เพิ่ม "ค่า" Commodity ด้วยดีไซน์ "ต่าง"

ผลิตภัณฑ์กระดาษ พลาสติก หรือสเตนเลส จัดเป็นเพียงสินค้าประเภท “Commodity” ทำให้ผู้บริโภคไม่สนใจแบรนด์มากนัก เพราะแต่ละยี่ห้อดูแทบจะไม่แตกต่างกัน

จนกระทั่งนำ “การออกแบบ” มาไขก๊อก สร้างมูลค่าเพิ่มให้แบรนด์และเพิ่มรายได้ให้ธุรกิจ แหวกตลาดที่ดูเหมือนอิ่มตัวด้วย “ความแตกต่าง” เพื่อเจาะเข้า Segment ตลาดคนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโต พวกเขาเหล่านี้ชอบความสวยทันสมัยไม่น่าเบื่อ

ดังเช่น Double A ที่ผู้บริโภครับรู้จากโฆษณาว่าเป็นกระดาษคุณภาพสำหรับเครื่องถ่ายเอกสาร ทว่า Segment ตลาดกระดาษขาวขนาด A4 ไม่มีอะไรหวือหวา จนกระทั่ง Double A แตกไลน์เครื่องเขียน (Stationary) นำ “พลังแห่งการออกแบบ” มาเจาะกลุ่มตลาดวัยพรีทีน (ประถมศึกษา) ขึ้นไปและเพิ่มไลน์ Creative Product ไม่กี่ปีมานี้ ใส่ความแปลกใหม่เป็น กระป๋องอาหารและกล่องนมเมื่อปีที่แล้ว มาปีนี้หวานแหววเพิ่มขึ้นด้วยการ์ตูนรูปสัตว์ พิซซ่า ไอศกรีม จนลูกค้าสาวๆ และวัยรุ่นมุงกันซื้อกระดาษจดโน้ตที่ห่อหุ้มด้วยแพ็กเกจจิ้งน่ารักเหล่านี้เนืองแน่นบูธในงานแสดงสินค้าของขวัญและของใช้ในบ้าน (BIG+BIH) 2008

กรณีเจ้าของโรงงานผลิตเครื่องครัวพลาสติกเก่าแก่กว่า 30 ปี Pioneer ก็เช่นกัน เมื่อตลาดเดิมเติบโตไม่มาก ทว่านับวันจะแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น จึงนำการออกแบบมา “สร้างโอกาส” แตกหน่อธุรกิจใหม่เมื่อ 2 ปีก่อน เป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์พลาสติก Pioneer ที่ดีไซน์เก๋เหมือนของนอกแต่ราคาประหยัด ปีนี้ยังคงเกาะเทรนด์ด้วยสีเขียวตองอ่อนสุดแสนโมเดิร์น

ด้านเครื่องครัวตรานางนวล แบรนด์เก่าแก่ก็ไม่น้อยหน้า หลังจากออกสินค้าสเตนเลสมันวาวจนครบทุกไลน์ ก็หันมาผสมผสานดีไซน์อิตาเลียนด้วยการคลอดแบรนด์ใหม่ kolours by seagull เมื่อ 3 ปีที่แล้วโดยเน้นตลาดส่งออกมากกว่า ขณะเดียวกันสินค้าเครื่องครัวสเตนเลสหลักในประเทศก็ปรับมิติการออกแบบให้ทันยุคอย่างต่อเนื่อง เช่น ปีนี้ออกลวดลายการ์ตูนสีสันสดใส ยั่วใจคนรุ่นใหม่ รวมทั้งผู้ปกครองที่ซื้อของใช้ให้ลูกไปโรงเรียน เป็นต้น

การปรับตัวด้วย “ดีไซน์” จึงมีพลังทางการตลาดเกินคาดคิด ช่วยทุ่นแรงในการสร้างคุณค่าสินค้า เพิ่มลูกค้าใหม่และยอดขาย แทนที่จะหลับหูหลับตาแข่งกันแต่ในตลาดเดิมๆ โดยเฉพาะในยุคเศรษฐกิจตกต่ำยามนี้