“พญาไม้” นักหนังสือพิมพ์-ล็อบบี้ยิสต์

หากคุณต้องการอ่านข้อเขียน บทความทางการเมืองที่เลือกข้างชัดเจน ผ่านลีลาภาษาที่เห็นภาพ คุณต้องอ่านคอลัมณ์ของเขา ในหนังสือพิมพ์ข่าวสด และบางกอกทูเดย์ ภายใต้นามปากกา “พญาไม้” หรือหากอยากได้ยินเสียง เห็นสีหน้าแววตา ในบทบาทใหม่ของการเจ้าของรายการ และเป็นพิธีกรรับเชิญ พบกันได้ในบางวันทางช่องเอ็นบีที เวลา 4 ทุ่ม รายการ “ข่าวหน้า 4”

หรือหากคุณเป็นนักการเมือง พ่อค้านักธุรกิจ ที่แสดงตนชัดเจนว่าคือเพื่อนกับเขา และต้องการความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยอย่างการฝากลูกเข้าโรงเรียน ไปจนถึงเรื่องการพาหนีคดีความ ลี้ภัยการเมืองไปนอกประเทศ และกลับเข้าประเทศ การประมูลโครงการ หรือแม้กระทั่งร่วมผลักดันการจัดตั้งรัฐบาล บทบาทที่สะท้อนความเป็นล็อบบี้ยิสต์เช่นนี้ คุณต้องนึกถึงเขา “พี่เด็จ”

“พญาไม้” และ “พี่เด็จ” เป็น 2 บทบาทในคนเดียวกันของคนที่มีชื่อจริง นามสกุลจริงตามทะเบียนราษฎร์ว่า “เผด็จ ภูรีปติภาน” ที่ต้องบันทึกว่าคือผู้เลื่องชื่อที่สุด ณ เวลานี้ในวงการสื่อ และวงการการเมืองของไทย แม้จะมีนักหนังสือพิมพ์อีกหลายคนที่มีบทบาท 2 in 1 แต่ “พญาไม้” คือคนที่แรง และแรงได้อีก

นาทีนี้ที่การเมืองวุ่นวาย แบ่งฝ่ายกันอย่างสุดขั้ว “เผด็จ พญาไม้” คือคนที่หากใครได้สัมผัส เป็นเจ้าของ ใช้บริการแล้ว เรียกได้ว่าเกินคุ้ม เพราะได้รู้จักทั้งคนที่ฝีมือฉกาจในการประสานสิบทิศ กับนักหนังสือพิมพ์ที่ไม่เพียงเป็นคอลัมนิสต์ แต่ยังเป็นเจ้าของสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ ที่พร้อมตอบโต้ศัตรู หรือเชียร์ผู้ที่ตัวเองเป็นมิตรอย่างสุดตัว

ไม่ต้องให้ใครมาบรรยายถึงความเป็น “พญาไม้” แต่เขาได้ย้ำคุณสมบัติพิเศษของตัวเอง ผ่านคอลัมน์ “พญาไม้ทูเดย์” หน้า 2 หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์ หลายครั้ง อย่างล่าสุด วันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2551 ด้วยตัวอักษรที่เรียงร้อยออกมาบนหน้ากระดาษอย่างชัดเจน
“…ผิดด้วยหรือ…ที่คนไทยสักคน…จะไปพูดถึงเหตุถึงผลกับคนการเมือง…จะช่วยลดความขัดแย้งแล้วหันหน้ากันมาสร้างความสมานฉันท์…

ถ้าไม่ผิด…คนคนนั้น…ก็คือคนที่ต่อสายหาบรรหาร ศิลปอาชา คนคนนั้นให้ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ กับ ทักษิณ ชินวัตร หรือ สมศักดิ์ เทพสุทิน เลิกแล้วต่อกัน…ถ้าการทำให้คนเกลียดกันหันมารักกัน ถ้าการทำให้คนที่ไม่เข้าใจกันหันมามองเหตุหาผล จนสามารถคบหาสมาคมกันต่อไปได้…

คนคนนั้นก็คือผม…”

“พญาไม้” คือนักหนังสือพิมพ์อาวุโส ในวัย 64 ปี เพื่อร่วมรุ่นอาชีพมีหลายคนเป็นทั้งคอลัมนิสต์และเจ้าของหนังสือพิมพ์ บางคนยังอยู่ในแนวทางเดียวกับพญาไม้ แต่บางคน เลือกเดินคนละแนว

“พญาไม้” แม้จะชื่นชอบงานด้านวิศวกร ก่อสร้าง และเรียนช่างกล แต่การเริ่มต้นเป็นนักข่าวการเมืองที่ นสพ.พิมพ์ไทย เมื่อกว่า 30 ปีก่อน โดยการชักนำของญาติคนหนึ่งคือ “มานะ แพร่พันธ์” ที่เป็นบรรณาธิการพิมพ์ไทยเวลานั้น ทำให้ “เผด็จ” กลายเป็น “พญาไม้” ในวันนี้

นามปากกา “พญาไม้” มาจากตัวเขาเองที่สะดุดจากการเห็นชื่อซอยหนึ่ง และเห็นความลงตัวในความต่างระหว่างคำ “พญา” ที่มีความหมายถึงความยิ่งใหญ่ กับคำว่า “ไม้” ที่เป็นวัสดุธรรมชาติธรรมดาอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่เมื่อรวมกันแล้วดูมีความยิ่งใหญ่ โดยเริ่มใช้มาตั้งแต่ช่วง 14 ตุลาคม 2516

ด้วยความที่เป็นลูกทหาร ที่พ่อเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นอกจากทำให้ “พญาไม้” เข้าใจชีวิตราชการแบบทหารอย่างดีแล้ว ยังทำให้มีโอกาสรู้จักนายทหารระดับใหญ่ ข้อเขียนที่เข้าถึงใจ “ทหาร” ทำให้ทหารหลายคนเป็นแฟนประจำของเขา

ผสมผสานกับจำนวนนักข่าวในอดีตมีไม่มาก และรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน ทำให้นักข่าวก๊วนของ “พญาไม้” ในช่วงนั้น ทั้งนักการเมืองและทหารต้องเข้าหา เพราะหากนักข่าวกลุ่มนี้ตกลงกันว่าจะไม่รายงานข่าวก็ไม่มีข่าว และคอนเนกชั่นจากรุ่นพ่อทำให้ “พญาไม้” ยังสามารถพาเพื่อนนักข่าวไปแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองบ่อยครั้ง ยิ่งแลกเปลี่ยนข้อมูล ยิ่งกินข้าวด้วยกัน ยิ่งสนิทสนม รู้ทางกันมากขึ้น

“พญาไม้” ผ่านการทำงานที่ “ดาวสยาม” “แนวหน้า” ซื้อหัวหนังสือพิมพ์ “ข่าวสด” บริหารเองแต่เป็นเจ้าของได้ 6-7 ปี ก็ขายต่อให้ “ขรรค์ชัย บุนปาน” เพราะกลัวต้นทุนที่อาจทำให้เป็นหนี้ จากนั้น “พญาไม้” รับหน้าที่เขียนคอลัมน์ และเป็นบก.อาวุโส มาตั้งแต่ปี 2541 จนเพิ่งเข้ารับทองคำหนัก 1 บาท ตามธรรมเนียมของค่ายมติชนที่จะให้ทองพนักงานที่อยู่ครบ 10 ปีเมื่อต้นปี 2551 ที่ผ่านมา

ประมาณ 5 ปีที่แล้ว “พญาไม้” ร่วมกับเพื่อนรัก “ไพวงษ์ เตชะณรงค์” เจ้าพ่อรีสอร์ตอลังการ “โบนันซ่า” เขาใหญ่ ทุ่มทุนเปิดตัวหนังสือพิมพ์รายวันขนาดแท็บลอยด์ “บางกอกทูเดย์” ภายใต้ชื่อบริษัททราฟฟิค คอร์เนอร์ ยิ่งตอกย้ำสายสัมพันธ์ที่แน่นหนากับผู้หลักผู้ใหญ่ในการเมือง เพราะ “ไพวงษ์” คือก๊วนเดียวกับ “พล.ต.ศรชัย มนตริวัตร” คนสนิทของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เกือบได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน แต่การต่อรองไม่สำเร็จ ทำให้พ.ต.ท.ทักษิณเลือกนอมินี เป็น”สมัคร สุนทรเวช” แทน

ข้อมูลแบบอินไซเดอร์ของ “พญาไม้” ยังชี้ให้เห็นความลึกในขั้วอำนาจ อย่างเมื่อครั้งก่อนการเลือกตั้งที่เขียนไว้ในคอลัมน์ว่าพรรคพลังประชาชนจะชนะการเลือกตั้ง สูตรที่จะเกิดขึ้นคือประชาชนเลือกผู้แทน แต่ “ทักษิณ” จะเป็นคนเลือกนายกรัฐมนตรี

“พญาไม้” ได้รับความเกรงใจจากนักการเมืองเป็นอย่างยิ่งแม้กระทั่ง “ทักษิณ” ยังต้องเชิญดินเนอร์ที่ร้านอาหารญี่ปุ่น นิปปอนเต แถวราชประสงค์ เมื่อเดือนธันวาคม 2548 พร้อมกับอีก 4 อรหันต์ในวงการหนังสือพิมพ์ หลังจากที่ “ทักษิณ” ตบะแตก วิจารณ์ว่าคอลัมนิสต์บางคนเขียนคอลัมน์ไปพร้อมกับจิบไวน์ หรืออีกนัยหนึ่งคือ คอลัมน์ที่เขียนปราศจากข้อมูลที่น่าเชื่อถือ

จากคนเบื้องหลังมานานหลายสิบปี “พญาไม้” เริ่มทำสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม MV News ที่แฟนคลับของ “ทักษิณ” ชื่นชอบ เพราะตอบโต้สถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี ของ “สนธิ ลิ้มทองกุล” ชนิดคนละขั้ว “พญาไม้” ปรากฏโฉมทางเอ็นบีที จนทำให้คนกลุ่มใหญ่รู้ชัดเจนมากขึ้นว่า Mission สำคัญของ “พญาไม้” คือการตอบโต้ และโต้ตอบคนที่อยู่คนละข้างกับกลุ่ม “ทักษิณ” ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คนของพรรคประชาธิปัตย์ อย่าง “อลงกรณ์ พลบุตร” ที่เคยถูก “พญาไม้” โจมตีหลังจากที่อลงกรณ์ออกมาคอมเมนต์ “จักรภพ เพ็ญแข” ที่ปรับโฉมช่อง 11 เป็นเอ็นบีที และให้พวกพ้อง 1 ใน 5 อรหันต์เข้ามากินเค้กในเอ็นบีที

หรือแม้แต่การโชว์พลัง ให้เห็นระหว่างการสัมภาษณ์นักการเมืองบางคน ออกอากาศที่ “พญาไม้” ไม่จำเป็นต้องเรียกเขาเหล่านั้นว่า “คุณ” ขณะที่เขาเหล่านั้นต้องเรียกว่า “พี่เด็จ” ทุกคำ

“พญาไม้” แม้จะเป็นคนรูปร่างไม่สูงนัก แต่สามารถทำให้คนเกรงใจได้ เพระน้ำเสียงคงสไตล์ความเป็นผู้ใหญ่ พร้อมสาระความรู้อยู่ในถ้อยคำแต่ละคำ แต่ก็ไม่ได้ทำให้คนใกล้ชิดเกร็งเสียจนอยากอยู่ห่าง เพราะสีหน้าใจดี ที่บางครั้งยิ้มจนตาหยี ดูไร้พิษสง จึงทำให้คนหลายรุ่นโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ไม่กลัวที่จะเข้าหา

ทุกวันนี้ ที่คอนโดชั้น 7 ที่ตกแต่งอย่างหรูบนชั้นสูงสุดของ “บ้านสวนคอนโดมิเนียม” ถนนวิภาวดี เวลาเที่ยงถึงบ่ายโมงทุกวันจันทร์-ศุกร์ จึงคึกคักด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา ทั้งคนหนุ่มในวัย 40 ไปจนถึง 60 กว่า มีทั้งนักธุรกิจ ทหาร ตำรวจ นักการเมืองเกือบทุกพรรค ทั้งพลังประชาชน และประชาธิปัตย์ เพื่อมาร่วมวงกินข้าวแกงที่มีเมนูประมาณ 10 อย่าง และพูดคุยกัน

สำหรับเสาร์-อาทิตย์ วงข้าวแกงไม่เปิดบริการ เพราะ “พญาไม้” จะกลับบ้านที่กาญจนบุรี หากไม่มีธุระใดๆ ในกรุงเทพฯ

บรรยากาศสนทนาที่บ้านสวนคอนโด บางคนไปเพื่อขอความรู้เรื่องธุรกิจที่จะลงทุน ขอคอมเมนต์ทิศทางการเมือง หรือกำลังใจในการทำงาน เพราะ “พญาไม้” แม้จะพูดไม่เก่งเท่าการเขียน แต่หลายคนก็ได้ข้อคิดดีๆ กลับมา

“ที่ผมไปที่นั่น ผมไม่เห็นว่าเขาจะดูเป็นมาเฟียตรงไหน ดูเหมือนผู้ใหญ่ใจดีมากกว่า ผมไปเพราะมีคนแนะนำให้รู้จักอีกทีหนึ่ง ไปแล้วได้เจอคนหลายคน หลายกลุ่ม มีครั้งหนึ่งผมจำได้ พี่เด็จบอกว่า คนเราต้องเป็นแบบพญาอินทรีย์ อย่าเป็นแบบนกกระจอก เพราะนกกระจอกกว่าจะบินต้องกระพือปีกเป็นร้อยครั้งกว่าจะบินได้ แต่พญาอินทรีย์ตีปีกครั้งเดียวก็บินขึ้นเลย”

นี่คือหลักคิดที่หนึ่งในสมาชิกวงข้าวแกงบนสวรรค์ชั้น 7 นำมาใช้ในการทำงาน หรือแม้แต่เพื่อนรักอย่าง “ไพวงษ์” ก็มีเรื่องเล่าขานกันมาว่า เพราะ “พญาไม้” ทำให้ “ไพวงษ์” ทิ้งแอลเอ แล้วบินกลับมาเมืองไทยจนเป็นใหญ่ในปัจจุบัน ด้วยประโยคเพียงว่า “อยู่ที่โน่นจะใหญ่แค่ไหน ก็เป็นได้แค่พลเมืองชั้น 2”

แขกอีกคนหนึ่งบอกว่า “พี่เด็จ เป็นคนติดดิน ใส่ชุดธรรมดาเวลาอยู่ที่บ้าน กางเกงบอล เสื้อกล้ามผมก็เคยเจอมาแล้ว” และอีกคนบอกว่า “พี่เด็จเป็นคนที่ทุกคนรู้จักแล้วรัก เพราะเขารับปากว่าจะทำให้ คำไหนคำนั้น พี่เด็จจะทำให้ได้”

หนึ่งในผลงานนี้ที่เห็นชัดคือการที่ “พี่เด็จ” ช่วยเจรจากับคณะทหาร รสช. ให้ครอบครัว “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” และครอบครัวกลับเมืองไทย เมื่อปี 2534 สามารถเริ่มนับหนึ่งอีกครั้งกับเส้นทางการเมืองจนกลมเกลียวกับบิ๊กจิ๋วในเวลาต่อมา

นี่คือเสี้ยวเดียวของเรื่องราว “เผด็จ พญาไม้” ที่ “สื่อ” น้ำดี ยึดมั่นในจรรยาบรรณชนิดสมบูรณ์แบบอาจไม่อยากเข้าใกล้ แต่ความลงตัวระหว่างเพาเวอร์ความเป็นสื่อ และความเป็นล็อบบี้ยิสต์มืออาชีพ คือแม่เหล็กคุณภาพ ดึงดูดให้คนอยากมีอำนาจทั้งหลายเดินเข้าหาอย่างไม่ขาดสาย

Profile

Name : เผด็จ ภูรีปติภาน (ชื่อสกุลตามทะเบียนราษฎร์ เปลี่ยนสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม) เผด็จ ภูรีปฎิภาณ (ชื่อสกุลเดิม) นามปากกา : พญาไม้
Age : 64 ปี
Education : โรงเรียนอำนวยศิลป์
Career Highlights :
ปี 2510 เริ่มชีวิตนักข่าวที่หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย สายข่าวการเมือง จากนั้นก็เข้าไปทำงานทั้งที่ดาวสยาม ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์แนวหน้า และข่าวสด จนปัจจุบัน รับตำแหน่งผู้บริหารหนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์ ทำรายการคุยข่าวผ่านสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม MV News และเอ็นบีที
: เป็นนักประสานงานกลุ่มคนต่างๆ ตั้งแต่ธุรกิจ จนถึงการเมือง ทหาร ตำรวจ