เจริญ สิริวัฒนภักดี ยี่ห้อเจริญอะไรก็เป็นได้

ยิ่งเศรษฐกิจไม่ดี ยิ่งเห็นคนรวยชัดขึ้น อย่างกรณี “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ปรากฏเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง มาจากการเป็น “นักซื้อ” ของเขา ที่ได้กว้านซื้อโครงการต่างๆ มากมาย ทั้งกิจการโรงแรม ธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลัง แม้ว่าจะไม่ได้ปรากฏตัวอยู่ในข่าวด้วยตัวเอง หรือออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องใดๆ เลยก็ตาม

ที่ดินในครอบครองของ “เสี่ยเจริญ”มากแค่ไหน ถึงกับมีการเปรียบเปรยว่า ถ้าลองโยนเหรียญลงไปบนพื้น คงต้องไปตกลงในที่ดินของคุณเจริญไม่ที่ใดก็ที่หนึ่งแน่”

การเข้าซื้อกิจการต่างๆ เข้ามาไว้ในเครือข่าย ไม่ใช่แค่สินทรัพย์ประเภทอาคารที่ดินเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงการขยายกิจการในรูปแบบต่างๆ ที่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ แม้กระทั่งการดึงนักบริหารมือดีสาขาต่างๆ เข้ามาดูธุรกิจในส่วนที่ขยายออกไปอย่างครบวงจรไปพร้อมกัน

เฉพาะที่ดินรวมที่มีอยู่แล้วก็นับแสนไร่ แต่จากการบอกเล่าของลูกสาว วัลลภา ไตรโสรัส ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลกิจการด้านอสังหาริมทรัพย์ร่วมกับสามี โสมพัฒน์ ไตรโสรัส เปิดเผยว่า โดยเฉลี่ยทุกๆ วันก็จะต้องมีคนนำที่ดินมาเสนอให้ดูอยู่เสมอ ช่วงที่ถือว่าไม่คึกคักก็ยังมีไม่ต่ำกว่าวันละ 10 แปลง ฉะนั้นข่าวความเคลื่อนไหวของการซื้อที่ดินหรือกิจการต่างๆ เพียงแค่เดือนละครั้งอาจจะเรียกว่าน้อยไปก็ได้สำหรับเจริญ

รูปแบบการลงทุนของเจริญไม่ต่างจากการลงทุนของกลุ่มทุนใหญ่ในต่างประเทศ ที่ต้องกระจายความเสี่ยงไปด้วยความสร้างความหลากหลายทางธุรกิจ มีการต่อยอดจากธุรกิจหนึ่งไปสู่ธุรกิจหนึ่งทั้งที่เกี่ยวเนื่องและไม่เกี่ยวเนื่อง อะไรที่ให้ผลตอบแทบดีก็พร้อมจะเข้าไปลงทุน

ไม่ต้องย้อนไปไกล แค่ความเคลื่อนไหวในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เจริญก็สร้างปรากฏการณ์การลงทุนแบบไม่จำกัดให้เป็นข่าวมากมายในทุกๆ ธุรกิจที่ทีซีซี กรุ๊ป ของเขาดำเนินธุรกิจอยู่

ควบตำแหน่งเจ้าสัวธุรกิจเกษตร

นอกจากที่ดินแล้ว เจริญยังมีชื่อเสียงด้านธุรกิจการเกษตรไม่แพ้เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ของค่ายซีพี ซึ่งเติบโตมากับอุตสาหกรรมการเกษตรโดยตรง โดยมีวิธีการสร้างธุรกิจที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เจริญซื้อ ซื้อ และซื้อ ลงทุนเองแบบครบวงจร ขณะที่เครือซีพีส่วนใหญ่จะออกมาในลักษณะของ Contact Farming ทั้งเรื่องพืชและสัตว์

เมื่อมองย้อนกลับไปในจุดเริ่มต้นของธุรกิจเกษตรของเจริญ จึงเริ่มต้นมาจากการเป็นนักซื้อที่ดินนั่นเอง เริ่มจากที่ดิบรอบโรงเหล้าแล้วก็ขยายไปยังที่ต่างๆ วันนี้เขาค่อยๆ เปลี่ยนที่ดินและแปรสภาพตัวเองเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มากมาย แต่ในอีกภาคหนึ่งเขายังได้ชื่อว่า เป็นเจ้าของสวนปาล์ม สวนยางพารา นาข้าว ระดับเบอร์หนึ่งของประเทศไทยอีกด้วย แถมยังดูเหมือนว่าเขาไม่ได้คิดจะหยุดบทบาทตัวเองไว้แค่เมืองไทย เพราะทุกวันนี้การขยายกิจการของเขาครอบคลุมไปอีกในหลายประเทศทั้งใกล้และไกล

เมื่อราคาน้ำตาลแพง เจริญก็มีแผนไปลงทุนปลูกอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลซึ่งเป็นวัตถุดิบในการทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึงประเทศกัมพูชา
ภาคธุรกิจเกษตร บริษัท ทีซีซี กรุ๊ป ของเจริญ มีบริษัททีซีซี อะโกรเป็นผู้ดูแล ซึ่งเจริญยังลงทุนว่าจ้างอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตรและอดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่เกษียณราชการมาเป็นกรรมการผู้จัดการของกลุ่มบริษัทนี้ รวมทั้งเป็นพี่เลี้ยงให้กับ ปณต สิริวัฒนภักดี ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลธุรกิจในกลุ่มเกษตร

การบริหารงานของทีซีซี อะโกร ปัจจุบันมีที่ดินให้คิดว่าควรจะปรับปรุงเพื่อปลูกพืชชนิดไหนอยู่กว่า 1 แสนไร่ จากการสะสมที่ดินกว่า 30 ปี กระจายอยู่ใน 50 กว่าจังหวัดทั่วประเทศ

เจริญมีเป้าหมายที่จะปลูกยาพาราให้ได้ประมาณ 45,000 ไร่ ซึ่งจะทำให้เขาเป็นเจ้าของสวนยาพาราที่ใหญ่ที่สุดภายในปี 2553 และสวนปาล์มอีกกว่า 1 พันไร่ที่ จ.ชุมพร ซึ่งยังมีแผนขยายพื้นที่ปลูกปาล์มเพิ่มในกัมพูชา

หลังจากที่เข้าไปเทกโอเวอร์โรงงานน้ำตาลถึง 4 แห่ง เขาก็ต่อยอดด้วยการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มเป็น 5 พันไร่ในปีนี้ และมีแผนจะเพิ่มเป็นกว่า 7 พันไร่ในปี 2552 ทำให้เจริญกำลังจะกลายเป็นเจ้าของพื้นที่ปลูกอ้อยรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยไปอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

นอกจากนี้ยังไม่รวมแผนการปลูกมันสำปะหลังเพื่อเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานเอทานอล เพราะการก้าวสู่ธุรกิจเกษตรของเขา ถูกมองไกลไปถึงการเป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจพลังงานทดแทนในอนาคตจากการปลูกพืชต่างๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น ปาล์ม อ้อย หรือมันสำปะหลัง

กรณีของข้าวที่ราคาทีมตัวสูงไปแล้วกว่าเท่าตัวในปีนี้ เจริญก็ไม่ยอมพลาดตำแหน่งที่จะเป็นเจ้าของที่นาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เขาเริ่มปลูกข้าวบนพื้นที่ 2 พันไร่ที่ จ.หนองคาย ตั้งแต่ปลายปี 2550 พร้อมกับเตรียมพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำป่าสักใน จ.เพชรบูรณ์ และพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อปรับเป็นนาข้าวรวมๆ กันแล้วราว 2 หมื่นไร่ จนแทบจะคิดกันไม่ออกแล้วว่า ต่อจากนี้นอกจากการซื้อที่ดินเพื่อการลงทุนแล้ว สำหรับเจริญเขายังจำเป็นต้องซื้ออะไรอีกสำหรับการดำเนินชีวิตประจำวัน

พอร์ตเครื่องดื่มเทกทั้งคนและธุรกิจ

แม้การซื้อโออิชิเมื่อปีก่อนจะเป็นข่าวใหญ่ไปแล้ว แต่ความเคลื่อนไหวในการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้นของโออิชิในตลาดช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก็เป็นการรีมายด์ถึงความยิ่งใหญ่ของธุรกิจในเครือเจริญได้อีกรั้ง แม้แต่การเปิดตัวคอฟฟิโอ กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่มของโออิชิ ก็ยังถูกมองว่าเป็นหมากหนึ่งของเจริญ ในการรุกตลาดเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น ซึ่งนั่นทำให้คนที่มีสินค้าอยู่ในไลน์เดียวกันต้องตื่นตัวเพื่อกันพื้นที่ของตัวเองในตลาดไว้ให้เหนียวแน่น

นอกจากสินค้า ในสายธุรกิจเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ ซึ่งไม่ใช่ธุรกิจของหลักของเจริญตั้งแต่ต้น ทำให้เขาต้องลงทุนด้านบุคลากรที่จะเข้ามาบริหารไปพร้อมๆ กับกิจการใหม่ที่ซื้อเข้ามา

ตอนซื้อโออิชิ เขาได้ ตัน ภาสกรนที ผู้ก่อตั้งโออิชิ มาเป็นลูกจ้างมืออาชีพ แต่เมื่อพอร์ตธุรกิจนอนแอลกอฮอล์มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น เดือนเมษายนที่ผ่านมา เจริญได้ตัว ชาลี จิตจรุงพร จากค่ายเสริมสุข ซึ่งทำตลาดเป๊ปซี่มานานกว่า 20 ปี มานั่งเป็นรองประธานฝ่ายการตลาดเพื่อดูธุรกิจเครื่องดื่มในเครือ โดยยกแบรนด์สำคัญอย่างเบียร์ช้างให้บริหารเป็นการประเดิม

นอกจากโออิชิ เจริญยังเข้าไปถือหุ้นในบริษัทพรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) ในหมวดอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหาร 0.23% หรือจำนวน 1.5 ล้านหุ้น ไว้ด้วยสำหรับการลงทุนในธุรกิจนี้ และก่อนหน้านั้นก็ซื้อแบรนด์เครื่องดื่มอย่างแรงเยอร์ เข้ามาไว้ในพอร์ต รวมทั้งคาราบาวแดง ซึ่งข่าวภายนอกเชื่อว่ายังตกลงเรื่องราคากันไม่แล้วเสร็จ แต่การบริหารงานภายในบริษัท จัดคาราบาวแดงเป็นสินค้าในพอร์ตไปเรียบร้อยแล้ว

ขณะที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้ไม่ได้ซื้อแบรนด์ใหม่เข้ามา แต่การเปิดตัวเบียร์ Fredderbrau ที่เลือกชื่อและการออกแบบโดยคุณหญิงวรรณา ผู้เป็นภรรยา ก็เป็นสีสันการเคลื่อนไหวให้กับตลาดเบียร์พรีเมียมในช่วงต้นปีนี้

กลับมาเอาจริงกับธุรกิจประกัน

ธุรกิจที่ใครก็อยากทำเพราะสามารถสร้างความมั่นคงด้านการเงินได้ไม่แพ้ธุรกิจธนาคาร เจริญพยายามเข้าสู่ธุรกิจนี้ตั้งแต่ปี 2538 แต่ยังไม่เห็นผลเต็มที่ ก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวในปีนี้ ด้วยการที่ทีซีซี กรุ๊ปเข้าไปถือหุ้นเต็ม 100% พร้อมกับวางแผนขยายการเติบโตให้ได้ 25% ในสิ้นปี และส่งลูกๆ เข้าไปบริหารเต็มตัว โดยมี อาทินันท์ และ โชติพัฒน์ พีชานันท์ ลูกสาวคนโตและลูกเขย เป็นแม่งาน โดยวางแผนที่จะขยายตลาดจากการขายประกันให้กับกลุ่มธุรกิจในเครือด้วยรูปแบบของการร่วมมือกันระหว่างธุรกิจในเครือ ซึ่งปัจจุบันเจริญมีพนักงานในเครือมากกว่า 5 หมื่นคน ที่สามารถรีครูทเข้ามาเป็นตัวแทนรวมทั้งเป็นฐานลูกค้าได้ไม่ยากเลย

ธุรกิจอสังหาฯแสนล้านก็อาจจะน้อยไป

ถือเป็นภาคธุรกิจที่ใหญ่รองลงมาจากธุรกิจเครื่องดื่มซึ่งมีเหล้าและเบียร์เป็นฐานเดิม

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นอีกภาคที่เจริญเข้าไปมีบทบาทปรากฏเป็นข่าวอยู่เสมอ โดยเฉพาะการซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างนานาประเภท ใครต้องการเสนอขายหรือแม้แต่ภาครัฐที่ต้องการผู้ร่วมประมูลเพื่อพัฒนาพื้นที่สำคัญๆ เจริญคือชื่อที่ทุกคนนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ อยู่เสมอ

เฉพาะช่วงต้นปีนี้ เจริญมีทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์เข้ามาในพอร์ตแบบไหลมาเทมา และมีแผนที่จะลงทุนพัฒนาไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาทในธุรกิจโรงแรม ซึ่งในปีนี้ทีซีซี แคปปิตอล แลนด์ ซึ่งดูแลด้านนี้ ประกาศเปิดตัวแบรนด์โรงแรมใหม่ 2 แบรนด์ คือ อิมม์ และเอเชียธีค บวกกับเชนเก่าที่ใช้บริการอยู่แล้ว 2 แบรนด์ ได้แก่ อิมพีเรียล และเมอริเดียน พร้อมแผนการพัฒนาอย่างต่อเนื่องถึงปี 2553

แบรนด์ IMM เป็น Budget Hotel มีแผนที่จะพัฒนาให้ได้ 5 พันห้องใน 3 ปี โดยคาดว่าจะต้องใช้งบพัฒนาแห่งละ 100 ล้านบาท ส่วนเอเชียธีค เป็นแบรนด์โรงแรมหรูระดับ 5 ดาว ซึ่งจะเริ่มพัฒนาแห่งแรกบริเวณที่ดิน 10 ไร่ ติดกับโรงแรมโอเรียนเต็ล พร้อมกับปรับปรุงโรงแรมเดอะแกรนด์ ที่ซื้อไว้ที่หลวงพระบาง นำมาปรับปรุงและเปิดบริการภายใต้เชนเดียวกัน ขณะที่เชนอิมพีเรียล ระดับ 4 ดาว ซึ่งมีอยู่แล้วจำนวน 13 แห่งทั่วประเทศ ยังคงดำเนินต่อไป พร้อมกับโรงแรมที่บริหารโดยเชนเมอริเดียนของต่างประเทศ ซึ่งมีอยู่แล้ว 2 แห่งได้แก่ เมอริเดียน สุรวงศ์ และเชียงใหม่ ซึ่งมีแผนจะก่อสร้างโรงแรมในเชนนี้เพิ่มอีกอย่างน้อย 4 แห่ง

ปี 2550 ที่ผ่านมา เจริญยังเข้าซื้อโรงแรมหลายแห่งในต่างประเทศ รวมแล้วจำนวนโรงแรมในเครือที่อยู่ในต่างประเทศของเจริญตอนนี้ ได้แก่ เมอริเดียน อังกอร์ เสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา เดอะ แกรนด์ หลวงพระบาง โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท ประเทศลาว มีเลีย ฮานอย ประเทศเวียดนาม อินเตอร์คอนติเนนตัล ประเทศสิงคโปร์ โรงแรมซากุระ คุนหมิง และโรงแรมแบงก์ คุนหมิง ประเทศจีน เวสติน กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เดอะ พาร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศอังกฤษ และโรงแรมพลาซา แอทธินี นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

สินทรัพย์ประเภทโรงแรมที่เจริญเพิ่งซื้อมาเข้าสต็อกล่าสุด ได้แก่ โรงแรม มาเจสติก หัวหิน มูลค่า 1.2 พันล้านบาท โรงแรมอลามาส รีสอร์ท แอนด์สปา หาดในยาง ภูเก็ต และโรงแรม พรพิงค์ เชียงใหม่ มูลค่ากว่า 1.5 พันล้านบาท และโรงแรมเมโทรโพล กลางเมืองภูเก็ต พื้นที่ 10 ไร่

เฉพาะที่เชียงใหม่ เจริญ ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่ย่านไนท์บาซาร์ไปเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่เข้าไปเปิดพันธุ์ทิพย์สาขาเชียงใหม่เมื่อหลายปีก่อน จากนั้นเขาก็ทยอยซื้อพื้นที่ในย่านไนท์บาซาร์มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ตลาดอนุสาร สุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์ และที่ดินที่ตั้งโรงพยาบาลซึ่งอยู่ติดกัน

นอกจากมีสินทรัพย์ทำเลดีมาเสนอให้เลือกซื้อ งานประมูลสำคัญๆ ก็ต้องมีชื่อเจริญอยู่ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นที่ดินจำนวน 38 ไร่ ของบริษัท ยูนิเวสท์แลนด์ จำกัด (มหาชน) บริเวณแดนเนรมิตเดิม บนถนนพหลโยธิน ที่กรมบังคับคดีนำมาขายทอดตลาดโดยตีมูลค่าเริ่มต้นไว้กว่า 1.1 พันล้าน หรือแม้แต่การประมูลที่ดินของกรมธนารักษ์ เพื่อเสนอแผนในการพัฒนาศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ระยะที่ 2 บนพื้นที่เกือบ 100 ไร่ ก็พยายามเชิญชวนเจริญให้เข้าร่วมการประมูลรอบใหม่ในฐานะนักลงทุนคนสำคัญ

แค่นั่งนับธุรกิจของเจริญก็ถึงกับทำให้เหนื่อยกันได้ แต่ในฐานะนักลงทุน สำหรับเจริญแล้ว ดูเหมือนว่า ไม่ว่าจะเป็นตอนนี้หรือในอนาคต เขาก็คงจะยัง “ซื้อได้อีก” โดยไม่ลังเล เพราะผลประโยชน์ที่ทบคูณทวีถ้าไม่นำไปต่อยอดก็คงไม่ใช่วิสัยของนักลงทุนที่ดีสักเท่าไร

Profile

Name เจริญ สิริวัฒนภักดี ชื่อเดิม โซว เคียกเม้ง นามสกุลเดิม ศรีสมบูรณานนท์
Born 2 พฤษภาคม 2487
Family ภรรยา คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี (แซ่จิว) บุตรชายหญิง 5 คน ได้แก่ อาทินันท์ วัลลภา ฐาปน ฐาปนี และปณต
Education ป.4 โรงเรียนเผยอิง
Positioning Highlight ต้นปี 2008 ได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารฟอร์บว่า เป็นบุคคลที่รวยอันดับที่ 194 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ในไทย
ธุรกิจในเครือ สุราเหล้าแม่โขง เชียงชุน เหล้าขาว เหล้านอก เบียร์ช้าง ธุรกิจการค้าหุ้น ธุรกิจค้าเงิน ธุรกิจค้าที่ดิน ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจโรงงานอุตสาหกรรม (โรงงานกระดาษที่บางปะอิน โรงงานน้ำตาลแม่วัง ที่อุตรดิตถ์ ที่สุพรรณบุรี ที่ชลบุรี โรงงานแอลกอฮอล์ โรงงานน้ำมันเอทานอล โรงงานทำขวด) ธุรกิจเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมการเกษตร ธุรกิจโฮลดิ้ง ธุรกิจบริการ (ธุรกิจกับการโฆษณา การแสดงสินค้า ประชุม ประชาสัมพันธ์ การกีฬา และร้านค้าสะดวกซื้อ)