เชียงราย ยูไนเต็ด ได้เวลาสร้างแบรนด์

ด้วยความนิยมในกีฬาฟุตบอลที่เป็นเทรนด์มาแรงต่อเนื่อง ไม่ใช่ผู้ชายเท่านั้นที่นิยม แต่ผู้หญิงก็หันมาดูบอลมากขึ้น ได้เวลาที่ “เชียงราย ยูไนเต็ด” ต้องลงมือปรับภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ หลังจากที่ก่อตั้งสโมสรมา 8 ปี

1_chenrai

มิตติ ติยะไพรัช ประธานสโมสร เชียงราย ยูไนเต็ด เปิดเผยว่า องค์ประกอบในการทำสโมสรฟุตบอลมีทั้งหมด 4 อย่างด้วยกัน 1.ทีมนักเตะชุดใหญ่ 2.โครงสร้างการบริหารบัญชี 3.Academy ในการปั้นนักฟุตบอลรุ่นใหม่ และ 4.การตลาด ทางสโมสรมีทั้ง 3 อย่างแรกครบแล้ว แต่ยังขาดเรื่องการตลาด

จึงเป็นที่มาของการให้ บริษัท จาร์เค็น ซึ่งทำงานดีไซน์และออกแบบสถาปัตยกรรมทั้งภายในและภายนอก ขยับสู่ธุรกิจเป็นที่ปรึกษาด้านการตลาด 3-4 ปี ในหลายธุรกิจทั้งแฟชั่น อสังหาริมทรัพย์ รีเทล การปรับภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ให้กับสโมสร “เชียงราย ยูไนเต็ด” ธุรกิจ “กีฬา” จึงเป็นการให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจกีฬาเป็นครั้งแรก โดยเริ่มมาตั้งแต่ต้นปี

2_chenrai

ดร.กุลเดช สินธวณรงค์ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จาร์เค็น จำกัด มองว่าไม่แตกต่างจากธุรกิจอื่นๆ เพราะอยู่ที่การบริหารคอนเทนต์ ซึ่งจุดแข็งของสโมสร เชียงราย ยูไนเต็ด ก็คือมีคอนเทนต์ที่แข็งแรง ทั้งเป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ มีสนามบิน เป็นเมืองท่องเที่ยวโดยที่ไม่ต้องปั้นอะไรมาก ขาดเพียงแต่การจัดการเท่านั้น

โจทย์ใหญ่สำคัญในการ “ยกเครื่อง” ครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ให้ภาพลักษณ์ดูทันสมัยขึ้น แต่ต้องการปั้นให้เป็นอีกหนึ่ง Destination ของจังหวัดเชียงราย โดยเบื้องต้น 3 เฟส ภายใน 3 ปีได้วางไว้

เฟส 1 เริ่มจากการปรับ identity ชื่อแบรนด์ และโลโก้จาก CRUTD เป็น CR เพื่อให้ทันสมัย และเข้าใจง่าย

เฟสที่ 2 ปรับปรุงสินค้าเมอร์เชนไดร์ส ด้วยการให้ออกแบบสินค้าที่ระลึกใหม่ และเปิดช็อปที่สยามสแควร์ เพื่อสร้างการรับรู้กับคนรุ่นใหม่ และสร้างแฟนๆ ทั่วประเทศ โดยจะใช้เงินลงทุน 10 ล้านบาท

เฟสที่ 3 รีโนเวทสนามยูไนเต็ด สเตเดี้ยมให้เป็นเดสติเนชั่น มีดีไซน์ใหม่ และระบบจัดการใหม่ เพิ่มพื้นที่ความจุเป็น 22,000 คน จากเดิม 15,000 คน รวมทั้งการสร้างโรงแรมเพิ่มเติมด้วย

นอกจากนั้นยังได้เปิด Mega Store ร้านขายสินค้าของที่ระลึก ที่จะเปิดสาขาที่สยามสแควร์ ใช้งบลงทุน 10 ล้านบาท เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้

แผนการดำเนินงานทั้ง 3 เฟสนี้ เบื้องต้นใช้งบลงทุนทั้งโปรเจค 400-450 ล้านบาท แบ่งเป็น การจัดการ 70% และประชาสัมพันธ์ 30%

“ก่อนหน้านี้สโมสรไม่ได้มีการทำตลาดมาก่อน เราต้องการให้ยูไนเต็ด สเตเดี้ยมเป็นเดสติเนชั่นเหมือนอย่างสนามแอนฟิลด์ที่คนไม่ได้ชอบฟุตบอลก็สามารถไปเยือนได้ และสร้างคอมมูนิตี้ขึ้นมาให้มากกว่าสนามฟุตบอล “ ดร.กุลเดช บอกถึงเป้าหมาย

3_chenrai

ที่ผ่านมา เชียงราย ยูไนเต็ดมีแฟนบอลผู้ติดตามราว 5 ล้านคน มาจากจำนวนประชากรจังหวัดเชียงรายราว 1.2 ล้านคน และประชากรจากภาคเหนือตอนบน มีอายุเฉลี่ย 15-40 ปี ซึ่งหลังจากที่รีแบรนด์ให้ทันสมัยแล้ว คาดว่าจะเพิ่มฐานแฟนบอลอีกเท่าตัว และเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น

นอกจากนี้ คาดว่าจะมีภายใน 3 ปี หลังจากรีแบรนด์ จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าตัว และมีสัดส่วนรายได้จากสินค้าของที่ระลึก และค่าตั๋วเพิ่มเป็น 40% จากปัจจุบันสโมสรเชียงราย ยูไนเต็ดมีรายได้ 80 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็น 80% รายได้จากสปอนเซอร์ และลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด 15% จากสินค้าของที่ระลึก และ 5% จากค่าตั๋ว

4_chenrainew