม่ได้เพิ่งชอบเครื่องเสียง แต่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยเรียนระดับปริญญาตรี ด้วยอารมณ์นักศึกษาวิศวกรรมช่างกล เมื่ออยากมีเครื่องเสียงสักเครื่อง มีหรือที่เขาจะซื้อสำเร็จรูป อารมณ์แบบนักประดิษฐ์ก็เกิดขึ้น ซื้ออุปกรณ์จากบ้านหม้อมาประกอบเอง นั่นทำให้เขาเริ่มหลงใหลกับเทคโนโลยีนี้

ความรู้ระดับเซียนด้านเครื่องเสียงของเขาเรียกว่าเข้าขั้นผู้รอบรู้มากคนหนึ่ง ลำโพงแบบไหนดี เครื่องเสียงรุ่นใดมีคุณภาพ เขาอธิบายได้อย่างเข้าใจ ยิ่งใครได้ฟังเครื่องเสียงที่บ้านเขาแล้ว ย่อมสัมผัสได้ดีว่า สุนทรียภาพของเสียงเพลง ที่พูดๆ กัน ก็คือ อุปกรณ์ชั้นดี ลำโพงชั้นเยี่ยม และที่สำคัญ คือ การตกแต่งของห้อง

“ห้องชั้นล่างนี้ เป็นห้องโปรดของผม ทุกครั้งที่มีเวลา อยากพักผ่อน ผมจะเข้ามาห้องนี้ ฟังเพลง นอนพักผ่อน หรือบางครั้งผมก็คิดงานใหม่ๆ ได้ในห้องนี้”

เมื่อชอบเครื่องเสียง แน่นอนเขาก็ต้องเป็นนักฟังเพลงตัวยง บทเพลงเมื่อวันวานหลากหลาย ตั้งแต่เพลงอมตะชุดนิราศเวียงพิงค์ ทูล ทองใจ, ลูกทุ่งแบบ ก๊อต-จักรพรรณ และไมค์ ภิรมย์พร ไปถึงเพลงสไตล์แจ๊ซ บลูส์ และโปรดปรานที่สุด เขายกให้วงบีจี ยุค 70

“ทูล ทองใจ ต้องฟังตอนเช้า ให้อารมณ์ได้ดี แต่เวลาผมคิดงาน ผมจะชอบฟังเพลงบรรเลง เพราะทำนองจะช่วยให้ความคิดแล่น”

ซีดีแบบออดิโอไฟล์ หลากหลายร้อยแผ่นบรรจุอยู่ในตู้อย่างมีระเบียบ สมกับบุคลิกของเขาที่ดูเป็นคนมีระเบียบ สะท้อนได้จากการเก็บซีดี ทุกแผ่นยังดูใหม่เหมือนเพิ่งแกะออกจากห่อ

วุฒิกรมีความสุขทุกครั้งที่เขาจะพูดถึงเพลง ดนตรี และวิพากษ์วิจารณ์เพลงในยุคปัจจุบันว่า ไร้คุณภาพอย่างมาก โดยเฉพาะการใช้ภาษาไทยที่ไม่ชัดเจน ขาดสัมผัสคล้องจอง แตกต่างจากเพลงยุคก่อน

…แม้โลกอีกด้านหนึ่งของเขา จะดูไม่แปลกมากนัก แต่ไลฟ์สไตล์ของเขาก็สะท้อนวิถีชีวิตกับการทำงานได้เป็นอย่างดี ยิ่งได้ชื่อว่าเป็น “เซียนเครื่องเสียง” ด้วยแล้ว เขาก็ขอเป็น “เซียนทางการตลาด” เพิ่มขึ้นได้ยิ่งดี

Profile

Name : วุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์
Age : 49 ปี
Education : วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาเครื่องกล สถาบันเทคโนโลยีพระเจ้าจอมเกล้า ธนบุรี
Career Highlights :
ปัจจุบัน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัดรับผิดชอบงานด้านการตลาด และประชาสัมพันธ์
เริ่มงานกับโตโยต้า ปี 2524 แผนกรับประกันคุณภาพ ฝ่ายบริการ
พ.ศ. 2530 หัวหน้าวิศวกร แผนกอบรมและการพิมพ์ ฝ่ายบริการ
พ.ศ. 2533-2536 ผู้ช่วยผู้จัดการ แผนกวางแผนบริการ ฝ่ายบริการ
พ.ศ. 2536-2539 ผู้จัดการ แผนกวางแผนบริการ ฝ่ายบริการ
พ.ศ. 2539-2543 รองผู้อำนวยการ ฝ่ายการตลาดหลังการจำหน่าย
พ.ศ. 2543-2545 ผู้อำนวยการ ฝ่ายการตลาดหลังการจำหน่าย
พ.ศ. 2545-2546 ผู้อำนวยการ ฝ่ายวางแผนกลยุทธ์เขตการขาย
Fammily : สมรสแล้ว มีภรรยาชื่อ นงลักษณ์ สุริยะฉันทนานนท์ เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ โรงเรียน บดินทร์เดชา มีบุตร 2 คน
แบรนด์ในดวงใจ : คอมพิวเตอร์ “แอปเปิล” เป็นแบรนด์ที่เก่าแก่และทันสมัยอยู่ตลอดเวลา เห็นชัดจากการพัฒนาเครื่องคอมพิเวตอร์รุ่นใหม่ๆ ที่ตอบสนองผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี