การเดินทางของซอฟต์แวร์ไทย สู่อ้อมกอด Microsoft

…เปิดเส้นทางบริษัท Global Care Solutions (GCS) ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์โรงพยาบาลของไทย ที่ได้กลายเป็นตำนานบทแรกของดีลซื้อกิจการโดยยักษ์ใหญ่ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น…ผลจากดีลเทกโอเวอร์ครั้งนี้ส่งผลให้ไทยถูกเลือกให้เป็น 1 ใน 5 ศูนย์ R&D ไมโครซอฟท์

แม้ GCS บริษัทไทย จะกลายมาเป็นบริษัทลูกภายใต้ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น แต่ทีมงานทั้งหมดรวมทั้งแพทริค ดาวนิ่ง (Patrick Downing) หรือ “แพท” หนุ่มอเมริกันฝรั่งหัวใจไทย ผู้ก่อตั้ง และกุมบังเหียนซีอีโอยังคงทำงานอยู่ที่บนชั้น 19 ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์บ้านเกิดของ GCS และระบบ Hospital2000? เช่นเดิม

บรรยากาศ การทำงานแสนสงบยังเต็มไปด้วยต้นไม้ร่มรื่นรายรอบราวกับบ้าน แถมยังมีกฎเหล็กอีกด้วยว่าทุกคนต้องถอดรองเท้าก่อนก้าวย่างเข้าบริษัท เป็นวิถีแบบไทยที่ “ถอดรองเท้าเข้าบ้าน” …สะท้อนให้เห็นว่าถึงจะเป็นหน่วยงานไอทีที่ผสมผสานคนหลากชาติหลายภาษา แต่ก็มีความเป็นไทยๆ แฝงอยู่

คิดให้ง่ายและแตกต่าง

ก่อนจะมาหนึ่งในผู้ก่อตั้ง GCS ในเมืองไทยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แพทจบการศึกษาด้าน Computer Science ในสหรัฐอเมริกาบ้านเกิดของเขา จากนั้นก็ดำรงตำแหน่ง Software Developer, Project Manager, Consultant และ Account Manager ให้กับบริษัทไอที Perot Systems ในรัฐเท็กซัสนานนับ 10 ปี บริการให้คำปรึกษาด้านไอทีแก่องค์กรน้อยใหญ่หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร น้ำมันและก๊าซ รวมทั้งแพทยสถาน

ทำให้เขาคว่ำหวอดด้านโซลูชั่น และมองเห็น “ข้อเสีย” ของซอฟต์แวร์สุขภาพที่มีอยู่ในท้องตลาด รวมทั้ง “โอกาส” ในอนาคต เนื่องจากในอเมริกานิยมซื้อซอฟต์แวร์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งต้องเสียเงินและเวลาไปกับการสร้างแผนกคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่เพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลจาก 50-60 บริษัทที่แตกต่างกัน เป็นระบบที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน แถมไม่รองรับภาษาท้องถิ่นอื่นๆ

แพท มองเห็นช่องว่างดังกล่าว จึงคิดค้นซอฟต์แวร์สุขภาพมีลักษณะเป็น “ฐานข้อมูลเดียวแต่รองรับทุกการใช้งานและทุกภาษา” เสนอขายตลาดนอกสหรัฐอเมริกาที่ไม่ชอบความยุ่งยาก ไม่ต้องการซื้อโซลูชั่นต่างชาติหลากหลายบริษัท ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์กำลังมองหาระบบสารสนเทศที่ใช้ง่ายและรองรับความต้องการหลากหลายไปพร้อมๆ กัน ความต้องการที่ลงตัวทั้งสองฝ่ายนี้จึงเป็นที่มาของบริษัท Global Care Solution (GCS) ในประเทศไทย ซึ่งในเวลาต่อมาบำรุงราษฎร์ถือหุ้นจำนวน 30 % และพัฒนาซอฟต์แวร์ Hospital 2000 เวอร์ชั่นแรกให้บำรุงราษฎร์ ใช้เวลายาวนาน 3 ปี

GCS เริ่มต้นจากตัวเขาเป็นพนักงานคนแรก จากนั้นขยายเพิ่มเป็น 6 – 7 คน และเป็น 30 คนโดยประมาณ เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ให้กับบำรุงราษฎร์ ในจำนวนนักพัฒนาทั้งหมดนั้นเป็น Engineer 80% และ Analyst 20% มีสัดส่วนคนไทยต่อคนต่างชาติอย่างละครึ่ง

หลังจากใช้เวลาพัฒนาทั้งหมด 3 ปี เมื่อเดือนธันวาคม 2542 Hospital 2000 เวอร์ชั่นแรกก็ออกสู่ตลาด รูปธรรมที่เกิดขึ้น คือ คนไข้ลดเวลารอรักษาจากแพทย์ เหลือเฉลี่ยคนละ 17 นาที ทำให้โรงพยาบาลรองรับผู้ป่วยได้ 1.2 ล้านคนต่อปี จาก 190 ประเทศทั่วโลก และยังส่งผลให้หมอและพยาบาล นำเวลา ไปให้ความสำคัญกับคนไข้เพิ่มขึ้น

นี่คือตัวอย่างของการ “คิดให้ง่าย” ใช้ซอฟต์แวร์เดียวจัดการความแตกต่างของข้อมูลได้หมด ไม่ว่าจะเป็นประวัติการรักษาคนไข้ จำนวนเตียงในโรงพยาบาล รองรับการใช้งานได้หลายภาษา ทั้งยังเชื่อมโยงกับระบบแทมเพลตข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในห้องทำงานหมอทุกคน และหุ่นยนต์จ่ายยา

ความรวดเร็ว แม่นยำ และความปลอดภัยทางการแพทย์ด้วยระบบไอทีนี่เองที่กลายเป็น “อาวุธ” อีกชนิดหนึ่ง ยังทำให้บำรุงราษฎร์ก้าวขึ้นสู่การเป็น “โรงพยาบาลอันดับ 1 ในเอเชีย” มีลูกค้าต่างชาติมารับบริการเป็นจำนวนมาก ได้ภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี

กลยุทธ์การตลาดคือ “ผลิตภัณฑ์”

สินค้าอื่นอาจต้องพึ่งแผนการตลาดอันแยบยล แต่สำหรับบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ ที่ขายให้กับลูกค้าองค์กร การตลาดจึงไม่ใช่เรื่องจำเป็นเท่ากับ “คุณภาพ” GCS ก็เช่นกัน พวกเขาต้อง “พัฒนาซอฟต์แวร์ให้มีคุณภาพดีที่สุด” ด้วยราคาก็สมเหตุสมผล เมื่อเทียบกับคู่แข่งทั้งในและต่างประเทศ ยึดหลักที่ว่า “แม้แพงกว่าซอฟต์แวร์ไทย แต่ก็ถูกกว่าของนอก”

จากเวอร์ชั่นแรกจวบจนปัจจุบัน Hospital2000 ปรับปรุงมาแล้วทั้งหมด 5 เวอร์ชั่น มีลูกค้ารวมทั้งสิ้น 7 แห่ง เป็นโรงพยาบาลต่างประเทศชั้นนำ Franco Vietnamese (เวียดนาม), Assunta (มาเลเซีย), Asian Hospital (ฟิลิปปินส์) รวมทั้งในสิงคโปร์มีลูกค้า 3 แห่ง คือ Singapore General, KK Women’s and Children’s และ Changi General

ในจำนวนนี้ แพทบอกว่าสิงคโปร์เป็นลูกค้ายากและท้าทายที่สุด เพราะมีโรงพยาบาลถึง 3 แห่ง ที่ต้องปรับเปลี่ยนเป็น 3 เรคคอร์ดที่แตกต่างกัน

ไทยได้เป็น 1 ใน 5 ศูนย์ R&D ของไมโครซอฟท์

จากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลง คนหันเข้าหาคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ข้อมูลสุขภาพมีความซับซ้อนและปกป้องความเป็นส่วนตัวตามกฎหมาย ขณะที่ผู้บริโภครายบุคคลก็ต้องการค้นหาและรับรู้ทางเลือกด้านการแพทย์ด้วยตัวเอง ทำให้ตลาดสุขภาพเบ่งบานโยงใยกันไปทั่วโลก ในมุมมองของ แพท เชื่อว่า “มันใหญ่และศักยภาพเติบโตสูงยิ่งกว่าตลาดพลังงานซะอีก”

ยักษ์ใหญ่ด้านซอฟต์แวร์อย่างไมโครซอฟท์ ที่แม้จะต้องรับมือกับคู่แข่งใหม่ๆ บนโลกอินเทอร์เน็ต เช่น การเสนอซื้อยาฮู แต่ในอีกด้านหนึ่ง ไมโครซอฟท์ ก็ไม่ยอมพลาด “ขุมทรัพย์แห่งอนาคต” รุกตลาด Health Care มาเป็นเวลานานหลายปี ไล่ซื้อซอฟต์แวร์ Azyxxi ที่เป็นฐานข้อมูลซับซ้อนเหมาะกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และ Medstory เสิร์ชเอนจิ้นเฉพาะด้านสุขภาพ รวมทั้งเปิดบริการ HealthVault ศูนย์ข้อมูลสุขภาพออนไลน์ส่วนบุคคลสำหรับผู้ใช้ MSN ไปหมาดๆ (ดูตารางประกอบ)

แล้วก็มาถึงคิวของ GCS หลังจากศึกษาซอฟต์แวร์ Hospital2000 ที่เป็นพาร์ตเนอร์กันอย่างใกล้ชิด ไมโครซอฟท์ก็ตัดสินใจซื้อกิจการ GCS ในเดือนตุลาคม โดยการเสนอแนะของไมโครซอฟท์ไทย และไม่กี่เดือนหลังจากนั้น ซอฟต์แวร์ Enterprise Health Systems ตระกูล Amalga ซึ่งเป็นการผนวกซอฟต์แวร์สุขภาพที่ซื้อมา ได้แก่ Amalga (ชื่อเดิม Azyxxi), Amalga HIS (ชื่อเดิม Hospital 2000) และ Amalga RIS/PACS ก็เปิดตัวออกสู่ตลาด 13 กุมภาพันธ์ 2551

ส่วนแพทเองก็ต้องเปลี่ยนหมวกใบใหม่ จากซีอีโอมาสู่ตำแหน่ง Product Unit Manager ในไมโครซอฟท์ โดยรับผิดชอบโปรดักส์ 2 ตัวหลัง (HIS และ RIS/PACS) แต่เขาก็มีความสุขมาก

“เพราะนี่เป็นโอกาสยิ่งใหญ่ของบริษัทไทยเล็กๆ ที่จะได้รับเงินทุนสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา ทำให้ไทยกลายเป็น ศูนย์การวิจัย 1 ใน 5 แห่งของไมโครซอฟท์ทั่วโลก” นอกเหนือไปจาก Silicon Valley, Cambridge, จีนและอินเดีย

แน่นอน เขากำลังมองหานักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยเข้ามาร่วมทำงานเพิ่มขึ้น ด้วยความเชื่อมั่นว่า “คนไทยเก่งกาจไม่แห้ชาติอื่น และมีโอกาสอีกมากในอนาคต แค่ก้าวผ่านข้อจำกัดด้านภาษาให้ได้เท่านั้น”

งานแรกของเอ็มดี ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย

ดีลในการซื้อกิจการ GCS นับเป็นงานแรกของ ปฐมา จันทรักษ์ หลังจากบินมารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัทไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ซึ่งมีผู้ดีลครั้งนี้เพียงแค่ 4 คนเท่านั้น

และที่สำคัญ เธอเป็นผู้นำเสนอการซื้อกิจการครั้งนี้ เพราะมองเห็นโอกาสของธุรกิจสุขภาพ และโอกาสของไทย ที่จะเป็นแหล่งพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านสุขภาพ

หลังจากการซื้อ GCS ไมโครซอฟท์ก็เลือกไทยเป็นศูนย์วิจัยแห่งที่ 5 ของไมโครซอฟท์ และผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ในประเทศขึ้นชื่อว่ามีโซลูชั่นขายระดับโลก

นอกจากนี้ยังช่วยขยายตลาดสุขภาพให้เติบโตยิ่งขึ้น “ค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวที่เมืองไทยต่ำกว่าเมืองนอกถึง 1 ใน 3 ดังนั้น การจะให้ประเทศไทยก้าวมาอยู่แถวหน้าได้ต้องมีจุดเด่นคือ Health Care ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับการท่องเที่ยวของไทย (ด้าน Medical Tourism)”

“นี่เป็นชัยชนะของประเทศชาติ” ปฐมากล่าวสั้นๆ ด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมไปด้วยความภาคภูมิใจ

“กว่าจะมีวันนี้”

“ซอฟต์แวร์เดิมที่ใช้อยู่ขณะนั้นทั้งซับซ้อนและราคาแพง แถมไม่รองรับการใช้งานแอพพลิเคชั่นหลายๆ อย่างพร้อมกันตามความต้องการ” พ.ญ.จามรี เชื้อเพชระโสภณ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์อาวุโส โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ บอกถึงที่มา

จากนั้นผู้บริหารระดับสูงของบำรุงราษฎร์กับแพทก็ได้มาพบปะกันผ่านคำแนะนำของเพื่อนในวงการแพทย์ นำมาสู่การก่อตั้ง GCS ในประเทศไทย และพัฒนาซอฟต์แวร์ Hospital 2000 เวอร์ชั่นแรกให้บำรุงราษฎร์ ใช้เวลายาวนาน 3 ปี

เมื่อใช้จริงก็พบกับอุปสรรคไม่น้อย ต้องฝ่าฟันกันด้วยการฝึกอบรมอย่างหนัก แม้ Hospital 2000 ขณะนั้นจะรองรับเพียง 2 ภาษาเท่านั้น “ต้องยอมรับว่าสมัยนั้น บำรุงราษฎร์ยังไม่ได้เป็นโรงพยาบาลนานาชาติอย่างแท้จริง ภาษาอังกฤษก็ไม่ได้เก่งทุกคน มีคอมพิวเตอร์เพียง 100 เครื่อง ความรู้เรื่องการใช้คอมพิวเตอร์ยังจำกัด”

แต่ผ่านไปเพียง 10 ปี ซอฟต์แวร์เวอร์ชั่น 5 ที่ใช้อยู่ก็รองรับได้ทุกภาษา มีคอมพิวเตอร์เพิ่มเป็น 1,600 เครื่อง รองรับคนไข้เพิ่มขึ้นจากที่เคยมีวันละพันคนเป็น 3,000 คนต่อวัน แต่ทุกอย่างยังเรียบง่ายเหมือนเดิมภายใต้เซิร์ฟเวอร์ตัวเดียวและมีหน่วยแบ็กอัพสำรองอีกหนึ่งเท่านั้น

“ทั้งหมดก็เพื่อความปลอดภัยทางการแพทย์และการบริการรวดเร็วราบรื่น” อันเป็นหัวใจของการสร้างความพึงพอใจให้กับคนไข้ทุกชาติมาตรฐานเดียวกันนั่นเอง

จุดเปลี่ยนของไมโครซอฟท์ในตลาดไอทีสุขภาพ

2538 – 2542
– ตั้งทีมงานสุขภาพ (Microsoft Health Team)
– ตั้งกลุ่มแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการใช้ซอฟต์แวร์สุขภาพของไมโครซอฟท์ หรือ Microsoft Healthcare User’s Group (MS-HUG)
– เพิ่มเนื้อหาด้าน Health and Fitness ใน MSN

2544
– ตั้งหน่วยอุตสาหกรรมสุขภาพ (Health Industry Unit)
– เปิดตัว BizTalk Accelerator รองรับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของคนไข้
– เข้าร่วมและสนับสนุนการเงินให้แก่องค์กรสุขภาพ Health Level Seven (HL7)

2546
– ตั้งแผนกวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตและสุขภาพในอเมริกา

2548-2549
– เปิดตัวธุรกิจ “สุขภาพ” เป็นธุรกิจระดับโลก
– ตั้งกลุ่มโซลูชั่นด้านสุขภาพ (Health Solutions Group)
– ซื้อกิจการของ Azyxxi

2550
– ซื้อกิจการของ Medstory
– ซื้อกิจการของ Global Care Solutions

2551
– เปิดตัว Microsoft Amalga รวมซอฟท์แวร์ Azyxxi และ Hospital2000 เข้าด้วยกัน

“ถ้าว่างผมไม่ยุ่งกับคอมพิวเตอร์อีกเลย”

สำหรับบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ การมีคอมพิวเตอร์มากกว่า 1 เครื่องบนโต๊ะตัวเองไม่ใช่เรื่องแปลก และใช้เวลาอยู่กับคอมพิวเตอร์เกือบจะ 24 ชั่วโมง

“ถ้ามีเวลาว่างผมไม่ยุ่งกับคอมพิวเตอร์อีกเลย” แพทบอก

งานอดิเรกของเขามักใช้เวลาว่างไปกับการถ่ายภาพขาว-ดำด้วยกล้องกลไก (Machanic) และสะสมรถ Land Rovers และ Volkswagens คลาสสิก เฉพาะรุ่นที่ทำก่อนปี 1967 เท่านั้น หากนึกจะคึกคักยามกลางคืนก็มีร้านโปรด Sansi Bar ย่านสุขุมวิท ไม่ไกลจากที่ทำงานมากนัก นอกจากนี้ความเผ็ดก็ไม่ใช่อุปสรรค เพราะอาหารโปรดของเขาคือ “ส้มตำ”