มาทีหลังต้องให้ต่าง UOB รุกสตาร์ทอัพ ให้กู้ได้

มาทีหลังต้องให้ต่าง UOB รุกสตาร์ทอัพ ให้กู้ได้ ถึงจะมาช้ากว่าผู้เล่นในวงการธนาคารรายอื่นที่ลงมาจับตลาดกลุ่มสตาร์ทอัพกันสักพักแล้ว แต่ธนาคารยูโอบีมองว่ามาช้า แต่ขอมาชัวร์ไว้ก่อน และตลาดสตาร์ทอัพในประเทศไทยก็ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก และหลายรายยังประสบปัญหาเรื่องการสนับสนุนอยู่ ทำให้ไม่ช้าเกินไปที่ยูโอบีจะขอมาลุยกับสตาร์ทอัพบ้าง

ยูโอบีได้ให้ความสำคัญกับสตาร์ทอัพด้วยการเริ่มจากภายในองค์กรก่อน มีโครงการ Hackathon ที่ให้พนักงานนำเสนอผลงานที่เป็นประเภท Fintech หรือที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการเงิน คัดเลือกมา 3 ทีม แต่มี 1 ทีมที่ได้รับเงินสนับสนุน และได้ไปบ่มเพาะต่ออีก 3 เดือนเพื่อพัฒนาโปรดักส์ออกมาจริงจัง

จากนั้นได้เริ่มโครงการบ่มเพาะสตาร์อัพ The FinLab Accelerator Programme เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพื่อค้นหาสตาร์ทอัพในกลุ่มฟินเทคในการบ่มเพาะที่ประเทศสิงคโปร์เป็นเวลา 3 เดือน 

ยูโอบีได้สร้างจุดต่างจากผู้เล่นธนาคารรายอื่นด้วยการเปิดโอกาสในการลงทุนแก่สตาร์ทอัพกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ฟินเทคด้วย เพียงแต่จะเป็นการให้เงินลงทุนเท่านั้น จะมีการบ่มเพาะใน FinLab เฉพาะกลุ่มฟินเทคเท่านั้น

และยูโอบีได้ลงทุนใน OurCrouwd อีก 10 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นธุรกิจที่ให้บริการระดมทุนผ่านการถือหุ้นของรายย่อยผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (crowdfuning) เปิดโอกาสเข้าถึงนักลงทุนทั่วโลกได้

พร้อมกับบริการเงินกู้รูปแบบ Venture debt ผ่าน InnoVen Capital (InnoVen) แหล่งเงินทุนทางเลือกนอกเหนือจากการระดมทุนแบบดั้งเดิมด้วยการขายหุ้นให้กับผู้ลงทุน การกู้เงิน Venture debt จะช่วยให้สตาร์ทอัพได้เงินทุนเพื่อขยายธุรกิจ โดยไม่ต้องเสียหุ้นที่ตนเองถืออยู่

InnoVen เป็นบริษัทที่ร่วมทุนระหว่างกลุ่มธนาคารยูโอบี และบริษัทเทมาเส็กโฮลดิ้งส์ของรัฐบาลสิงคโปร์ ซึ่งได้ร่วมลงทุนรายละ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ความเป็นมาของความร่วมมือนี้จากระดับโกลบอลประเทศสิงคโปร์ที่มีความต้องการลงทุนในสตาร์ทอัพแก่ภูมิภาคเอเชีย และสร้างรูปแบบการลงทุนแบบใหม่

1_uob

เจมส์ รามา ปัทมินทรวิภาส ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ Channels & Digitalisation ธนาคารยูโอบี (ไทย) กล่าวว่าสตาร์ทอัพได้รับการพูดถึงมาหลายปีแล้ว แต่ในประเทศไทยก็ยังมีสัดส่วนที่ไม่ประสบความสำเร็จ 90% ที่จริงแล้วคนไทยมีไอเดียดีๆ ทั้งสิ้น แต่เพราะขาดการสนับสนุนที่ดีเท่านั้น และยูโอบีมองว่าโอกาสของสตาร์ทอัพไม่ใช่แต่กลุ่มฟินเทค แต่เป็นทุกกลุ่ม เราจึงให้โอกาสในการลงทุนในทุกกลุ่ม และรูปแบบการระดมทุนจากมวลชน crowdfunding และการกู้เงิน venture debt จะเป็นจุดเด่นและอีกทางเลือกให้กับสตาร์ทอัพที่ต้องการขยายธุรกิจ

นอกจากนั้นเจมส์ยังได้ประเมินตลาดสตาร์ทอัพในประเทศไทย ปัจจุบันมีราว 2,500 ราย เป็นฟินเทคราว 50 ราย ซึ่ง 5 กลุ่มธุรกิจที่มีการลงทุนมากที่สุดได้อกา อีคอมเมิร์ซ, ฟินเทค, โลจิสติกส์, เพย์เมนต์ และเกมส์ 

สิ่งที่ยูโอบีจะได้รับจากการสนับสนุนสตาร์ทอัพยังคงเป็นการต่อยอดเป็นพาร์ตเนอร์กันในการเอาบริการมาไว้ในแพลตฟอร์มของยูโอบี อาจจะมีทั้งรูปแบบของ B2B และ B2C