‘เซ็นทรัล’ ฟันดีลบิ๊กซีเวียดนาม-ซาโลร่า ฝ่าแนวรบค้าปลีกเอเชีย

ดีลซื้อกิจการ บิ๊กซี ที่ประกาศอย่างเป็นทางการ กำลังตามมาด้วย ซาโลร่า เว็บแฟชั่น ของกลุ่มเซ็นทรัล ถือเป็นแนวรบสำคัญของเซ็นทรัลกรุ๊ปในการบุกขยายธุรกิจค้าปลีก ทั้งในโลกออฟไลน์และออนไลน์ไปยังภูมิภาคเอเชีย      

แม้จะพลาดหวังจากการซื้อหุ้น “บิ๊กซี” ในประเทศไทย ไปให้กับ เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ของ “เสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี” ครอบครอง เพื่อเอื้อประโยชน์กับธุรกิจในเครือ และก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 2 ของไฮเปอร์มาร์เก็ตในไทย

แต่ในที่สุดกลุ่มเซ็นทรัลก็เฉือนเอาชนะบีเจซีในดีลการซื้อกิจการ “บิ๊กซี” ในประเทศเวียดนาม จากกลุ่มคาสิโน โดยควงคู่กับกลุ่มเหงียน คิม พันธมิตรค้าปลีกท้องถิ่นรายใหญ่ ด้วยมูลค่าการลงทุน 920 ล้านยูโร หรือประมาณ 36,800 ล้านบาท

บิ๊กซี เวียดนาม เปิดให้บริการมานาน 18 ปี มีทั้งสิ้น 43 สาขา แบ่งเป็น ไฮเปอร์มาร์เก็ต 33 สาขา คอนวีเนียนสโตร์ 10 สาขา และเป็นศูนย์การค้า 30 แห่ง โดยมียอดขายในปี 2558 ราว 586 ล้านยูโร หรือประมาณ 23,000 ล้านบาท

เท่ากับว่า นับจากนี้กลุ่มเซ็นทรัลนอกจากจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้น 25% ในบิ๊กซี ประเทศไทยแล้ว ยังเป็นเจ้าของบิ๊กซี ประเทศเวียดนามเพิ่มขึ้นอีกแห่ง ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งในแนวรบสำคัญของการบุกภูมิภาคเอเชีย

ทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด บอกในงานแถลงข่าวผลประกอบการ และทิศทางของกลุ่มเซ็นทรัล เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเวลานั้นกลุ่มเซ็นทรัลมีความสนใจซื้อกิจการบิ๊กซีในเวียดนาม แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะเข้าร่วมประมูลหรือไม่

ทศ บอกว่า ที่สนใจลงทุนในเวียดนาม เพราะเศรษฐกิจเติบโตเร็วมาก ถือเป็นอันดับต้นๆ ในกลุ่มเออีซี แต่การเข้าประมูลก็มีคู่แข่งจำนวนมาก ทั้งไทย ญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนามเองก็สนใจ โดยประเมินว่าหากกลุ่มเซ็นทรัลซื้อกิจการบิ๊กซี ประเทศเวียดนามได้ จะสร้างยอดขาย 2 หมื่นล้านบาท

ส่งผลให้ยอดรายได้ของกลุ่มเซ็นทรัลในประเทศเวียดนามเพิ่มขึ้นทันทีเป็นเท่าตัว จากยอดขายที่ทำได้ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2 หมื่นล้านบาท เพิ่มทันที 4 หมื่นล้านบาท ทศ ประเมิน

จริยา จิราธิวัฒน์ ผู้บริหารของกลุ่มเซ็นทรัล กล่าวเสริมว่า เวียดนามมีโอกาสในการเติบโตเยอะมากเพราะ GDP เติบโตขึ้นทุกปี และบิ๊กซียังเป็นห้างค้าปลีกอันดับ 2 ในเวียดนามรองจากห้างโลคอล คอปมาร์ท

การลงทุนในบิ๊กซี เวียดนาม ยังเป็น “จิ๊กซอว์” ชิ้นสำคัญ จะช่วยเสริมทัพการลงทุนในตลาดเอเชีย โดยคาดว่าจะส่งผลให้ยอดขายรวมของทั้งกลุ่ม เกินกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ คือมากกว่า 337,040 ล้านบาท (รวมทุกกลุ่มธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ)

นอกจากกลุ่มเซ็นทรัลจะยังคงถือหุ้น 25% ในบิ๊กซี ประเทศไทยแล้ว ยังเป็นเจ้าของบิ๊กซี ประเทศเวียดนาม ไฮเปอร์มาร์เก็ตที่กลุ่มเซ็นทรัลเพิ่งซื้อกิจการมา

สำหรับเส้นทางการลงทุนของกลุ่มเซ็นทรัล ในการบุกตลาดขยายตลาดเอเชียนั้น มีเวียดนามเป็นเป้าหมายสำคัญ โดยเป็นประเทศแรกที่กลุ่มเซ็นทรัลเข้าไปลงทุน ในปี 2556 เริ่มจากการเปิดร้าน Specialty Store  ของในเครือ คือ ร้านซูเปอร์สปอร์ต เข้ามาเปิดในเวียดนาม ด้วยพื้นที่กว่า 450 ตร.ม. ที่ห้างสรรพสินค้า Vincom Center Ba Trieu ห้างหรูอันดับหนึ่งของกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม รวมทั้งร้านคร็อคส์ (Crocs) และ ร้านนิวบาลานซ์ (New Balance)

จากนั้นในปีถัดมา คือในปี 2557 กลุ่มเซ็นทรัลยังได้ขยายการลงทุนด้วยการเปิดห้างสรรพสินค้าโรบินส์ขึ้น 2 สาขา คือ สาขาแรกได้แก่ สาขาฮานอย และสาขาโฮจิมินห์ ซิตี โดยมองว่าประชากรเวียดนามมีอยู่ถึง 90 ล้านคน มากกว่าไทย โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานที่ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายทางการตลาด ซึ่งมีกำลังซื้อสูง และมีสัดส่วนอยู่ถึง 60%

สาขาฮานอย เปิดเมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2557 ตั้งอยู่บนพื้นที่ 10,000 ตร.ม. บริเวณชั้นบี 1 ของโรยัล ซิตี เมืองฮานอย ซึ่งเป็นเมกะมอลล์ขนาดใหญ่และทันสมัยที่สุด ต่อมาในเดือนธันวาคม 57 ได้เปิดห้างสรรพสินค้าโรบินส์สาขาที่ 2 กรุงโฮจิมินห์ ซิตี มีพื้นที่ 12,000 ตร.ม. โดยทั้งงบลงทุนสองโครงการรวมกัน 130 ล้านบาท

ถัดมาปีเดียว กลุ่มเซ็นทรัลยังขยับการลงทุนในเวียดนามเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คราวนี้ร่วมลงทุนกับ “เหงียน คิม เทรดดิ้ง จอยท์ สต็อค คอมพานี” ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อันดับ 1 ของเวียดนาม โดยนำเพาเวอร์บายถือหุ้น 49%

ในการร่วมทุนครั้งนี้ กลุ่มเซ็นทรัลต้องการขยายกิจการค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของเพาเวอร์บายไปในประเทศเวียดนาม โดยผ่านสาขาของเหงียน คิม ที่มีเครือข่ายสาขาครอบคลุม ถึง 21 สาขาทั่วประเทศ

ด้วยความที่มีพันธมิตรท้องถิ่นรายใหญ่ในเวียดนาม อย่าง “เหงียน คิม” เอาชนะในการประมูลซื้อกิจการ บิ๊กซี เวียดนามมาได้ เฉือนเอาชนะคู่แข่ง โดยเฉพาะค่ายเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ หรือ บีเจซี บริษัทในเครือทีซีซี กรุ๊ป ของเสี่ยเจริญ ที่กำลังรุกหนักค้าปลีกทั้งในไทยและต่างประเทศ  โดยได้ลงชิงชัยในการซื้อหุ้นบิ๊กซี เวียดนาม

นอกจากการบุกขยายการลงทุนไปยังทวีปยุโรปแล้ว ที่กลุ่มเซ็นทรัลได้เปิดเกมรุกด้วยการซื้อกิจการห้างสรรพสินค้าชั้นนำในหลายประเทศ ส่วนตลาดในเอเชีย เป็นอีกหนึ่งในตลาดที่กลุ่มเซ็นทรัลได้ให้ความสำคัญ ซึ่งรูปแบบการลงทุนในเอเชียจะมุ่งเน้นขยายตลาดและฐานลูกค้าให้กับธุรกิจในเครือเซ็นทรัล ทั้งศูนย์การค้า และ Specialty Store โดยจะมีทั้งการลงทุนเอง และร่วมลงทุนกับพันธมิตรท้องถิ่นในประเทศต่างๆ  รวมถึงซื้อกิจการที่เซ็นทรัลนำมาใช้เพื่อเป็นอัตราเร่งในการลงทุนให้เห็นผลโดยเร็ว

1cen

ซาโลร่า ไทย-เวียดนาม เชื่อมสู่ค้าปลีกออนไลน์

นอกจากการขยายธุรกิจค้าปลีกในโลกออฟไลน์ต่อเนื่องแล้ว ในโลกออนไลน์เอง กลุ่มเซ็นทรัลก็มีความเคลื่อนไหวออกมาเป็นระยะ เพื่อรับมือกับการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่กำลังมีอิทธิพลต่อการช้อปของผู้บริโภคที่หันมาช้อปออนไลน์เพิ่มขึ้น

เริ่มด้วยการซื้อกิจการออฟฟิศเมท ธุรกิจค้าอุปกรณ์สำนักงาน ที่มีสาขาและออนไลน์ เพื่อนำประสบการณ์ของออฟฟิศเมท มาใช้ในการต่อยอดและปูทางไปสู่การค้าออนไลน์

จากนั้น ได้จัดการเปลี่ยนชื่อเป็น “ซีโอแอล” หรือ เซ็นทรัลออนไลน์ และได้นำบริษัทในเครือที่ทำธุรกิจออนไลน์ อย่าง ออฟฟิศเมท เซ็นทรัลออนไลน์ ร้านหนังสือบีทูเอส ธุรกิจพัฒนาแอปพลิเคชัน

เป้าหมายของ ซีโอแอล คือ การขยายธุรกิจ Market Place Website เพื่อรองรับธุรกิจออนไลน์ให้สมบูรณ์แบบและครบวงจรยิ่งขึ้น

โดยการขยายธุรกิจนั้น จะมีทั้งการควบรวมธุรกิจกับคู่ค้าพันธมิตร และการขยายไปสู่การเป็นเว็บไซต์ระดับภูมิภาคอาเซียน จะเป็นรูปธรรมชัดเจนในปี 2559 ที่ประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซียก่อน จากนั้นจะขยายไปประเทศอื่นๆ ในอนาคต และเพิ่มช่องทางจำหน่ายผ่านทางเว็บไซต์

นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับร่วมกับคู่ค้าและพันธมิตร ทำธุรกิจ Venture Capital โดยที่ผ่านมาการเจรจากับพันธมิตรธุรกิจแล้วประมาณ 6-7 ราย ที่จะมีการควบรวมกิจการในอนาคตอันใกล้

กระแสข่าวกลุ่มเซ็นทรัลได้เข้าซื้อกิจการ “ซาโลร่า (Zalora)” เว็บไซต์จำหน่ายสินค้าแฟชั่นในประเทศไทยและเวียดนาม จากบริษัท Rocket Internet ประเทศเยอรมัน ด้วยมูลค่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 350 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการในอีกไม่นาน จึงเป็นก้าวรุกในการขยายเข้าสู่การเป็นเว็บไซต์ระดับภูมิภาคอาเซียน ตามแผนที่ซีโอแอลวางไว้ตั้งแต่แรก

สำหรับบริษัท ร็อกเก็ต อินเทอร์เน็ต ที่ได้เข้ามาขยายธุรกิจในแถบเอเชียในปี 2555 ด้วยการเปิดสาขาซาโลร่า ใน 8 ประเทศ สาขาที่ทำรายได้สูงสุด คือ อินโดนีเซีย ตามด้วยสิงค์โปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนไทย เวียดนาม ฮ่องกง และไต้หวัน มีรายได้ใกล้เคียงกัน

ล่าสุด มีการยืนยันจากผู้บริหารซาโลร่าแล้ว่า ได้มีการขายกิจการในไทย และประเทศเวียดนามจริง แต่ยังไม่เปิดเผยผู้ซื้อ

ส่วนจริยา จิราธิวัฒน์ ผู้บริหารกลุ่มเซ็นทรัล บอกแต่เพียงสั้นๆ ว่า มั่นใจถึงดีลการซื้อกิจการซาโลร่า จะนำมาเสริมธุรกิจที่มีอยู่ และเป็นประโยชน์กับธุรกิจที่มีอยู่

การซื้อกิจการบิ๊กซี รวมถึง ซาโลร่า จึงเป็นเกมรุกในโลกค้าปลีกทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ที่ต้องทำคู่ขนานกันไป เพื่อขยายอาณาเขต เพิ่มฐานลูกค้า และส่งออกแบรนด์ค้าปลีก ของกลุ่มเซ็นทรัล ไปยังภูมิภาคเอเชีย ที่กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น