LinkedIn ค่าตัวแพง? ทำไมไมโครซอฟท์ยอมจ่าย 2.6 หมื่นล.ดอลล์

ได้รับการยกให้เป็นหนึ่งในดีลซื้อกิจการเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของปีนี้ สำหรับไมโครซอฟท์ (Microsoft) ที่ประกาศซื้อเครือข่ายสังคมคนทำงาน ‘ลิงค์อิน’ (LinkedIn) ในราคา 26,000 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9.1 แสนล้านบาท

ตัวเลขนี้ถือเป็นเรื่องเข้าใจได้สำหรับใครที่เป็นมืออาชีพผู้ใช้งาน LinkedIn อย่างจริงจัง แต่ในมุมมองของมืออาชีพที่ไม่ได้คลุกคลีกับ LinkedIn เท่าไร อาจจะต้องทึ่งหากได้รู้เหตุผลที่ทำให้ LinkedIn เป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสูงจนทำให้ไมโครซอฟท์ยอมจ่ายเงินมหาศาลเพื่อให้ได้มาครอบครอง

นักวิเคราะห์มองว่า LinkedIn อาจไม่ใช่บริษัทที่โดดเด่นเท่าไรในสายตาของคนอื่น แต่สำหรับไมโครซอฟท์ การที่ LinkedIn เป็นธุรกิจที่รุ่งเรืองจากการช่วยให้คนทำงานสามารถค้นหางานที่ต้องการ พร้อมกับการช่วยให้บริษัทสามารถหาบุคคลากรที่ต้องการได้นั้น ถือเป็นความสามารถชั้นยอดที่จะสานต่อธุรกิจของไมโครซอฟท์ในระยะยาวได้

ยกระดับคอนกรีตเสริมเหล็ก

ไม่ใช่แค่เสริมใยเหล็ก แต่การซื้อ LinkedIn ถูกมองว่าเป็นการยกระดับธุรกิจของไมโครซอฟท์แบบเสริมคอนกรีตโดยที่ผู้บริโภค ส่วนใหญ่ไม่ทันสังเกต ที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ก่อร่างสร้างตัวจนยิ่งใหญ่บนธุรกิจซอฟต์แวร์บนคอมพิวเตอร์พีซี ก่อนจะเริ่มฝืดและล้มเหลวบนโลกที่ธุรกิจต่างหันเข้าสู่จักรวาลโมบาย

ภายใต้การนำของซีอีโอเลือดใหม่ ‘สัตยา นาเดลลา’ (Satya Nadella) ไมโครซอฟท์กลายเป็นบริษัทที่ให้บริการแก่ลูกค้ากลุ่มธุรกิจแบบออนไลน์อย่าง จริงจัง นโยบายนี้เองที่มีผลสำคัญทำให้ไมโครซอฟท์ยอมเสียเงินเท่าใดก็ได้เพื่อดึง LinkedIn ให้มาอยู่ร่วมชายคา ซึ่งผลที่สุดแล้ว ไมโครซอฟท์จะมีฐานลูกค้ากลุ่มธุรกิจที่แน่นขึ้นไปอีก

ถามว่าทำไมไมโครซอฟท์จึงมั่นใจเช่นนั้น เรื่องนี้ตอบได้ไม่ยากเพราะซีอีโอไมโครซอฟท์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าววอลล์สตรีท (The Wall Street Journal) ว่า LinkedIn คือเครือข่ายที่รวมทั้ง professional cloud และ professional network แบบเบ็ดเสร็จ เรียกว่าเป็นระบบให้บริการเหล่าโปรเฟสชันนอลออนไลน์ที่เข้าถึงกลุ่มคนที่ เป็นโปรฯได้อย่างแท้จริง

หลายปีที่ผ่านมา คนทำงานนิยมใช้ LinkedIn ในการนำเสนอประวัติการทำงานของตัวเอง ข้อมูลที่ชาว LinkedIn ส่วนใหญ่เผยแพร่คือรูปถ่ายอย่างเป็นทางการของตัวเอง คำบรรยายสั้นแนะนำตัวเอง ผลงานและประสบการณ์การทำงาน ความเป็นเว็บไซต์แหล่งแสดงประวัติการทำงานหรือ Resume นี้ทำให้ LinkedIn เป็นศูนย์หาตำแหน่งงานทั้งในสายตาคนทำงานและบริษัททั่วโลก ขณะเดียวกันก็ยังเป็นแหล่งข้อมูล และเครือข่ายอีกมากมายที่สามารถต่อยอดธุรกิจไปทั่วโลก

วันนี้ นักศึกษาจบใหม่ล้วนหาโอกาสให้ตัวเองด้วยการใช้งาน LinkedIn ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของหลายบริษัทก็เฟ้นหาหัวกะทิให้องค์กรด้วย LinkedIn ขณะที่เจ้าของกิจการทั่วไปหรือผู้ทำงานอิสระล้วนเป็นสมาชิก LinkedIn หลายคนถึงกับบอกตัวเองว่านอกจากเฟซบุ๊ก (Facebook), ทวิตเตอร์ (Twitter) และกูเกิลพลัส (Google+) จะต้องไม่ลืมใช้งาน Linkedin ด้วย กระแสนี้ส่งให้จำนวนผู้ใช้ LinkedIn ขณะนี้เพิ่มขึ้นเป็น 433 ล้านคนทั่วโลก

ทั้งหมดนี้ทำให้ธุรกิจโฆษณาของ LinkedIn ดูมีอนาคตสดใส ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความพิเศษของ LinkedIn ที่สมาชิกส่วนใหญ่เป็นบุคคลทำงาน ผู้บริหารระดับกลางและสูง หลายล้านคนเป็นบุคลากรบริษัทระดับชาติหลายแห่ง ท่ามกลางกลุ่มเครือข่ายใน LinkedIn หลายล้านกลุ่ม ทุกอย่างเอื้อให้ LinkedIn เป็นแหล่งกระจายข่าวสาร ผลิตภัณฑ์ หรือบริการใหม่ที่ต้องการเข้าถึงบริษัทชั้นนำทั่วโลก

ในอดีต LinkedIn ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยนัก แต่ในวันนี้คนทำงานไทยหลายล้านคนใช้ภาษาอังกฤษบน LinkedIn แม้ว่า LinkedIn จะรองรับภาษาไทยแล้ว ขณะเดียวกัน LinkedIn ไม่ใช่ประตูสำหรับบุคคลที่คิดหางานทำในต่างประเทศเท่านั้น เพราะมีความเป็นไปได้ว่า LinkedIn จะปฏิวัติวงการจ้างงานของบริษัทในไทยด้วย

559000006751203

โลกใหม่วิถีจ้างงาน

ผู้บริโภคทั่วโลกใช้ซอฟต์แวร์สร้างเอกสารอย่างไมโครซอฟท์เวิร์ด (MS Word), ซอฟต์แวร์คำนวณเอ็กซ์เซล (Excel) ขณะเดียวกันก็ใช้ซอฟต์แวร์ปฏิทินนัดหมายและสื่อสารอย่างเอาท์ลุค (Outlook) และสไกป์ (Skype) แต่เมื่อพูดถึงเครือข่ายสังคม มือโปรทั่วโลกต่างไหลไปใช้เครือข่ายอย่าง Twitter และ LinkedIn ดังนั้นเมื่อไมโครซอฟท์สามารถผนึกรวม LinkedIn ได้ ทุกอย่างก็จะถูกผูกรวมกันเพื่อให้คนทำงานสะดวกสบายและประหยัดเวลามากขึ้น

ความสะดวกสบายนี้เองที่จะเป็นโลกใหม่ของวงการจ้างงาน แถมโลกใหม่นี้จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ด้วย โดยเฉพาะ 3 กรณีนี้

กรณีที่ 1 คือการประหยัดเวลาโทรศัพท์เพื่อเตรียมนัดหมายสัมภาษณ์งาน กรณีนี้เกิดขึ้นแน่นอนเพราะไมโครซอฟท์สามารถผูกรายชื่อผู้ติดต่อหรือคอนแทค ใน Outlook และ Skype เข้ากับ LinkedIn ทำให้มีโอกาสที่โลกการจ้างงานยุคหน้า คนที่ทำงานในฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทจะไม่ต้องพิมพ์ค้นหาโปรไฟล์ LinkedIn ของใครสักคนเพื่อนัดหมายสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์อย่างที่เคยเป็น

กรณี ที่ 2 คือการหางานหรือเครือข่ายเป้าหมายจะทำได้ง่ายขึ้น วันนี้ใครที่ต้องการหางานหรือมองหาเครือข่ายงานที่ต้องการจะต้องใช้ LinkedIn ในการระบุประเภทบริษัทที่สนใจ หรือบุคคลที่ทำงานในสายงานนั้น รวมถึงการประเมินว่ากลุ่มคนนี้อาจมี ‘possible connection’ หรือคนรู้จักที่อาจเปิดทางไปสู่เครือข่ายที่ต้องการ

แต่ต่อไปนี้ ไมโครซอฟท์อาจดึงระบบผู้ช่วยส่วนตัวคอร์ทานา (Cortana) ให้ผู้ใช้เอ่ยปากเพื่อค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้ Cortana ของไมโครซอฟท์อาจแสดงผลการค้นหาชื่อ ‘เพื่อนของเพื่อน’ ที่ทำงานฝ่าย HR ของบริษัทขายยาอย่างรวดเร็วเพียงเอ่ยประโยคว่า ‘Give me a list of Recruiters in the Pharma Sales Industry that are connected to one of my second connections.’

เท่ากับว่ามีโอกาสเป็นไปได้สูงที่การไล่อ่านประกาศหางาน และตรวจดูรายการทักษะที่ต้องการนั้น กำลังจะถึงยุคอวสาน

กรณี ที่ 3 คือโปรไฟล์ของเหล่าโปรเฟสชันนอลจะถูกเผยแพร่ไปทุกที่ กรณีนี้เกิดขึ้นแน่นอนเมื่อไมโครซอฟท์ต้องการผนึกรายชื่อสมาชิกผู้ใช้บริการ หลายแพลตฟอร์มของตัวเองเข้าเป็นหนึ่งเดียว

559000006751204

แพงไปไหม 2.6 หมื่นล้านเหรียญ

มูลค่า 26,200 ล้านเหรียญนั้นเทียบไม่ได้เลยกับที่ไมโครซอฟท์เคยซื้อหน่วยธุรกิจโทรศัพท์ เคลื่อนที่โนเกีย (Nokia) ด้วยมูลค่า 7,170 ล้านเหรียญ หรือการตกลงซื้อ Skype ด้วยมูลค่า 8,500 ล้านเหรียญ แถมมูลค่าของ LinkedIn ยังไปไกลกว่ากูเกิล (Google) ที่ซื้อหน่วยธุรกิจโทรศัพท์มือถือโมโตโรลา (Motorola Mobility) ด้วยมูลค่า 12,500 ล้านเหรียญ และ Facebook ที่ซื้อว็อตสแอป (WhatsApp) ในมูลค่า 19,700 ล้านเหรียญ

หากยกเรื่องราคาค่าตัวไว้ก่อน แล้วมองที่ศักยภาพของ LinkedIn ที่มีจำนวนผู้ใช้งานมากกว่า 100 ล้านคนต่อเดือน จะพบว่า LinkedIn มีรูปแบบธุรกิจที่น่าทึ่งซ่อนอยู่ ที่ผ่านมา LinkedIn สามารถเรียกเก็บเงินจากธุรกิจที่ลงประกาศโฆษณาหางาน และให้บริการรับสมัครงานอื่นๆจนทำเงินได้มากกว่า 2 ใน 3 ของรายได้รวม 3 พันล้านเหรียญสหรัฐที่ LinkedIn ทำได้ในปีที่แล้ว

ไม่พอ LinkedIn ยังสามารถทำเงินจากการขายบริการสมาชิกแบบพรีเมียมหรือ premium subscription แก่ผู้ใช้ LinkedIn ที่ต้องการมองหาโอกาสขายสินค้าแก่ชาว LinkedIn ที่สนใจในสินค้าหรือบริการนั้นจริง

เรื่องนี้ จักรพงษ์ คงมาลัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท มูนช็อท ดิจิทัล จำกัด เคยอธิบายไว้ว่าการยอมจ่ายค่าสมาชิกเดือนละ 30-100 เหรียญ จะทำให้ผู้ใช้รายนั้นได้รับประโยชน์อย่างเช่น ความสามารถส่งอีเมลหาคนที่ไม่ได้อยู่ใน Contact ของผู้นั้นได้โดยตรง ขณะเดียวกันยังสามารถคอยตรวจดูว่าใครมาดูโปรไฟล์ของเราบ้าง จุดนี้สมาชิกแบบปกติจะถูกจำกัด แต่สมาชิกที่อัปเกรดแล้วจะรู้ได้ทั้งหมดว่าใครเข้ามาชมโปรไฟล์

‘ข้อมูล นี้จะช่วยให้เรารู้ได้ว่าตอนนี้คนในแวดวงไหนที่อ่านและดูโปรไฟล์ของคุณบ้าง ส่วนตัวแล้วผมได้รับประโยชน์จากการ Upgrade Account หลายอย่างครับ ทำให้มีคนติดต่อเข้ามามากขึ้น และส่วนตัวก็ติดต่อชาวต่างประเทศในด้านเดียวกันได้ง่ายมากๆ แม้จะไม่มี Connection ระหว่างกัน’

ไม่ว่าแนวโน้มการสมัครบริการและธุรกิจในภาพรวมของ LinkedIn จะสวยงามเพียงไร แต่ไตรมาสที่ผ่านมา LinkedIn จำใจประกาศขาดทุน 46 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากใช้การคำนวณทางบัญชีที่ไม่รวมมูลค่าชดเชยหุ้นแก่พนักงาน LinkedIn ระบุว่าบริษัทมีกำไรมากกว่า 99 ล้านเหรียญสหรัฐ

กรณีของ LinkedIn ที่ไมโครซอฟท์ให้ราคา 26,200 ล้านเหรียญสหรัฐ นั้นคิดเป็นตัวเลขที่สูงกว่า 90 เท่าตัวเมื่อเทียบกับกำไร นักวิเคราะห์เชื่อว่า ไมโครซอฟท์ไม่มองพิษจากตลาดหุ้นที่ทำให้ LinkedIn มีมูลค่าตลาดลดลงมากกว่า 11,000 ล้านเหรียญหลังจากมูลค่าหุ้น LinkedIn ตกต่ำลงตลอดปี 2016 แต่กลับมองที่ศักยภาพที่ LinkedIn มีและโอกาสเติบโตในอนาคต

ทั้งหมดทั้งมวล แนวโน้มสำคัญที่นักวิเคราะห์มองจากดีลนี้ คือมูลค่าการซื้อกิจการเกิดใหม่หรือสตาร์ทอัปนั้นกำลังเพิ่มขึ้นทุกที เช่น อินสตาแกรม (Instagram) ที่ขายให้ Facebook นั้นมีราคาไม่ถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้นในปี 2012 หรือยูทูป (YouTube) ที่กูเกิลซื้อไปเพียง 1,650 ล้านเหรียญเมื่อปี 2006

ฉะนั้น การซื้อขายกิจการสตาร์ทอัปชื่อดังในอนาคต จะมีตัวเงินน่าตกใจมากกว่านี้แน่นอน

ที่มา: http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000065363