อย.ฟัน Lazada ห้ามขายยาผ่านเว็บ

MGR Online – อย. เผยไล่ตรวจลาซาด้า พบขายผลิตภัณฑ์ยา 8 ยี่ห้อ ชี้ ขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ระบุ โฆษณาก็จะต้องขออนุญาตก่อน ยาอันตรายไม่สามารถโฆษณาได้ เตือนผู้บริโภคอย่าซื้อยาจากเว็บไซต์ เพราะเสี่ยงอันตราย ทั้งอาจได้รับยาปลอม ยาไม่มีคุณภาพ และผลข้างเคียงจากยา

วันนี้ (11 พ.ค.) เฟซบุ๊ก Fda Thai โดยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เผยแพร่ข้อมูล ระบุว่า ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และในฐานะโฆษก อย. เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคขอให้ตรวจสอบการโฆษณาขายยาทางเว็บไซต์ www.lazada.co.th พบมีการขายยาและโฆษณา Benzac 5% ละลายหัวสิวเสี้ยน สิวหัวดำ สิวหัวขาว 60 mg., Differin + Benzac 2.5% และผลิตภัณฑ์ยาอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก นั้น เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2559 อย. จึงได้ตรวจสอบ www.lazada.co.th พบการโฆษณาผลิตภัณฑ์ยา จำนวน 8 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1) สกินอเรน 2) ฮีรูดอยด์ 3) แบลคมอร์ส ไบโอ ซี 4) เบนแซค เอซี 5 5) ดิฟเฟอริน 6) เรติน-เอ 7) ไทเกอร์ บาล์ม 8) คลีน แอนด์ แคร์ โดยทั้ง 8 ผลิตภัณฑ์ได้ปรากฏภาพผลิตภัณฑ์และช่องทางการติดต่อเพิ่มเติม ถือเป็นการโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต แสดงสรรพคุณยาอันตราย หรือ ยาควบคุมพิเศษ และโฆษณาขายยาโดยวิธีแถมพก ทั้งนี้ ผู้โฆษณาและผู้รับอนุญาตซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ต้องได้รับโทษเช่นเดียวกัน โดย อย. ได้มีหนังสือแจ้งระงับและเปรียบเทียบปรับกับผู้กระทำผิดทุกรายแล้ว

นอกจากนี้ อย. ยังได้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับโฆษณาและขายผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านทาง Social media เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 – 31 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา พบว่ามีการโฆษณาและขายผลิตภัณฑ์สุขภาพ จำนวน 174 เรื่อง จัดเป็นผลิตภัณฑ์ยา 35 เรื่อง ซึ่งมีการดำเนินการแล้วทุกเรื่อง เช่น ทำหนังสือแจ้งปิดเว็บไซต์ไปที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เฉพาะรายที่เข้าข่ายความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ม.14 (1) และ ม.20 แจ้งระงับโฆษณาและเปรียบเทียบปรับ รวมถึงส่งเรื่องให้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เพื่อสืบหาผู้กระทำผิด เพื่อขยายผลไปยังแหล่งผลิตและจำหน่ายต่อไปด้วย

รองเลขาธิการ อย. กล่าวต่อไปว่า ยาถือเป็นสินค้าที่ไม่ใช่สินค้าทั่วไป ไม่อนุญาตให้ขายในเว็บไซต์ หรือนอกสถานที่ขายยาได้ โดยผู้ที่จะขายยาต้องมีใบอนุญาต ต้องจำหน่ายโดยเภสัชกรเท่านั้น และหากต้องการโฆษณาขายยาต้องได้รับอนุญาตก่อน ซึ่งกฎหมายยังกำหนดประเภทของยาไว้ชัดเจน เช่น ห้ามโฆษณาขายยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ การขายยาควบคุมพิเศษต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ ยกเว้นเฉพาะการขายยาสามัญประจำบ้านเท่านั้น ที่ไม่ต้องมีใบอนุญาตขายยา ซึ่งการกระทำผิดจากการขายยา มีหลายกรณี เช่น ขายยา แผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท เป็นต้น ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการขายยาในสถานประกอบการที่ได้รับการอนุญาต เพื่อให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองความปลอดภัย จึงต้องมีเภสัชกรประจำร้าน ในการซักถามประวัติ การแพ้ยา เป็นต้น จึงขอเตือนประชาชนว่า ยามีทั้งคุณและโทษ ไม่ควรซื้อยาตามอินเทอร์เน็ต หรือทางเว็บไซต์ต่าง ๆ เพราะเสี่ยงทั้งได้รับยาปลอม ยาไม่มีคุณภาพ หรือได้รับผลข้างเคียงจากยา จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ที่มา: http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9590000047538