ทำไม SoftBank ซื้อ ARM?

The logo of SoftBank Group Corp is seen at the company's headquarters in Tokyo, June 30, 2016. REUTERS/Toru Hanai/Files

บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ของญี่ปุ่น “ซอฟต์แบงก์” (SoftBank) ประกาศซื้อกิจการบริษัทผู้ออกแบบชิปอิเล็กทรอนิกส์ “เออาร์เอ็ม” (ARM) ด้วยมูลค่ามหาศาล 3.14 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาท เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงวิเคราะห์ว่า ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นเพื่อวางเดิมพันในสังเวียนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์แห่งอนาคตแน่นอน

แม้จะมีปัจจัยเสริมอย่างค่าเงินปอนด์อ่อนตัวในนาทีนี้ เพราะปรากฏการณ์ Brexit ที่อังกฤษจะถอนตัวจากสหภาพยุโรป ซึ่งทำให้ SoftBank สามารถประหยัดเงินซื้อกิจการได้มากโข รวมถึงความสดใสของอนาคต ARM ที่กำลังเติบโต และทำกำไรได้มากขึ้นต่อเนื่อง แต่เมื่อวิเคราะห์ถึงสิ่งที่ซีอีโอ และผู้ก่อตั้ง SoftBank อย่าง มาซาโยชิ ซัน (Masayoshi Son) เคยพูดไว้ กลับพบว่า มีเหตุผลน่าสนใจมากกว่าเป็นเบื้องหลังการตัดสินใจครั้งนี้

ที่ผ่านมา SoftBank ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจโทรคมนาคม แต่การซื้อกิจการ ARM จะทำให้ SoftBank มีที่ยืนในโลกฮาร์ดแวร์โดดเด่นขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ artificial intelligence ครองโลก

ซีอีโอ SoftBank เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว นิกเคอิ เอเซียน รีวิว (Nikkei Asian Review) ถึงความเชื่อมั่นในยุคสมัยของระบบปัญญาประดิษฐ์ที่จะเกิดขึ้นแน่นอนในศตวรรษนี้ โดยเฉพาะในมุมมองการมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตมนุษย์ทั้งในแง่ความรู้ความสามารถ และอัจฉริยภาพของระบบ

การซื้อบริษัทออกแบบชิป ARM จึงจะทำให้ SoftBank มีโอกาสสร้างธุรกิจที่ต่อยอดบนตลาดอุปกรณ์พกพาระบบปัญญาประดิษฐ์ได้ยิ่งใหญ่กว่า โดยก่อนหน้านี้ SoftBank ได้พัฒนาหุ่นยนต์ของตัวเองในชื่อ “เปบเปอร์ (Pepper)” ซึ่งสะท้อนว่า SoftBank ให้ความสำคัญกับการพัฒนาฮาร์ดแวร์ไม่น้อย

สำหรับ ARM บริษัทสัญชาติอังกฤษรายนี้ คือ ผู้ออกแบบชิปประมวลผลสำหรับโทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ตส่วนใหญ่ในตลาดปัจจุบัน ไม่เพียงอุปกรณ์พกพาที่เหล่าแบรนด์นิยมใช้ชิปที่ ARM เป็นผู้ออกแบบ แต่สินค้ากลุ่มเครื่องใช้อัจฉริยะ หรือ Internet of Things (IoT) ก็ได้รับอิทธิพลจากเทคโนโลยีชิปของ ARM ด้วย สิ่งนี้เองที่เชื่อกันว่า ทำให้ SoftBank สนใจซื้อกิจการ ARM จนกลายเป็นดีลมูลค่ามหาศาลในที่สุด

รายงานเบื้องต้น ระบุว่า SoftBank เสนอซื้อหุ้น ARM ด้วยราคาหุ้นละ 17 ปอนด์ หรือประมาณ 780 บาท คาดว่าหลังการซื้อกิจการเสร็จสิ้น ธุรกิจเดิมของ ARM จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกัน ฐานการดำเนินงานในอังกฤษก็จะถูกขยายเพิ่มต่อเนื่อง

ข้อมูลไม่เป็นทางการขณะนี้ ระบุว่า SoftBank สนใจหุ้น ARM ประมาณ 43% ของทั้งหมด ซึ่งเป็นสัดส่วนมากพอที่จะทำให้ SoftBank เป็นผู้ควบคุม ARM อย่างเต็มตัว

An ARM and SoftBank Group branded board is displayed at a news conference in London

ที่มา: http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000071868