ช่องแบรนด์ “ทรู” โปรเจ็คท์ดาวรุ่งของทรูวิชั่นส์

ว่ากันว่าช่องที่พะยี่ห้อ “ทรู” อาทิ True X-zyte, True Series, True Inside, True Film Asia, True Movie Hits, True Spark และ True Explorer เป็นช่องสาระบันเทิงที่ทรูวิชั่นส์จัดผังและคัดสรรคอนเทนท์มาจากต่างประเทศและในประเทศ คือหัวใจดวงใหม่ของทรูวิชั่นส์ และกลายเป็นทัพสำคัญในการขยายฐานสมาชิกเพื่อเจาะกลุ่มแมสให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นช่องที่ช่วยเสริมภาพลักษณ์ของการเป็นผู้นำที่ครอบคลุมเนื้อหาอย่างครบถ้วนของทรูวิชั่นส์ได้เป็นอย่างดี

แม้จะเป็นช่องที่มีอยู่แล้ว ณ ตอนนี้ แต่ก็เตรียมเพิ่มคอนเทนท์ใหม่ที่แฟนๆ คนไทยชื่นชอบ ให้เข้มข้นกว่าเดิม ขณะเดียวกันก็เตรียมเปิดช่องใหม่ที่หลากหลายและเจาะจงกับไลฟ์สไตล์สมาชิกทรูวิชั่นส์ เพื่อเพิ่ม Value ของคอนเทนท์ไปพร้อมๆ กับเพิ่มตัวเลือกที่หลากหลาย

อัญจนา สิงหเสนี Progrm Planning Manager, Program บมจ.ทรูวิชั่นส์ ดูแลด้านการจัดโปรแกรมช่องที่ทรูวิชั่นส์จัดทำเอง และ อาทิตย์ พรหมประสิทธิ์ Manager Programm Acquisitions, Programming บมจ.ทรูวิชั่นส์ ทำหน้าที่จัดซื้อรายการ ซึ่งเป็น 2 หัวหอกหลักด้านรายการ เล่าถึง Strategic Move ครั้งสำคัญของทรูวิชั่นส์ กับ POSITIONING

“ทรูวิชั่นส์ มุ่งเน้นการสรรหาคอนเทนท์แปลกใหม่แต่เหมาะสมกับสภาพสังคมและวัฒนธรรมเมืองไทย เพื่อให้คนไทยได้เรียนรู้เทรนด์ใหม่ๆ และเปิดประสบการณ์ให้กว้างขึ้น”

คอนเทนท์ของทรูวิชั่นส์ไม่ว่าจะเป็นสาระบันเทิงรูปแบบใดก็จะมีการแปล พากย์ และจัดทำซับไตเติ้ลโดยทีมงานมืออาชีพ ด้วยจำนวนเรื่องมหาศาลทำให้ห้องพากย์ไม่เคยว่างเว้นเลยตลอด 7 วันต่อสัปดาห์

ด้านซีรี่ย์ตะวันตกที่ออกอากาศทางช่อง True Series เอาใจคอซีรี่ย์ตัวยงด้วยซีรี่ย์ที่เน้นเนื้อหาซีเรียส อย่าง Mad Men (ตั้งชื่อล้อเลียน Ad Men) นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับอุตสาหกรรมโฆษณาในยุค 60’s ที่บูมสุดๆ ในสหรัฐฯ ขณะที่ Prison Break เข้าสู่ซีซั่น 3 ซึ่งจะเริ่มเปิดฉากมีนาคมนี้ ก็ยังมีเรื่องหักมุมที่คาดไม่ถึงมาให้ชมกันเช่นเคย

เนื่องจากแฟนคลับซีรี่ย์ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ดังนั้นเพื่อเข้าถึงความต้องการของกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น จึงนำซีรี่ย์ที่เกี่ยวกับผู้หญิงหรือที่มีผู้หญิงเป็นฮีโร่มานำเสนอถึง 2 เรื่องด้วยกันในเมษายนนี้ คือ Women Murder Club ที่นำส่วนผสมอันลงตัวของ 2 ซีรี่ย์ระดับตำนาน Sex and the City และ CSI มาเป็นธีมหลักของเรื่อง อีกเรื่องหนึ่งคือ Gossip Girl เป็นเรื่องราวของผู้หญิงในกลุ่มไฮโซ ชีวิตแบบคนรวยกลวงๆ แต่ให้สาระและข้อคิดเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่ดี

อย่างไรก็ตามแม้ซีรี่ย์แต่ละเรื่องที่คัดสรรมาจะเป็นซีรี่ย์ที่ฮอตฮิตติดดาวในต่างประเทศ แต่เรทติ้งในเมืองไทยยังนับว่าน้อยหากเปรียบเทียบกับช่องอื่นๆ ของทรูวิชั่นส์ แต่กระนั้นก็มีกลุ่มแฟนประจำที่ชื่นชอบซีรี่ย์อยู่จำนวนหนึ่ง และทำให้ทรูวิชั่นส์มีคอนเทนท์ที่แตกต่างจากเคเบิ้ลทีวีทั่วไป

แม้ Korean Wave จะพัดกระหน่ำเมืองไทยมาหลายปี แต่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าความนิยมจะลดลง กระนั้นทิศทางของทรูวิชั่นส์หากจะเกาะกระแส ก็ต้องสร้างจุดขายใหม่ “วาไรตี้เกาหลี” คือคำตอบ

ปัจจุบันวาไรตี้เกาหลีออกอากาศทางช่อง True X-zyte อยู่แล้ว 2 รายการ คือ X Man และ Love Letter ขณะที่ ทีวี แชมเปี้ยน ซึ่งเป็นโชว์ของญี่ปุ่นเริ่มแผ่วลงไป แต่ถ้ามีคอนเทนท์ตอนใหม่ๆ มา ทั้งสองยืนยันว่าแฟนๆ ก็จะได้รับชมกัน ทั้งนี้วาไรตี้เกาหลีจะมีให้ชมกันอย่างจุใจ ตั้งแต่ 20.00 น- 24.00 น. ทุกเสาร์-อาทิตย์ รวมทั้งสิ้น 6 รายการ

“ถ้าเด็กกับผู้หญิงไม่ดูถ่ายทอดสดฟุตบอล ก็มาดูวาไรตี้เกาหลีแทน”

จากความสำเร็จของวาไรตี้เกาหลี 2 รายการแรก ทำให้ทรูวิชั่นส์มั่นใจที่จะส่งวาไรตี้เกาหลีอีก 2 รายการมาสร้างกระแส คือ Happy Factory ที่เริ่มออกอากาศเมื่อมกราคมที่ผ่านมา เป็นเรื่องของการแข่งขันการใช้ชีวิตอย่างประหยัดภายใน 1 สัปดาห์ด้วยเงินเพียง 10,000 วอน และ Star King

อัญจนาบอกว่า เธอต้องเข้าไปเช็คกระแสตามเวบไซต์ดังๆ อยู่เสมอ ทำให้เธอเผอิญไปเจอลิงค์จาก Youtube เกี่ยวกับนักร้องวงดงบังชิงกิซึ่งไปออกรายการวาไรตี้รายการหนึ่งของเกาหลี ซึ่งส่งผลให้รายการนั้นดังเป็นพลุแตก และนั่นก็คือที่มาของ Star King ซึ่งมีคอนเซ็ปต์ในการนำคนธรรมดาที่มีความสามารถพิเศษมาออกรายการ จุดเด่นของรายการนี้คือดารา-นักร้องคนดังที่มาเป็นกรรมการจะได้ร่วมแสดงในโชว์ด้วย ซึ่งเป็นการสร้างสีสันได้อย่างสนุกสนาน เตรียมออกอากาศในเมษายนที่จะถึงนี้

ต่อกันด้วยซีรี่ย์เกาหลีที่แม้จะถูกจับจองและมีการแข่งขันกันสูงในฟรีทีวี แต่กระนั้นทรูวิชั่นส์ก็เล็งเห็นช่องว่าง ด้วยว่าซีรี่ย์เกาหลีในฟรีทีวีล้วนเป็นรูปแบบใกล้เคียงกัน หากไม่เป็นรักโรแมนติก คอมเมดี้ ก็ดรามาและย้อนยุค เป็นต้น

ดังนั้นการรุกตลาดซีรี่ย์เกาหลีของทรูวิชั่นส์จึงขอสอดแทรกด้วยซีรี่ย์เกาหลีแนวซิทคอมจบในตอน เน้นความสัมพันธ์ของครอบครัวสมัยใหม่ โดยมีรูปแบบคล้ายคลึงกับซีรี่ย์ตะวันตกวิลล์แอนด์เกรซ และเฟรนด์ คือเรื่อง High Kick นำแสดงโดย 2 หนุ่มฮอตที่คว้ารางวัลนักแสดงชายหน้าใหม่ยอดเยี่ยม

ด้านช่อง True Explorer ซึ่งนำเสนอสารคดีก็จะมุ่งเน้นตามเทรนด์กระแสโลกร้อนเป็นหลัก ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่กุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป โดยสารคดีเด่นๆ คือ Big Ideas for Small Planet นำเสนอไอเดียที่เราสามารถช่วยกันทำเพื่อลดภาวะโลกร้อน ส่วน Saved by the Sun นำเสนอเรื่องของพลังงานทางเลือกโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งเฉพาะแหล่งพลังงานน้ำมันเพียงอย่างเดียว ขณะที่ E2 : Design เป็นสารคดีเกี่ยวกับการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และมีแบรด พิทท์ ดาราดังเป็นผู้ให้เสียงบรรยาย

นอกจากนี้ช่วงวาระมหกรรมโอลิมปิคในราวเดือนกรกฎาคม จะมีสารคดีเรื่องราวแง่มุมต่างๆ ของเมืองจีนแบบเจาะลึก

ไม่เพียงสารคดีเชิงสาระเท่านั้น สารคดีที่เต็มไปด้วยเนื้อหาความสนุกสนาน รื่นเริงบันเทิงใจก็จ่อคิวฉายในเมษายนนี้ เช่น Pet Wonderland (สัตว์เลี้ยงแสนรัก) ตอนใหม่ เป็นวาไรตี้ท่องเที่ยวและสัตว์เลี้ยงจากญี่ปุ่น เป็นต้น

ในส่วนของเรียลลิตี้ซึ่งทรูวิชั่นส์เป็นผู้บุกเบิกนั้นถูกจัดฉายในช่อง True Series จะเป็นการนำเรียลลิตี้ชื่อดังที่มีแฟนคลับหนาแน่นกลับมาฉายด้วยซีซั่นล่าสุด และเป็นเรียลลิตี้ที่มีความโดดเด่นของรูปแบบรายการ เช่น Survivor Micronesia ที่เบิกฤกษ์ในกุมภาพันธ์นี้ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับ So You Think You Can Dance? ซีซั่น 3 เรียลลิตี้สรรหานักเต้นโดยเฉพาะ ต่อด้วยมีนาคมที่มี The Bachelor ซีซั่น 10 และ Project Runway ซีซั่น 4 รวมถึงเรียลลิตี้ที่ซื้อลิขสิทธิ์มาทำเองอย่าง AF5 ที่พร้อมสร้างสีสันในพฤษภาคมนี้

ขณะที่ช่องอื่นๆ อย่าง True Film Asia ก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าจับตา อาทิตย์บอกว่าทรูวิชั่นส์หมายมั่นที่จะปั้นให้เป็น HBO Asia เลยทีเดียว เพราะกระแสตอบรับจากสมาชิกดีมาก โดยเฉพาะภาพยนตร์ไทยในส่วนของ Thai Film Showcase ที่ได้รับความนิยมและเรทติ้งอยู่ในลำดับต้นๆ ของช่องตลอดเวลา เมื่อเทียบกับหนังญี่ปุ่น จีนและฮ่องกง

เริ่มต้นปี 2551 ก็มีภาพยนตร์ไทยชื่อดังมาออกอากาศกันแบบถี่ยิบ มีนาคมชมเรื่องแฝด พลอย เท่ง โหน่ง คนมาหาเฮีย เมษายนชมตั๊ดสู้ฟุด สายลับจับบ้านเล็ก รักนะ…24 ชั่วโมง

นั่นจึงเป็นที่มาของการเปิดช่องใหม่เป็นช่องภาพยนตร์ไทยโดยเฉพาะภายในปีนี้นั่นเอง ซึ่งส่วนหนึ่งจะนำเสนอคอนเทนท์ที่แปลกไปจากฟรีทีวี เช่น Short Fiction รายการที่รวบรวมเรื่องราวของหนังสั้นคุณภาพ

ซึ่งแม้จะเป็นรายการที่เจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม แต่ก็ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี

“หนังไทยมีศักยภาพสูงมาก เนื่องจากมีการแข่งขันกันสูงระหว่างผู้ผลิต หนังไทยดีๆ จึงออกมาเยอะ ซึ่งเป็นเรื่องที่สมควรที่เราจะเปิดตัวช่องหนังไทยโดยเฉพาะ โดยจะมีทั้งหนังใหม่และหนังไทยเก่าๆ แต่ดังมาฉาย ทั้งยังใช้เป็นหัวหอกในการรุกขยายฐานไปสู่ต่างจังหวัดได้อีกด้วย”

นอกจากนี้ยังมีอาวุธลับ คือ ช่องตลกไทย ครั้งแรกแบบเต็มตัวโดยที่ไม่ต้องไปแชร์พื้นที่ช่องกับคอนเทนท์อื่นใด และนับเป็นช่องรูปแบบใหม่ที่ยังไม่มีมาก่อนในเคเบิ้ลทีวีเอเชีย

สุดท้าย อัญจนาและอาทิตย์บอกย้ำถึงจุดแข็งที่เด่นชัดของทรูวิชั่นส์ว่า ด้วย Air time 24 ชั่วโมง ที่มีมากกว่าฟรีทีวี ทำให้ทรูวิชั่นส์กล้าที่จะเรียนรู้และทดลองสิ่งใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา แต่ทั้งนี้ก็อยู่ภายใต้พื้นฐานที่มีแนวโน้มว่าจะประสบความสำเร็จสูง

“เราทำช่องของเราเองไม่มีใครเอาไปจากเราได้ เป็นจุดแข็งที่เคเบิ้ลทีวีรายอื่นไม่มีเหมือนเรา ขณะที่ถ้าจะเป็นการนำรายการอื่นมาทำก็ต้องซื้อรูปแบบที่ถูกลิขสิทธิ์ เพราะการทำธุรกิจต้องเข้าตามตรอกออกตามประตู” ทั้งสองบอกถึงความมั่นใจในการลงทุนเปิดช่องใหม่เองของทรูวิชั่นส์ อีกอย่างต่ำๆ 5 ช่อง

อัญจนา สิงหเสนี เริ่มต้นทำงานกับ IBC ตั้งแต่ปี 1993 เป็นที่แรก เริ่มต้นทำงานด้านกีฬา จากนั้นย้ายมาทำด้านบันเทิงและเติบโตในสายงานเรื่อยมา เธอชื่นชอบการดูซีรี่ย์มากพอๆ กับการเข้าไปค้นหาข้อมูล สืบเสาะเทรนด์และพฤติกรรมคนดูทีวีในเวบบอร์ดต่างๆ อยู่เสมอ

อาทิตย์ พรหมประสิทธิ์ นับเป็นลูกหม้ออีกคนหนึ่งของทรูวิชั่นส์ เริ่มต้นทำงานกับ IBC ตั้งแต่ปี 1991 จนกระทั่งพัฒนาการเป็นทรูวิชั่นส์ เขาดูแลสายงาน Acquisitions มาโดยตลอด ในการติดต่อซื้อรายการต่างประเทศภายใต้นโยบาย Convergence ทำให้เขาต้องคิดเผื่อ Business Unit อื่น หรือใน Platform อื่นๆ เพื่อให้คอนเทนท์ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด