วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ ‘งาน’ หรือ ‘ชีวิต’ เปลี่ยนกันแค่สับสวิตช์

ชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัวของคนทำงานยุคนี้ เปรียบแล้วก็ไม่ต่างจากการสับสวิตช์ หรือจะเป็นการปรับโหมดของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะทุกอย่างถูก Converge เข้ามารวมกันอยู่ในทุกจังหวะของชีวิต ทุกอย่างขึ้นกับการจัดระบบและความรับผิดชอบ เพื่อให้ได้ผลตามเป้าหมายของ ‘งาน’ และ ‘ชีวิต’ ตามแต่ที่ถูกโปรแกรมไว้

“จะพูดว่าชีวิตกับงานมันถูก Blend เข้าหากันหมด ก็ดูเป็นชีวิตที่แย่ไปหน่อย จริงๆ ไม่ใช่แบบนั้น ข้อดีของการที่เราทำงานที่ไหนก็ได้ มันทำให้เราสามารถจัดการกับชีวิตได้โดยทันที”

วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ General Manager Commercial Business บริษัท ซิสโก ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด เกริ่นถึงรูปแบบการทำงานของคนไอที ซึ่งมีอุปกรณ์สนับสนุนให้พร้อมทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา จนดูเหมือนว่าบางครั้งชีวิตงานมันกินเข้ามาในชีวิตส่วนตัว

แต่ในมุมของวัตสันกลับมองว่า เป็นเรื่องของความอิสระในการจัดการชีวิตงานและจัดสรรเวลาได้ด้วยตัวเอง

ถ้าเป็นสมัยก่อน เวลาที่เขาจะต้องนั่งรอเพื่อพบลูกค้า แม้จะมีงานในกระเป๋าก็ต้องรอที่จะเอากลับไปในเวลาที่เหมาะสม แต่สมัยนี้แค่ช่วงเวลารอสั้นๆ อุปกรณ์พกพาต่างๆ ในมือก็ทำให้เขาจัดการกับงานได้โดยไม่ต้องปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งหมายความว่า จากเดิมที่เขาต้องเก็บงานกลับไปทำต่อที่บ้านหรือออฟฟิศ ก็ทำให้เขามีเวลาพักผ่อนมากขึ้นเพราะสามารถจัดการกับงานแต่ละชิ้นได้ทุกครั้งที่มีโอกาส

หลายคนอาจจะมองว่า ก็เป็นบริษัทไอทีทำงานที่ไหนก็ได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก นั่นก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่วัตสันยอมรับ แต่สำหรับซิสโก วัตสันยืนยันว่า ทุกแผนก และพนักงาน 100% สามารถเลือกทำงานที่บ้านได้เหมือน ๆ กัน

โดยส่วนที่บริษัทซัพพอร์ตให้ นอกจากอุปกรณ์พกพา พนักงานสามารถเบิกโทรศัพท์ที่เป็นแบบ IP Telephony หรือเครื่องโทรศัพท์ที่สามารถเชื่อมกับออฟฟิศได้ไม่ว่าจะมีคนโทรเข้าหรือต่อเข้าหาเพื่อนพนักงานด้วยกัน ด้วยการกดแค่เบอร์ต่อที่โต๊ะเท่านั้น

วิธีสร้างความเข้าใจกับระบบทำงานแบบโมบาย ทั้งในและนอกออฟฟิศของซิสโก เริ่มต้นจากให้กลุ่มผู้บริหารทำให้ดูเป็นตัวอย่าง สละห้องประจำตัว เน้นการแอคเซสเข้าระบบ ซึ่งจังหวะที่ซิสโกเริ่มปรับเป็นโมบายออฟฟิศ ระบบไอทีก็พัฒนาถึงจุดที่ตอบสนองได้พอดี ทั้งระบบ IP telephony เรื่องของระบบไร้สาย จากจำนวนพนักงานรวม 70 กว่าคน ซิสโกจึงดีไซน์พื้นที่ไว้สำหรับคนเพียง 40 คนเท่านั้น

“ในแง่ของการลงทุนระหว่างระบบให้พนักงานทำงานที่ไหนก็ได้ กับลงทุนพื้นที่ทำงานของแต่ละคน ต้นทุนไม่ต่างกัน แต่ในแง่ของการดำเนินงาน ถ้าไม่ทำให้เป็นโมบายเราจะมีต้นทุนการทำงานสูงกว่า 2 เท่า และด้วยรูปแบบที่สนับสนุนให้ทำงานที่ไหนก็ได้ ก็เหมาะกับเซลส์เอ็นจิเนียร์มากกว่า เพราะปกติการทำงานต้องออกไปให้คำปรึกษากับลูกค้าอยู่ตลอดเวลา”

แถมรูปแบบโมบาย วัตสันยืนยันว่าข้อที่ดีกว่าเท่าที่เห็นได้คือ ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น 2 เท่า ซึ่งถือเป็นการแนวโน้มการทำงานที่สวนทางกับการลงทุนระหว่างการทำงาน 2 รูปแบบนี้โดยสิ้นเชิง

ไม่เพียงผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน การจัดออฟฟิศสำรองสำหรับจำนวนพนักงานเพียงครึ่งเดียวจากจำนวนพนักงานที่มีอยู่จริง ทำให้ซิสโกสามารถนำพื้นที่ถึงครึ่งหนึ่งมาจัดเป็นพื้นที่สำหรับสาธิตระบบ ทำเทรนนิ่ง ซึ่งเปิดโอกาสให้ลูกค้าแวะเวียนมาถึงถิ่นและทำความรู้จักกันมากขึ้น

“งานจำเป็นจริงๆ ที่ผมยังต้องเข้าออฟฟิศก็เซ็นเอกสารนี่แหละ ปกติผมก็จะแวะเข้ามาประมาณ 2 วัน อย่างทีมขายเขาก็จะมีนัดประชุมเจอหน้ากันสักวัน แต่ถ้าไม่ว่างก็ทำเทเลคอนเฟอเรนซ์ผ่านโน้ตบุ๊กจากข้างนอก บางคนมีลูกจะทำจากที่บ้านก็ได้ เพราะทุกคนรู้อยู่แล้วว่าเป้าหมายอยู่ที่ผลของงานซึ่งบริษัทเองก็จะวัดจากตรงนั้น”

กลายเป็นว่าสำหรับที่ซิสโก ดีไม่ดีบางทีคนที่เห็นอยู่ในออฟฟิศอาจจะเป็นลูกค้าเสียมากกว่าพนักงานเสียอีกในบางครั้ง
แต่มนุษย์ก็คือมนุษย์ ถ้าออฟฟิศมีเรื่องสนุกๆ ความน่าสนใจของออฟฟิศก็กลับมาสู่ความสนใจของคนทำงานที่บ้านหรือนอกออฟฟิศได้ทันที

“ตอนหลังทุกคนโมบายได้หมดก็เริ่มสนุกกับมัน เราก็ทำออฟฟิศให้มีโซนพักผ่อน มีจอให้ดูหนังให้บรรยากาศเหมือนพักผ่อนมากกว่าที่ทำงาน ตอนเย็นบางทีมีนัดรวมกลุ่ม ช่วงไหนอยากทำงานจริงจังก็อยู่บนโต๊ะ บางคนอยากปล่อยอารมณ์สบายๆ ก็มีโต๊ะแบบมูฟได้ไปนั่งริมหน้าตาดูวิว จะยกโทรศัพท์ไปด้วยหรือใช้ซอฟต์โฟนในตัวโน้ตบุ๊กก็ได้”

ผลลัพธ์จากรูปแบบนี้ วัตสันบอกว่า ทำให้มีความยืดหยุ่นและผ่อนคลายในการทำงาน

บรรยากาศในออฟฟิศยังเป็นแรงดึงดูดที่ช่วยดึงคนบางกลุ่มให้ยังคงเลือกทำงานในออฟฟิศ แต่การที่คนห่างออฟฟิศมากๆ ก็ต้องระวังเรื่องทีมเวิร์คที่อาจจะลดลง วัตสันเล่าว่า ที่ซิสโกมีการรักษาสมดุลระหว่างชีวิตและงานของพนักงาน

Heart Performance Office หรือ HPO เป็นหนึ่งของการกลไกการรักษาสมดุลที่เกิดขึ้นที่ซิสโก เป็นทีมที่รุกขึ้นมาจัดกิจกรรมเชิงไลฟ์สไตล์ รวมกลุ่มพนักงานที่จับกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกันทั้งในและนอกออฟฟิศ เช่น เล่นโยคะ เจ็ทสกี ฯลฯ ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นความสำคัญของคนในออฟฟิศให้มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น จากสภาพการทำงานที่แยกห่างจากกันด้วยรูปแบบการทำงาน

“กลายเป็นว่าทุกวันนี้คนไม่ได้เข้ามาออฟฟิศเพื่อมาทำงาน แต่เข้ามาเพื่อกิจกรรม เป็นแบบนี้เลย ผมว่าเข้ามาเป็นส่วนที่ไม่ถึงครึ่งแล้วล่ะที่จะเข้ามาเพื่อจะทำงาน หรือนัดลูกค้ามา Demo แต่ไม่ได้เพื่อมานั่งโต๊ะทำงาน และมีกิจกรรมที่เป็นส่วนที่เรียกว่าเป็นการเจอกับคนข้างนอกมากกว่าเจอคนข้างใน”

เมื่อชีวิตส่วนตัวเข้ามาปนในที่ทำงาน ก็ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าชีวิตงานก็ต้องกินพื้นที่ในบ้านด้วยเช่นกัน วัตสันเองก็หนี้ไม่พ้น ถึงขนาดเคยมีเสียงบ่นจากภรรยาว่า “อยู่แต่ตัวแต่ในอยู่กับงาน” ทำให้ระยะหลังเวลาสำหรับครอบครัวเขาจึงเลือกที่จะเช็กอีเมลโดยสิ้นเชิง เว้นเสียแต่จะได้รับ SMS ด่วนแจ้งล่วงหน้าเท่านั้น

“ตอนหลังพออยู่กับครอบครัวก็จะพยายามที่ให้เป็นแวลูไทม์จริงๆ ปิดเครื่องไม่ยุ่งอะไรเลย ให้เวลาที่อยู่คอนเซนเทรดกับครอบครัว เพราะงานมาตลอด ยิ่งมีมือถือมันตามมาตลอด”

แม้ชีวิตส่วนตัวกับงานของวัตสันจะแยกกันไม่ขาด แต่เขาก็ไม่ถึงกับจะสรุปให้ดูลำบากใจว่าใน 24 ชั่วโมงเป็นเวลามากเสียมากกว่าชีวิตส่วนตัว เพราะผลดีจริงๆ ของรูปแบบการทำงานที่ไหนก็ได้เป็นสิ่งที่เขายอมรับอย่างปฏิเสธไม่ได้ว่า “มันโปรดักทีฟมากขึ้น” แม้มันจะทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปมากเพียงไรก็ตาม

“เรื่อง Work กับ Life มัน Converge เข้าหากันเยอะขึ้น บางอย่างคาบเกี่ยวกัน จะให้เวลาเป๊ะ ๆ ยิ่งยากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการทำงานอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งกลุ่มนี้จะต้องยอมรับสภาพที่ว่างานกับชีวิตมันจะสอดแทรกเข้าหากันมากขึ้น เพราะฉะนั้นเราต้องเป็นคนกำหนดตัวเอง

Profile

Name วัตสัน ถิรภัทรพงศ์
Career Highlights ร่วมกับบริษัท ซิสโก ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่ปี 2538 รับผิดชอบการบริหารฝ่ายวิศวกรรมระบบ และกลุ่มพัฒนาธุรกิจฝ่ายแอ๊ดแวนซ์เทคโนโลยี ปัจจุบันเป็นผู้จัดการทั่วไปฝ่ายธุรกิจพาณิชย์
Experience
– เริ่มงานแรกด้านวิศวกรรมระบบกับ บริษัท Schlumberger Overseas S.A. ต่อด้วย บริษัท Esso Standard (ประเทศไทย) และ บริษัท IBM (ประเทศไทย)
-เคยมีส่วนร่วมในงานด้านอื่นๆ เช่น คณะอนุกรรมการ ในการร่างประกาศฯมาตรฐาน Voice over IP ของ กทช.
-เป็นคณะอนุกรรมการสาขาไฟฟ้าสื่อสาร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย
-รวมแล้วมีประสบการณ์ในวงการ IT มาไม่ต่ำกว่า 17 ปี
Education
– ปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ลาดกระบัง
-ปริญญาโท บริหารธุรกิจ เอกการตลาด และ MIS จาก ม.ธรรมศาสตร์
Family สมรส บุตรชาย 1 หญิง 1 ทุกปีต้องมีทริปเที่ยวยาวร่วมกัน 1 ครั้ง
Favorite Brand ไม่เลือกแบรนด์แต่เน้นคุณภาพ