ถ่ายทอดกันสดๆ ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ต้องมีสคริปต์ ไม่ต้องมีตัดต่อ ขอมีแค่มือถือเครื่องเดียว ก็เป็นเจ้าของ “ช่องรายการ” ส่วนตัวได้ นี่คือ จุดขายสำคัญของ Facebook Live ที่กำลังสร้างความฮือฮาในเวลานี้

หลังจากเฟซบุ๊กสร้างกระแสฮือฮาด้วยการออกฟีเจอร์ถ่ายทอดสด หรือ Live ตอบโจทย์ผู้ใช้ให้สามารถถ่ายทอดออกอากาศสดๆ ได้ทันที แจ้งเตือน Notifications ให้คนติดตามรู้ว่ามีถ่ายทอดสดแล้วนะ แถมคนที่เข้ามาดูยังคอมเมนต์กันได้สดๆ เป็นการสื่อสารแบบ 2 ทาง หรือ Interactive กันได้ทันที

ในไทยเองก็ตอบรับกับฟีเจอร์ใหม่นี้กันอย่างคึกคัก ถึงกับมีการคาดการณ์กันว่าฟีเจอร์ Live จะเป็น “จุดเปลี่ยน” สำคัญที่ส่งผลให้รูปแบบการสื่อสารทั้งสื่อมวลชน คนดัง เซเลบริตี้ รวมทั้งคนธรรมดา จะมี “สถานีโทรทัศน์ในมือ” ให้ Live กันสดๆ ชนิดที่ไม่ต้อง “พึ่งพา” ทีวีอีกแล้วหรือไม่

เพราะคนไทยเวลานี้ใช้เฟซบุ๊กกันแล้ว 37 ล้านราย เมื่อออกฟีเจอร์ที่อำนวยความสะดวกทั้งคนใช้และคนดู ที่สามารถสื่อสารกันแบบ “เรียลไทม์” สด

ทำเอาคนดัง กาละแมร์ พัชรศรี กำลังให้ความสนใจกับเฟซบุ๊ก ไลฟ์ ใช้ถ่ายทอดสดกิจกรรมต่างๆ และยังเขียนบทความถึงฟีเจอร์ใหม่นี้อย่างน่าสนใจ Live เป็นเครื่องมือใหม่ที่ตอบโจทย์ทั้งคนทำคอนเทนต์ออกทีวี ถ่ายทอดสดได้จากทุกมุมของโลก ให้คนทั่วโลกได้ติดตาม

ส่วน ภาววิทย์ กลิ่นประทุม นักลงทุนอิสระและผู้บริหารหลักทรัพย์บัวหลวง นอกจากจะใช้เฟซบุ๊ก ไลฟ์สดๆ กับคนติดตาม ด้วยข้อแนะนำเกี่ยวกับการทำธุรกิจและการลงทุนกับคนติดตาม เขายังโพสต์บทความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ทึ่งกับ Vision เปลี่ยนโลกของ Mark Zuckerberg กับแผน 10 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะ Facebook Live ฟีเจอร์ล่าสุด ที่จะเปลี่ยนโลกการสื่อสารได้อีกครั้ง

กับความสามารถในการถ่ายทอดสดแล้วมีคนฟังทันที มี Comment กันสดๆ แล้วยังทำเป็น VDO ให้เสร็จสรรพ ทำให้ทุกคนไม่ต้องมีเงินพันล้านไปสร้างสถานีโทรทัศน์ ก็สามารถมีช่องทีวีส่วนตัวได้แล้ว เป็นอีกเรื่องที่เขาได้เรียนรู้จาก Mark Zuckerberg ผู้ที่ไม่เคยหยุดนิ่งกับความสำเร็จเดิมๆ เรียนรู้ อย่างจริงจัง

https://www.facebook.com/hashtag/ภาววิทย์กลิ่นประทุม?source=feed_text&story_id=1159370634093866″

POSITIONINGMAG จะพาไปหาคำตอบจากนักการตลาด นักโฆษณาออนไลน์ กับมุมมองของผลกระทบจากการมาของ Facbook Live และจะใช้ประโยชน์อย่างไรกันบ้าง

ตอบโจทย์คนดู คนทำคอนเทนต์ และแบรนด์

ณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง บล็อกเกอร์ และกูรูด้านคอนเทนต์ มาร์เก็ตติ้ง มองว่า Facebook Live เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการแสดงคอนเทนต์ จากแต่ก่อนที่ทำคอนเทนต์ได้แค่ข้อความ และรูปภาพ แต่ปัจจุบันทำเป็นภาพเคลื่อนไหวได้ ซึ่งการถ่ายทอดสดนั้นมีเสน่ห์ในเรื่องของเวลาเข้ามาเป็นมิติสำคัญ สามารถถ่ายทอดคอนเทนต์แบบเรียลไทม์ได้เลย

แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้น การถ่ายทอดสดแตกต่างจากวิดีโอทั่วไป นอกจากเรื่องเวลา ยังสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนดูได้ในเวลาเดียวกัน

“ถ้าเป็นคอนเทนต์การรีวิวสินค้าธรรมดาก็ทำเป็นแค่วิดีโอ แต่เมื่อเป็นการถ่ายทอดสดการเปิดตัวสินค้า ก็จะมีเรื่องเรียลไทม์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้คอนเทนต์นั้นมีมิติขึ้น สามารถเห็นคอมเมนต์ของคนดูแบบสดๆ ที่ได้อินเตอร์แอ็กทีฟกับคนดูได้ ในขณะที่วิดีโอเหมือนเป็นการสื่อสารทางเดียว

นอกจากนี้ เฟซบุ๊ก ไลฟ์ ยังทำได้ง่าย แค่มีโทรศัพท์เครื่องเดียวก็ถ่ายทอดสดได้แล้ว และการถ่ายทอดสดเรียกว่าตรงกับพฤติกรรมคนไทยด้วย เพราะชอบความสนุก ชอบเล่นฟีเจอร์อะไรใหม่ๆ และชอบดูคอนเทนต์ที่สดใหม่ด้วย

ณัฐพัชญ์ มองว่า ในอนาคตการถ่ายทอดสดจะส่งผลกระทบต่อวงการโฆษณา และจะมีการผลิตคอนเทนต์เพิ่มมากขึ้น ผู้บริโภคก็มีตัวเลือกในการเสพสื่อเยอะขึ้น สนุกขึ้น และเรียลไทม์ขึ้น

แต่แบรนด์ก็ต้องทำการบ้านเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ว่าจะถ่ายทอดสดเพื่ออะไร ต้องถามตัวเองว่าถ้ามีช่องทีวีจะทำคอนแทนต์แบบไหน ต้องเอาคนดูเป็นที่ตั้งว่าคนดูต้องการดูอะไร และต้องดูคาแร็กเตอร์ของสื่อด้วยว่าจะใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร

1_fb_live

สื่อทีวี-วิทยุ-การศึกษา อีเวนต์ได้ประโยชน์

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้ง ตลาด ดอท คอม มองว่า ฟีเจอร์การถ่ายทอดสดไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้ยูทิวบ์ หรือทวิตเตอร์ก็ทำฟีเจอร์นี้เหมือนกัน เพียงแต่เฟซบุ๊กทำแล้วได้เปรียบกว่าในเรื่องฐานผู้ใช้ ส่วนยูทิวบ์ทำการถ่ายทอดสดแล้วไม่มีคนดู ไม่มีคนติดตาม มีการแจ้งเตือนให้คนดูได้รู้ และยังต้องไปโพสต์โปรโมตอีกทีว่ามีการถ่ายทอดสดตอนเวลาไหน

ในขณะที่เฟซบุ๊ก ไลฟ์ มีข้อดี เพราะคนอยู่กับเฟซบุ๊กตลอดเวลา ไม่ว่าคนธรรมดา หรือแบรนด์ มีคนติดตามอยู่แล้ว เท่ากับว่ามีคนรอดูอยู่ สามารถถ่ายทอดสดแบบเรียลไทม์ได้ทันที และต่อยอดในเรื่องการวัดผลได้จริงด้วย มีคอมเมนต์ฟีดแบ็กกลับมาในทันที ไม่เหมือนกับคอนเทนต์แบบวิดีโอที่เป็นการสื่อสารแบบทางเดียว และวิดีโอที่ถ่ายทอดสดก็เข้าเก็บอยู่ในคลังวิดีโอได้

มีประโยชน์กับหลายวงการ ในแง่ของการศึกษา หรือการจัดกิจกรรมต่างๆ สามารถถ่ายทอดสดได้ทันที ในอนาคตจะเพิ่มมิติในการสื่อสารได้มากขึ้น ที่น่าสนใจคือรายการทีวี หรือวิทยุก็มีการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก ทำให้คนดูเพิ่มขึ้น สามารถนำมา “อินทิเกรต” เพื่อสร้างเอ็นเกจเมนต์กับผู้ดู รู้ได้ทันทีว่าคนดู หรือคนฟังเป็นใคร จากเดิมที่เป็นการสื่อสารทางเดียว   

อย่างไรก็ตาม ภาวุธ ให้ข้อคิดด้วยว่า ด้วยนิสัยคนไทยตอบรับเทรนด์ใหม่ๆ ได้ง่าย และยังชื่นชอบคอนเทนต์ที่สนุกสนานอยู่แล้ว แต่ข้อควรระวังก็คือเรื่องปัญหาสังคมที่จะตามมา ต้องมีวิจารณญาณในการเสพสื่อ เพราะควบคุมค่อนข้างยาก

ศิวัตร เชาวรียวงษ์ กรรมการบริหาร บริษัท เอ็มอินเตอร์แอคชั่น จำกัด ได้ให้ความเห็นว่า “การที่มีฟีเจอร์ถ่ายทอดสดเข้ามาจะช่วยเป็นเครื่องมือในการทำคอนเทนต์ง่ายขึ้น มีการพัฒนาจากการโพสต์ข้อความมาเป็นรูปภาพ วิดีโอ และมาถึงการถ่ายทอดสดที่เป็นคอนเทนต์แบบเรียลไทม์ มีคนมาคุยด้วย ตอบโต้ได้เลย

การถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กสามารถทำได้ง่ายขึ้น ก่อนหน้านี้ก็มีแอปพลิเคชันในการถ่ายทอดสดอยู่บ้างแล้ว แต่ด้วยฐานคนใช้เฟซบุ๊กที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ทำฟีเจอร์นี้ขึ้นมาให้คนใช้ได้ง่ายๆ ใครๆ ก็ถ่ายทอดสดได้ คนก็ตอบรับได้ทันที

การใช้งานเวลานี้ จะใช้ส่วนบุคคลมากกว่า ทั้งเซเลบริตี้ และอินฟลูเอ็นเซอร์ ที่เป็นอีกช่องทางที่ได้พูดคุยกับแฟนคลับมากขึ้น รวมทั้ง “สื่อ” เองก็เริ่มมีการใช้งานมากขึ้น โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่อาศัยข้อมูล และข่าวที่รวดเร็ว ที่เห็นทำในตอนนี้ก็มีไทยรัฐ ข่าวสด โดยบางทีก็ทำการถ่ายทอดสดผ่านเพจตัวเอง หรือให้นักข่าวในสังกัดเป็นคนถ่ายทอดสด แล้วแชร์มาที่เพจอีกที

สำหรับแบรนด์ หรือเจ้าของสินค้า ที่ต้องการใช้เฟซบุ๊ก ไลฟ์เป็นช่องทางถ่ายทอดสดในการจัดอีเวนต์เปิดตัวสินค้า เพื่อให้คนเข้ามามีส่วนร่วมได้เรียลไทม์ แบรนด์ต้องทำการบ้าน จัดกิจกรรมที่ต้องการความสดใหม่

สโรจ เลาหศิริ ผู้อำนวยการกลยุทธ์ และความคิดสร้างสรรค์ บริษัท Rabbit’s Tale  ดิจิทัลเอเยนซี่ มองว่า ช่วงแรกเฟซบุ๊ก ไลฟ์ เปิดตัวมาเพื่อใช้เฉพาะในหมู่ “ดารา” “เซเลบริตี้” คนดัง ใช้สื่อสารกับบรรดาแฟนคลับและคนดู แต่เมื่อคนใช้มากขึ้น เฟซบุ๊กเลยมองเห็นโอกาส เปิดให้คนทั่วไปได้ใช้

และยังต้องการแข่งขันกับ “สแนปแชต” โซเชียลมีเดียที่กำลังได้รับความนิยมสูงมากในหมู่วัยรุ่นอเมริกัน ทำให้เฟซบุ๊กจึงต้องเพิ่มฟีเจอร์ให้คนถ่ายทอดสด เพื่อสื่อสารกับคนที่ติดตามได้ทันที โดยเป็นภาพเคลื่อนไหวแบบสดๆ ไม่ต้องใช้ภาพนิ่ง หรือคิดแคปชัน ให้เสียเวลา

แม้ว่าจะทำให้ผู้บริโภคมีกิมมิกใหม่ๆ ในการสื่อสารกับเพื่อน คนรอบข้าง แต่คนที่จะได้รับประโยชน์จากเฟซบุ๊ก ไลฟ์จริงๆ น่าจะเป็นสื่อทีวี ใช้ถ่ายทอดอีเวนต์ หรือคนดัง ดารา ได้สื่อสารกับแฟนคลับและคนดูได้ติดตามกันแบบสดๆ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก เช่น วู้ดดี้ ที่มีการใช้ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฟีเจอร์ที่สามารถแจ้งเตือน (Notifications) ทุกครั้งที่มีถ่ายทอดสด และยังแชร์ความเห็นได้แบบเรียลไทม์ รู้จำนวนคนติดตามได้ทันที

อย่างไรก็ตาม ก็เป็นดาบสองคมด้วยเช่นกัน เช่น กรณีของเนวัดดาว ที่ถ่ายทอดสดยิงขมับตัวเองผ่านเฟซบุ๊ก ไลฟ์ ไม่ว่าจะยิงจริงหรือไม่จริงก็ตาม แต่ก็เท่ากับไปจุดประกายให้กับบางคนที่ต้องการเรียกร้องความสนใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างมาก

ส่วนในแง่แบรนด์ ใช้เฟซบุ๊ก ไลฟ์มาตอบโจทย์การทำ “เรียลไทม์ มาร์เก็ตติ้ง” ได้มากขึ้น เช่น ใช้ถ่ายทอดการจัดอีเวนต์ หรือการตอบคำถามสดๆ หรือแม้แต่การออกสินค้าทดสอบ เพื่อให้เห็นความรู้สึกพฤติกรรมของลูกค้าได้ก่อนจะออกมาเป็นสินค้าตัวจริง

หากเทียบกับยูทิวบ์ ไลฟ์แล้ว จะเหมาะสำหรับวิดีโอ และตอบโจทย์ในเรื่องการหาคอนเทนต์ที่คนต้องการในเวลานั้น และเพื่อความบันเทิง ในขณะที่เฟซบุ๊ก ไลฟ์เป็นแพลตฟอร์มในการสื่อสารเชื่อมโยงกับสังคม

ทีวีไม่ตาย

ในมุมมองของ สุรพล พีรพงศ์พิพัฒน์ ผู้อำนวยการสายงานบริหารงานขาย ช่องวัน บริษัท เดอะวันเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ให้ความเห็น การมาของเฟซบุ๊ก ไลฟ์ หรือการดูสตรีมมิ่ง ช่องวันเองก็มีให้ดูผ่านช่องทางออนไลน์เหล่านี้อยู่แล้ว

ส่วนตัวเพิ่งได้อ่านบทความ วิเคราะห์ว่าการมาของแพลตฟอร์มเหล่านี้ จะส่งผลให้ทีวีต้องล้มหายตายจากไป แต่ตนยังเชื่อว่าต่อให้เวลาผ่านไปอีก 5-10 ปี คนก็ยังดูทีวีอยู่เช่นเดิม แม้ว่าสื่อออนไลน์จะแย่งแชร์คนดูไปบ้าง แต่ตัวเลขไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะที่จริงแล้วคนที่ดูทีวี และรายการย้อนหลังผ่านออนไลน์กันมาเป็น 10 ปีแล้ว แต่ก็ไม่ได้ส่งผลให้เรตติ้งคนดูทีวีลดลง หรือมีผลก็น้อยมาก เพราะเป็นคนดูคนละกลุ่มกัน

“คนที่นิยมดูทีวี เช่น คนทำงาน แม่บ้าน พนักงานออฟฟิศ ก็ยังดูทีวีเหมือนเดิม ทั้งๆ ที่เขามีช่องทางออนไลน์ให้เลือกมากมาย เพราะเป็นความเคยชินของเขา และทีวีเองก็เหมาะที่จะดูรายการที่เน้นเรื่องราว ต้องติดตามต่อเนื่อง ในขณะที่สื่อออนไลน์ จะเหมาะกับรายการบางประเภท เช่น ประกวดร้องเพลง ตอนสุดท้าย หรือเพลงฮิต ยังไงทีวีก็ไม่มีวันตาย”