NBT โทรทัศน์เพื่อชาติและพวกพ้อง

วงกลมสีน้ำเงิน บนพื้นขาว กลายเป็นโลโก้ใหม่ใหม่บนหน้าจอโทรทัศน์ เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ที่ชื่อว่า NBT (National Broadcasting of Thailand) นับจากนี้คือการเริ่มต้นการเปลี่ยนโฉมช่อง 11 ที่รัฐบาลชุด “สมัคร สุนทรเวช” อยากบอกท่านผู้ชมว่า โปรดลืมช่อง 11 แบบเดิมๆ ไปได้เลย…

หากภารกิจของรัฐบาลชุดนี้สำเร็จก่อนต้องหมดสภาพไปตามเงื่อนไขทางการเมือง ช่อง 11 จะเปลี่ยนโฉมเป็นไปเป็น “NBT” ที่มีรายการข่าว โดยใช้ทีมงานเดิมที่มาจากสถานีโทรทัศน์ไอทีวีเป็นส่วนใหญ่ เป็นที่รู้กันว่า ไอทีวีนั้นเป็นช่องที่เคยมีภาพลักษณ์ใกล้ชิดกับอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยิ่งไปกว่านั้น ก่อนสิ้นปีนี้ช่อง 11 จะมีรายการสาระบันเทิงที่หลากหลายกว่าเดิม ซึ่งมาจากนโยบายที่เปิดให้เอกชนมาเช่าเวลามากขึ้น

นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่ผู้บริหารช่อง 11 ต่างบอกว่า เป็นการปรับครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปีของช่อง 11 หากพูดถึงการเปลี่ยนชื่อสถานี เปลี่ยนโลโก้ และรูปแบบการแถลงข่าวที่มีออแกไนเซอร์มารับจัดงานอย่างเป็นระบบ แต่จะให้คาดการณ์ถึงผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่าจะมีคนดู และรายได้จากโฆษณาเพิ่มขึ้นหรือไม่ ก็ยังบอกไม่ได้ว่าจะออกดอกออกผลมาอย่างไร เพราะนี่คือการเปลี่ยนแปลงตามนโยบายของรัฐบาล

การผลักดันให้ช่อง 11 ปรับโฉม เป็นเรื่องแรกๆ ที่ “สมัคร สุนทรเวช” ให้สัมภาษณ์กับสื่อที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2008 ว่าต้องการปรับปรุงช่อง 11 ให้เป็นโมเดิร์น 11 และ 23 มีนาคม 2008 “สมัคร” พูดในรายการ “สนทนาประสาสมัคร” วันที่ 24 มีนาคม ว่าช่อง 11 จะแถลงเปิดตัวสถานีใหม่ และวันที่ 1 เมษายน ไปเป็นแขกรับเชิญคนแรกให้กับรายการ “ตัวจริงชัดเจน” (รายการนี้เคยออกอากาศอยู่ในช่องทีไอทีวี มีพิธีกร คือ จอม เพชรประดับ)

“สัญญา คือ ให้เป็นตัวของตัวเอง เหมือนที่อยู่สถานีทีไอทีวี ตรงไปตรงมา วิพากษ์วิจารณ์ได้เหมือนเคย และไม่ต้องมาประจบประแจงรัฐบาล เราเคยเห็นคนพวกนี้ จะเอามาปรับปรุงช่อง 11 ทำถูกต้องตามกฎหมาย มีผู้สนับสนุน ไม่มีโฆษณา อยากเทียบเคียงให้ดูกับช่องสาธารณะ ที่ยึดเอาไป ของเขาดีๆ ทำมาหากินดีๆ เป็นกลาง ไว้วางใจได้ กลับถูกมองว่าเป็นช่องของอดีตนายกรัฐมนตรี ไปๆ มาๆ ยึด อยู่ดีๆ เอาเงินหลวงไปใส่ …ผู้คนในบ้านเมืองจะได้มีความสุข ได้ฟังข่าว ทันเหตุการณ์ อย่างเช่น รายการฮอตนิวส์ และที่ชัดเจนได้ทีมงานที่ทำงานเก่งๆ จะเอามาทำงานช่องนี้ นี่คือความเปลี่ยนแปลง”

“จักรภพ เพ็ญแข” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับลูกต่อ ด้วยการนำทีมข่าวไอทีวีเข้าไปใน NBT กว่า 20 คน เป็นวิธีการง่ายกว่าการตั้งสถานีโทรทัศน์ช่องใหม่ เพราะกฎหมายยังไม่เอื้อ ซึ่ง “จักรภพ” แถลงในวันเปิดตัว NBT ว่าแทนที่จะสร้างตึกใหม่ สร้างเครื่องส่งใหม่ ช่อง 11 นี่แหละ ที่ตอบโจทย์ของสังคมได้ และคนดูจะไม่เบื่อ และกดรีโมตผ่านช่อง 11 ไปเหมือนที่ผ่านมา

นับจากนี้ “จักรภพ” ยังบอกด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงระยะที่ 2 ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2008 จะเปิดโอกาสให้คนในรายการของคนรุ่นใหม่ แนว Indy มาออกอากาศ และให้คนวงการโฆษณามาช่วยคิดผลิตโฆษณาที่สวยงาม เพื่อสอดคล้องกับนโยบายของ NBT ที่ให้โฆษณาได้เฉพาะภาพลักษณ์องค์กรเท่านั้น

การแถลงข่าวเปิดตัว NBT นับว่าได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนจำนวนมาก แต่แทบจะไม่มีเอเยนซี่ และเจ้าของสินค้ารายใหญ่เข้าร่วมงาน ต่างจากการแถลงของช่องอื่นๆ ที่เต็มไปด้วยคนโฆษณาที่พร้อมจะใช้เงิน

แขกที่ร่วมงานส่วนใหญ่คือข้าราชการของกรมประชาสัมพันธ์ มีบุคคลสำคัญ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น Hideaki Kobayashi ที่ให้เกียรติในฐานะที่รัฐบาลญี่ปุ่นเคยให้การสนับสนุนเงินแบบให้เปล่า เพื่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์เทคนิคที่ช่อง 11 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ 300 ล้านบาท พร้อมกับถ่ายทอดสดทั่วประเทศผ่านเครือข่ายช่อง 11 เป็นเวลา 1 ชั่วโมง มีการส่งคำถามให้รัฐมนตรีตอบเพื่อย้ำความเป็นกลาง และสมดุลด้านข่าวสารของ NBT

การแถลงข่าวจบสมบูรณ์ แต่ความสงสัยในจุดยืนที่ชัดเจนของ NBT ยังคงติดอยู่ในใจของคนหลายคน ว่าจะเป็นกลางเพื่อผู้ชม หรือเพื่อรัฐบาล

ความสงสัยในความง่ายดายในการเปิดทางคนของไอทีวีภายใต้บริษัท “ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้งส์” ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ที่มีอดีตทีมผู้บริหารข่าวไอทีวีถือหุ้น และเป็นกรรมการ นำโดยอดิศักดิ์ ชื่นชม และพรเลิศ ยนตร์ศักดิ์สกุล และพาทีมข่าวหลายคนเข้ามาไม่ว่าจะเป็น ตวงพร อัศววิไล จิรายุ ห่วงทรัพย์ สร้อยฟ้า โอสุคนธ์ทิพย์ โดยได้เหมาเวลาวันละ 9 ชั่วโมงครึ่ง โดยได้ผลตอบแทนคือสิทธิขายเวลาโฆษณาชั่วโมงละ 7 นาที แลกกับผลประโยชน์ที่จ่ายให้กับช่อง 11 ปีละ 45 ล้านบาท คือการพิจารณาอย่างโปร่งใสหรือเพื่อพวกพ้อง

แม้จะไม่ชัดเจน แต่ NBT ภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบัน มีช่องทางของรายได้แน่นอน คือหน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจที่ใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์หน่วยงานรวมปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท

สำหรับเอเยนซี่ที่วางแผนโฆษณาให้กับสินค้าต่างๆ จึงยังไม่พร้อมสำหรับ NBT เพราะยังต้องรอเวลาพิสูจน์ว่าจะเป็นทีวีเพื่อชาติ หรือทีวีเพื่อพวกพ้อง

รายได้ของช่อง 11 ปี 2550
ค่าเช่ารายการ 96.59 ล้านบาท
ถ่ายทอดสด 51 ล้านบาท
สปอต/สารคดี 7.51 ล้านบาท
ร่วมผลิต 3.62 ล้านบาท
รวมประมาณ 158.72 ล้านบาท

สัดส่วนผังรายการใหม่
ข่าว 38.78%
สาระความรู้ 56.11%
กีฬา บันเทิง 5.11%

สัญญาระหว่างดิจิตอลมีเดีย โฮลดิ้งส์กับช่อง 11
1. ช่อง 11 ให้สิทธิผลิตข่าวออกอากาศ 2 ปี
2. ดิจิตอลมีเดีย จ่ายค่าสิทธิออกอากาศให้ช่อง 11 ปีละ 45 ล้านบาท
3. แบ่งสิทธิขายเวลาโฆษณา 70-30% (ฟรีทีวีมีสิทธิโฆษณาได้ชั่วโมงละ 10 นาที ดิจิตอลมีเดีย ได้สิทธิขาย 7 นาที ช่อง 11 ขายเอง 3 นาที)
4. ช่อง 11 จ่ายค่าจ้างให้กลุ่มผู้ผลิตข่าวรูปแบบลูกจ้างพิเศษที่เรียกว่าพนักงานสิทธิประโยชน์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานไอทีวีเดิมทั้งหมด 25 คน

ความเปลี่ยนแปลงจากช่อง 11 เป็น NBT
1. เปลี่ยนชื่อสถานีจากช่อง 11 เป็น ช่อง NBT
2. เปลี่ยนโลโก้
3. เพิ่มสัดส่วนเวลารายการข่าวจาก 7 ชั่วโมงเป็น 9 ชั่วโมงครึ่ง เริ่ม 1 เมษายน 2008
4. เปิดให้เอกชนเช่าเวลาจัดรายการมากขึ้น เริ่ม 11 กรกฎาคม 2008