แอนดรอยด์ 7.0 “นูแก็ต” (Nougat) มาแล้ว

ภาพจาก AFP

เปิดตัวแล้วอย่างเป็นทางการ สำหรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เวอร์ชันใหม่ล่าสุด 7.0 นูแก็ต (Nougat) ซึ่งผู้ที่ถือสมาร์ทโฟนยี่ห้อ Nexus รุ่น 6, 6P, 5X, Pixel C หรือ Nexus 9 tablet สามารถอัปเกรดได้แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ส่วนผู้ที่ไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟน Nexus ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า อาจต้องร้องเพลงรอไปเรื่อยๆ สำหรับการอัปเกรด เพราะบางยี่ห้ออาจเปิดให้อัปเกรดมาเป็นนูแก็ต 7.0 กันภายในไม่กี่เดือน ขณะที่บางเจ้าอาจใช้เวลาเป็นปีๆ เลยทีเดียว

สำหรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในแอนดรอยด์ 7.0 นูแก็ตนั้น อาจไม่ถือว่ามากนัก แต่ก็มีการปรับปรุงในเรื่องการทำงานแบบมัลติทาสก์กิ้ง และระบบรักษาความปลอดภัยอยู่พอควร

โดยในด้านการทำงานแบบมัลติทาสก์กิ้งนั้น นูแก็ต สามารถแบ่งการทำงานของหน้าจอได้เป็นสองแอปพลิเคชัน ซึ่งความสามารถในการแบ่งหน้าจอได้นี้เคยมีใช้งานในสมาร์ทโฟนของซัมซุง แอปเปิล และวินโดวส์โฟน เช่นกัน แต่สำหรับการพัฒนาให้นูแก็ต รองรับได้ คือ การชี้ให้เห็นว่า กูเกิล ให้ความสำคัญกับฟีเจอร์ดังกล่าวอยู่พอสมควร และมองว่าฟีเจอร์นี้ คือ อนาคตหนึ่งที่ระบบปฏิบัติการต้องรองรับให้ได้

อีกส่วนหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดก็คือ Notifications ซึ่งในนูแก็ต ผู้ใช้งานสามารถตอบกลับข้อความที่ส่งเข้ามาได้จาก Notifications เลย ไม่ต้องเปิดแอปเพื่อเข้าไปตอบอีกต่อไป

ส่วนคนที่เคยทราบข้อมูลเกี่ยวกับแพลตฟอร์มสำหรับ VR อย่าง Daydream จากงาน Google I/O 2016 อาจต้องรอต่อไปอีกสักหน่อย เนื่องจาก Daydream ยังไม่ได้มาพร้อมกับการเปิดตัวนูแก็ต ในรอบนี้

นอกจากความสามารถของนูแก็ต ที่จะมีรายงานออกมาอีกเป็นระยะๆ แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สื่อตะวันตกกำลังรอคอยก็คือ ตัวเลขการอัปเกรดไปใช้นูแก็ตว่าจะมีเท่าไร เพราะอย่าลืมว่า ปัญหาการไม่ได้รับอัปเกรดระบบปฏิบัติการนั้น เป็นปัญหาที่ทำให้กูเกิล ปวดหัวมากเป็นอันดับต้นๆ เลยทีเดียว ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์เพียง 15 เปอร์เซ็นต์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 6.0 มาร์ชเมลโล (ทั้งๆ ที่เปิดตัวมาแล้ว 1 ปี) ส่วนที่เหลือก็กระจายอยู่ตามโลนลี่ป๊อป-คิทแคท ฯลฯ นั่นเอง

โดยในฝั่งผู้บริโภคถึงกับมีการระบุชื่อของผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ที่ควรซื้อ กับไม่ควรซื้อออกมาเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น ซัมซุง HTC และแบล็กเบอรี่ ที่ถูกจัดอันดับว่าให้ความสำคัญกับปัญหาซีเคียวริตี และมีการอัปเกรดให้ผู้ใช้งานในระดับที่ดี เป็นต้น ส่วนบริษัทที่ไม่ดูแลการอัปเกรด ซึ่งถือเป็นบริการหลังการขายนี้ให้ดี ในวันข้างหน้าเราอาจได้ข่าวการพับฐานการผลิต และหลุดออกจากธุรกิจนี้ไปในที่สุดก็เป็นได้

ที่มา: http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000084219