ศึกวินมอเตอร์ไซค์ VS แกร็บไบค์ ใคร “วิน”

เมื่อตอนที่ Uber เปิดตัวUberMOTOบริการเรียกรถจักรยานยนต์ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์  2559 ตามหลัง GrabBike ที่เปิดให้บริการมาก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนสิงหาคม 2558  มาติดๆ โดยที่ไทยเป็นประเทศแรกที่มีบริการ UberMOTO เชื่อว่าตลาดการแข่งขันการเรียกรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชันน่าจะมีความดุเดือดเพิ่มขึ้นมาเป็นทวีคูณ

เพราะราคาที่ UberMOTO เปิดตัวมา เริ่มต้นที่ 10 บาท +ระยะทางกิโลเมตรละ 3.50 บาท + 85 สตางค์ต่อนาที ในขณะที่ราคาเริ่มต้นของ GrabBike ตอนเปิดตัวใหม่ๆ เริ่มที่กิโลเมตรแรก 35 บาท กิโลเมตรต่อไป 1.1-10 กิโลเมตรละ 12 บาท และ 10.1 กิโลเมตร กิโลเมตรละ 15 บาท

ปรากฏว่า จากนั้นเป็นต้นมา GrabBikeได้ทำโปรโมชันให้ส่วนลดออกมาเป็นระลอก ทั้งให้นั่งฟรี ตั้งแต่ 50 บาท จนถึง 100 บาท รวมทั้งได้ลดราคาลงมาเหลือ เริ่มต้นที่ 25 บาท และกิโลเมตรที่ 1.1 -4.9 กิโลเมตรละ 10 บาท และตั้งแต่กิโลเมตรที่ 5 ขึ้นไปคิด 15 บาทต่อนาที จนล่าสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แกร็บไบค์ได้หั่นราคา 50% เริ่มต้นที่ 10 บาท และคิดเพิ่ม 5 บาทต่อกิโลเมตร

แต่ในความเป็นจริงการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้นกลับเป็นการแข่งขันระหว่างระบบวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างประจำสถานที่ต่างๆ ที่ไม่พอใจกับเหล่าบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน เพราะมีราคาถูกกว่า และสะดวกกว่า

หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่สร้างให้เกิดกระแสดังกล่าวคงหนีไม่พ้นหนุ่มสถาปัตย์ที่เรียกใช้บริการGrabBikeแล้วปรากฏวินมอเตอร์ไซค์เจ้าถิ่นยึดกุญแจคนขับGrabBikeไปถือครองไว้ เพื่อไม่ให้ผู้โดยสารสามารถใช้บริการได้ ตามคลิปที่ได้เผยแพร่ไว้ก่อนหน้านี้

แต่เรื่องราวกลับจบลงตรงที่วินมอเตอร์ไซค์คนดังกล่าวถูกตักเตือนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และพนักงานขับGrabBikeถูกปรับ4,000บาท ในข้อหานำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการทั้งที่ไม่มีใบขับขี่สาธารณะ และไม่ได้แต่งกายตามกฎกระทรวง แต่สิ่งที่ตามมาคือคำถามจากสังคมกับการให้บริการของวินฯ ที่มีการข่มขู่ผู้โดยสารอย่างชัดเจน แม้จะมีการจัดระเบียบใหม่แล้วก็ตาม

โดยทางกรมการขนส่งทางบกได้มีการออกมาแนะนำให้ประชาชนเลือกใช้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะที่ถูกกฎหมาย โดยสังเกตได้จากการจดทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์ป้ายเหลือง มีใบอนุญาตขับขี่สาธารณะ ข้อมูลคนขับ เสื้อวิน บัตรประจำตัว และรถต้องถูกต้องตรงกัน ให้บริการเฉพาะในเส้นทางหรือท้องที่ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น และที่สำคัญคือต้องมีการติดตั้งป้ายแสดงอัตราค่าโดยสารอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม หลังเหตุการ์ดังกล่าว ทั้งGrabBikeและUberMOTOกลับยังมีการทำโปรโมชันออกมาเชิญชวนลูกค้าใช้งานอย่างต่อเนื่องชนิดที่ไม่สนกรมขนส่งฯ เลยก็ว่าได้

โดย GrabBike ได้ออกโปรโมชันให้ผู้โดยสารเรียกใช้บริการครั้งละไม่เกิน 5 บาท ภายในระยะทางไม่เกิน 13 กิโลเมตร โดยเน้นใจกลางเมือง เช่น อนุสาวรีย์ สีลม สาทร เอกมัย อโศก หรือให้ส่วนลด 100 บาท เมื่อโดยสารเกินระยะ 13 กิโลเมตร ในช่วงวันที่ 11-17.. ที่ผ่านมา

ส่วนUberMOTOก็มองจุดการเรียกใช้งานในเส้นพหลโยธินตั้งแต่แยกพหลโยธินจนยาวไปจนถึงแยกเกษตร ฟรี 5ครั้งจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม2559ในอัตราค่าโดยสารที่ไม่เกิน100บาท โดยสามารถเรียกออกจากโซนดังกล่าว หรือเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าวได้ ถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานสามารถเดินทางมายังรถไฟฟ้าได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

โดย3เหตุผลหลักที่ทำให้ผู้ใช้งานยังคงเลือกที่จะใช้บริการGrabBikeรวมถึงUberMOTO เป็นเรื่องของความสะดวก ที่สามารถเรียกรถได้ทุกที่ ทุกเวลา ถัดมาคือเรื่องของราคาที่เป็นมาตรฐานชัดเจนตามระยะทาง (ไม่นับรวมโปรโมชันที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง) สุดท้ายคือในแง่ของความปลอดภัย เพราะในการเรียกใช้บริการจะมีการเก็บข้อมูลของทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ ก็สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้

ประเด็นที่ใหญ่ที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องของราคาในการเรียกใช้บริการ เพราะบางกรณีในช่วงเวลาเร่งด่วนวินมอเตอร์ไซค์บางจุดจะมีการเรียกเก็บราคาเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว แม้ว่าจะมีการเปิดช่องทางให้ประชาชนร้องเรียนเรื่องค่าโดยสารได้ แต่เชื่อว่าผู้ใช้บริการส่วนใหญ่จะมองว่าเสียเวลา ทำไมไม่เริ่มจากการกำหนดราคาให้เป็นมาตรฐานและชัดเจน จนไม่ต้องมีการร้องเรียนเลยดีกว่า

ทั้งนี้ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิ์พลเมือง (TCIJ) ได้ลงพื้นที่สำรวจ เปรียบเทียบค่าโดยสาร ระหว่าง แอปพลิเคชันเรียกรถ และวินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งค่าบริการของวินมอเตอร์ไซค์นั้นราคาต่างกันครึ่งต่อครึ่ง  เช่น หากเรียกจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวท่าพระอาทิตย์ ไปยังสถานีรถไฟหัวลำโพง หากเรียกผ่านแอปคิดราคา 40 บาท ส่วนวินมอเตอร์ไซค์คิดราคา 100 บาท

โดย TCIJ ระบุว่า สาเหตุสำคัญที่ค่าบริหารต่างกันขนาดนี้ มาจากค่า “เสื้อวิน” มีราคาตัวละ 2 หมื่นบาทถึง 5แสนบาท ในพื้นที่อย่างรถไฟฟ้า หรือที่รถสาธารณะเข้าไม่ถึง

ในขณะที่ GrapBike นั้นไม่มีระบบเสื้อวิน รายได้จะถูกหักให้ระบบ 15% ของรายได้ต่อวัน และประกันรายได้ให้ผู้ขับขี่ 60 บาท จึงเป็นแรงจูงใจที่ทำให้ผู้ขับขี่เปลี่ยนจากเสื้อวินหันมาอยู่ภายใต้ระบบของแอปพลิเคชันแทน

แน่นอนว่าเรื่องดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในการให้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างเพียงอย่างเดียว เพราะเรื่องราวเหล่านี้เคยเกิดขึ้นในสมัยที่ GrabTaxiเริ่มให้บริการมาก่อนแล้ว ในกรณีที่แท็กซี่ไม่เปิดมิเตอร์ หรือเรียกแล้วไม่ไปGrabก็เข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยเรื่องของราคาที่ชัดเจน ประกอบกับพนักงานสามารถรู้จุดหมายปลายทางได้ก่อนกดรับ จึงไม่เกิดการปฏิเสธการใช้บริการเช่นเดียวกัน

ทำให้สุดท้ายแล้วผู้ให้บริการแท็กซี่บางส่วนก็สมัครเข้าร่วมให้บริการกับทางGrabโดยจากการสอบถามหลายๆ ครั้งพบว่า ผู้ขับส่วนใหญ่พึงพอใจในการให้บริการไม่ต้องเสียเวลาขับรถหาผู้โดยสารในบางช่วงเวลา สร้างรายได้เฉลี่ยในแต่ละเดือนเพิ่มขึ้น เพียงแต่บางทีจะประสบปัญหาเรื่องการแจ้งโปรโมชันระหว่างทางGrabกับพนักงานขับไม่ชัดเจน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดกับผู้โดยสารได้

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในกลุ่มแอปพลิเคชันเรียกรถโดยสารในปัจจุบัน ไม่ได้เน้นเพียงด้านของราคาในการให้บริการเพียงอย่างเดียวแล้ว เพราะความเคลื่อนไหวล่าสุดของทั้งGrabและUberคือการร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับค่ายมือถืออย่างดีแทค และทรูมูฟเอชในการให้บริการWiFiภายในรถยนต์

โดยทางทรูมูฟเอชจะจับมือกับทางGrabที่จะมีสติกเกอร์ 4G WiFi in Carติดอยู่บนหน้ารถที่ให้บริการ ขณะเดียวกันยังเปิดโอกาสให้ผู้ขับขี่ที่มีใบอนุญาตขับแท็กซี่สาธารณะสามารถเปิดใช้บริการเลขหมายรายเดือนในราคาพิเศษได้ พร้อมรับอุปกรณ์ True 4G Car WiFIกับสมาร์ทโฟนมาใช้งานได้ทันที

ขณะที่ทางUberก็มีความร่วมมือกับทางดีแทค ที่เพิ่มเติมจากเดิมคือให้ลูกค้าดีแทคBlueMemberโดยสารรถไปกลับสนามบินฟรี 2 เที่ยวต่อปีแล้ว ก็เพิ่มโอกาสให้ลูกค้าสามารถใช้งานไวไฟฟรีบนรถโดยสารของUber XและUber Blackที่มีกว่า200คัน ฟรีตลอดการเดินทาง ในแคมเปญ ‘dtac Super 4G Free Wi-Fi’ นอกจากนี้ ก็ยังมีโปรโมชันพิเศษให้แก่พนักงานชับรถได้รับส่วนลดเพิ่มเติม ก็ถือเป็นอีกทิศทางการแข่งขันที่เกิดขึ้นในบริการแอปเรียกรถ

***แนะรัฐแก้กฎหมายให้ทันบริการรูปแบบใหม่ๆ

ทางด้านอูเบอร์เสนอว่า จากประสบการณ์เข้าไปให้บริการในหลายๆ ประเทศ จะเน้นไปที่การเข้าหาหน่วยงานรัฐทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ข้อมูลถึงรูปแบบธุรกิจที่อูเบอร์ให้บริการ เพื่อให้มีการพัฒนากฎหมายให้เหมาะสมกับบริการร่วมเดินทาง (Ride Sharing) ที่ถือเป็นธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการมาของเทคโนโลยี แน่นอนว่าที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้เปิดให้มีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง

พร้อมกันนี้ได้ยกตัวอย่างว่ามีหลายประเทศที่ปัจจุบันอูเบอร์ได้เข้าไปให้บริการภายใต้กฎหมายแล้ว ที่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุดก็คือฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ ที่มีความร่วมมือในการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยอูเบอร์ใช้ระยะเวลาเกือบ2ปีในการร่วมผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทางภาครัฐในฟิลิปปินส์ สำหรับในไทยก็จะอยู่ในขั้นตอนการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ เหตุผลหลักที่อูเบอร์มองว่าการร่วมเดินทางเป็นประโยชน์แก่ทั้งสังคมและผู้บริโภค อย่างแรกเลยคือการลดปริมาณรถบนท้องถนนที่จะมีปริมาณน้อยลง ถ้าประชาชนมีตัวเลือกมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจำนวนรถรับจ้างสาธารณะที่ไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร หรือการที่ประชาชนนำรถมาร่วมเดินทาง ไปในสถานที่หรือจุดหมายปลายทางที่ใกล้เคียงกัน

อย่างเช่นในประเทศสิงคโปร์ เมื่อการให้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันถูกต้องตามกฎหมาย มีบริการที่มีคุณภาพ ทางอูเบอร์ได้มีการสำรวจพบว่ามีประชาชนส่วนหนึ่งเลือกที่จะเรียกใช้งานรถผ่านแอปแทนการขับรถไปยังสถานที่ต่างๆ อาจจะเนื่องจากเรื่องของการใช้ถนนของสิงคโปร์ที่มีการเก็บภาษี และค่าผ่านทางเพื่อควบคุมปริมาณรถอยู่แล้ว แต่สุดท้ายก็ชี้ให้เห็นว่าแนวทางดังกล่าวสามารถทำได้

เมื่อเห็นถึงการแข่งขันที่มีมากยิ่งขึ้น กับคุณภาพและบริการที่สามารถควบคุมได้ สุดท้ายแล้วถ้าหน่วยงานรัฐนำบริการเหล่านี้เข้าสู่ระบบ พร้อมกับเปิดโอกาสให้วินฯ ที่ทำมาหากินแบบสุจริตเข้าร่วมด้วย ประโยชน์ในการใช้บริการรถสาธารณะทั้งหลายก็จะตกอยู่กับผู้บริโภคอย่างแน่นอน

1grabbike

ขนส่งฯ สั่งฟัน GrabBike-Uber MOTO ยุติให้บริการ

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด หลังจากกรมการขนส่งทางบกได้ประชุมร่วมกับทหารกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองบัญชาการตำรวจนครบาลและฝ่ายเทศกิจเขตปทุมวัน รวมทั้งผู้บริหารของ GrabBike และ Uber MOTO มีคำสั่งให้ Uber MOTO  และ GrabBike ยุติการให้บริการทันที หากยังฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายให้ถูกต้อง จะดำเนินการตามระเบียบของ คสช. ต่อไป

เนื่องจากบริการของทั้งสอง สร้างความไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรมต่อรถจักรยานยนต์สาธารณะ ซึ่งกำลังเข้าสู่การจัดระเบียบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. จึงก่อให้เกิดความแตกแยก ก่อให้เกิดความไม่สงบในสังคม

นอกจากนี้ ตาม พ.ร.บ.ขนส่งระบุว่า รถจักรยานยนต์ที่นำมารับส่งผู้โดยสารได้ ต้องจดทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะ และต้องมีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ และต้องใช้เสื้อวินที่แสดงบัตรประจำตัวและหมายเลขประจำตัวเท่านั้น

กรมขนส่งทางบก จะร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ  และเจ้าหน้าที่เทศกิจกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจสอบการให้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างผิดกฎหมายผ่านแอปพลิเคชันต่อเนื่อง

หากตรวจสอบพบจะต้องถูกเปรียบเทียบปรับสูงสุดทุกราย รวมทั้งนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาใช้รับ-ส่งผู้โดยสาร พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522  โดยปรับไม่เกิน 2,000 บาท และแต่งกายไม่ถูกต้อง ปรับไม่เกิน 1,000 บาท และไม่แสดงใบอนุญาตขับรถสาธารณะปรับไม่เกิน 1,000 บาท รวมเป็นเงิน 4,000 บาท

โดยที่ผ่านมาพบการฝ่าฝืนและสามารถจับกุมได้แล้วทั้งสิ้น 66 ราย แบ่งเป็น Grab Bike 37 ราย Uber Moto 29 ราย หากพบความผิดซ้ำจะพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถต่อไป

จะว่าไปแล้ว Grab Bike และ Uber เองก็ต้องเจอแรงต่อต้านจากผู้ให้บริการเดิมมาแล้วในหลายประเทศ ส่วนในไทยนั้นจะต้อง “ยุติ” บริการลงถาวร หรือแค่ชั่วคราวเมื่อเจอมาตรการของรัฐเข้า ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าทั้งคู่จะหาทางออกกับเรื่องนี้กันอย่างไร เพราะกระแสการตอบรับของผู้ใช้บริการก็เป็นสิ่งที่รัฐมองข้ามไม่ได้เช่นกัน