เปิด”มาสเตอร์แพลน”เทสล่า ผลิตรถบรรทุก – หลังคาพลังงานแสงอาทิตย์

อีลอน มัสก์ ซีอีโอเทสล่า (ภาพจากรอยเตอร์)

อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ซีอีโอเทสล่า (Tesla) แถลงแล้วถึงภาคสองของ “มาสเตอร์แพลน” ที่เขาเคยทิ้งท้ายไว้เมื่อสัปดาห์ก่อน โดยระบุว่า เทสล่าจะขยายกำลังการผลิตไปสู่รถอีกหลากหลายประเภท รวมถึงการพัฒนาไปสู่บริษัทด้านพลังงานสะอาดอย่างเต็มรูปแบบภายหลังจากการควบรวมเทสล่ากับบริษัทโซลาร์ซิตี้ด้วย

โดยรถที่ซีอีโอเทสล่าตั้งใจว่าจะขยายไลน์การผลิตเพิ่มเติมนั้นได้แก่ รถบัส และรถบรรทุก รวมถึงรถ SUV ที่มีราคาปานกลางให้คนธรรมดาสามารถซื้อหาได้มากขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ที่เทสล่าเน้นพัฒนาแต่รถยนต์ระดับบนราคาสูงเกินเอื้อม แถมวิสัยทัศน์ของซีอีโอคนดังยังเผยถึงระบบขนส่งในอนาคตด้วยว่า เมื่อไรก็ตามที่ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติถูกพัฒนาจนสมบูรณ์เต็มที่ รถยนต์ในอนาคตก็จะกลายเป็นสินทรัพย์ที่สามารถทำเงินให้กับเจ้าของ ในรูปแบบของพาหนะให้เช่า ขณะที่เจ้าของไม่ได้ใช้งานได้อีกด้วย จึงเป็นไปได้ว่า ในวันหนึ่งข้างหน้า เทสล่าอาจกลายเป็นคู่แข่งของอูเบอร์ (Uber) หรือลิฟต์ (Lyft) นั่นเอง

ด้านมิเชล เกรบส์ (Michelle Krebs) นักวิเคราะห์อาวุโสแห่งออโต้เทรดเดอร์ให้ความเห็นว่า “เป็นธรรมดาที่แผนของอีลอน มัสก์นั้นมักจะยิ่งใหญ่ แต่แผนครั้งนี้ไม่รู้ว่าจะเสร็จเมื่อไร รวมถึงไม่มีการชี้ให้เห็นว่าเทสล่าจะทำกำไรได้อย่างไร และเมื่อไรด้วย”

นอกจากนั้น เธอยังมองว่า เทสล่าในปัจจุบันยังไม่สามารถผลิตรถได้ตามเป้าหมายที่วางไว้เลย ดังนั้นการออกมาประกาศว่าจะขยายไลน์การผลิตรถของเทสล่าให้ครบทุกเซกเมนต์นั้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ภายในเร็ววันนี้

อย่างไรก็ดี การประกาศมาสเตอร์แพลนของเทสล่าในครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางภาวะที่ไม่ปกตินัก เพราะเทสล่ากำลังถูกตรวจสอบจากหน่วยงานด้านความปลอดภัยของสหรัฐอเมริกาถึงระบบออโตไพล็อทว่ามีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุและมีผู้เสียชีวิตหรือไม่ โดยมีการชี้ว่าเป็นการทำงานผิดพลาดของซอฟต์แวร์ที่ไม่สามารถแยกแยะสีขาวของตัวรถบรรทุกกับสีของท้องฟ้าได้จึงทำให้เกิดการชนกันดังกล่าว

ด้านอีลอน มัสก์ได้ออกมาเน้นย้ำว่า ระบบออโตไพล็อทนั้นยังอยู่ในเบต้าโหมด และผู้ใช้รถเทสล่าทุกคนก็ได้รับคำเตือนเกี่ยวกับการใช้งาน เขาจึงไม่เห็นด้วยกับการยุติการทำงานของฟังก์ชันดังกล่าว อย่างที่หลายคนเรียกร้อง

นอกจากนั้นเขายังอธิบายว่าคำว่า “เบต้าโหมด” ของเทสล่านี้ไม่ได้หมายความแบบเดียวกับเบต้าโหมดของโลกซอฟต์แวร์ แต่ที่เรียกว่าเบต้าโหมดก็เพื่อต้องการสร้างความตระหนักในการใช้งานแก่ผู้ขับ และต้องการชี้ให้เห็นว่า มันยังอยู่ระหว่างการพัฒนาให้ดีขึ้น ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่ระบบออโตไพล็อทได้รับการพัฒนาจนปลอดภัยเหนือกว่าค่าเฉลี่ยของยานพาหนะประเภทอื่น ๆ ในสหรัฐอเมริกาสัก 10 เท่า บริษัทก็อาจจะยกเลิกการใช้คำว่า เบต้ากับระบบออโตไพล็อทก็ได้

อีกหนึ่งคำถามที่ซีอีโอคนดังต้องตอบก็คือ เพราะเหตุใดเทสล่าถึงต้องซื้อบริษัทโซลาร์ซิตี้ (SolarCity) ผู้พัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งตอนนี้ขาดสภาพคล่อง ในมูลค่าสูงถึง 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ

แต่อีลอน มัสก์มองว่า การพัฒนาพลังงานทางเลือกเพื่อบ้านยุคต่อไป จำเป็นต้องให้สองบริษัทนี้ควบรวมกัน (เทสล่า และโซลาร์ซิตี้) เนื่องจากจะลดข้อจำกัดด้านการทำงานลงได้มาก อีกทั้งยังทำให้เป้าหมายของเขาเกี่ยวกับการใช้พลังงานสะอาดเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น โดยเทสล่ามีแผนจะพัฒนาแผงผลิตพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดหลังคาพร้อมแบตเตอรี่ ซึ่งเขามองว่า พลังงานจากฟอสซิลนั้นใกล้จะหมดลงทุกทีแล้ว และหากยังพึ่งพาพลังงานเหล่านั้นอยู่ก็จะทำให้อารยธรรมโลกต้องล่มสลาย

ที่มา: http://www.manager.co.th/cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000072631