ยอดขาย และกำไร แอปเปิล “ลด” ครั้งแรกในรอบ 15 ปี

ทิม คุก ซีอีโอแอปเปิล (ภาพจากรอยเตอร์)

แอปเปิลแถลงผลประกอบการครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อยอดขาย และกำไรลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี โดยบริษัทสามารถขายไอโฟน แอปเปิลวอตช์ แมค และโปรดักต์อื่นๆ ไปได้ทั้งสิ้น 215.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 8 เปอร์เซ็นต์จากที่เคยทำได้ในปีก่อนหน้าที่ 233.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ และกระทบต่อกำไรของบริษัทที่ลดลง 14 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 45.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ การแถลงผลประกอบการดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกของแอปเปิล ที่มียอดขาย หรือผลกำไรลดลงนับตั้งแต่ปี 2001 ที่บริษัทพลิกฟื้นจากความล้มเหลวขึ้นมาได้เลยทีเดียว ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า มีความเป็นไปได้ที่ในบรรดาสาวกแอปเปิลตอนนี้ทุกคนต่างมีสินค้าแอปเปิลที่ตนเองต้องการไว้ในครอบครองกันแล้วทั้งสิ้น จึงทำให้แบรนด์แอปเปิล เริ่มประสบปัญหาด้านยอดขายก็เป็นได้

สำหรับยอดขายในไตรมาสสุดท้ายของบริษัท (สิ้นสุดเมื่อวันที่ 24 กันยายน) ก็ลดลง 9 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 46.85 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือเป็นไตรมาสที่สามติดต่อกันแล้วที่บริษัทเผชิญหน้ากับสถานการณ์ดังกล่าว โดยผลกำไรในไตรมาสนี้ของแอปเปิล ยังได้ลดลงไปอยู่ที่ 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง 5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า)

ทั้งนี้ ไอโฟน ในฐานะสิ่งประดิษฐ์ที่ปฏิวัติวงการโทรคมนาคมในปี 2007 (เปิดตัวในเดือนมิถุนายน 2007) ปัจจุบันก็กำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ จากฝีมือคู่แข่งแดนมังกร ที่เน้นผลิตสมาร์ทโฟนราคาถูกเข้ามาตีตลาด และคู่แข่งอย่างกูเกิล ที่เปิดตัว Pixel สมาร์ทโฟนที่พัฒนาขึ้นมาหวังเทียบชั้นไอโฟน

อย่างไรก็ดี ในไตรมาสนี้แอปเปิล ยังพอมีโชคดีอยู่บ้างเนื่องจากซัมซุง แกแลกซี่ โน้ต 7 บางตัวประสบปัญหาด้านความร้อนจนทางบริษัทต้องเรียกเก็บอุปกรณ์ทั้งหมดกลับคืน และคืนเงินให้กับผู้บริโภค ทำให้มีผู้บริโภคบางส่วนนำเงินนั้น ไป “เปลี่ยนค่าย” ซื้อไอโฟนแทนเสียเลย

สำหรับคาดการณ์ยอดขายในไตรมาสหน้านั้น แอปเปิล ตั้งเป้าไว้ว่า จะสามารถขายโปรดักต์ของทางค่ายได้ที่ 76,000-78,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ด้านส่วนแบ่งตลาดของไอโฟนในสหรัฐอเมริกานั้น ยังคงอยู่ที่ 43.5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในอังกฤษ อยู่ที่ 31.8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ความหวังของแอปเปิล จึงฝากเอาไว้กับตลาด Emerging Market อย่างจีน และอินเดีย แต่ปัจจุบัน แบรนด์แอปเปิล ในจีนเองก็เริ่มประสบปัญหาอิ่มตัว และมีความต้องการลดลงอย่างต่อเนื่อง (ลดลงจาก 9.2 เปอร์เซ็นต์ ลงมาเหลือ 6.7 เปอร์เซ็นต์)

ส่วนในอินเดีย แม้จะยังไม่มีการอิ่มตัวแบบที่เกิดในจีน แต่รายได้เฉลี่ยของประชากรในอินเดีย ก็ไม่ได้มากพอที่จะซื้อสมาร์ทโฟนราคาแพงได้มากนัก และจากตัวเลขเหล่านี้ก็เป็นข้อพิสูจน์ได้ดีว่า แบรนด์แอปเปิล ยังคงต้องพึ่งพารายได้หลักจากไอโฟน ไม่ใช่ Apple Music, Apple Cloud หรือ Apple Pay แต่อย่างใด ซึ่งในสถานการณ์ที่ไอโฟนมีปัญหานี้ แอปเปิลคงไม่สามารถมีความสุขได้มากนัก

ที่มา : http://manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000107020