3 บิ๊กสื่อสารไทย กับเครือข่ายที่ต้องสร้างเอง

เครือข่ายสังคมแบบไม่มีที่สิ้นสุด Social Networking ทำให้ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีฐานลูกค้าจำนวนมากนำโมเดลมาปรับใช้ สร้างเครือข่ายของตัวเองในโลกออนไลน์เพื่อต่อยอดธุรกิจ เห็นได้ชัดเจนจากกลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น ที่มีกลยุทธ์ธุรกิจด้วย Convergence ทุกบริการตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต เคเบิลทีวี รวมกว่า 20 ล้านสมาชิกเข้าด้วยกัน หรือค่ายโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ เอไอเอสที่มีฐานลูกค้ากว่า 23 ล้านคน และดีแทคอีกเกือบ 18 ล้านคน ต่างเริ่มมี Social Networking ที่สร้างขึ้นเองเพื่อเป็น “มีเดีย” เชื่อมโยงให้สินค้าเข้าถึงโลกส่วนตัวของลูกค้า

“มินิโฮม” เน็ตเวิร์คกิ้ง
“ศุภชัย เจียรวนนท์” ซีอีโอของกลุ่มทรูฯ บอกว่า Social Networking ของกลุ่มทรูฯคือ “มินิโฮม” เว็บไซต์ที่ทรูสร้างขึ้นโดยคาดหวังให้เป็นอนาคตของ “สื่อ” ยุคใหม่ ที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ซึ่งธุรกิจนั้นมี “ชุมชน” ของตัวเอง

สื่อนี้ ทำให้ธุรกิจสำเร็จเพราะความเป็น “เครือข่าย” มีการสื่อสารแบบ one to many และ many to one และไม่ใช่การสื่อสารด้วยเนื้อหาและสื่อสารด้วยวิธีเดียว แต่เป็นการสื่อสารแบบ Community Life และ Multi Tasking หรือ Multimedia Communicator ที่ไม่ใช่เพียงแค่สื่อสารข้อมูลเท่านั้น แต่อารมณ์ความรู้สึกก็สามารถสื่อสารได้

นี่คือแนวคิดที่ “ศุภชัย” บอกว่า ต้องใช้เวลาอีก 5 ปีจะเห็นชัดเจน ซึ่งพัฒนาจากรูปแบบของเครือข่ายปัจจุบัน ที่เป็นโลกของ Social Networking ที่คนส่วนใหญ่ต้องการแสดงความเป็นตัวตน (Express Yourself)

“มินิโฮม” ของค่ายทรูฯภายใต้บริการทรูไลฟ์ ตอบโจทย์ดังกล่าว ที่ต้องการให้คนเข้ามาแสดงตัวตนผ่านการตกแต่งพื้นที่ที่พวกเขาจับจองไว้ในมินิโฮม วิว เช่น วิว ทิวทัศน์ เฟอร์นิเจอร์ และปูทางไปสู่โลกของการสื่อสารในอีก 5 ปีข้างหน้า

หลังจากเปิดบริการมาแล้วประมาณ 2-3 ปี “ศุภชัย” บอกว่าได้ผลค่อนข้างน่าพอใจ เพราะมีคนลงทะเบียนเป็นสมาชิกประมาณ 6 แสนคน โดยมี 1 แสนคนที่อัพเดตมินิโฮมเดือนละครั้ง และมีคนเข้าเครือข่ายประมาณวันละ 1,000 คลิก

หากเปรียบเทียบแล้วถือว่ายังน้อยกว่าเครือข่ายระดับโลกอย่าง hi5 แต่นี่คือข้อเปรียบเทียบที่ทำให้เห็นว่าต้องปรับปรุงเว็บไซต์ ให้มี Application ที่ใช้งานง่ายขึ้น และมีลิงค์โยงจากมินิโฮมไปยัง hi5 หากเจ้าของมินิโฮมต้องการ

ความเชื่อในสื่อ Social Networking จนมาถึงการพยายามปั้น “มินิโฮม” นั้น “ศุภชัย” มองว่าจะสร้างเครือข่ายได้เข้มแข็งมากกว่า hi5 เพราะมินิโฮมมี Content ที่กลุ่มทรูฯสร้างขึ้นเป็นแม่เหล็กดึงดูดสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นอะคาเดมี่ แฟนเทเชีย หรือ AF ของทรูวิชั่นส์ หรือการร่วมมือกับพันธมิตรในคอนเทนต์ของเพลง

สิ่งที่แสดงถึงพลังของคอนเทนต์ล่าสุดในมินิโฮมนั้นคือ AF5 ที่ช่วงเดือนมีนาคม 2008 เป็นช่วงคัดเลือกผู้สมัคร และมินิโฮมเป็นช่องทางหนึ่งที่ให้ผู้สมัครส่งคลิป จนทำให้ยอดสมาชิกเพิ่มกระฉูด

“ศุภชัย” ไม่เพียงเป็นซีอีโอ นั่งดูความเรียบร้อยของมินิโฮมเท่านั้น แต่เขาเชื่อในสื่อนี้ เพราะเข้าไปเป็น 1 ในสมาชิก 1 แสนรายที่ใช้มินิโฮมประจำ แต่ไม่ขอเปิดเผยตัวเอง ตกแต่งโฮมโดยเลือกลักษณะเป็น Outdoor ไม่ใช่ห้องนั่งเล่น หรือห้องนอน บางวันเขานั่งตอบเพื่อนเครือข่ายของเขา และเล่นมาแล้วประมาณ 2 ปี มีความเห็นจากเพื่อนๆ กว่า 2,500 ความเห็นมีทุกกลุ่มอายุ แต่ส่วนมากเป็นเด็กวัยรุ่นมากกว่าผู้ใหญ่

นี่คือในโลกความจริงที่ “ศุภชัย” กำลังพยายามเข้าถึงเครือข่ายชุมชนต่อยอดให้ Convergence บรรลุเป้าหมา

ดีแทค-เอไอเอส คลิกสตาร์ท

ค่ายดีแทคเคยใช้ออนไลน์ สร้างกระแสผ่านเว็บไซต์แฮปปี้ไวรัส www.happyvirus.com ที่เปิดตัวเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2007 ด้วยคอนเซ็ปต์แจกซิมโทรศัพท์มือถือฟรี สำหรับเพื่อนที่แนะนำเพื่อนต่อๆ ในแบบ Viral Marketing ปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมาดีแทคต่อยอดด้วยการเปิดตัว Schoolmunity หรือการสร้างชุมชนโรงเรียน โดยยังยึดคอนเซ็ปต์แจกซิมฟรี และจูงใจด้วยการให้เครือข่ายนี้โทรหากันได้ด้วยในราคาถูก

นี่คือกลยุทธ์ที่ดีแทคมองว่าเป็นการแจกซิมฟรีอย่างมีคุณภาพ เพราะทำให้ดีแทครู้จักลูกค้าอย่างชัดเจน ซึ่งจากที่แจกไปแล้วประมาณ 1 แสนราย กว่าครึ่งในจำนวนนี้มีการใช้งานต่อเนื่อง และเติมเงินในแต่ละเดือนสูงพอสมควร

สำหรับโมเดลของ Schoolmunity ได้นำรูปแบบบางส่วนจาก Social Networking อย่าง hi5 มาใช้ เช่น การให้แนะนำเพื่อนต่อๆ กัน ให้คนที่อยู่ในเครือข่ายสร้าง Content ไม่ว่าจะเป็นข้อความ และรูปภาพมีโพสต์ดูกันในเครือข่าย ซึ่งจุดนี้ดีแทคมีเทคนิคคือเมื่อเข้ามาอยู่ในชุมชนโรงเรียนแล้ว หากใครมีการ Interactive มาก จะมีรางวัลตอบแทน

เพียงแค่ประมาณ 2 เดือนเศษ แฮปปี้ไวรัส สร้างเครือข่ายโรงเรียนได้เกือบ 1,000 โรงเรียนทั่วประเทศ มีนักเรียนที่ลงทะเบียนสมาชิกประมาณ 8 พันคน

นี่คือโมเดลที่แฮปปี้ ดีแทคใช้ โดยการเข้าไปอยู่ในชุมชน และเปิดช่องทางให้ชุมชนสร้างกิจกรรมด้วยกัน เพราะการมีเพียงพื้นที่ให้เด็กมาดูข้อมูลดูโปรโมชั่น หรือแจกซิมฟรีอย่างเดียว ไม่เพียงพอสำหรับเครือข่ายออนไลน์อีกต่อไป

เอไอเอส เปิดตัว www.connect.ais.co.th เมื่อปีที่แล้ว ในคอนเซ็ปต์ “Click เพื่อน…คลิก Connect” ด้วยผลตอบรับที่พอใช้ได้ แม้กระแสตอบรับจะค่อนข้างอยู่ในเฉพาะกลุ่มเท่านั้น แต่เป็นประสบการณ์ในการทดสอบตลาดของเอไอเอสกับชุมชนออนไลน์

จุดเด่นของ Connect คือ เชื่อมโยงระหว่างฐานลูกค้าที่นิยมหาคอมมูนิตี้ในโลกออนไลน์ กับการใช้โทรศัพท์มือถือ โดยสร้าง Application ให้เพื่อนในคอมมูนิตี้นั้นโทรหากัน หรือส่ง SMS และ MMS ได้ในราคาถูกกว่าปกติ

แต่จุดอ่อนของ Connect คือการจำกัดเฉพาะในกลุ่มลูกค้า AIS เท่านั้น ขณะที่โลกของเครือข่ายสังคมออนไลน์ หากได้ผลจริงๆ ต้องเปิดกว้างให้เพื่อนต่างเครือข่ายก็เข้ามาในชุมชน และใช้ Application ได้ด้วย

นี่คือช่วงที่ต้องเรียนรู้วิธีการใหม่ๆ และนิวมีเดีย ซึ่ง “ปรัธนา ลีลพนัง” ผู้อำนวยการ ส่วนงานบริการสื่อสารไร้สาย เอไอเอส บอกว่า แนวโน้มของสื่อเดิมอาจไม่ได้ผลมากนัก หรือหากจะทำให้ได้ผลก็ต้องใช้งบสูง เช่น ทีวี ที่มีช่องรายการจำนวนมาก ผู้ชมกระจายไปอยู่ในช่องต่างๆ มากขึ้น แต่สื่อคอมพิวเตอร์กลายเป็นสื่อที่คนใช้เวลาอยู่ด้วยมากขึ้น และสามารถเฉพาะเจาะจงในการสื่อสารได้มากกว่า

ธุรกิจในไทยต้องเครือข่ายในไทย
บทสรุปสำหรับธุรกิจบริการที่มีลูกค้าอยู่ในไทย จากแนวคิดและวิธีการของทรูฯ เอไอเอส และดีแทค ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าการใช้มีเดีย hi5 หรือ Social Networking ที่มีเครือข่ายทั่วโลก อาจไม่ใช่คำตอบ หรือเครื่องมือที่ให้ประโยชน์สูงสุด เพราะเป็นการกระจายวงกว้างเกินไป การสร้างชุมชนในเครือข่ายที่เจาะจงกลุ่มเป้าหมายชัดเจน จึงเป็นวิธีการหลักของทั้ง 3 ค่าย ที่ยังกำลังรอผลในอนาคต