“ชาบูชิ” จัดทัพใหม่รอบ 16 ปี สู้ศึกชาบู

ตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นเรียกว่าเป็นอีกหนึ่งตลาดปราบเซียนในประเทศไทย เพราะด้วยความนิยมของอาหารญี่ปุ่นของคนไทย ทำให้ร้านอาหารญี่ปุ่นเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งข้อมูลล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2558 มีจำนวนร้านอาหารญีปุ่นทั่วประเทศถึง 2,346 ร้าน เป็นรองแค่อาหารไทยเท่านั้น และมีมูลค่าตลาด 23,500 ล้านบาท เติบโต 15%

ประเภทของร้านแบบ Alacarte หรืออาหารเป็นเซตยังคงเป็นกลุ่มใหญ่อยู่ ด้วยมูลค่า 11,000 ล้านบาท รองลงมาคือชาบู มีมูลค่า 4,300 ล้านบาท

ในกลุ่มของธุรกิจอาหารโออิชิก็มีหลายแบรนด์ที่เกือบครบทุกเซ็กเมนต์ในตลาดแล้ว ทั้งชาบูชิ, โออิชิ บุฟเฟ่ต์, นิคุยะ, โออิชิราเมน และคาคาชิ ซึ่งชาบูชิเป็นแบรนด์ที่สามารถสร้างรายได้อันดับ 1 ให้กลุ่มโออิชิ แต่ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ มากนัก เพราะได้ทำการจัดทัพใหม่ด้วยการปรับเมนู เพื่อตอบรับกับการแข่งขันในตลาดที่ปัจจุบันมีร้านชาบูเกิดขึ้นกันแบบเกลื่อนเมือง

1shabushi

การจัดทัพครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งใหญ่ในรอบ 16 ปีตั้งแต่ชาบูชิทำตลาดมา โดยเป็นในเรื่องของการปรับเมนูอาหาร ปรับสัดส่วนของอาหารให้ถูกตามโภชนาการ ใช้วัตถุดิบพรีเมี่ยมขึ้น และตัดเมนูที่ไม่มีประโยชน์มากนักอย่างพวกลูกชิ้นออกไป พร้อมทั้งทำซูชิหน้าใหม่ๆ

ไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าตอนนี้คนไทยได้เรียนรู้วัฒนธรรมของญี่ปุ่นมากขึ้น ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นก็มีการปรับตัวให้เข้ากับทิศทางพฤติกรรมของผู้บริโภค ร้านมีการแยกเซ็กเมนต์ชัดเจน ชาบู ซูชิ ราเมน เราก็ต้องปรับตัวเพื่อให้ทันกับตลาดและผู้บริโภคเหมือนกัน ตอนนี้ก็มีร้านชาบูเปิดเต็มไปหมด ต้องทำให้ชาบูชิอยู่ในใจผู้บริโภคต่อไปให้ได้ ต้องศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคว่าชอบทานหรือไม่ชอบอะไร และจัดเมนูให้ดีต่อสุขภาพ เพราะเทรนด์เรื่องสุขภาพก็มาแรง

แต่สิ่งที่มาพร้อมกับเมนูใหม่ๆ ก็คือเรื่องของราคา ชาบูชิมีการปรับราคาขึ้นอีก 40 บาท จากราคาหัวละ 359 บาท เป็นราคา 399 บาท หลังจากที่มีการปรับราคาครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 ในกรณีนี้ไพศาลได้อธิบายว่า การเพิ่มราคาอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในช่วงระยะแรกแน่นอน แต่ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกของตลาด เชื่อว่าผู้บริโภคก็ยังทานอยู่

ชาบูชิในตอนนี้มีทั้งหมด 123 สาขา แบ่งเป็นสาขาในประเทศ 98% หรือ 120 สาขา และต่างประเทศที่พม่าอีก 3 สาขา ในปีนี้กำลังเจรจากับประเทศลาวและกัมพูชาอยู่ อาจจะเป็นในรูปแบบของการหาพาร์ตเนอร์ในการทำธุรกิจ

ในปีนี้ตั้งเป้าขยายสาขาอีก 30 สาขา ในครึ่งปีแรกเปิดไปแล้ว 13 สาขา แต่ว่าจนถึงสิ้นปีอาจจะไม่ได้ตามเป้า 30 สาขา เพราะมีข้อจำกัดเรื่องทำเล โดยใช้งบลงทุนรวม 600 ล้านบาท และใช้งบการตลาดรวม 300-400 ล้านบาท

ภาพรวมรายได้ของโออิชิ กรุ๊ปในธุรกิจอาหารช่วงไตรมาส 1 มีรายได้แบ่งเป็น ร้านอาหาร 1,425 ล้านบาท คิดเป็น 94% และอาหารพร้อมทาน 91 ล้านบาท คิดเป็น 6%

3 แบรนด์ร้านอาหารที่ทำรายได้สูงสุดให้โออิชิ (ช่วงไตรมาส 1)

  • ชาบูชิ 941 ล้านบาท คิดเป็น 66%
  • โออิชิ บุฟเฟ่ต์ 255 ล้านบาท คิดเป็น 17%
  • โออิชิ ราเมน 148 ล้านบาท คิดเป็น 10%

จำนวนสาขาของชาบูชิ 123 สาขา

  • 98% หรือ 120 สาขาในประเทศไทย
  • 2% หรือ 3 สาขาในประเทศพม่า

สัดส่วนสาขาแบ่งตามภูมิภาค

  • กทม. 57%
  • ตะวันออกเฉียงเหนือ 13%
  • ตะวันออก 11%
  • ใต้ 10%
  • เหนือ 9%

4 ที่ทำรายได้ดีที่สุดของชาบูชิ

  • เดอะมอลล์บางกะปิ
  • เซ็นทรัลลาดพร้าว
  • เซ็นทรัลเวิลด์
  • เดอะมอลล์งามวงศ์วาน

ที่มา : บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

info_shabu1

info_shabu2