มาช้ายังดีกว่าไม่มา

หลายคนตั้งคำถามว่า “โกดัก” มาช้ากว่า “ฟูจิ” โดยเฉพาะแนวทางในการรุกตลาดแล็ปสีดิจิตอล หรือร้านรับอัดและพิมพ์ภาพในระบบดิจิตอล บ้างก็ว่าโกดักเงียบหายเข้ากลีบเมฆ ไร้ข่าวคราวการปรับภาพลักษณ์และจริงจังกับการทำตลาดในกลุ่มนี้

แต่ดูเหมือนว่า การเปิดตัวเครื่องพิมพ์ภาพดิจิตอลระบบดรายแล็ป ที่เรียกว่า “APEX” (Kodak Adaptive Picture Exchange) เมื่อไม่นานมานี้ น่าจะเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดที่โกดักพยายามที่จะชี้ให้เห็นว่า ถึงจะมาช้าแต่ก็ยังดีกว่าโกดักไม่ได้มาเสียเลย

“APEX” ถือเป็นเครื่องพิมพ์ภาพระบบดิจิตอลที่โกดักตอกย้ำว่าไม่เพียงแต่ไม่ใช้น้ำยาในการอัดภาพ แต่โกดักยังออกแบบให้รองรับการขยายตัวของการพิมพ์ภาพจากอุปกรณ์ที่นอกเหนือจากกล้องดิจิตอลเพียงอย่างเดียว และเป็นอีกหนึ่งความหวังของโกดักในการกลับมาทวงแชมป์ในตลาดร้านอัดภาพในไทย

ในตัวเครื่องจึงมีช่องสำหรับการเชื่อมต่อกับสื่อในการเก็บภาพ ไม่ว่าจะเป็นการ์ดหน่วยความจำแทบทุกชนิด ซีดี หรือแม้แต่การพัฒนาซอฟต์แวร์ให้รองรับการใช้งานที่สะดวกยิ่งขึ้น อาทิ สามารถเลือกพิมพ์ภาพตามขนาดที่ต้องการทันทีผ่านหน้าจอที่ออกแบบให้เหมือนกับเว็บไซต์และใช้มือสัมผัสหน้าจอทันที หรือการเลือกดึงภาพจากสื่อบันทึกเหล่านั้นมาทำเป็นวิดีโอ ทำอัลบั้ม ปฏิทินและอื่นๆ โดยที่ลูกค้าสามารถยืนรอรับภาพได้เลยโดยไม่ต้องข้ามชั่วโมงหรือข้ามวันเหมือนก่อนหน้า

เช่นเดียวกันกับการออกแบบให้ APEX มีลักษณะเหมือนเคาน์เตอร์เล็กๆ ที่นำมาพ่วงต่อกันยาวหรือจำนวนเพิ่มขึ้น ตามศักยภาพของร้านแล็ปสีที่มีลูกค้ามากขึ้นและต้องการขยายธุรกิจของตนเอง โดยโกดักจะเลิกพัฒนาเครื่องพิมพ์ภาพแบบเดิมของตนในเร็ววันนี้ และหันมาจูงใจให้แล็ปสีหันมาใช้เครื่องพิมพ์ภาพแบบใหม่นี้แทน

โกดักยังเชื่อว่า APEX จะขายดี และตัวเองจะเติบโตในตลาดแล็ปสี หลังพบว่าอัตราการเติบโตในการใช้กล้องดิจิตอลตลอดจนโทรศัพท์มือถือติดกล้องของคนทั่วโลกรวมถึงในไทยเติบโตอย่างเห็นได้ชัด สัมพันธ์กับยอดการใช้ฟิล์มยังลดอยู่ตลอดเวลา ปีที่ผ่านมาโกดักสามารถขายฟิล์มในตลาดไทยเพียง 1 ล้านม้วน และเชื่อว่าปีนี้จะเหลือเพียง 8 แสนม้วน

นอกจากนี้ โกดักยังพบว่า จำนวนผู้ที่ใช้ทั้งกล้องและโทรศัพท์มือถือที่มีกล้องดิจิตอลจะเลือกพิมพ์ภาพของตนถึงกว่า 20% และน่าจะมากกว่านี้ หากเขาเหล่านี้ค้นพบว่าการพิมพ์ภาพนั้นทำได้ง่ายและสะดวก ไม่ต้องรอนานอีกต่อไป และ APEX จะเป็นตัวชูโรงและทำให้ผู้บริโภคได้พบว่าเรื่องพิมพ์ภาพนั้นไม่ยากอีกต่อไป

เพราะเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว นั่นหมายถึงการกลับมาอยู่ในสายตาของตลาดอีกครั้งของโกดัก หลังจากที่ใครๆ ก็บอกว่าหายหน้าไปตั้งนาน

จำนวนการใช้กล้องดิจิตอลและมือถือติดกล้องของครอบครัวชาวเอเชีย

ปี 2004
กล้องดิจิตอล (ล้านเครื่อง) 17.4
มือติดกล้อง 3 ล้านพิกเซล (ล้านเครื่อง) 0

ปี 2005
กล้องดิจิตอล (ล้านเครื่อง) 27.1
มือติดกล้อง 3 ล้านพิกเซล (ล้านเครื่อง) 0.2

ปี 2006
กล้องดิจิตอล (ล้านเครื่อง) 37.4
มือติดกล้อง 3 ล้านพิกเซล (ล้านเครื่อง) 2.7

ปี 2007
กล้องดิจิตอล (ล้านเครื่อง) 48.9
มือติดกล้อง 3 ล้านพิกเซล (ล้านเครื่อง) 7.7

ปี 2008
กล้องดิจิตอล (ล้านเครื่อง) 59.1
มือติดกล้อง 3 ล้านพิกเซล (ล้านเครื่อง) 23.9

ปี 2009
กล้องดิจิตอล (ล้านเครื่อง) 66.2
มือติดกล้อง 3 ล้านพิกเซล (ล้านเครื่อง) 54.2

ปี 2010
กล้องดิจิตอล (ล้านเครื่อง) 70.7
มือติดกล้อง 3 ล้านพิกเซล (ล้านเครื่อง) 95.3

ปี 2011
กล้องดิจิตอล (ล้านเครื่อง) 73.4
มือติดกล้อง 3 ล้านพิกเซล (ล้านเครื่อง) 147.7

ปี 2012
กล้องดิจิตอล (ล้านเครื่อง) 75.0
มือติดกล้อง 3 ล้านพิกเซล (ล้านเครื่อง) 194.14

ในปี 2012 สมาชิกของแต่ละครอบครัวในทวีปเอเชียจะถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอลมากกว่าอเมริกันกับยุโรปรวมกัน

ที่มา : โกดัก

Did you know?

โกดักค้นพบว่าเมืองไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของการถ่ายภาพดิจิตอลมากสุดในเอเชีย โดยตัวเลขเหล่านี้ตอกย้ำความมั่นใจของโกดักในการรุกตลาดไทยได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นอัตราการขายกล้องดิจิตอลในเมืองไทยต่อปีมีมากถึง 1 ล้านเครื่อง ยอดขายโทรศัพท์มือถือติดกล้องมากถึง 8 ล้านเครื่องต่อปี และแต่ละปีมีการถ่ายภาพดิจิตอลมากถึง 6 พันล้านภาพ