ปัญหาท้าทายของ Pepsi

Indra Nooyi วัย 52 ปี ก้าวขึ้นจากตำแหน่ง President เป็น CEO คนใหม่ของ PepsiCo เมื่อ 18 เดือนก่อน เธอเป็น CEO ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง Nooyi เป็นคนอินเดียโดยกำเนิด เธอเป็นผลิตผลของวิธีสรรหา CEO แบบครอบครัวของ PepsiCo เธอไม่ยี่หระกับรายได้ ไม่อายที่จะขอความช่วยเหลือ และไม่คิดว่าตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดบริษัทยักษ์ใหญ่จะเป็นตำแหน่งสุดท้ายในชีวิต Henry Kissinger อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศผู้โด่งดังของสหรัฐฯ ทำนายว่า Nooyi จะได้เป็นรัฐมนตรี และ Nooyi เองก็ไม่ปิดบังว่า เธอสนใจงานการเมือง

Nooyi มีความเป็นสากลสูงและมีการศึกษาสูง เป็นนักคิดเชิงยุทธศาสตร์ เคยทำงานที่ Boston Consulting Group เธอสนใจตลาดเกิดใหม่อย่างรัสเซียและจีน มากกว่าสงครามแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ กับคู่แข่งตลอดกาลอย่าง Coke เธอสนใจทั้งการเมืองและธุรกิจ Nooyi เป็นมังสวิรัติและชอบพูดถึงความสำคัญของ “สุขภาพที่ดีจากภายใน” เธอไม่ใช่คนที่ใครจะคิดว่า จะมาเป็นผู้บริหารบริษัทที่ผลิตน้ำอัดลมที่เต็มไปด้วยน้ำตาลและขนมขบเคี้ยวที่เต็มไปด้วยเกลือ แต่ Nooyi กำลังนำ Pepsi เดินไปในทิศทางที่แตกต่าง เธอยังชอบร้องคาราโอเกะ เล่นกีตาร์ไฟฟ้า และความเป็นคนเอเชียใต้ทำให้เธอมีมุมมองที่กว้างขวางต่อโลก

ตั้งแต่ขึ้นเป็น CEO Nooyi จัดระเบียบ PepsiCo ใหม่ ให้ยึดติดตลาดสหรัฐฯ น้อยลง และขยายโครงสร้างอำนาจของบริษัท ด้วยการเพิ่มจำนวนผู้บริหารเป็น 29 คน ปีที่แล้ว Nooyi ควักกระเป๋า 1.3 พันล้านดอลลาร์ ซื้อบริษัทอย่าง Naked Juice ผู้ผลิตนมถั่วเหลืองและน้ำผลไม้ และสร้างคำขวัญใหม่ “Performance With Purpose” เพื่อเป็นแนวทางของ PepsiCo ยุคใหม่ ในการทำธุรกิจทั้งในและนอกสหรัฐฯ นั่นคือ การผลิตขนมขบเคี้ยวที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเลย และไม่มุ่งแต่เพียงผลกำไร หรือใส่ใจเพียงทุกข์สุขเฉพาะพนักงานภายในบริษัท

ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณถดถอย โอกาสที่ดีที่สุดของ PepsiCo จึงเป็นตลาดต่างประเทศ ธุรกิจระหว่างประเทศของ PepsiCo เติบโต 22% ในปีที่แล้ว หรือเติบโตมากกว่าอัตราเติบโตในประเทศถึง 3 เท่า และมีสัดส่วน 40% ของรายได้ทั้งหมดของ PepsiCo (39,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว) แต่การบุกตลาดต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นตลาดประเทศพัฒนาแล้วอย่างอังกฤษ หรือตลาดเกิดใหม่อย่างจีนหรืออินเดีย ไม่ได้ง่ายสำหรับบริษัทอเมริกันเหมือนในอดีตอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม Kissinger ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนของ Nooyi และที่ปรึกษาด้านต่างประเทศให้แก่ PepsiCo และบริษัทอีกหลายแห่งชี้ว่า Nooyi มีความเข้าใจเป็นอย่างดีว่า หากยังขืนมองตลาดต่างประเทศด้วยมุมมองของอเมริกาเท่านั้น ก็หมดสิทธิ์ที่จะทำธุรกิจในระดับโลก และจำเป็นที่จะต้องทำให้ผลประโยชน์ของบริษัท สอดคล้องกับผลประโยชน์ของท้องถิ่นในส่วนอื่นๆ ของโลก

Nooyi กำลังเผชิญกับบททดสอบภาวะผู้นำของเธออย่างกะทันหัน เมื่อ เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังจะถดถอย ทำให้ PepsiCo กำลังจะเผชิญยุคที่ฝืดเคืองที่สุดในรอบ 10 ปี ราคาวัตถุดิบสำคัญพุ่งสูงขึ้น ส่วนผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดของ PepsiCo เช่นน้ำผลไม้ราคาสูง อาจเจอแรงต้านจากผู้บริโภคที่ต้องการประหยัดในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง ขณะเดียวกัน ศัตรูตัวฉกาจเจ้าเก่าอย่าง Coke ก็จ้องจะฟื้นสงครามในตลาดสหรัฐฯ ครั้งใหม่ ด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่าง Coke Zero ที่ปราศจากแคลอรี ซึ่งดูเหมือนได้รับความนิยมอย่างสูง รวมทั้งการที่ Coke เพิ่งซื้อบริษัทอย่าง Vitaminwater

ราคาหุ้นของ PepsiCo เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่านับตั้งแต่ปี 2003 และขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 70 ดอลลาร์ต่อหุ้น หรือเพิ่มขึ้น 10% นับตั้งแต่ Nooyi เป็น CEO ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว (2007) รายได้ของ PepsiCo เพิ่มขึ้น 17% เป็น 12,300 ล้านดอลลาร์ และผลกำไรจากการดำเนินการเพิ่มขึ้น 9% เป็น 1.7 พันล้านดอลลาร์ นักวิเคราะห์มองว่า PepsiCo ยืดหยุ่นได้ดีในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบาก

ความสำเร็จของ PepsiCo ยังเกิดจากการผสมผสานวัฒนธรรมสองอย่าง ซึ่งเกิดจากการรวมกิจการในปี 1965 ระหว่างความเชี่ยวชาญในการทำงานให้สำเร็จของบริษัท Frito-Lay กับวิธีคิดแบบผู้ที่ตกเป็นรองของบริษัท Pepsi-Cola ซึ่งเคยเกือบถูกคู่แข่งอย่าง Coke เขี่ยกระเด็นออกจากธุรกิจ ผลที่ได้คือบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งใหม่ที่พร้อมจะเสี่ยง และภาคภูมิใจที่จะทำตัวเหมือนเป็นบริษัทเล็กๆ ที่สามารถสร้างอัตราการเติบโต 13% ต่อปี ตลอด 42 ปีที่ผ่านมา และตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา รายได้ของ PepsiCo เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า

PepsiCo ในวันนี้แตกต่างจากในอดีตอย่างสิ้นเชิง Pepsi ยุคใหม่เปลี่ยนจากขนมขบเคี้ยวธรรมดา ไปเป็นขนมขบเคี้ยวที่ทำจากธัญพืช ผลไม้และผักที่ดีต่อสุขภาพ และเปลี่ยนจากน้ำอัดลมไปเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพแบบไม่อัดลมที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว คือน้ำเปล่า น้ำผลไม้ เครื่องดื่มสำหรับนักกีฬา และชา รวมทั้งเลิกซื้อกิจการที่ไม่เข้ากันเลยอย่างรถหรือเครื่องกีฬา ไปเป็นการร่วมทุนกับธุรกิจที่ไปกันได้ดีอย่าง Lipton และ Starbucks ทำให้ขณะนี้ PepsiCo ครองตลาดเครื่องดื่มไม่อัดลมเพื่อสุขภาพถึงครึ่งหนึ่งของตลาดสหรัฐฯ และมากกว่า Coke

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า PepsiCo จะเปลี่ยนไปเป็นบริษัทอาหารเพื่อสุขภาพเพียวๆ เพราะผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของบริษัท (สูงถึง 70%) ยังคงเป็นสินค้าประเภทสำหรับ “ผู้ที่ชอบสนุก” ซึ่งตรงข้ามกับสินค้าสำหรับผู้ที่ชอบ “สิ่งที่ดีกว่า” และ “สิ่งที่ดีต่อคุณ” สินค้าอีก 2 ประเภทของ Pepsi เอง และยังเดินหน้าซื้อธุรกิจสินค้าเพื่อสุขภาพ รวมทั้งปรับสูตรผลิตภัณฑ์ของตนเองให้ดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น

Indra Krishnamurthy Nooyi เกิดและเติบโตที่ Chennai (Madras ในอดีต) ในอินเดีย บิดาเป็นนักบัญชี มารดาเป็นแม่บ้าน และปู่เป็นอดีตผู้พิพากษาผู้เข้มงวดกับการเรียนของ Nooyi อย่างยิ่ง ทุกคืนมารดาจะนำปัญหาของโลกมาถาม Nooyi และพี่น้อง เพื่อให้แข่งกันแก้ปัญหาราวกับพวกเธอเป็นประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรี ครอบครัว Nooyi เป็นฮินดู แต่ Nooyi กลับถูกส่งไปโรงเรียนคาทอลิก Holy Angels Convent ที่ซึ่ง Nooyi เป็นนักพูดตัวยง เล่นคริกเก็ต และตื๊อพ่อแม่และครูที่โรงเรียนจนได้รับอนุญาตให้เล่นกีต้าร์ได้สำเร็จ Nooyi ได้ตั้งวงดนตรีร็อคหญิงล้วนวงแรกของคอนแวนต์

Nooyi จบปริญญาโทด้านธุรกิจจาก Indian Institute of Management ในกัลกัตตา และจาก Yale School of Management เข้าทำงานที่ Boston Consulting Group ตามด้วยการทำงานในฝ่ายวางแผนยุทธศาสตร์ที่ Motorola และบริษัทวิศวกรรม Asea Brown Boveri เธอกำลังจะไปทำงานกับ Jack Welch ผู้บริหารผู้เป็นตำนานแห่ง General Electric (GE) แต่ถูกดึงตัวมาที่ PepsiCo แทนในปี 1994

หลังจากเริ่มทำงานใน PepsiCo ไม่นาน Nooyi ได้แสดงผลงานในการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์การเติบโตของ PepsiCo หลังจากธุรกิจด้านภัตตาคารของบริษัทคือ Pizza Hut, Taco Bell และ KFC หยุดเติบโต ส่วนความพยายามที่จะตามให้ทัน Coke ในตลาดต่างประเทศก็ล้มเหลว โดย Coke มีรายได้ถึง 71% จากตลาดต่างประเทศ ขณะที่ PepsiCo มีเพียง 29% Roger Enrico CEO ของ Pepsi ในขณะนั้น มอบหมายให้ Nooyi ในฐานะหัวหน้าฝ่ายวางแผนยุทธศาสตร์และการซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) ในขณะนั้นใ ห้วางแผนยุทธศาสตร์ที่จะทำให้ PepsiCo เป็น “นิยามของบริษัทแห่งศตวรรษที่ 21”

Nooyi วิเคราะห์ตลาดภัตตาคาร fast food ว่าถึงจุดอิ่มตัวและการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ก็เห็นผลยาก Pepsi ตัดสินใจโละทิ้งธุรกิจภัตตาคารในปี 1997 ซึ่งส่งผลให้ PepsiCo มีขนาดลดลงถึง 1 ใน 3 Nooyi เสนอแผนปรับโครงสร้างบริษัทให้เลือกหลายแผน แผนที่ได้รับเลือกคือ PepsiCo จึงซื้อ Tropicana ด้วยเงิน 3.3 พันล้านดอลลาร์ และซื้อ Quaker ด้วยเงิน 14,000 ดอลลาร์ เพื่อเพิ่ม Brandname สินค้าที่ดีต่อสุขภาพให้แก่ PepsiCo

Nooyi ยังทำให้คณะกรรมการของ PepsiCo เข้าใจโมเดลธุรกิจของ Coke เสียยิ่งกว่า Coke เอง รวมทั้งวิเคราะห์ให้เห็นชัดเจนว่า ตัวเลขเติบโต 2 หลักของ Coke นั้นจะไม่จีรัง หลังจากนั้น 4 เดือน ราคาหุ้นของ Coke พุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุดที่ 88 ดอลลาร์ แล้วก็เริ่มดิ่งลงอย่างยาวนาน

ผลงานครั้งนั้นทำให้ Nooyi ได้เลื่อนเป็น CFO วันนี้ Enrico อดีต CEO ชื่นชมเธอว่า เป็นนักเจรจาที่เก่งฉกาจที่สุดเท่าที่เขาเคยพบมาในชีวิต ผลงานควบรวม Quaker สำเร็จในเวลาต่อมา ทำให้ Nooyi ขึ้นเป็น President ของ PepsiCo และสามารถพิสูจน์ตัวเองได้ว่า เธอเป็นได้ทั้งนักวิเคราะห์และนักบริหารผู้มีวิสัยทัศน์ การริเริ่มโครงการอนุรักษ์ที่เกี่ยวกับน้ำและความร้อนของ Nooyi เมื่อหลายปีก่อน ทำให้ Frito-Lay ประหยัดเงินได้ 55 ล้านดอลลาร์ต่อปีในทุกวันนี้

เมื่อได้ขึ้นเป็นผู้บริหารสูงสุด Nooyi ยังคงเดินหน้าแผนการเปลี่ยนแปลง คือการค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนของสินค้า “ที่ดีกว่า” และ “สินค้าที่ดีต่อคุณ” จาก 30% เป็น 50% รวมทั้งขยายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ผลิตจากธัญพืช ถั่วและผลไม้ ปีที่แล้ว PepsiCo ออกผลิตภัณฑ์มันฝรั่งแผ่นกรอบ 150 รสชาติ และน้ำส้มที่มีรสชาติต่างกัน 55 รสชาติ Nooyi ตั้งตำแหน่งระดับบริหารใหม่ คือเจ้าหน้าที่สูงสุดด้านวิทยาศาสตร์คนแรกของ PepsiCo (PepsiCo ใช้จ่ายด้านการวิจัย 1% ต่อยอดขาย เทียบกับ Nestle ที่ใช้ถึง 1.6% ของยอดขาย) นอกจากนี้ยังซื้อหรือร่วมหุ้นกับบริษัทผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับถั่วในบัลแกเรีย บริษัทผลิต Hummus อาหารอิสราเอล และบริษัท Naked Juice ซึ่งผลิตเครื่องดื่มโภชนาการ

Nooyi เป็นคนที่ทำงานแบบทุ่มสุดตัว ขณะเดียวกันก็ใส่ใจแม้กระทั่งวันเกิดของพนักงานทุกคน เธอชอบร้องคาราโอเกะมาก และเนื่องจากเธอถูกเลี้ยงดูให้เป็นคนที่มีมาตรฐานสูงมากตั้งแต่เยาว์วัย ทำให้เธอคาดหวังสูงจากทุกคนที่อยู่รอบตัว เธอจะท้าทายคุณให้ทำในสิ่งที่ทำไม่ได้ เมื่อทีมงานในไทยไม่สามารถหาน้ำมันพืชราคาถูกกว่า เพื่อทดแทนน้ำมันปาล์มที่ราคาสูงขึ้นในไทยเมื่อปีที่แล้ว Nooyi เฝ้าแต่ถามและผลักดันให้ทุกคนหาทางออกให้ได้ ในที่สุดทีมงานในไทยก็พบทางออกคือใช้น้ำมันรำข้าวแทนน้ำมันปาล์ม

Nooyi เป็นคนเด็ดขาด จนบางครั้งเหมือนใช้อารมณ์ และดูเหมือนไม่ยี่หระกับผลที่เกิดขึ้น บางครั้ง Nooyi ก็เชื่องช้าในการเปลี่ยนแปลงจุดยืนของตัวเอง เมื่อข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป เธอรู้ตัวดีว่าเรียกร้องจากคนอื่นสูง และวิตกต่อนิสัยข้อนี้ของตัวเองอยู่

สำหรับครอบครัว การประสบความสำเร็จอย่างสูงในหน้าที่การงานของเธอ ต้องแลกมาด้วยความเสียสละของ Raj สามี ผู้จบ MBA จากมหาวิทยาลัย Chicago ทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและอุตสาหกรรม ซึ่งต้องยอมลาออกจากงานที่เขารักที่ Hewlett-Packard (ปัจจุบัน Raj ทำงานเป็นที่ปรึกษา) การเดินทางไปโน่นมานี่ไม่หยุดหย่อนของเธอ มีคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ Preetha ลูกสาวคนโตวัย 24 ปี Nooyi จึงดีใจนัก เมื่อเธอได้ยิน Preetha พูดกับเพื่อนว่า บริษัทยักษ์ใหญ่มักไม่ดี แต่ยกเว้น PepsiCo Nooyi จึงชดเชยให้ Tara ลูกสาวคนเล็กวัย 15 ด้วยการโทรถึงเธอตลอดเวลาหากเธอต้องเดินทางไกล

นักวิเคราะห์คาดว่า ปัญหาต้นทุนแพงจะหนักหนาขึ้นอีกในปีนี้ และผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ดีต่อสุขภาพของ PepsiCo ก็มีราคาแพงกว่าน้ำอัดลมและมันฝรั่งทอด และยังจะได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อมากกว่า Coke คาดว่า PepsiCo จะมีต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น 6% ในปีหน้า ในขณะที่ Coke จะไม่มีต้นทุนเพิ่มเลย และต้นทุนสินค้าโภคภัณฑ์มีสัดส่วนประมาณ 25% ของรายได้ทั้งหมดของ PepsiCo เทียบกับ Coke ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 11%

ในขณะที่ Nooyi มุ่งเน้นการผลิตอาหารเพื่ออนาคต แต่ Coke ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่า และเพิ่งซื้อ Vitaminwater อาจกลับมาสร้างปัญหาครั้งใหม่ให้แก่ PepsiCo ได้อีกครั้ง (PepsiCo หวังจะสู้ด้วย Gatorade ตัวใหม่ที่มีแคลอรี่ต่ำกว่า) อย่างไรก็ตาม Nooyi เห็นว่า PepsiCo กับ Coke เป็นบริษัทที่แตกต่างกัน ทั้งในแง่โครงสร้างธุรกิจ วัฒนธรรมองค์กร วิธีคิด วิธีลงมือทำ และทุกๆ อย่าง เช่นรายได้ของ PepsiCo ในขณะนี้ มาจากอาหารมากกว่าเครื่องดื่ม แต่เธอยอมรับว่า Coke อาจได้เปรียบจากธุรกิจเครื่องดื่มและจากการที่เงินดอลลาร์อ่อนค่า แต่ PepsiCo เป็นธุรกิจที่ขายผลิตภัณฑ์ที่ “ดีต่อคุณมากกว่า” ซึ่งมีส่วนผสมของธัญพืช และทำให้ PepsiCo มีความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อมากกว่า แต่นั่นคือการเปลี่ยนแปลงที่น่าภูมิใจของ PepsiCo

Nooyi ยอมรับว่า เธอสนใจเข้าสู่วงการเมืองของสหรัฐฯ ในอนาคต แต่ไม่ใช่ตอนนี้ ส่วนในขณะนี้เธอจะยังบริหาร PepsiCo ต่อไป และคงจะมองหากิจการที่น่าซื้อต่อไปอีก มีข่าวว่า PepsiCo เคยทาบทามขอรวมกิจการกับ Nestle ยักษ์ใหญ่ผลิตภัณฑ์อาหารจากสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีขนาดใหญกว่า PepsiCo เมื่อปีกลาย หากรวมกันจริง ก็จะทำให้เกิดบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งใหม่ที่จะมีมูลค่าตลาดมากกว่า 2 แสน 5 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่นั่นยังเป็นเรื่องอนาคต ส่วนขณะนี้บททดสอบครั้งใหญ่สุดของ Nooyi อาจเป็นการรับมือกับบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ยากลำบาก เมื่อต้นทุนวัตถุดิบแพงขึ้น ลูกค้าระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น และสงครามชิงส่วนแบ่งตลาดกับคู่แข่งตลอดกาลอย่าง Coke ยังห่างไกลจากการยุติ