แอลจีเผยผลประกอบการในไตรมาสแรก ปี 2559

เมื่อเร็วๆ นี้ แอลจี อีเลคทรอนิคส์ อิงค์ (แอลจี) เผยผลประกอบการจากการดำเนินงานในไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2559 ด้วยผลกำไรสูงสุดถึง 420.25 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท) เติบโตขึ้น 65.5% หรือ 11.12 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3.96 แสนล้านบาท) จากช่วงเวลาเดียวกับของปี 2558

ทั้งนี้ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญผลักดันให้ผลประกอบการในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2558 มาจากผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและเครื่องปรับอากาศที่สร้างยอดขายได้สูงถึง 339.23 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.21 หมื่นล้านบาท) และกลุ่มผลิตภัณฑ์โฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ อยู่ที่ 278.84 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 9.93 พันล้านบาท) ขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์โทรศัพท์มือถือมีผลประกอบการขาดทุนประมาณ 168.20 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5.99 พันล้านบาท) ซึ่งเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นของสมาร์ทโฟน LG G5 เช่นเดียวกับ กลุ่มผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ที่ขาดทุนประมาณ 13.14 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 468 ล้านบาท) เนื่องจากการลงทุนที่สูงขึ้นในส่วนของการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้แก่กลุ่มลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม แอลจีคาดการณ์ว่ายอดขายและผลกำไรของบริษัทฯ จะเติบโตเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 2 ด้วยอัตราการเติบโตที่ตัวเลข 2 หลัก เนื่องจากแอลจียังเดินหน้ารุกตลาดกลุ่มลูกค้าพรีเมี่ยมอย่างต่อเนื่อง ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์พรีเมี่ยมแบรนด์ ในกลุ่ม LG Signature, สมาร์ทโฟน LG G5 และ ทีวี 4K Ultra HD OLED

สำหรับยอดขายของกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและเครื่องปรับอากาศในไตรมาสที่ 1 มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 4% อยู่ที่ประมาณ 3.51 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.25 แสนล้านบาท) เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2558 เป็นผลมาจากยอดขายที่เพิ่มมากขึ้นในกลุ่มผลิตภัณฑ์เกรดพรีเมี่ยม และการเติบโตที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มตลาดธุรกิจ B2B คิดเป็นกำไรสุทธิที่สูงถึง 9.7% ซึ่งนับว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยในประเทศเกาหลีใต้ มีผลประกอบการที่เพิ่มสูงขึ้น 11% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา เนื่องจากกระแสความนิยม และผลประกอบการอันยอดเยี่ยม ของเครื่องซักผ้า TWIN Wash, ตู้เย็นเกรดพรีเมี่ยม, และกลุ่มเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์ สำหรับกลุ่มประเทศในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปยังคงมีผลประกอบการที่ดี ในขณะที่ประเทศในกลุ่มทวีปตะวันออกกลาง, อเมริกาใต้ และเครือรัฐเอกราช (CIS) มียอดขายลดลง เนื่องจากอัตราค่าน้ำมันที่ต่ำลง รวมถึงความผันผวนของอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

กลุ่มผลิตภัณฑ์โทรศัพท์มือถือ มีผลประกอบการอยู่ที่ประมาณ 2.46 พันล้านสหรัฐ (ประมาณ 8.76 หมื่นล้านบาท) ลดลง 15.55% จากไตรมาสที่ 1/2558 นอกจากนี้การส่งออกโทรศัทพ์มือถือไปยังประเทศต่างๆ อยู่ที่ประมาณ 13.5 ล้านเครื่อง ลดลง 12% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว สาเหตุหลักมาจากความซบเซาของภาคธุรกิจ และความต้องการที่ลดลงของสมาร์ทโฟนเรือธงรุ่นก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากกระแสการตอบรับเป็นอย่างดีของสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ล่าสุด LG G5 ทั้งนี้ตลาดสมาร์ทโฟนจะยังคงแข่งขันรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาของสมาร์ทโฟนจะลดต่ำลง ซึ่งทางบริษัทฯ ได้เตรียมแผนการรับมือด้วยการผลักดันสมาร์ทโฟนLG G5 และเปิดตัวผลิตภัณฑ์โทรศัทพ์มือถือรุ่นใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ อย่าง X series ออกสู่ตลาดโลกมากขึ้น

กลุ่มผลิตภัณฑ์โฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ มีผลประกอบการอยู่ที่ประมาณ 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.28 แสนล้านบาท) ลดลง 2.3% จากไตรมาสที่ 1/2558 เนื่องจากการส่งออกทีวีที่ลดลงในกลุ่มประเทศแถบอเมริกาเหนือและทวีปยุโรปซึ่งนับเป็นตลาดสำคัญของการส่งออก อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการสุทธิประมาณ 7.7% เป็นผลมาจากรายได้ที่เพิ่มจากขึ้นประมาณ 207% จากช่วงเวลาเดียวกันปี 2558 แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้บริโภคที่มีต่อกลุ่มผลิตภัณฑ์ทีวี OLED และ 4K OLED แอลจีคาดว่าการปรับโครงสร้างราคาและต้นทุนจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยผลักดันให้ยอดขายในไตรมาสที่ 2 เพิ่มขึ้นได้อีกด้วย

 สำหรับยอดขายในกลุ่มผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ มีผลกระกอบการอยู่ที่ประมาณ 493.2 ล้านเหรียณสหรัฐ (ประมาณ 1.76 หมื่นล้านบาท) ถึงแม้ภาพรวมกำไรจะได้รับผลกระทบจากการเพิ่มการลงทุนในการคิดค้นและพัฒนา แต่กลับมียอดขายที่เพิ่มขึ้น 55% จากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2558 จากการเติบโตของธุรกิจกลุ่มอินโฟเทนเมนต์ในรถยนต์ ซึ่งแอลจีเชื่อมั่นว่าภาพรวมของธุรกิจนี้ของแอลจีจะสดใส และกลุ่มผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์จะสามารถเติบโตได้ดี รวมถึงสามารถขยายออกไปสู่ตลาดทั่วโลกได้อย่างแน่นอน

ข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559  

รายได้ที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบด้านบัญชีประจำไตรมาสของแอลจี อีเลคทรอนิคส์เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ IFRS (International Financial Reporting Standards) สำหรับช่วงเวลาสามเดือน สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2559 ทั้งนี้ อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐจะเท่ากับอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยของสามเดือนในไตรมาสเดียวกัน โดยอัตราแลกเปลี่ยน ณ ไตรมาสที่ 1 ปี 2559 อยู่ที่ 35.6 บาท ต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ (ตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของธนาคารแห่งประเทศไทย)