BlackBerry ปิดสายพาน ประกาศเอาท์ซอร์สส่งบริษัทอื่นผลิดสมาร์ทโฟนแทน

จอห์น เฉิน (John Chen) ซีอีโอ BlackBerry บอกใบ้ช่วงต้นปีว่าหากธุรกิจฮาร์ดแวร์ยังไม่อาจทำกำไรในกันยายนปีนี้ ก็ถึงเวลาที่บริษัทต้องตัดสินใจปิดสายพานการผลิต

ปิดฉากโมเดลธุรกิจดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์ของแบล็กเบอร์รี่ (BlackBerry Ltd.) ล่าสุดบริษัทประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะหยุดผลิตฮาร์ดแวร์สมาร์ทโฟนเพื่อหันไปให้ความสนใจกับซอฟต์แวร์อย่างจริงจัง โดยยืนยันว่าแบรนด์ BlackBerry จะยังอยู่กับสมาร์ทโฟนที่ถูกเอาท์ซอร์สไปผลิตที่บริษัทอื่น

การออกแบบและผลิตเองเป็นการภายในแบบครบวงจร เป็นหนึ่งในหลายสิ่งที่ทำให้ BlackBerry โด่งดังเป็นพลุแตกในช่วง 10 ปีที่แล้ว แต่ด้วยการแข่งขันสุดดุเดือดในตลาด ทำให้ BlackBerry ต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์เพื่อความอยู่รอด โดยความเปลี่ยนแปลงนี้ถูก BlackBerry ประกาศในงานแถลงผลประกอบการไตรมาสล่าสุดเมื่อวัันพุธที่ 28 กันยายนี่ผ่านมา

การระบุว่าจะเอาท์ซอร์สงานผลิตสมาร์ทโฟนไปยังพันธมิตรของ BlackBerry นั้นสอดคล้องกับแผนปรับโครงสร้างบริษัทที่จอห์น เฉิน (John Chen) ซีอีโอ BlackBerry เคยเปิดเผยก่อนหน้านี้ เนื่องจากซีอีโอบอกใบ้ช่วงต้นปีว่าหากธุรกิจฮาร์ดแวร์ยังไม่อาจทำกำไรในกันยายนปีนี้ ก็ถึงเวลาที่บริษัทต้องตัดสินใจปิดสายพานการผลิต

ซีอีโอเฉินดำเนินการตามคำที่พูดไว้หลังจากกลุ่มธุรกิจอุปกรณ์พกพา Mobility Solutions ประสบภาวะขาดทุน 8 ล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาสที่ผ่านมา (ราว 277 ล้านบาท)

นอกจากการเอาท์ซอร์สงานผลิตสมาร์ทโฟน BlackBerry ยังประกาศว่าได้มอบไลเซนส์ให้บริษัทอินโดนีเซียนำชื่อแบรนด์ BlackBerry ไปผลิตและจำหน่ายในประเทศแล้ว

หลังจากนี้ ธุรกิจหลักของ BlackBerry จะเป็นกลุ่มซอฟต์แวร์
หลังจากนี้ ธุรกิจหลักของ BlackBerry จะเป็นกลุ่มซอฟต์แวร์

ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ถูกมองว่าเกิดขึ้นในวันที่ BlackBerry เสื่อมความนิยม แม้จะได้ชื่อว่าเป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนที่มีคีย์บอร์ดดีที่สุดในตลาด และยังมีความปลอดภัยสูงเหมาะกับองค์กรธุรกิจ แต่ BlackBerry ก็สูญเสียตลาดที่สำคัญไป ที่เห็นชัดคือกลุ่มวุฒิสภาสหรัฐฯและประธานาธิบดีโอบามา ซึ่งเคยเป็นกลุ่มที่เชื่อมั่นในความปลอดภัยของมือถือ BlackBerry อย่างเหนียวแน่น

หลังจากนี้ ธุรกิจหลักของ BlackBerry จะเป็นกลุ่มซอฟต์แวร์ สมาร์ทโฟนของบริษัทจะเน้นพัฒนาบนแอนดรอยด์ (Android) โดยบริการรับส่งข้อความบีบีเอ็ม (BBM) ยังมีความสำคัญ และแพลตฟอร์มคิวเอ็นเอ็กซ์ (QNX) จะถูกต่อยอดเพื่อใช้เป็นระบบปฏิบัติการในรถขับเคลื่อนตัวเองให้มากขึ้น ขณะที่ระบบปฏิบัติการที่บริษัทพัฒนาเองอย่าง BB10 OS จะค่อย ๆ เลือนหายไป

ซีอีโอ BlackBerry ย้ำว่าธุรกิจซอฟต์แวร์เป็นธุรกิจที่ทำกำไรให้บริษัทได้สูงที่สุด โดยไตรมาสล่าสุด รายได้จากธุรกิจซอฟต์แวร์ของ BlackBerry เติบโตมากกว่า 89% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยรายได้รวมของบริษัทช่วงมิถุนายน-สิงหาคม 2016 คือ 352 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท

ที่มา: http://manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000097963