Reality Convergence

ทรู คอร์ปอเรชั่น ตัดสินใจซื้อทรูวิชั่นส์ด้วย 2 เหตุผลหลัก เหตุผลแรกเพื่อทำให้บทบาทคอนเวอร์เจนซ์ในเครือทรูสมบูรณ์ขึ้นจากการมีคอนเทนท์ของทรูวิชั่นส์มาเป็นธงนำในการต่อยอดการให้บริการในรูปแบบคอนเวอร์เจนซ์ กับอีกเหตุผลที่ทรูต้องการขยายตลาด Pay TV ไปสู่ผู้บริโภคกลุ่มแมสเพิ่มขึ้น

เหตุผลแรก ทำให้ผู้บริโภคได้เห็นนวัตกรรมจากทรูวิชั่นส์ทั้งด้านการตลาดและเทคโนโลยี โดยเฉพาะการใช้คอนเทนท์รายการที่ได้รับความนิยม อย่าง AF และ พรีเมียร์ลีก เป็นตัวนำในการดึงความสนใจของกลุ่มผู้บริโภคเข้ามาใช้บริการในเครือข่ายทรูผ่านช่องทางของเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทรูมีอยู่ในมือ ช่องทางเหล่านี้ทำให้ทรูวิชั่นส์มีโอกาสขยายช่องทางหาสมาชิกใหม่ๆ และทำให้เป้าหมายในการขยายไปยังตลาดแมสเติบโตด้วยยอดสมาชิกที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ทรูวิชั่นส์ก็พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มบริการเชิงมูลค่าให้กับสมาชิกเดิม ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มผู้บริโภคระดับบนของตลาดไทยอีกหลายด้าน ตัวอย่างบริการใหม่ที่จะเป็นไฮไลต์ของปีนี้ ได้แก่ การให้บริการระบบส่งสัญญาณด้วยระบบ HD การพัฒนา Set top box รุ่นใหม่ ที่จะทำให้ผู้บริโภคควบคุมรายการที่มีอยู่เกือบ 100 ช่องให้กลายเป็นรายการที่ตัวเองกำหนดเองได้

การพัฒนา Set top box รุ่นใหม่ของทรูวิชั่นส์ กำลังจะทำให้ภาพของทีวีที่เคยพูดกันมาก่อนหน้านี้กว่า 4-5 ปี เรื่องทีวี 100 ช่อง กลายเป็นความจริง แต่มาพร้อมกับการขจัดปัญหาที่เคยกลัวกันว่า รายการเป็นร้อยช่องจะดูอย่างไรไหว ให้มีเทคโนโลยีที่ให้ผู้บริโภคควบคุมทุกอย่างได้ง่ายๆ ผ่านรีโมทคอนโทรลเครื่องเดียวไว้รองรับไปพร้อมๆ กัน

ภาพการคอนเวอร์เจนซ์ของการตลาดที่ปรากฏบนโลกนี้อาจจะไม่ได้มีเพียงทรูคอร์ปอเรชั่นรายเดียวที่พยายามทำได้ แต่การคอนเวอร์เจนซ์คอนเทนท์ของทรูวิชั่นส์ เป็นการคอนเวอร์เจนซ์ที่ไปถึงมือผู้ใช้ที่ชัดเจนที่สุด ที่สำคัญในโลกนี้ไม่มีโมเดลคอนเวอร์เจนซ์ต้นแบบให้ทรูก้าวตาม

ตัวอย่างการคอนเวอร์เจนซ์ในระดับโลกที่มีให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกอย่าง British Telecom จากฝั่งอังกฤษ Verizon ผู้ให้บริการมือถือจากฝั่งอเมริกา ต่างก็พยายามเสนอบริการในรูปแบบคอนเวอร์เจนซ์เช่นกัน แต่ภาพที่ผู้บริโภคสัมผัสได้ก็เป็นเพียงการคอนเวอร์เจนซ์ในแง่ของเทคโนโลยี เช่น การคอนเวอร์เจนซ์บริการมือถือกับ Fix line และทำได้เพียงการคอนเวอร์เจนซ์ในส่วนของเทคโนโลยีเป็นหลัก

กลยุทธ์คอนเวอร์เจนซ์ของทรูจึงต้องคิดสร้างสรรค์ขึ้นโดยทีมงานของทรูคอร์ปเองทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วย 5 ธุรกิจหลัก ได้แก่ True online, TrueVisions, True Move, True Life และTrue Money

ศุภชัย เจียรวนนท์ ให้นิยามว่า 3 ธุรกิจแรกเป็นเพียงสาธารณูปโภค แต่ 2 ธุรกิจหลัง คือสิ่งที่หล่อหลอมให้เกิดการคอนเวอร์เจนซ์ เพราะองค์ประกอบที่สำคัญของคอนเวอร์เจนซ์คือคอนเทนท์และแอพพลิเคชั่น ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วจะต้องทำให้เกิดการหลอมรวมเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์การใช้งานของผู้บริโภค

ทรูคอร์ปจึงเป็นเพียงองค์กรไม่กี่แห่งในโลกที่ใช้กลยุทธ์คอนเวอร์เจนซ์ที่ผสมผสานทั้งเรื่องไลฟ์สไตล์และเทคโนโลยีไว้รวมกันอย่างกลมกลืน ไลฟ์สไตล์ที่สร้างขึ้นเป็นทั้งส่วนเติมเต็มรูปแบบคอนเวอร์เจนซ์และเป็นตัวขับเคลื่อนเทคโนโลยีให้ถูกใช้งานตามความเหมาะสมของผู้บริโภค

บทบาทของทรูวิชั่นส์ในการเป็นทั้งคอนเทนท์และแอพพลิเคชั่นในรูปเคเบิ้ลทีวี หรือ Pay TV นี้เอง คือเหตุผลที่ทำให้ทรูวิชั่นส์กลายเป็นจิ๊กซอว์ที่สร้างความสมจริงให้กับกลยุทธ์คอนเวอร์เจนซ์ของทรูคอร์ปได้มากที่สุด เพราะกลายเป็นตัวเชื่อมที่หลอมรวมทุกบริการของทรูคอร์ปให้เข้าถึงและเห็นประโยชน์ชัดเจนในสายตาผู้บริโภคนั่นเอง

เหนือสิ่งอื่นใด นั่นก็คือ สำหรับคนไทย สถิติที่ระบุว่า เป็นประเทศที่คนส่วนใหญ่ใช้เวลากับการดูทีวีสูงสุดด้วยแล้ว ช่องทางที่ทรูวิชั่นส์มีอยู่ จึงกลายเป็นขุมทรัพย์คอนเวอร์เจนซ์ที่สร้างโอกาสในการคิดกิจกรรมหรือรูปแบบการตลาดให้กับทรูคอร์ปอเรชั่นได้อย่างไร้ขีดจำกัดอย่างแท้จริง

TrueVisions Mile Stone

1989 ก่อตั้งบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (IBC) ให้บริการ Pay TV ผ่านระบบไมโครเวฟและจานดาวเทียม
1993 ก่อตั้งบริษัท ยูทีวี เคเบิ้ล เน็ตเวิร์ก จำกัด (UTV) ให้บริการ Pay TV ผ่านระบบเคเบิ้ลใยแก้วนำแสง
พ.ค.1998 IBC ซื้อ UTV โดยการแลกหุ้น แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น UBC (ยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น)
2005 มีการ Re-package จาก Gold ซึ่งเป็นแพ็คเกจมานาน มาเป็น 3 แพ็คเกจหลัก ได้แก่ Platinum Package, Gold Package, Silver Package
ต้นปี 2006 ต้นปี เพิ่มแพ็คเกจ True Knowledge Package
ปลายปี 2006 เพิ่มแพ็คเกจ True Life free view
พ.ค.2006 ทรู คอร์ปอเรชั่น ซื้อหุ้น UBC จากผู้ถือหุ้นรายย่อย และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน UBC แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น UBC True
กลางปี 2006 ทรู คอร์ปอเรชั่น ซื้อหุ้นจาก MIH (Multichoice International Holding) แล้วกลายเป็นผู้ถือหุ้น 100%
24 ม.ค. 2007 เปิดตัวแคมเปญเปลี่ยนชื่อทรูวิชั่นส์อย่างเป็นทางการ
25 ม.ค. 2007 โฆษณาการเปลี่ยนชื่อชุดแรกเริ่มออกอากาศ
2007 เพิ่ม 3 แพ็คเกจตามสั่ง HBO Package, Discovery Package, Disney Package
ม.ค. 2008 ตั้งเป้า 3 ปีนับจากนี้ จะมีครัวเรือนคนไทยประมาณ 8 ล้านครัวเรือหรือ 50% ของครัวเรือนทั้งประเทศ เป็นสมาชิกทรูวิชั่นส์
ก.พ.2008 เปิดตัวทรูวิชั่นส์ซิม
2008 เตรียมเปิดบริการระบบ HDTV และ Set top box รุ่นใหม่