กิจกรรมงานสถาปนิก’59 “ASA Back to Basic | อาษาสู่สามัญ”

สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดกิจกรรมงานสถาปนิก’59“ASA Back to Basic | อาษาสู่สามัญ” มุ่งเน้นให้สถาปนิก ย้อนกลับสู่พื้นฐานด้านสถาปัตยกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการแข่งขันในเวทีโลก ระหว่างวันที่ 26เมษายน – 1 พฤษภาคม 2559 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีคุณพิชัย วงศ์ไวศยะวรรณ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ รศ.ดร.ต้นข้าว ปาณินทร์ ประธานจัดงานฯ และคุณชาตรี มรรคา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีทีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้จัดงาน

การจัดงานสถาปนิก’59 ในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ASA Back to Basic |อาษาสู่สามัญ” โดยเน้นการกลับไปคิดถึงพื้นฐานด้านสถาปัตยกรรม (Re-thinking Architectural Basics) โดยงานสถาปนิกถือเป็นงานแสดงเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางด้านสถาปัตยกรรมและการก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนได้จัดมาอย่างต่อเนื่องถึงครั้งที่ 30 มีจำนวนผู้ชมงาน ในส่วนของการจัดแสดงเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมกว่า 800ราย บนพื้นที่ 75,000 ตารางเมตร (ตร.ม.)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้พื้นที่ส่วนแสดงสินค้าของผู้ประกอบการต่างชาติมีเพิ่มขึ้นกว่าทุกปี ประมาณการณ์ว่าสัดส่วนผู้แสดงสินค้าจากต่างประเทศจะมีถึง 25% หรือ 200 ราย เพิ่มขึ้นจากงานครั้งก่อนประมาณ 7% และคาดว่าตลอดการจัดงาน 7 วัน จะมีผู้ชมประมาณ 350,000 คน

ทั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ผู้จัดงานและผู้แสดงสินค้าในการผสานการออกแบบพื้นที่จัดแสดงตามแนวคิด “การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล หรือ Universal Design Concept” เป็นโจทย์สำคัญในการออกแบบสิ่งแวดล้อม สิ่งปลูกสร้าง ที่ทุกคนในสังคมสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่และเท่าเทียมกัน รวมทั้งการส่งเสริมในเรื่องของผลิตภัณฑ์ บริการ และนวัตกรรมสีเขียวสำหรับงานออกแบบและก่อสร้าง (Green Building Material) โดยการให้ความสำคัญด้วยพื้นที่จัดแสดงโซนพิเศษ

ต่อยอดความรู้ประสบการณ์ผ่าน ASA Seminar จากกูรูสถาปนิก

นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดพื้นที่สำหรับเจรจาธุรกิจที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงธุรกิจกับผู้ประกอบการที่จัดแสดงรวมถึงการจัดลานกิจกรรและการสัมมนา (ASA Seminar) ถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงวิชาชีพออกแบบ ดังนี้ 1.วันพุธที่ 27 เมษายน 2559 ได้จัดสัมมนาในหัวข้อ “Resilient Architecture : Thailand’s Safety and Japan’s Safety”เวลา 14.00 – 16.00 น. ณ ห้องจูปิเตอร์ 11- จากนั้นเวลา เวลา 16.00 – 17.00 น. ก็ต่อด้วยสัมมนาเรื่อง “Architecture Exchange”

วันศุกร์ที่ 29 เมษายน 255910 สัมมนาในหัวข้อ Basic of Counting Number : “ค่าบริการวิชาชีพนั้น ได้แต่ใดมา” โดยดร.พร  วิรุฬห์รักษ์ เวลา 13.00 –15.00 น. ณ ห้องจูปิเตอร์ 8-10 ส่วนวันที่ 30 เมษายน 2559 อัดแน่นด้วยสัมมนาดี 3 เรื่อง ดังนี้  เวลา 13.00 – 17.00 น. สัมมนาในหัวข้อ “อนาคตของ Urban Design & Development ของเมืองไทย ณ ห้องจูปิเตอร์ 9, เวลา 13.00 – 16.00 น. ก็ได้จัดDOCOMOMO THAILAND  การอนุรักษ์สถาปัตยกรรมโมเดิร์นในประเทศไทย ณ ห้องจูปิเตอร์ 12, และ เวลา 15.00 – 19.00 น. สัมมนาเรื่อง River’s Voices : เสียงของทุกคน อนาคตของแม่น้ำ ณ ห้องจูปิเตอร์ 4-7

ส่วนวันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม 2559 ปิดท้ายด้วย 4 หัวข้อสัมมนา ดังนี้คือเวลา 13.30 – 15.00 น.  สัมมนาในหัวข้อ “คืนสู่สามัญ…จริงหรือ” ณ ห้องฟีนิกซ์,เวลา 15.00 – 17.00 น. สัมมนาในหัวข้อ One Rights Stand : พื้นที่/สาธารณะ/ชั่วคราว/ถาวร : ASA-CAN Ten for Ninety : Public Transit Lounge ณ ห้องจูปิเตอร์ 12 และสุดท้ายเวลา 15.30 – 18.00 น. สัมมนาในหัวข้อเรื่อง “๑๐ เหตุผลว่าทำไม ถึงออกแบบรัฐสภาแห่งใหม่ให้เป็นเหมือนวัด” ณ ห้องฟีนิกซ์

ชูนิทรรศการสานต่อเล่าเรื่องราวจากรุ่นสู่รุ่น

นั่นเป็นเพียงบางส่วนที่นำมาบอกกล่าว เพราะยังมีไฮไลต์อื่นๆรวมถึงกิจกรรมที่น่าสนใจจำนวนมาก อาทิ

นิทรรศการ 1.BASIC OF THE PAST ซึ่งประกอบไปด้วย นิทรรศการอนุรักษ์ เป็นนิทรรศการที่เล่าเรื่องน่าประทับใจในอดีต แบ่งเป็นนิทรรศการย่อยๆ จัดแสดงภาพถ่ายอาคารซึ่งมีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ รวมทั้งนิทรรศการรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2558 นิทรรศการส่วนกรรมาธิการไทยประเพณี และนิทรรศการเครือข่ายอนุรักษ์ นิทรรศการ Vernadoc เป็นนิทรรศการเล่าเรื่องชุมชนและอาคารในย่านชุมชมเก่า เพื่อสร้างความตระหนักแก่ผู้อยู่อาศัย และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้เห็นถึงความสำคัญ และช่วยกันอนุรักษ์และพัฒนาย่านชุมชนเก่าที่เน้นกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างอาสาสมัคร นักวิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐ เอกชน ผู้อยู่อาศัยในชุมชน และเครือข่ายผู้สนใจประวัติศาสตร์

2.BASIC OF THE PRESENT นิทรรศการ Basic of the Present เป็นนิทรรศการที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในปัจจุบัน ทั้งทางด้านแนวความคิด ที่มา กระบวนการ และลักษณะทางกายภาพที่ปรากฏเป็นอาคาร โดยนำเสนอผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น คัดเลือก โดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์  นิทรรศการ Photo Essay นิทรรศการเล่าเรื่องสถาปัตยกรรม ผ่านภาพถ่าย ในแง่มุมต่างๆ เพื่อนำเสนอมิติของงานสถาปัตยกรรม ที่เราอาจไม่มีโอกาสได้พบเห็นในชีวิตประจำวัน รวมทั้งเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างงานสถาปัตยกรรมกับวิถีชีวิต ระบบสังคมวัฒนธรรมในปัจจุบัน นิทรรศการสถาปนิกชุมชน ร่วมเรียนรู้เสน่ห์ของการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมกับผลงานสถาปนิกชุมชน และกลุ่มคนรุ่นใหม่ ในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมาด้วยความร่วมมือจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ กลุ่มวิชาชีพสถาปัตยกรรม นิทรรศการสถาปัตยกรรมดีเด่น’59 นำเสนอผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น คัดเลือกโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี พ.ศ. 2559  นิทรรศการ Universal Design นำเสนอแง่มุมของการดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมอย่างเท่าเทียม เพื่อสร้างทัศนคติใหม่ของการออกแบบอาคารเพื่อ ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็น เด็ก คนชรา คนพิการ และคนทั่วไป

3.BASIC OF THE FUTURE   นิทรรศการ Basic of the Future เป็นนิทรรศการที่สะท้อนมุมมองต่องานสถาปัตยกรรมและเมืองในอนาคต โดยจะเป็นการรวบรวมแนวความคิดจากผู้คนในวงการออกแบบและสร้างสรรค์แขนงต่างๆ ที่จะมาร่วมนำเสนอวิสัยทัศน์สู่อนาคต ผ่านสื่อหลากหลาย  นิทรรศการ Future of the Riverเป็นนิทรรศการที่บอกเล่า ความเป็นมา ความสำคัญ และความหมายของแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อวิถีชีวิตของผู้คนในเมือง ตลอดจนแนวทางการพัฒนาสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับแม่น้ำ โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีความสนใจและทำงานอย่างต่อเนื่องในการค้นหาแนวทางการพัฒนาสถาปัตยกรรมแห่งแม่น้ำ ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมี นิทรรศการที่น่าสนใจอาทิ  100 Selected Project 2016 เป็นนิทรรศการหลัก เพื่อแสดงศักยภาพของสถาปนิกไทย มีจุดประสงค์เพื่อสร้างภาพรวม และการแสดงตัวตน ครั้งใหญ่ของสถาปนิกทั้งประเทศ ให้เกิดความเคลื่อนไหวแบบก้าวกระโดดในวงการสถาปนิกไทย นิทรรศการ ASA International Design Competition นิทรรศการแสดงผลงานการประกวดแบบในระดับนานาชาติ ASA International Design Competition ภายใต้หัวข้อ What is the New ‘Basic’?นิทรรศการสถาบันการศึกษา เป็นนิทรรศการที่มุ่งหมายให้เป็นที่แสดงฝีมือของเหล่านิสิต นักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อยกระดับแสดงความเป็นเลิศในหลายทิศทางของนิสิต นักศึกษา  นิทรรศการผลงานสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง, นิทรรศการสมาคมต่างประเทศ ฯลฯ