“ธนินท์ เจียรวนนท์” อิทธิพล “ทฤษฎี 2 สูง”

เคยอยู่เบื้องหลัง สนับสนุนทุกพรรคการเมือง แต่มาถึงรัฐบาลชุด “สมัคร สุนทรเวช” “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานกลุ่มซีพี ผู้มีทรัพย์สินร่ำรวยติดอันดับเศรษฐีโลก ต้องออกมาขับเคลื่อน แนวคิด “ทฤษฎี 2 สูง” คือ การบริหารประเทศโดยปล่อยให้สินค้าราคาสูง และเงินเดือนสูงตาม กลายเป็นแนวคิดโดดเด่นที่ถูกจับตามอง ที่สำคัญบางส่วนในข้อเสนอของ “ธนินท์” สามารถเบรกนโยบายบ้างข้อ และขณะเดียวกันบางส่วนก็กลายมาเป็นพิมพ์เขียวของนโยบายรัฐบาลชุด “สมัคร สุนทรเวช”

“ธนินท์ เจียรวนนท์” เก็บตัวเงียบมาพักใหญ่ในช่วงหลังของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต่อเนื่องมาถึงช่วงการบริหารงานของรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ แต่ภายหลังการเลือกตั้งต้นปี 2551 ประเทศไทยได้รัฐบาล “สมัคร สุนทรเวช” ท่ามกลางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศปั่นป่วน เพราะความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเชียร์ และไม่เอา “ทักษิณ ชินวัตร” แรงขึ้น ขณะเดียวกันข้าวของแพงจากปัจจัยเรื่องน้ำมัน และนโยบายรัฐบาลเริ่มส่อเค้าพาชาติตกต่ำ โดยเฉพาะการบริหารสินค้าเกษตร

“เจ้าสัวธนินท์” ออกมาแสดงความเห็นในหลายเวทีใหญ่ทั้งคัดค้านและเสนอแนวทาง จนบางครั้งได้รับการตอบรับจากรัฐบาลราวกับคือพิมพ์เขียวของนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล

ไม่เพียงเท่านั้น “ธนินท์” ยังเป็นนักธุรกิจที่กล้าวิจารณ์ตรงไปตรงมาถึงรัฐมนตรีบางคน ที่ทำงานไม่เข้าท่า พิสูจน์ให้เห็นได้ว่า “พ่อค้า” ในยุคนี้มีสิทธิวิจารณ์เสนาบดีได้ และอีกเช่นกัน “พ่อค้า” คนนี้ยังสามารถยกหูโทรศัพท์ นัดแนะเสนาบดีมานั่งกินข้าว และพูดคุยกันถึงงานอดิเรกที่ชอบส่วนตัวอย่าง “ไก่ชน”

ช่วงต้นของรัฐบาล ถือเป็นช่วงที่ “ธนินท์” เริ่มให้สัมภาษณ์และออกงานสัมมนามากขึ้น หลังจากกระทรวงพาณิชย์ไปกดราคาหมู จากที่สูงขึ้นไปอยู่กว่า 125 บาทต่อกิโลกรัม ด้วยความมาใหม่ของ “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์” ในเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จึงพยายามฝืนกลไกตลาดออกแรงกดราคาให้อยู่ที่ไม่เกิน 98 บาท

“มิ่งขวัญ” อาจลืมไปว่าเครือซีพี คือหนึ่งในผู้เลี้ยงและผลิตเนื้อหมูรายใหญ่ของประเทศ

นับตั้งแต่นั้นมา “2 สูง” จึงได้รับการถ่ายทอดจาก “ธนินท์” มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะจากวงสัมมนาที่สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2551 และหลังจากนั้นไม่กี่วันผ่านรายการสัมภาษณ์พิเศษ ของ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” ทางช่อง 3

นี่คือเหตุการณ์เพียงเสี้ยวหนึ่งนอกเหนือจากการสร้างอาณาจักรธุรกิจซีพี จนมีสินค้าเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้คน ด้วยยอดขายปีหนึ่งจากทั้งในและต่างประเทศมูลค่ากว่าแสนล้านบาท เป็น “เจ้าสัว” ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในเวลานี้

“เจ้าสัวธนินท์” กับบทบาทครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2551 บนเวทีสัมมนา “ทางเลือกสุดท้าย ทางรอดประเทศไทย” ที่จัดโดยเครือมติชน ที่โรงแรมดุสิตธานี ช่วงเวลาเพียงประมาณ 1 ชั่วโมง “ธนินท์” ไม่เพียงเสนอแนวคิดใหม่ในการบริหารระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการเกษตรเท่านั้น แต่ยังวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐมนตรีบางคนอย่างเผ็ดร้อน ได้รับเสียงปรบมือเป็นระยะๆ จนอดสงสัยไม่ได้ว่า “เจ้าสัวธนินท์” กำลังเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีนอกสภาหรืออย่างไร แม้ว่า “เจ้าสัว” ย้ำหลายต่อหลายครั้งว่า “การเมืองผมไม่ค่อยเชี่ยวชาญเลย” แต่ก็สะใจคอการเมืองเป็นแถว

ทางรอดประเทศไทย “ธนินท์” ยังเน้นทฤษฎี 2 สูง โดยสูงแรก คือสินค้า “เกษตร” ต้องปล่อยให้ราคาสูงเพื่อเป็นน้ำมันบนดิน ให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ดีขึ้น โดยไม่ปล่อยให้ “น้ำมันใต้ดิน” ราคาสูงขึ้นเพียงอย่างเดียว สูงที่สอง คือ “เงินเดือน” ของลูกจ้างต้องสูงขึ้น เพื่อให้มีเงินจับจ่ายซื้อของ และไม่ต้องห่วงเรื่องเงินเฟ้อ เพราะโลกไม่สามารถใช้ตำราเงินเฟ้อแบบเดิมได้อีกต่อไป ระบบนี้เงินเฟ้อจะเกิดขึ้นหากไม่มีสินค้าให้คนซื้อ แต่ปัจจุบันโลกมีเทคโนโลยีที่ผลิตสินค้าได้มาก จึงตอบสนองคนได้เต็มที่

“ผมขอฝากว่าในโลกประเทศที่เจริญแล้วไม่แทรกแซงสินค้าเกษตรให้ถูกลง มีแต่เอาเงินไปแทรกแซงให้สูงขึ้น”

แม้ “ธนินท์” จะไม่เอ่ยชื่อว่าใครแทรกแซง แต่ใบหน้าของ “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็ผุดขึ้นมาในความทรงจำอีกครั้ง

“อาหารมนุษย์ถูกกว่าอาหารเครื่องจักรได้อย่างไร ถ้าถูกกว่าก็หมายความว่าผู้บริหารประเทศมีปัญหาแล้ว”

“ธนินท์” เปรียบเปรยว่าอาหารมนุษย์คือสินค้าเกษตร ที่ปัจจุบันถูกกว่าราคาน้ำมันที่ราคาพุ่งทุกวันโดยที่รัฐบาลจัดการไม่ได้ และทำให้เกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมลำบากเพราะต้นทุนสูง และที่สำคัญ “ธนินท์” ยังมีคำถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะ “ไม่เข้าใจหรือบริหารผิดพลาดกันแน่” หรือแม้แต่ประโยคที่ว่า “การประกาศแล้วไม่ทำอะไรเลย และพูดอีกอย่างทำอีกอย่าง”

ฟังแล้วหลายคนนึกขึ้นได้ว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม “รมว.พาณิชย์” ประกาศว่า รัฐบาลจะประกันราคาให้ข้าวเปลือกราคาสูงขึ้น เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น แต่จนขณะนี้ยังไม่สูงเท่าที่ รมว.พาณิชย์ประกาศไว้

ย้ำว่าเป้าหมายไม่ผิดคนแน่นอน เมื่อ “ธนินท์” บอกว่า “ข้าวธงฟ้าทำไปทำไม แทนที่จะเอาเงินที่ต้องขายข้าวถูกไปขึ้นเงินเดือนให้ผู้มีรายได้น้อย”

หรือแม้แต่การเสนอให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” ซึ่งนั่งอยู่ในที่สัมมนาฟัง “ธนินท์” จนจบด้วยว่า “อย่าลืมขึ้นเงินเดือน(เบี้ยบำเหน็จบำนาญ) ให้ข้าราชการที่เกษียณอายุราชการไปด้วย เพราะคนเหล่านี้คือผู้มีพระคุณต่อประเทศ”

เป็นการเสนอเรื่องขึ้นเงินเดือนให้คนอีกกลุ่มหนึ่งหลังจากที่กระทรวงการคลังเดินเรื่องรับข้อเสนอของ “ธนินท์” ที่พูดถึงการขึ้นเงินเดือนให้ลูกจ้างและข้าราชการมาตั้งแต่ต้นๆ การบริหารงานของรัฐบาล

นี่คือช่วงหนึ่งที่ “ธนินท์” แสดงบทบาทเท่านั้น และดูเหมือนจะไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ ซึ่งเมื่อถูกถามว่าคนอย่าง “เจ้าสัวธนินท์” ทำไมต้องออกแรงพูดเพื่อเสนอแนวคิดเหล่านี้ “ธนินท์” ตอบแต่เพียงว่า “ผมทำเพื่อส่วนรวม”

นอกเหนือจากการเดินสายเสนอแนวคิดทฤษฎี 2 สูงแล้ว “ธนินท์” ยังเปิดรับพบปะผู้คน และเช่นกันมีอีกหลายคนที่ต้องการ และพร้อมเดินเข้าหาหากเขาเปิดประตู

กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา “สิงห์เหลิม” ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เยือนตึกทรูฯย่านรัชดาตามคำเชิญของ “ธนินท์”

เกียรติและความประทับใจที่ มท.1 ได้รับคือป้ายต้อนรับอย่างเป็นทางการ จนตอบคำถามอย่างเต็มที่เมื่อนักข่าวสายมหาดไทยถามถึงทัวร์ทรูฯครั้งนี้นานถึง 3 ชั่วโมง

“คุณธนินท์โทร.มาหาผม (ครับ) ผมก็ตกใจเพราะไม่ได้เจอกันมา 16 ปีแล้ว ถามว่าก็เมื่อคนรวยนัดแล้วผมมันคนต้นทุนต่ำ ทำไมผมจะไม่ไปล่ะ ก็ตอบรับด้วย ความยินดี”

มท.1 เล่าอย่างออกรสตามสไตล์ และเพิ่มเติมว่าการพูดคุยกับเจ้าสัวซีพี ก็มีหลายเรื่องราว มากด้วยอรรถรส

“ท่านชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาของผม ทั้งเรื่องแก้ปัญหาบ่อนไก่ชน แก้ปัญหา เรื่องตู้เกม และเรื่องแก้ปัญหาสถาน บันเทิง ผมก็ยังงงๆ เหมือนกันว่า ทำไมต้อนรับดีขนาดนี้ เพราะไม่ได้เจอท่านมา 16 ปีแล้ว รู้จักกับท่านสมัยท่านชาติชาย ชุณหะวัณ ก็กำลังคิดอยู่ว่าจะทาบทามเชิญท่านธนินท์ ท่านเจริญ (สิริวัฒนภักดี) ไปให้วิสัยทัศน์ ให้ความรู้กับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศได้ฟัง”

รสชาติการพูดคุยคงถูกใจสิงห์เหลิมอย่างยิ่ง เพราะในงานสัมมนาที่โรงแรมดุสิตธานี มท.1 ก็บึ่งรถขบวนมาฟัง “ธนินท์” ปาฐกถาเช่นเดียวกับนักการเมืองอีกหลายคน

การออกแรงมากในช่วงนี้ของ “เจ้าสัวธนินท์” ท่ามกลางความเงียบเชียบของนักธุรกิจำนวนมากที่เลือกอยู่อย่างสงบมากกว่าแสดงตนเป็นศัตรูกับรัฐบาลนอมินี จึงไม่มีอะไรน่าสงสัยว่า “ธนินท์ เจียรวนนท์” ไม่ใช่บุคคลที่ร่ำรวยเพียงทรัพย์สินเงินทองอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นนักธุรกิจผู้ทรงอิทธิพลในยุคนี้

หลักคิด “ธนินท์ เจียรวนนท์”

“มืดสุด ก็ต้องสว่าง”

ในช่วงวิกฤตน้ำมันแพงเช่นนี้ “ธนินท์ เจียรวนนท์” สะท้อนหลักการคิดว่า ต้องหาวิธีรุก ไม่ใช่แค่รับ ทำวิกฤตให้เป็นโอกาส

“ชีวิตผมเจอวิกฤตมาหลายครั้ง แต่ละครั้งผมคิดว่า ผู้มีความสามารถจะทำให้กลายเป็นโอกาสได้ ทำวัคซีนให้ตัวเราเข้มแข็ง ผมไม่เคยท้อถอย เพราะผมถือว่านี่คือโอกาส หรือมืดที่สุดก็ต้องสว่าง สว่างสุดจะต้องมีมืด ตอนสว่างทำกำไรดี ก็ต้องคิดว่าวิกฤตมาจะทำอย่างไร”

หลักบริหาร

บทสรุปจาก “ธนากร เสรีบุรี” รองประธานกรรมการ กลุ่มซีพี ที่ใกล้ชิดกับ “ธนินท์ เจียรวนนนท์” มานานถึงความสำเร็จของ “เจ้าสัวธนินท์” คือ 1.“ธนินท์” เป็นผู้ที่คิดสิ่งใหม่ๆ ล้ำหน้า มองการณ์ไกล ไกลขนาด 10-20 ปีข้างหน้า อย่างที่เห็นทำให้เครือซีพีขยายธุรกิจใหม่ตลอดเวลา และ 2.กล้าใช้คนเก่ง และให้โอกาส ซึ่ง “ธนินท์” เคยพูดเสมอว่าถ้าลูกน้องทำผิด และรู้ตัวว่าทำผิดก็ต้องให้โอกาส จะไม่ตำหนิ เพราะการตำหนิจะทำให้ลูกน้องกลัวและไม่กล้าคิดกล้าทำในสิ่งใหม่ๆ

หลักการแข่งขัน

สำหรับหลักในการทำธุรกิจ คือไม่เคยแกล้งคู่แข่ง หาตลาดอื่น เราไปสู้กับต่างประเทศ ไม่สู้กันเอง
“ธนินท์” บอกว่าความสำเร็จของซีพีในต่างประเทศคือการเสนอ 3 ประโยชน์ คือ 1.ประเทศที่ซีพีไปลงทุนได้ประโยชน์ 2.ประชาชนของประเทศนั้นได้ประโยชน์ และ 3.ซีพีได้ประโยชน์

Profile

Name : ธนินท์ เจียรวนนท์
Age : 69 ปี
Education
วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
Commercial School ฮ่องกง
Career Highlights:
เริ่มทำงานที่ร้านเจริญโภคภัณฑ์ เมื่ออายุได้ 19 ปี ตำแหน่งแคชเชียร์ หลังจากนั้นย้ายไปทำงานที่สหพันธ์สหกรณ์ค้าไข่แห่งประเทศไทย และบริษัทสหสามัคคีค้าสัตว์ จำกัด จนเมื่ออายุ 25 ปี ได้กลับมาทำงานอีกครั้งที่เจริญโภคภัณฑ์ ปัจจุบันเป็นเจ้าของเครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัทอาหารสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ติดอันดับบุคคลที่รวยที่สุดในโลก ที่จัดโดยนิตยสารฟอร์บ โดยในปี 2550 ติดอยู่อันดับ 390 มีทรัพย์สิน 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 84,000 ล้านบาท ปีที่แล้วอยู่ที่อันดับ 317 และปี 2551 อยู่อันดับที่ 897 มูลค่าทรัพย์สิน 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ตำแหน่งปัจจุบัน
1. ประธานกรรมการ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ ธุรกิจลงทุน นำเข้า เคมีภัณฑ์ให้บริการด้านเทคนิควิชาการ
2. ประธานกรรมการ บริษัททรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม
3. ประธานกรรมการ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เกษตรอุตสาหกรรม และอาหาร
4. ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ บริษัทสยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ศูนย์ค้าส่ง
5. ประธานกรรมการ บริษัทซีพีออล์ จำกัด (มหาชน) ร้านคอนวีเนียนสโตร์
6. กรรมการ บริษัททรูมูฟ จำกัด สื่อสารโทรคมนาคม
Family : ภรรยา : คุณหญิงเทวี เจียรวนนท์ มีบุตร-ธิดา รวม 5 คน

โครงสร้างรายได้
ธุรกิจสัตว์บก 58%
ธุรกิจสัตว์น้ำ 24 %
จากต่างประเทศ 16%
อื่นๆ 2%