คลินตัน-ทรัมป์ ธุรกิจสร้างสรรค์-นวัตกรรมจะเลือกใคร?

บทความโดย : ดร.กุลเดช สินธวณรงค์

เรามาหยุดพักจากมุมมองเครียดๆหนักๆทางการเมืองของการเลือกตั้งประธานธิบดีสหรัฐที่กำลังสู่เข้าโค้งสุดท้ายแล้วที่กำลังดราม่าสาดโคลนกันอย่างหนัก ไม่ต่างจากการเมืองรูปแบบเดิมของหลายประเทศดีกว่าครับ ยังมีอีกมุมหนึ่งที่ผมคิดว่าแวดวงธุรกิจดีไซน์ ธุรกิจเทค-สตาร์ตอัพน่าจะลองศึกษาวิธีคิดจากนโยบายของนักการเมืองที่มีชื่อเสียงทั้งสองท่านนี้ ก็เพื่อว่าเราอาจะใช้ได้เป็นสวนหนึ่งของชีพจรคิดความคิดเพื่อการเดินหน้าเอาตัวรอดจากสภาพเศรษฐกิจที่หนักหน่วงขึ้นทุกวัน

สำหรับคลินตัน ไม่แปลกใจเลยที่หลายค่ายของธุรกิจเทคโนโลยีใหญ่เล็กไม่ว่าจะเป็น Alphabet, Microsoft, Apple, หรือแม้แต่ Facebook พากันทุ่มเงินบริจาคกันให้ใช้อย่างเต็มที่ในแคมเปญการหาเสียงครั้งนี้

ส่วนทางฝั่งทรัมป์ นอกจากแทบจะไม่ได้สตางค์จากเงินบริจาคจากคนกลุ่มนี้แล้ว CEO ของบริษัทยักษ์ใหญ่ ทั้งเทค-สตาร์ตอัพ และบริษัทที่เกี่ยวข้องธุรกิจออกแบบ ดิจิตอล นวัตกรรมสร้างสรรค์ทั้งหลายในอเมริกาจำนวน 140 บริษัท นำโดย CEO ของทวิตเตอร์พากันรวมตัวกันออกจดหมายเปิดผนึก วิจารณ์กันตรงไปตรงมาว่าคุณทรัมป์นี่นะ ถ้าได้รับเลือกเข้ามา ถึงขนาดจะเป็นหายนะแห่งการเติบโตของธุรกิจเหล่านี้ทีเดียว

ทีนี้เรามาดูกันว่า เพราะอะไรคนในวงการถึงคิดแบบนั้น?

1_kinton_truam

ฝั่งคลินตันมีนโยบายที่ชัดเจนที่แสดงความถึงในวงการดีไซน์ยุค 4.0 นอกจากนั้นยังแสดงให้เห็นถึงรูปแบบการสนับสนุนที่ชัดเจนและโดนใจคนอเมริกันอีกต่างหาก คลินตันเข้าใจว่าปัจจัยที่สำคัญเบอร์หนึ่งของกลุ่มสาร์ตอัพคือ ‘แหล่งทุน’ ครับ สำหรับกลุ่มธุรกิจออกแบบ ดิจิตอล นวัตกรรมสร้างสรรค์ ต้นทุนที่สำคัญที่สุดคือ ‘ต้นทุนทางความคิด’ คลินตันจั่วหัวตอนหาเสียงไว้เลยว่า รัฐบาลมีพันธะที่ต้องสนับสนุนคนกลุ่มนี้โดยไม่เจาะจงเพียงแค่คนที่เก่งอยู่แล้วหรือได้แสดงความสามารถออกมาแล้วว่าต้องช่วยตัวเองได้ทางธุรกิจ เพราะคนดังกล่าวที่เก่งอยู่แล้วมีนักลงทุนหรือแหล่งทุนให้ความสนใจจะลงทุนด้วยแน่นอน คลินตันมองไปที่ดาวดวงใหม่ที่ยังไม่เกิด เธอเข้าใจว่าคนเก่ง (talent) เป็นสิ่งที่ต้องค้นหา ค้นพบ และให้โอกาสต่อเนื่อง ไม่จำเป็นว่าเค้าต้องพิสูจน์ตัวเองก่อน (เหมือนธนาคารที่ก่อนจะให้กู้ต้องทำธุรกิจมาให้ประสบความสำเร็จมาซักพักแถมหลังจากนั้นยังต้องเอาหลักทรัพย์มารับประกันเงินกู้อีก) นอกจากนี้คลินตันยังมองไปที่การพัฒนาคนที่เริ่มจากการศึกษา โดยการเสนอเงินจากรัฐจำนวนมหาศาลในลักษณะเงินกู้โดยตรงให้กับเด็กรุ่นใหม่ เน้นที่ผู้หญิง และเด็กด้อยโอกาสทางสังคมในอเมริกาแต่มีความสามารถ ทั้งนี้เพื่อผลิตคนให้ตรงกลุ่ม แนวคิดนี้ยังต่อเนื่องไปถึงการทำธุรกิจที่ตัวเองของเด็กกลุ่มนี้หลังเรียนจบมาจากสิ่งที่ตัวเองเรียนอีกอย่างน้อย 3 ปี นอกจากนั้น คลินตันยังสนับสนุนเสรีภาพในการใช้โครงสร้างพื้นฐานของบรอดแบนด์และ cloud ร่วมกันอย่างชัดเจน คือเรียกว่าไม่ว่าคุณจะเป็น tech service operator เจ้าไหน ผู้ใช้งานหรือคอนซูเมอร์ทุกคนก็สามารถยืม ซื้อ หรือเข้าถึงความเร็วในการส่งข้อมูลได้เหมือนกัน ฟังแล้วอยากให้เมืองไทยผ่อนคลายระบบการแบ่งชิงคลื่นความถี่หรือโครงสร้างพื้นฐานของเดต้าเหมือนกันนะครับ ผมมองว่าโครงสร้างพื้นฐานนี่แหละเป็นการหนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมทางตรงไปพร้อมกันทั้งระบบ นักพัฒนาและธุรกิจรุ่นใหม่จะเกิดขึ้นอีกเยอะก็เพราะทำงานง่าย สะดวก รวดเร็ว เพราะราคาการเข้าถึงข้อมูลจะถูกลง ถึงแม้เรื่องนี้แม้แต่ในอเมริกาเองก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ จากกรณีของกูเกิลที่ทะเลาะกับ AT&T ในการแย่งสิทธิของโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวเนื่องจากความซับซ้อนของกฏหมาย แต่ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี มองไกล เป็นการมองเรื่องของการสื่อสารการค้าไร้พรมแดนแบบเข้าใจโลกที่กำลังเปลี่ยนไปของทางฝั่งคลินตันครับ

2_kinton_truam

มาทางด้านทรัมป์กันบ้าง มองไปมองมาผม(และเชื่อว่าหลายท่าน)คิดว่านโยบายเรื่องทำนองนี้ไม่มีอะไรชัดเจนครับ ทุกอย่างถอดออกมาจากคำว่า ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ การที่ทรัมป์ออกมากีดกัน (และจะกำจัด) ผู้อพยพในอเมริกาเป็นการขัดหลักความเท่าเทียมกันทางความคิดและความสามารถอย่างน่าตกใจ Pierre Omidyar  ผู้ก่อตั้ง ebay บอกว่า ‘ทรัมป์คงลืมไปว่า อเมริกามาได้ทุกวันนี้เพราะเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด พลังความสามารถ การให้โอกาสคน’ การที่ทรัมป์บอกชัดเจนว่าจะปฏิรูปนโยบายภาษีเพื่อคนรวย ถึงแม้จะมีการลดภาษีอื่นของธุรกิจแทบทุกระดับรองลงมาด้วย การหั่นภาษีแบบนี้คือแนวคิดมองแบบด้านเดียว การลดภาษีมองกว้างๆอาจจะสามารถทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้จากการดึงดูดให้คนเข้ามาทำงานทำธุรกิจมากขึ้นในระยะสั้น แต่รายได้หลังภาษีที่สูงขึ้นจากการลดภาษีก็ลดความต้องการในการออกมาทำธุรกิจได้ด้วยเหมือนกันเพราะทำให้คนขี้เกียจมากขึ้นเนื่องจากเหลือเงินใช้เยอะแล้ว  แนวคิดนี้นอกจากแสดงถึงความไม่เข้าใจหลักพื้นฐานของความสำเร็จของอุตสาหกรรมงานออกแบบและนวัตกรรมที่แทบจะกระเสือกกระสนเพื่อความอยู่รอดได้ยากมากในทุกวันนี้ ทรัมป์ยังประกาศเปิดสงครามการค้ากับจีนและเม็กซิโก เป็นการทำให้ตลาดนวัตกรรตบิดเบี้ยว เพราะลดการส่งออกและการค้าการแลกเปลี่ยนนวัตกรรมระหว่างประเทศ และที่สุดแล้วคนเก่งในอเมริกาก็จะเริ่มทยอยออกจากวงการ ทำให้การสร้างงานใหม่ สิ่งใหม่ นวัตกรรมประดิษฐใหม่ลดลง Eric Schmidt ผู้บริหารสูงสุดของกูเกิลบอกว่า ‘ถ้าทรัมมป์มา ยุคที่ 3 ของอินเตอร์เนตที่ถูกขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence)คงเป็นแค่ความฝันที่ต้องมองกันอีกไกล นอกจากอเมริกาคงไม่ได้เห็นปรากฏการณ์และนวัตกรรมใหม่แล้ว ยังอาจถึงจุดจบของธุรกิจเทคและสาร์ตอัพที่ส่งผลไปทั่วโลก’

อีกไม่กี่วันนี้ก็ขึ้นอยู่กับคนอเมริกันล่ะครับ ว่าจะกำหนดทิศทางของประเทศตัวเองให้เดินไปทางไหน ในโลกยุคใหม่ที่เคลื่อนไหวทีไรก็มองเห็นได้จากธุรกิจดีไซน์ เทคโนโลยี และสาร์ตอัพครับ

pic_profile

Profile
กุลเดช สินธวณรงค์
ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท จาร์เค็น จำกัด

ด้วยประสบการณ์ทำงานในการเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ในบริษัทดีไซน์มากว่า 15 ปี ซึ่งเป็นการผสมผสานการพัฒนาด้านความรู้ของบริษัท และเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ประสบการณ์ด้านความคิดสร้างสรรค์ มาผสมผสานกับกลยุทธ์ทางการตลาดและองค์ความรู้เพื่อทำให้บริษัทเติบโตและก้าวไปข้างหน้า การเป็นวิศวกร, นักออกแบบ, ครีเอทีฟ และเจ้าของกิจการจากการสั่งสมการทำงานที่มีความแตกต่างกันทั้งในสายอสังหาริมทรัพย์ ที่ดินและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง