บิ๊ก ปตท. รวยหุ้น เงินเดือน โบนัส

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทที่อยู่ในความนิยมอันดับต้นๆ เป็นที่ที่หลายคนใฝ่ฝันอยากทำงาน ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่แก่กล้าด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิ เพื่อมาในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง และคณะกรรมการ (บอร์ด ) และผู้ที่ยังเพิ่งเริ่มวัยทำงาน เพราะผลตอบแทนสูง เพราะมีทั้งเงินเดือน โบนัส ค่าเบี้ยประชุม หุ้น สิทธิในการซื้อหุ้นสามัญ (Warrant) และสวัสดิการ รวมไปถึง ค่าเช่าบ้าน ค่าปฏิบัติงานต่างจังหวด และค่าล่วงเวลา ข้อมูลเหล่านี้ปรากฏชัดเจนในหนังสือรายงานประจำปีของปตท. 2550 ที่ระบุว่า ได้จ่ายผลตอบแทนให้กรรมการบริษัทซึ่งมีงานหลักในการประชุมรวมทั้งสิ้นประมาณ 42 ล้านบาท (ตาราง”42 ล้านบาทเบี้ยประชุม โบนัส กรรมการ”) โดยมีโอฬาร ไชยประวัติ ซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยชินวัตร และประธานกรรมการตรวจสอบ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด และสุชาติ ธาดาธำรงเวช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อดีตที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของนายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ด้านเศรษฐกิจ (ปี 2547-2549) ได้รับสูงสุดคนละกว่า 3 ล้านบาท (ตาราง “เบี้ยประชุม โบนัส กรรมการจัดสรรลงตัว”)

ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นกรรมการมีรายได้ประจำแน่นอนคือ เบี้ยกรรมการรายเดือน 30,000 บาท หากประชุมได้อีกครั้งละ 20,000 บาท กรรมการคนใดที่เป็นกรรมการในชุดอื่นด้วยจะได้เบี้ยกรรมการและเบี้ยประชุมมากขึ้นตามลำดับ ส่วน เงินโบนัสจะคิดจากอัตรากำไรของบริษัท เท่ากับ 0.05% ของกำไรสุทธิ

นอกจากนี้ คณะกรรมการ ปตท. ยังประชุมครั้งที่ 11/2550 มีมติเห็นชอบประเมินผลงานของตัวเอง 3 ประเด็นคือ 1.ประเมินทั้งคณะได้คะแนน 90.39% 2.ประเมินรายบุคคล (ประเมินด้วยตัวเอง) ได้คะแนน เฉลี่ย 96.25% และ3.ประเมินรายบุคคล (ประเมินกรรมการคนอื่น) ได้คะแนนเฉลี่ย 98.10% โดยมีเกณฑ์ที่ใช้ประเมิน เช่น การมีวิสัยทัศน์ สร้างมูลค่าเพิ่มแก่กิจการ และการมีจริยธรรม จรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจ ซึ่งคณะกรรมการตั้งเกณฑ์ไว้ว่าหากได้คะแนนมากกว่า 85% ถือว่าผลงาน “ดีเยี่ยม” มากกว่า 75% เท่ากับ “ดีมาก” ลดหลั่นลงมา หากต่ำกว่า 50% คือต้องปรับปรุง ซึ่งคะแนนเหล่านี้จะมีผลต่อการจ่ายผลตอบแทน

42 ล้านบาทเบี้ยประชุม โบนัส กรรมการ (หน่วย : บาท)
———————————————————————————————————————–
ค่าตอบแทน ปี 2548 ปี 2549 ปี 2550
———————————————————————————————————————-
เงินเบี้ยประชุม 10,707,750.00 10,920,500.00 11,764,919.36
โบนัสรวม 17,777,260.27 29,409,589.04 30,294,520.55
รวม 28,485,010.27 40,330,089.04 42,059,439.91
——————————————————————————————————————–

เบี้ยประชุม โบนัส กรรมการจัดสรรลงตัว (หน่วย : บาท)
————————————————————————————————————————————-
รายนาม โบนัส สรุปค่าเบี้ยประชุม รวมค่าตอบแทน
————————————————————————————————————————————-
ณอคุณ สิทธิพงศ์ 60,273.97 10,645.16 70,919.13
พลเอกอภิชาต เพ็ญกิตติ* 2,000,000 660,000 2,660,000
จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช 2,000,000 740,000 2,740,000
พลเอกสมทัต อัตตะนันทน์ 2,000,000 732,000 2,732,000
ม.ล.ปาณสาร หัสดินทร 2,000,000 728,000 2,728,000
อำพน กิตติอำพน 2,000,000 819,0000 2,819,000
พรทิพย์ จาละ 1,342,465.75 440,000 1,782,465.75
โอฬาร ไชยประวัติ 2,000,000 1,091,250 3,091,250
สุชาติ ธาดาธำรงเวช 2,000,000 1,080,000 3,080,000
พานิช พงศ์พิโรดม – – –
คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม 1,342,465.75 708,000 2,050,465.75
พันธ์ทิพย์ สุรทิณฑ์* 2,000,000 717,000 2,717,000
พรรณี สถาวโรดม 2,000,000 732,000 2,732,000
พรายพล คุ้มทรัพย์* 1,342,465.75 480,000 1,822,465.75
ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ 1,830,136,.99 629,709.68 2,459,846.67
รวม 33,485,413.05
กรรมการครบวาระและลาออกระหว่างปี
เชิดพงษ์ สิริวิชช์ 821,917.81 250,000 1,071,917.81
พิษณุ สุนทรารักษ์ 657,534.25 228,000 885,534.25
พัฒเดช ธรรมจรีย์ 657,534.25 320,000 977,534.25
พรชัย รุจิประภา 2,239,726.03 759,314.52 2,999.040.55
เมตตา บันเทิงสุข 2,000,000 640,000 2,640,000

—————————————————————————————————————-
*กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2551

คณะกรรมการบางคนที่มีหุ้น ปตท. และมีการซื้อขาย โอนออก เป็นระยะในช่วงปี 2548-2550 โดยจากแบบรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ของผู้บริหาร (แบบ 59-2) ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีรายงาน เช่น คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ในเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2550 ได้ซื้อหุ้นทั้งหมด 2,100 หุ้น แต่ในเดือนตุลาคม 2550 ได้ขายออก 7,000 หุ้น หุ้นละ 439.14 บาท, พรรณี สถาวโรดม มีการโอนหุ้นออก ในปี 2549-2550 จำนวน 7,000 หุ้น, พรายพล คุ้มทรัพย์ ขาย 2,500 หุ้นในเดือนสิงหาคม 2550, พันธุ์ทิพย์ สุรทิณฑ์ โอนออก 10,000 หุ้นในเดือนกันยายน 2550 และ พลเอกอภิชาติ เพ็ญกิตติ โอนออก 7,000 หุ้นในเดือนตุลาคม 2550

ข้าราชการเพื่อ “ปตท.”
จากผลประโยชน์ของบอร์ดเหล่านี้ ทำให้เกิดคำถามว่าโครงสร้างการบริหาร ปตท. และบริษัทลูก ที่ให้ผู้บริหารหน่วยงานราชการที่กำกับดูแลกิจการด้านพลังงาน เข้ามาเป็นประธานและคณะกรรมการเหมาะสมหรือไม่ เพราะผู้บริหารหน่วยงานราชการมีภารกิจต้องรักษา และปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ขณะที่ต้องสวมอีกใบหนึ่งในการเป็นผู้บริหารสูงสุดของบริษัทที่ต้องสร้างประโยชน์ให้บริษัท และทำกำไรสูงสุดเพื่อผู้ถือหุ้น โดยมีผลพลอยได้คือผลตอบแทนจากส่วนแบ่งของกำไรที่เกิดขึ้นในแง่ของโบนัสกรรมการ

ข้อมูลที่ปรากฏทั้งในหนังสือรายงานประจำปี ปตท. 2550 รวมไปถึงข้อมูลที่รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ และประกาศของราชการ ปรากฏว่ามีคณะกรรมการ ปตท. และบริษัทลูก มาจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจกรรมการพลังงานของชาติ (ตาราง : คนของรัฐกับการเป็นบอร์ด ปตท. และบริษัทลูกปัจจุบัน) เช่น บางคนเป็นปลัด และรองปลัดของกระทรวงพลังงาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบางคนมาจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีกรรมการเป็นผู้แทนจากคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานราชการ ซึ่ง กพช. มีอำนาจหน้าที่สำคัญข้อหนึ่ง คือ การกำหนดราคาพลังงาน จำนวนนี้ได้เป็นบอร์ด ปตท. ชุดปัจจุบันถึง 4 คน คือ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และบางคนมีตำแหน่งอยู่ในบริษัทลูก ปตท.

คนของรัฐกับการเป็นบอร์ด ปตท. และบริษัทลูกปัจจุบัน
——————————————————————————————————————-
รายนาม ตำแหน่งในหน่วยงานราชการ ตำแหน่งใน ปตท. และบริษัทลูก
———————————————————————————————————————-
1. ณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ประธานคณะกรรมการ ปตท.
2. พานิช พงศ์พิโรดม อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กรรมการ ปตท.
3. จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม คณะกรรมการ กพช. กรรมการ ปตท.
4. พรทิพย์ จาละ เลขาธิการสำนักงานกฤษฎีกา คณะกรรมการ กพช. กรรมการอิสระ และตรวจสอบ ปตท.
5. อำพน กิตติอำพน เลขาธิการสภาพัฒน์ คณะกรรมการ กพช. กรรมการ ปตท.
6. คุรุจิต นาครทัพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ประธานคณะกรรมการปตท.สำรวจและผลิต
7. เมตตา บันเทิงสุข อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กรรมการปตท.สผ.
8. พรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน – ประธานคณะกรรมการ ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น -ประธานคณะกรรมการปตท. เคมิคอล
————————————————————————————————————

ระดับบิ๊กรวยหุ้น

สำหรับผู้บริหารระดับสูงของ ปตท. ตั้งแต่ระดับกรรมการผู้จัดการใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่ไม่ได้ไปดำรงตำแหน่งผู้บริหารบริษัทในเครือ ปตท. ได้จ่ายเงินเดือน โบนัส รวมประมาณ 74 ล้านบาท (ตาราง “ผู้บริหารรวยเงินเดือน+โบนัส 74 ล้านบาท”) นอกเหนือจากหุ้นจำนวนหนึ่ง (ตาราง”ผู้บริหารรวยหุ้น”) ซึ่งผู้บริหารที่มีหุ้นมากสุดคือ “จิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่
กลุ่มธุรกิจสำรวจ ผลิต และก๊าซธรรมชาติ ณ 31 ธันวาคม 2550 มีหุ้นเหลืออยู่ 175,830 หุ้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 65,408,760 บาท และ “อดิเทพ พิศาลบุตร์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่ไปดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน) มี 240,309 หุ้น คิดเป็น 89,394,948 บาท แม้ว่าผู้บริหารบางคนจะมีหุ้นจำนวนน้อย อย่าง “ทรงวุฒิ ชินวัตร” เครือญาติของ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่ดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ที่มีหุ้นเพียง 12,676 หุ้น แต่คำนวณแล้วก็มีมูลค่ารวมถึง 4,716,588 บาท (ราคา ณ วันที่ 27 ธันวาคม 2550 ที่ 372 บาท)

และแม้ว่าราคาจะลดลงตามภาวะตลาด ที่ ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2551 ราคาตกลงมาที่หุ้นละ 308 บาท แต่ราคาเป้าหมายตามที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์คาดการณ์ไว้ที่กว่า 400 บาท หุ้น ปตท. ก็ถือเป็นสิ่งมีค่าของบรรดาผู้บริหารอย่างปฏิเสธไม่ได้ ยังไม่นับ Warrant และ ESOP ที่ผู้บริหารแต่ละคนมีอยู่ในมือที่สามารถแปลงเป็นหุ้น และขายได้ในอนาคต ซึ่งข้อมูลจากแบบรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ของผู้บริหาร (แบบ 59-2) ของ ก.ล.ต. ระบุถึงความเคลื่อนไหวในการซื้อ ESOP (Employee Stock Option Program) หรือการจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญออกใหม่

(ให้สิทธิซื้อราคาถูก หรือฟรี ในกรณี ปตท. ได้บันทึกราคาไว้ที่ 0.00 บาท) ซึ่งมีผู้บริหารหลายคนที่ได้หุ้น ESOP และมีการโอนออกซื้อขายเป็นระยะ โดย “ประเสริฐ บุญสัมพันธ์” ได้หุ้น ESOP เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2548 จำนวน243,000 หุ้น (บันทึกราคาที่ 0.00 บาท) และ 1 ปีให้หลังได้โอนออก 60,700 หุ้น และ 29 กันยายน 2549 ได้อีก119,000 หุ้น จากนั้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2550 ได้ขายออกครั้งละ 5,000 หุ้นบ้าง 60,000 หุ้นบ้าง ในราคาเฉลี่ย 330-370 บาท จนล่าสุดเมื่อ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 ได้ ESOP อีก 87,000 หุ้น

ผู้บริหารรวยหุ้น
———————————————————————————————————————————–
ชื่อ-นามสกุล ตำแหน่ง จำนวนหุ้น (หน่วย : หุ้น)
31 ธ.ค. 2549 31 ธ.ค. 2550
———————————————————————————————————————————
1. นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ 325,820 –
2. นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร และพัฒนาองค์กร 89,930 100,330
3. นายพิชัย ชุณหวชิร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่การเงิน และบัญชีองค์กร 22,000 55,400
4. นายทรงวุฒิ ชินวัตร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารองค์กร 32,076 12,676
5. นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มธุรกิจสำรวจ ผลิต และก๊าซธรรมชาติ 129,730 175,830
6. นายชัยวัฒน์ ชูฤทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจน้ำมัน 57,000 74,000
7. นายปรัชญา ภิญญาวัธน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น 133,980 117,480
8. นายวิโรจน์ มาวิจักขณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กรรมการอำนวยการ บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) 123,880 157,080
9. นายอดิเทพ พิศาลบุตร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน) 198,809 240,309
10. นายเพิ่มศักดิ์ ชีวาวัฒนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์ และการกลั่น จำกัด (มหาชน)75,692 24,300
11. นายมารุต มฤคทัต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) – 8,700
12. นายชายน้อย เผื่อนโกสุม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์ และการกลั่น จำกัด (มหาชน) – 49,700
13. นางสาวเพ็ญจันทร์ จริเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การเงินองค์กร 7,132 10,000
14. นางปริศนา ประหารข้าศึก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บัญชีองค์กร 38,063 51,463

—————————————————————————————————————— ————–

ผู้บริหารรวยเงินเดือน+โบนัส 74 ล้านบาท (หน่วย : บาท)
—————————————————————————————————————————–
ค่าตอบแทน ปี 2548 ปี 2549 ปี 2550
—————————————————————————————————————————
เงินเดือน 45,135,600 45,145,600 51,815,390
โบนัส 22,170,695 31,668,840 22,572,960
รวม 67,170,695 76,814,760 74,388,350
เงินสบทบกองทุน 3,062,216 3,005,232 3,659,601
สำรองเลี้ยงชีพ
————————————————————————————————————————
*หมายเหตุ คำนวณเฉพาะผู้บริหารระดับสูง 6-8 คน เฉลี่ยรับคนละ 10 ล้านบาท (ไม่รวมผู้บริหารที่ไปปฏิบัติงานในบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น)

ด้านผลตอบแทนของพนักงาน ปตท. ในหนังสือรายงานประจำปี 2550 ค่อนข้างสับสน ต่างจากปีก่อนหน้าที่ระบุชัดเจนถึงผลตอบแทนรวม และจำนวนพนักงาน โดยในหน้า 011 ระบุพนักงานในเครือทั้งหมด (รวมตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงจนถึงพนักงานในปั๊มน้ำมัน) มี 10,630 คน เฉพาะของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มี 3,288 คน แต่ข้อมูลในหน้า 098 ระบุว่า จำนวนพนักงาน ปตท. (รวมพนักงานที่ไปปฏิบัติงานในบริษัทในกลุ่ม ปตท.) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2550 เท่ากับ 3,544 คน และในหน้า 099 ระบุมีค่าตอบแทนรวมประมาณ 5 พันล้านบาท (ตาราง “ผลตอบแทนแก่บุคคลากร”…) ตัวเลขจำนวนนี้ หากคิดเฉลี่ยพบว่ามีรายได้คนละ 1,450,547.45 บาทต่อปี และแม้ตารางในหน้า 099 ระบุว่า มีพนักงานรวม 7,342 คน ซึ่งรวมพนักงานในบริษัทย่อย และกิจการร่วมค้า เฉลี่ยคนละ 695,279.24 บาทต่อปี

ผลตอบแทนแก่บุคคลากร (ไม่รวมกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารระดับสูง) หน่วย : บาท
—————————————————————————————————————————————
ค่าตอบแทน ปี 2548 ปี 2549 ปี 2550
—————————————————————————————————————————————
เงินเดือนรวม 2,020,836,159.33 2,313,239,842.61 2,523,442,073.58
โบนัสรวม 996,368,672.00 1,138,238,033.75 1,263,194,610.38
เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 199,951,973.02 228,214,687.17 249,207,450.79
อื่นๆ 800,492,308.37 993,909,544.34 1,104,896,055.73
รวม 4,017,649,112.72 4,673,602,107.87 5,104,740,190.38
—————————————————————————————————————————————