PVR ดูทีวีในแบบที่เป็นคุณ

จะดีแค่ไหน ถ้ามีช่องส่วนตัวให้คุณได้บันทึกรายการโปรด สร้างเป็นโปรแกรมส่วนตัวตามชอบ หรือจะสั่งหยุด เล่นซ้ำ หรือถอยหลัง ควบคุมรายการสดได้ไม่ต่างจากการควบคุมเครื่องเล่นดีวีดี แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ทำได้ผ่านรีโมทคอนโทรลที่คุณคุ้นเคย

ทรูวิชั่นส์ได้รับการปักธงสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไว้ว่า จะต้องก้าวไปสู่ความเป็นคอนเวอร์เจนซ์ และสามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค (Lifestyle Enabler) ฉะนั้นโจทย์ทุกอย่างของทีมพัฒนาโปรดักส์ของทรูวิชั่นส์จึงต้องคิดอยู่เสมอว่าจะตอบโจทย์คอนซูเมอร์ด้วยกลยุทธ์คอนเวอร์เจนซ์จากสิ่งที่มีอยู่ได้อย่างไร

ปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา Deputy Director, Special Projects/ UBC, President/ CEO Office, บริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในทีมผู้บริหารที่ต้องรับโจทย์นี้มาด้วยเช่นกัน

เขาเริ่มงานกับเครือข่ายทรูตั้งแต่ยุค TA Orange จนกระทั่งมาเปลี่ยนมาเป็นทรูคอร์ปอเรชั่น และเป็นทีมผู้บริหาร 3-4 คนแรกจากเครือที่เข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑฺ์ที่ทรูวิชั่นส์ เมื่อ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นทรูวิชั่นส์ 100%

สิ่งที่ปุณณมาศเรียนรู้มาเสมอเกี่ยวกับผู้บริโภคคือกลุ่มคนที่ถูกตามใจมาตลอด และสามารถเลือกทุกสิ่งที่ต้องการได้ ส่วนหน้าที่ของผู้ให้บริการคือ ทำอย่างไรให้บริการนั้นง่าย คุ้มค่า และตอบโจทย์ชีวิตผู้บริโภคได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค หรือพยายามเปลี่ยนให้น้อยที่สุด

“ความท้าทายของผู้นำเสนอบริการใหม่ ก็คือ การหาจุดสมดุลระหว่างความต้องการของลูกค้ากับเวลาที่เหมาะสม เพื่อใช้พัฒนาโปรดักส์และหาวิธีดำเนินการออกมา”

ประสบการณ์ และมุมมองเหล่านี้ทำให้ปุณณมาศและทีมได้คิดพัฒนา PVR (Personal VDO Recorder) Set top box รุ่นใหม่ ซึ่งพวกเขาได้ดู Case Study มาจาก TiVo ที่อเมริกา ที่นับได้ว่าเป็น “ก้าวสำคัญ” ของทรูวิชั่นส์ในปีนี้

จะว่าไปแล้ว PVR คือเจนเนอเรชั่นที่ 3 ของ Set top box จากยุคแรกที่เป็น Analog พัฒนามาสู่ยุค Digital และล่าสุดกลายมาเป็น Set top box ที่มีฮาร์ดดิสก์ในตัวเอง

ถ้าจะนึกถึงหน้าตา Set top box ตัวนี้ ไม่ได้ต่างจากรูปลักษณ์ของเครื่องดีวีดีที่เห็นอยู่ดาษดื่น แถมมีรูปทรงใหญ่กว่า เพราะต้องการหน้าจอที่เห็นได้ในระยะไกลเมื่อต้องป้อนคำสั่งจากรีโมทคอนโทรล และภายในตัวเครื่องยังประกอบด้วยฮาร์ดดิสก์ความจุขนาด 160 กิกะไบต์ และช่องเสียบสมาร์ทการ์ดเพื่อให้ป้องกันการเก็บข้อมูลต่างที่ถูกเก็บไว้ในเครื่องอย่างปลอดภัย

“TrueVisions PVR” มีระบบการทำงานที่มากกว่า Set top box รุ่นก่อนๆ 3 เรื่องหลักที่ทรูวิชั่นส์จะนำมาเป็นบริการไฮไลท์ในปีนี้ ได้แก่ หนึ่ง-การอัดรายการที่ชอบไว้ดูในเวลาที่ต้องการ

ด้วยฮาร์ดดิสก์ที่ใส่เข้าไปกับคุณภาพสัญญาณภาพของทีวีในปัจจุบัน จะทำให้อัดได้ถึง 140-160 ชั่วโมง โดยอัดได้ทั้งแบบครั้งเดียวหรืออัดเป็นซีรี่ย์ด้วยการตั้งโปรแกรมการอัดเชื่อมกับทีวีไกด์ซึ่งจะถูกโปรแกรมเข้าไปในเครื่อง แน่นอนว่าขณะที่อัดก็สามารถดูอีกรายหนึ่งไปพร้อมกัน เพราะเจ้าเครื่องนี้ใส่จูนเนอร์ไว้ 2 ตัว

สอง-การทำให้ผู้ชมทีวีสามารถควบคุมรายการที่กำลังออกอากาศอยู่ได้ไม่ต่างจากการดูดีวีดี ไม่ว่าจะเป็นกดรีโมตเพื่อ Stop, Fast Forward, Replay หรือเล่นแบบ Slow Motion และสาม-เปลี่ยนทีวีธรรมดาให้กลายเป็นอินเตอร์แอคทีฟทีวีรับส่งข้อมูลระหว่างผู้ชมกับต้นทาง

ในโหมดของ Interactive เป็นการนำข้อมูลสถิติเรียลไทม์จากริมสนามพรีเมียร์ลีกมาเพิ่มเติมให้กับคอบอล พร้อมกับเกมฮิตบนคอมพิวเตอร์ที่เปลี่ยนจากการเล่นคีย์บอร์ดและหน้าจอคอมพิวเตอร์ มาพักเวลาผ่านรีโมทและเล่นผ่านหน้าจอทีวี

“พรีเมียร์ลีกจะเตะหลายคู่พร้อมกัน แต่เราถ่ายทอดไม่หมด จะมีคอบอลที่ต้องการดูผลสนามอื่น สถิติต่างๆ เตะมุมกี่ครั้ง ก็จะมีการส่งข้อมูลจากริมสนามของทุกคู่เข้ามาที่ระบบเราแบบ Real-time แล้วโหลดส่งไปถึงหน้าจอทีวีภายในเวลาที่ห่างกันไม่กี่วินาที ทุกครั้งที่มีข้อมูลใหม่จอจะมีปุ่มสัญญาณสีแดงผู้ชมก็สามารถกดเข้าไปดูข้อมูลได้ทันทีในแบบอินเตอร์แอคทีฟ”

การทำงาน 3 ฟังก์ชั่นหลักของ PVR จะเริ่มทำตลาดอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งทรูวิชั่นส์มีแผนที่จะแนะนำบริการสู่ตลาดด้วย Key Benefit ไล่จากหนึ่งไปสาม ทีละขั้นตอน เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจงาน และค่อยๆ คิดทบทวนว่าประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นของเจ้า Set top box รุ่นใหม่ จะช่วยเติมเต็มการดูรายการโปรดของตัวเองได้อย่างไร

ปุณณมาศ เล่าว่า โจทย์แรกในการคิดค้น PVR เริ่มจากปัญหาการออกนอกระบบของสมาชิกทรูวิชั่นส์ที่รู้สึกไม่คุ้มค่าเพราะไม่สามารถดูรายการที่ชอบได้ในเวลาที่ต้องการ ทำให้พลาดรายการโปรอยู่บ่อยๆ

“สำหรับลูกค้าค่าสมาชิกต่อเดือนพันกว่าบาทถือเป็นราคาที่รับได้ ถูกกว่าฟิตเนสด้วยซ้ำ แต่ถ้าไม่ได้ดูรายการที่ชอบอย่างไรก็รู้สึกไม่คุ้มค่า”
ปุณณมาศ มั่นใจว่า ด้วยฟังก์ชั่นของ PVR รุ่นนี้จะช่วยลดปัญหานี้ได้หมดไป ขณะเดียวกันก็จะช่วยเพิ่มแวลูให้กับกลุ่มลูกค้าเดิมของทรูวิชั่นส์ในการจัดการกับรายการทีวีในแบบที่ชอบได้อย่างลงตัว

“โปรแกรมการตั้งอัดของเครื่องทำให้เราอัดได้ทั้งแบบเป็นตอนและเป็นซีรี่ย์ การอัดที่สะสมไว้ดูเป็นอาทิตย์ จะทำให้ต่อไปผู้ชมสามารถจัดการกับรายการต่างๆ ให้กลายเป็นโปรแกรมส่วนตัวได้เลย แล้วเจ้า PVR ก็จะทำหน้าที่เพียงแค่โชว์รายการที่คุณชอบเลือกรายการให้อัตโนมัติโดยการจดจำจากบันทึกรายการที่ถูกอัดซ้ำบ่อยๆ”

พฤติกรรมเหล่านี้ ก็จะกลายเป็นโจทย์ทำให้ทรูวิชั่นส์นำไปต่อยอดบริการต่างๆ ในอนาคตได้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นอีกด้วย เพราะข้อมูลที่เครื่องเก็บไว้เป็นการบันทึกพฤติกรรมผู้บริโภคโดยตรงและลงลึกระดับตัวบุคคล ซึ่งทำให้ทรูวิชั่นส์นำไปวิเคราะห์หาความต้องการของผู้บริโภคได้ชัดเจนขึ้นไปอีก

ทรูวิชั่นส์ยังไม่ได้กำหนดราคาของ PVR ว่าจะอยู่ที่เท่าไร แต่สำหรับค่าบริการรายเดือนที่เพิ่มขึ้นคาดว่าจะอยู่ในราว 300-400 บาทต่อเดือน และคาดว่า PVR จะได้รับการตอบรับจากผู้ชมที่ต้องการกำหนดรายการทีวีในแบบของตัวเองราว 10,000 ราย จากฐานลูกค้าทรูวิชั่นส์ซึ่งมีอยู่ประมาณ 8 แสนกว่ารายในปัจจุบัน

PVR Next Step
ทั้ง 3 จุดขายหลักของ PVR ถือเป็นเฟสแรกของ PVR ในการออกสู่ตลาด เพราะถึงขั้นที่ทรูวิชั่นส์ลงทุนวิจัยและพัฒนาโปรดักส์เองทั้งที โรดแมปที่วางไว้จึงมีแผนที่จะมีภาคต่อสำหรับการใช้งานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการตอบสนองการใช้งานในรูปแบบคอนเวอร์เจนซ์ที่เป็นโจทย์ใหญ์ที่ทรูวิชั่นส์ต้องการให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคอย่างแท้จริง

ด้านหลังเครื่อง PVR จะมีท่อต่ออินเทอร์เน็ตซึ่งถูกเตรียมไว้สำรับบริการในสเต็ปต่อไปที่จะไปคอนเวอร์เจนซ์กับอุปกรณ์อื่นๆ อย่างอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือแม้แต่บนโทรศัพท์มือถือ

ปุณณมาศอธิบายว่า ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันสามารถดูรายการผ่านมือถือได้ตั้งแต่ 3 ปีก่อน แต่เมื่อตัวเครื่องมือถือไม่พร้อม เครือข่าย และตลาดก็ไม่พร้อม ก็ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่จะทำตลาด แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนอยู่ในโรดแมปของการพัฒนาภายใต้คอนเวอร์เจนซ์ของทรูวิชั่นส์ทั้งสิ้น แต่จะเกิดขึ้นเมื่อไรนั้น ประเด็นสำคัญต้องดูที่ความพร้อมของผู้บริโภคมากกว่าความพร้อมของเทคโนโลยี

“อนาคตข้อมูลที่อัดไว้ใน PVR จะสามารถเรียกดูได้ผ่านหน้าจออินเทอร์เน็ต ลูกค้าสามารถที่จะเรียกดูรายการ สั่งอัด หรือทำทุกอย่างได้เหมือนใช้รีโมทคอนโทรล ขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าพอใจที่จะดูบนแพลตฟอร์มไหน ประเด็นหลักไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี แต่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้บริโภค”

โดยสรุปแล้วโจทย์คอนเวอร์เจนซ์ของทีม PVR ที่ปุณณมาศบอกว่าต้องคำนึงถึงอยู่เสมอก็คือ การคิดให้ตกว่าสิ่งที่ต้องการคอนเวอร์เจนซ์นั้น Make Sense หรือเกิดการใช้ประโยชน์ได้จริงแค่ไหน ที่สำคัญต้องทำให้เทคโนโลยีที่นำเสนออกไปนั้นเรียนรู้ได้ง่ายและใช้งานได้โดยไม่สะดุด

โดยส่วนตัว ปุณณมาศและทีมงานมีคอนเซ็ปต์ของApple เป็นแม่แบบในการตีโจทย์

“เราใช้โมเดลของApple ในการคิดให้ใช้ง่าย ไม่ใช่ฟีเจอร์เยอะแต่ใช้งานไม่ได้ รวมไปถึงว่าทำไงให้ฟีเจอร์ต่างๆ อินทิเกรทกันแล้วใช้งานได้ง่ายที่สุด Apple พัฒนาวงจรชีวิตของโปรดักส์ได้ดี iPod ออกมาก็มี iTune เป็นคอนเวอร์เจนซ์ของApple จะเห็นว่าหลายโปรดักส์ที่จะประสบความสำเร็จจริงๆ แล้วไม่ใช่ Stand Alone อย่างทีวีถ้าไม่มีคอนเทนท์ที่ดีก็ไม่รู้จะดูอะไร”

Apple ยังเป็นแม่แบบให้ทรูวิชั่นส์ในการคิดค้นพัฒนาที่ต้องบาลานซ์ระหว่างเทคโนโลยีและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด โปรดักส์ของAppleมักไม่ใช่เทคโนโลยีที่ดีที่สุด แต่เป็นโปรดักส์ที่ Integrate ที่สุด ใช้งานง่าย และสะท้อนไลฟ์สไตล์ที่ผู้บริโภคพอใจ

“ถ้าเราทำได้ครึ่งหนึ่งของที่ Apple ทำ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในตลาดบ้านเรา Apple เป็นทั้งไอดอลในการคิดโปรดักส์ให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ การเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย การดีไซน์โปรดักส์ แพ็คเกจจิ้งทุกอย่างเนี้ยบ รวมไปถึง Customer touch point ที่ร้านและบนเว็บไซต์ แม้กระทั่งมาร์เก็ตติ้งแคมเปญ เห็นแค่เสี้ยวเดียว เราก็บอกได้ว่านี่น่าจะเป็นโฆษณาของ Apple ทั้งหมดเกิดจากการอินทิเกรทได้ดีและมีธีมที่ชัดเจน”

ส่วนเป้าหมายสูงสุดของโปรดักส์คอนเวอร์เจนซ์ของทีม Products จึงต้องการให้เกิดบริการคอนเวอร์เจนซ์ที่ทำให้สมาชิกเข้าใจง่ายและใช้งานได้สนุก ที่สำคัญไม่มีจุดสิ้นสุดในการพัฒนา

PVR จุดเริ่มต้น R&D ของทรูวิชั่นส์

โดยส่วนตัว ปุณณมาศคิดว่าการเปิดตัว Set top box รุ่นใหม่อย่าง PVR ถือว่าช้ากว่าความต้องการของตลาด เพราะจะว่าไปแล้ว คนดูทีวีทุกคนพลาดรายการโปรดของตัวเองตั้งแต่เด็ก แม้จะมีแค่เพียงฟรีทีวีไม่กี่ช่อง ฉะนั้นกับเคเบิ้ลทีวีซึ่งมีอยู่หลายสิบช่อง กับแนวโน้มในอนาคตที่เทคโนโลยีอาจจะทำให้พัฒนาไปได้อีกเป็นร้อยเป็นพันช่อง แต่จะมีประโยชน์อะไรถ้าผู้บริโภคไม่มีโอกาสที่จะดูรายการเหล่านั้นได้ตามต้องการ

จากการคิดที่จะแก้โจทย์เรื่องสมาชิกบอกเลิกสัญญา PVR กลายเป็นที่มาของฝ่ายวิจัยและพัฒนาเล็กๆ ของ ทรูวิชั่นส์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกนับแต่ให้บริการธุรกิจเคเบิ้ลทีวีมา เพื่อคิดค้นสร้างโปรดักส์ของตัวเอง

“โดยปกติบริษัทในภูมิภาคนี้ หรือแม้แต่ในยุโรป จะใช้วิธีสั่งซื้อ Set top box จากต่างประเทศ รวมทั้งเราเองก็จะใช้วิธีซื้อแล้วมาปรับแต่งตามที่ต้องการใช้งาน แต่ตัวนี้เราสร้างทีมงานขึ้นมาเพื่อพัฒนาเอง เขียนโปรแกรมขึ้นมาใหม่ ซื้อมาเพียงฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์พื้นฐาน (Middleware) เท่านั้น ด้วยจุดประสงค์ว่าเราจะได้ของที่เราต้องการจริงๆ ถึงแม้ว่าจะต้องใช้เงินลงทุนมากขึ้น”

ทีมคิดค้นได้ชื่อตามผลิตภัณฑ์ว่า PVR ใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง ซึ่งกว่าจะสำเร็จเป็นโปรดักส์ชิ้นแรกออกมา ก็เพิ่มทีมงานจาก 4 คนเป็น 20 คน ครอบคลุมทั้งทีมเทคนิคและทีมการตลาด

เบื้องหลังความฉลาดส่วนหนึ่งของ PVR ที่ทำให้มันสั่งอัดรายการได้อย่างแม่นยำและต่อเนื่องในการอัดแบบซีรี่ย์ ต้องอาศัยคนในการป้อนข้อมูล โดยส่วนหนึ่งของทีม PVR จะต้องคอยอัพเดทรายการทีวี ทั้งฟรีทีวีและเคเบิ้ลแต่ละช่อง ให้ตรงกับเวลาออกอากาศ พร้อมๆ กับการใส่รายละเอียดของรายการให้มากขึ้นกว่าเดิมในอนาคต เช่น การถ่ายทอดพรีเมียร์ลีกก็จะต้องระบุชื่อทีมให้ชัดเจน ชื่อคู่ชิงเทนนิส หรือแม้แต่มวยปล้ำ

ส่วนข้อควรระวังในจุดอื่นๆ ปุณณมาศบอกว่า ความยากที่สุดของการพัฒนา PVR อยู่ตรงที่ทำอย่างไรให้เครื่องทำงานอย่างเสถียรที่สุด เพราะถ้ามีปัญหาแล้วลูกค้าไม่พอใจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ ปัญหาที่สองก็คือว่า ทำอย่างไรให้ใช้ง่าย เพราะ PVR จะมีมากกว่าแค่เปลี่ยนช่อง เปิดปิด แต่เราต้องทำให้รีโมทที่มีปุ่มมากขึ้นใช้งานคล่องเหมือนเดิม เพราะต้องยอมรับว่าเวลาคอนกดรีโมทจะไม่ก้มมาดูด้วยซ้ำ

แน่นอนว่าการตัดสินใจพัฒนาโปรดักส์ด้วยทีมงานของทรูวิชั่นส์เองครั้งนี้ ยังเป็นการตอบโจทย์ของบริษัทที่ต้องการเดินไปสู่กลยุทธ์คอนเวอร์เจนซ์ที่มากกว่าการขายโปรดักส์ใหม่เท่านั้น ซึ่งผลพลอยได้จากการพัฒนาสินค้าเอง จะทำให้ความรู้ที่ไม่เคยอยู่กับคนไทยมาก่อน เริ่มต้นเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเองจากกลุ่มคนเล็กๆ ที่ค่อยๆ สะสมไปสู่การพัฒนาต่อได้ไม่สิ้นสุด และอาจจะเป็นไปได้ว่าวันหนึ่งข้างหน้าทรูวิชั่นส์อาจจะทำให้ธุรกิจเคเบิ้ลทีวีไทยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศทุกครั้งที่ต้องการท็อปอัพ หรือเปลี่ยนแปลงบริการอะไรเพิ่มเติมเหมือนที่ผ่านๆ มา