‘Brexit’ ไอทีไทยไม่สะเทือน?

นอกจากความตกตะลึงในผลการลงประชามติถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษที่เกิดขึ้นไปทั่วโลกแล้ว ปรากฏการณ์ Brexit (British exit) ครั้งนี้ยังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีซึ่งอังกฤษเปรียบได้กับศูนย์กลางของอุตสาหกรรมในสหภาพยุโรป

อัมสเตอร์ดัม แฟรงก์เฟิร์ต เวียนนา ดับลิน ปารีส ลักเซมเบิร์ก วอร์ซอร์ มิลาน และบาร์เซโลน่า เหล่านี้คือชื่อเมืองที่ถูกจัดอันดับขึ้นมาโดยบริษัทอินเด็กซ์ (Index) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนยักษ์ใหญ่รายหนึ่งของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี การรวบรวมชื่อเมืองเหล่านี้เกิดขึ้นบนความหวังให้บรรดาเทคสตาร์ทอัปในอังกฤษ ที่กำลังมองหาที่ตั้งสำนักงานใหม่ได้พิจารณา

ทั้งนี้ การมองหาสำนักงานแห่งใหม่ที่ ‘ไม่ใช่ในอังกฤษ’ เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมากเป็นลำดับต้น ๆ สำหรับผู้ประกอบการในแวดวงเทคโนโลยีหลังการลงประชามติถอนตัวออกจากสหภาพ ยุโรป เนื่องจากการถอนตัวนั้นเท่ากับว่า อังกฤษไม่มีสิทธิ์เข้าสู่ตลาดเดียวกับยุโรปได้อย่างสะดวกอีกต่อไป เพราะไม่ยอมรับกติกาเคลื่อนย้ายเสรีของสหภาพยุโรปนั่นเอง

การสูญเสียสิทธิดังกล่าวเป็นผลเสียต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีของอังกฤษโดยตรง เนื่องจากอนาคตของอุตสาหกรรมนี้ฝากเอาไว้กับแรงงานต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ โดยต่อจากนี้ วิศวกรฝีมือดีจากโรมาเนีย หรือโปแลนด์จะไม่สามารถเดินทางเข้ามาทำงานในอังกฤษได้อย่างสะดวกอีกแล้ว

สมองอาจไหล

ก่อนหน้าชัยชนะของฝ่ายสนับสนุน Brexit ด้วยคะแนนโหวต 52-48 การสำรวจความเห็นในวงการอุตสาหกรรมเทคโนโลยีพบว่ากลุ่มคนในบริษัทเกิดใหม่ หรือสตาร์ทอัปราว 3 ใน 4 ของอังกฤษเลือกคัดค้าน Brexit ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปอาจลดโอกาสที่สตาร์ทอัปไอที สัญชาติอังกฤษจะได้รับเงินสนับสนุนจากนักลงทุนในสหรัฐฯ

ผลสำรวจของธนาคารซิลิกอนวัลเลย์ (Silicon Valley Bank) สะท้อนว่าสตาร์ทอัปอังกฤษอาจอพยพออกจากบ้านเกิด เพื่อไปตั้งรกรากในดินแดนที่มีปัจจัยเกื้อหนุนที่ดีกว่า วิกฤติสมองไหลนี้เกิดขึ้นในขณะที่ภาคการศึกษาของอังกฤษถูกวิจารณ์ว่าไม่ สามารถผลิตแรงงานคุณภาพในวงการเทคโนโลยีได้มากพอ ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดความกังวลว่า Brexit จะทำให้อังกฤษสูญเสียหัวกะทิในวงการไอทีไปอย่างน่าเสียดาย

สื่อของอังกฤษอย่าง TheGuardian เคยให้ความเห็นว่า ระบบการศึกษาของอังกฤษลงทุนกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในด้านเทคโนโลยีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และถึงแม้จะเริ่มมีคอร์สสอนเขียนโปรแกรมในโรงเรียนเกิดขึ้นบ้างแล้วก็ตาม ก็ยังไม่สามารถผลิตคนได้ทันกับความต้องการของวงการเทคโนโลยีที่เฟื่องฟูสุดขีดในนาทีนี้

ภาพก่อนการลงประชามติ กรุงลอนดอนในฐานะฮับของโลกเทคโนโลยีบนสหภาพยุโรปจึงเต็มไปด้วยมือดีจากทั่วทุกมุมโลกที่เข้ามาหางานทำ และทันทีที่เกิดปรากฏการณ์ Brexit ขึ้น สิ่งที่ผู้ประกอบการบริษัทเทคโนโลยีเรียกร้องรัฐบาลให้ช่วยเหลืออย่างรวดเร็วก็คือ ‘วีซ่าสำหรับทำงาน’ เพื่อรักษามือดีเหล่านั้นให้อยู่กับบริษัทต่อไป หรือไม่ก็คือการย้ายฐานออกจากอังกฤษนั่นเอง

เรื่องนี้ Taavet Hinrikus ผู้ก่อตั้งฟินเทคชื่อ TransferWise และเป็นผู้คัดค้านการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษถึงกับกล่าวว่า การที่อังกฤษเลือกโหวต Leave คือหายนะอย่างแท้จริง โดย Hinrikus เผยหลังการโหวตว่าการอนุมัติวีซ่าคือทางแก้ปัญหาทางหนึ่งที่วงการเทคโนโลยี ต้องการ เพราะหากไม่สามารถรับคนต่างประเทศเข้ามาทำงานได้แล้ว อังกฤษจะหยุดนิ่ง วีซ่าจึงเป็นชิ้นส่วนสำคัญต่อการสร้างนวัตกรรมและการทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไป

ด้าน Damian Kimmelman ผู้ก่อตั้ง DueDil ผู้ให้บริการข้อมูลทางธุรกิจก็ให้ความเห็นในลักษณะเดียวกับ Hirinkus ว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีได้รับผลกระทบจากการโหวต Leave อย่างแน่นอน เนื่องจากสตาร์ทอัปของอังกฤษอยู่ได้ด้วยการสนับสนุนจาก VC ต่างชาติ และแรงงานที่มีทักษะที่ต้องการวีซ่าเข้ามาทำงานเพื่อให้บริษัทเติบโตขึ้นไป สู่ระดับโลกได้ แต่ตอนนี้การพัฒนาเหล่านั้นล้วนหยุดชะงัก เนื่องจากติดปัญหาด้านการหาทีมงาน และเงินทุนสำหรับการขยายกิจการไปแล้ว

ขณะที่ Mike Butcher บรรณาธิการจาก TechCrunch ของอังกฤษก็ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยบอกว่าส่วนผสมสำคัญสำหรับสตาร์ทอัป นอกจากไอเดียก็คือ คน และเงิน เมื่อขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไป ความสำเร็จก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้

‘ลองนึกดูว่าถึงคุณสามารถระดมทุนได้ แต่ขาดคนที่มีความสามารถมาร่วมงาน ไอเดียของคุณจะไปได้ถึงไหน’ รายงานระบุ ‘การออกจากอียูคือการโยนความสามารถในการเสาะหาคนดีมีฝีมือจากทั่วยุโรปมาร่วมงานด้วยทิ้งไป โดยเฉพาะวิศวกรมากความสามารถจากโปแลนด์ หรือโรมาเนีย’

อีกทั้งในขณะนี้ ประเทศต่าง ๆ ในสหภาพยุโรปก็เริ่มจัดแคมเปญเชิญชวนสตาร์ทอัปจากอังกฤษให้ย้ายถิ่นฐานไป อยู่ในประเทศของตนกันบ้างแล้ว ยกตัวอย่างเช่น TransferWise ที่เผยว่า ได้รับคำเชิญจากไอร์แลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ และอีกหลายประเทศให้ย้ายที่ทำการจากอังกฤษไปยังประเทศเหล่านั้นแทน หรือ ทางบริษัทเอฟดีพี (FDP) ของเยอรมัน ที่ได้มีการว่าจ้างรถโฆษณาขับไปทั่วกรุงลอนดอนพร้อมข้อความว่า ‘Dear startups, Keep calm and move to Berlin’ เพื่อจุดกระแสให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัปพิจารณาการย้ายสำนักงานไปที่กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี

559000007251203

ยักษ์ไอทีเริ่มขยับ

ไม่เฉพาะสตาร์ทอัป บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่อย่างโวดาโฟน (Vodafone) ก็ถูกจัดชื่อไว้ในกลุ่มบริษัทที่เริ่มมองหาที่ตั้งสำนักงานใหญ่แห่งใหม่นอกอังกฤษแล้วเช่นกัน เนื่องจากลูกค้ากว่า 462 ล้านคน พนักงานกว่า 108,000 คน และซัปพลายเออร์อีกกว่า 15,000 คนของโวดาโฟนนั้น ‘อยู่นอกอังกฤษ’

แถมรายได้ของโวดาโฟน ยังมาจากในอังกฤษเพียง 11% ส่วนอีก 55% นั้นมาจาก ‘สหภาพยุโรป’ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า การเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของอังกฤษถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเติบโตของโวดาโฟน ทั้งในเรื่องการย้ายถิ่นของแรงงาน เงินทุน ซึ่งการย้ายสำนักงานนี้หากเป็นจริงจะทำให้เกิดการว่างงานขึ้นประมาณ 13,000 ตำแหน่งเลยทีเดียว

ส่วนบริษัทที่แสดงจุดยืนไม่ย้ายออกจากอังกฤษ สถานการณ์ของบริษัทเหล่านี้ก็ใช่ว่าจะสวยหรู เนื่องจากการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปได้ทำให้ค่าเงินปอนด์ดิ่งเหวถึง 14% ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้บริษัทเทคโนโลยีส่วนหนึ่งที่อิงอยู่กับค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐ หรือมีการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นๆ ที่อิงกับดอลลาร์สหรัฐต้องมีการปรับราคาสินค้าของตนขึ้นตั้งแต่ 6.5 – 20%

7 กรกฎาคม เจ้าพ่อไอทีอย่างเดลล์ (Dell) และบริษัท วันพลัส (OnePlus) บริษัทสมาร์ทโฟนจากแดนมังกร ประกาศขึ้นราคาสินค้าที่วางจำหน่ายในอังกฤษเพราะวิกฤติค่าเงินปอนด์ดิ่งเหวจากปรากฏการณ์ Brexit ถือเป็นข่าวระลอกแรกก่อนที่บริษัทผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายอื่นจะขึ้นราคาสินค้าไอทีเช่นกัน

ค่าเงินปอนด์ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2559 อยู่ในจุดที่ตกลงสูงสุดในรอบ 31 ปี เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 12% เมื่อเทียบกับวันก่อนมีการลงประชามติ

ไม่เพียงคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แต่อุปกรณ์เพื่อการถ่ายภาพ และกล้องดิจิตอลซึ่งมีฐานการผลิตนอกอังกฤษล้วนเข้าคิวปรับเพิ่มราคาสินค้า แม้จะมีกลไกป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินไว้แล้ว กลไกเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้ผู้จัดจำหน่ายต้องขึ้นราคาสินค้าโดยไม่จำเป็น แต่กรณีการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปนั้น เป็นเรื่องที่ส่งผลรุนแรงเกินกว่าสถานการณ์ปกติ

หากมองนอกพื้นที่สตาร์ทอัปสัญชาติอังกฤษที่ได้รับผลกระทบจากการ Brexit จะพบว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาอย่างแอปเปิล (Apple) ก็จะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ Brexit ครั้งนี้ด้วย เมื่อมีการคาดการณ์จากสถาบันการเงินซิตี้ (Citi) ว่าตัวเลขการเปลี่ยนเครื่องไอโฟนของผู้ใช้งานชาวอังกฤษจะขยายเวลาออกไปจากเดิม เปลี่ยนเครื่องทุก ๆ 2 ปีเป็น 3 ปี ซึ่งอาจส่งผลต่อยอดขายไอโฟนในไตรมาสสองและสามของปีนี้ไปด้วย

ไอทีไทยกระทบ?

แม้การถอนตัวของอังกฤษจากสหภาพยุโรปจะไม่สะท้อนภาพผลกระทบต่อการเติบโตของไอทีไทยมากนัก แต่ต้องยอมรับว่าในมุมที่ไทยกำลังเดินเข้าสู่สังคม AEC ซึ่งเป็นประชาคมที่มีความแตกต่างทางความคิดไม่ตางจากอียู ก็ต้องมองว่าปรากฏการณ์ Brexit คือบทเรียนสำคัญที่ต้องป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อบริษัทสตาร์ทอัปในภูมิภาค

ในมุมนักลงทุนคนไทยที่เชื่อว่าจะได้รับผลกระทบจาก Brexit ครั้งนี้โดยตรงเห็นจะหนีไม่พ้นอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีข่าวว่าได้ลงทุนใน บริษัท เซนทริกส์ อินฟอร์เมชั่น ซีเคียวริตี เทคโนโลยีส์ ลิมิเต็ด ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัปเกี่ยวกับความปลอดภัยบนอินเทอร์เน็ต ในประเทศอังกฤษ

ช่วงก่อนการลงคะแนน Brexit ไม่กี่วัน รายงานของสื่ออังกฤษระบุว่าทักษิณได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการบริษัท เซนทริกส์ อินฟอร์เมชั่นฯ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 โดยระบุว่าถือสัญชาติไทยและถิ่นพำนักที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) นอกจากทักษิณ ชินวัตร แหล่งข่าวของสำนักข่าวเทเลกราฟยังระบุว่าเทมาเส็ก กองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ ก็ได้ลงทุนในบริษัทนี้เช่นกัน

สำหรับ เซนทริกส์ อินฟอร์เมชั่นฯ เป็นบริษัทที่เตรียมระดมทุนครั้งใหม่ บนความหวังให้มูลค่าของบริษัทเพิ่มขึ้นเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดตัวโครงสร้างพื้นฐานใหม่เป็นครั้งแรก ปรากฏการณ์ Brexit อาจทำให้การระดมทุนของบริษัทนี้ไม่ราบรื่นอย่างที่นักลงทุนคาดกันไว้ แม้เซนทริกส์ฯ ได้ลงนามทำการค้าเป็นครั้งแรกกับบริษัทผู้ประกอบการรายใหญ่ในสิงคโปร์แล้วก็ตาม

ทั้งนี้ อังกฤษถือเป็นชาติแรกที่ลาออกจากประวัติศาสตร์ 60 ปีของอียู ด้วยการทำประชามติ ซึ่งผลรวมคะแนนทั้ง 382 เขต ประกาศผลการนับคะแนนในทุกเขตครบถ้วน ปรากฏว่า ผู้ออกเสียงที่เลือกแยกตัว ชนะผู้ที่ต้องการคงอยู่ในอียู 51.9% ต่อ 48.1% มีผู้โหวตให้ออกจากอียู 17.4 ล้านคน ส่วนผู้ลงคะแนนให้เป็นสมาชิกต่อไปมี 16.1 ล้านคน

ผลประชามตินี้ทำให้นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อผลประชามติในครั้งนี้ และยกหน้าที่ในการดำเนินการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทน

ที่มา: http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000070212