การลงเอยของบิ๊กดีลระหว่าง เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี และ อาลีบาบา ของ แจ็ค หม่า นักธุรกิจยักษ์ใหญ่ แห่งประเทศจีน กำลังถูกจับตามอง ถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ รวมถึงฟินเทคในอนาคต

บริษัทแอนท์ ไฟแนนเชียล (ANT Finacial) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ อาลีเพย์ (Alipay) ที่เป็นธุรกิจเกี่ยวกับบริการธุรกรรมทางการเงินของอาลีบาบา (Alibaba) จะเข้าร่วมลงทุนในบริษัทแอสเซนด์ มันนี่ (Ascend Money) บริษัทลูกของแอสเซนด์ (Ascend) ในเครือซีพี ในสัดส่วน 20% และอนาคตจะเพิ่มสัดส่วนถือหุ้นเพิ่มเป็น 30% เพื่อร่วมกันขยายตลาดอาเชียน โดยไม่ได้ระบุจำนวนเงินลงทุน

ความร่วมมือในระยะแรก จะมุ่งเน้นการให้บริการทางการเงินออนไลน์ และการให้สินเชื่อธุรกิจรายย่อยที่เป็นคู่ค้าของบริษัทในเครือซีพี และในอนาคตจะต่อยอดขยายไปสู่ธุรกิจการให้สินเชื่อ รวมไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวกับการลงทุนและประกันภัยในอนาคต

ในเบื้องต้น ลูกค้าที่ใช้บริการอาลีเพย์ สามารถชำระเงินผ่านร้านเซเว่นอีเลฟเว่น และใช้บริการผ่านทรู มันนี่ในไทย ขณะเดียวกันลูกค้าทรู มันนี่จะใช้บริการของอาลีเพย์กว่า 8 หมื่นร้านค้า ที่มีระบบชำระเงินของอาลีเพย์ได้เช่นเดียวกัน

ถัดจากนั้น แอสเซนด์ มันนี่ จะนำความรู้ที่ได้จากแอนท์ ไฟแนนเชียล มาต่อยอดการทำธุกิจ “ฟินเทค” ในไทย เพื่อเตรียมสำหรับบริการทางการเงินที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงกลยุทธ์การทำตลาด พฤติกรรมของลูกค้า การสร้างลอยัลตี้ฐานลูกค้า มาใช้ในการต่อยอดบริการ ปล่อยกู้สินเชื่อรายย่อย การลงทุน และธุรกิจประกันภัยในอนาคต

เวลานี้ แอสเซนด์ มันนี่เอง ก็มีการปล่อยสินค้าให้กับองค์กรธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อย คู่ค้ารายย่อยในเครือซีพีที่ต้องการเงินหมุนเวียนในการใช้จ่ายเพื่อเป็นคู่ค้าทางธุรกิจอยู่แล้ว ก็สามารถนำฐานลูกค้าตรงนี้มาต่อยอดจากระบบของแอนท์

ส่วนทางด้านแอนท์ ไฟแนนเชียลเอง การร่วมมือกับแอสเซนด์ มันนี่ เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการหาพันธมิตรท้องถิ่น เพื่อช่วยขยายบริการ ธุรกรรมทางการเงินดิจิตอล อาลีเพย์ไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม บิ๊กดีลนี้ ก็มีมุมมองทั้งด้านบวก และสร้างความกังวลใจให้กับผู้เกี่ยวข้อง ทั้งทางการเงิน อีคอมเมิร์ซ และฟินเทคในไทย

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com ให้ความเห็นว่า ข้อดีที่เกิดจากความร่วมมือของอาลีบาบา และกลุ่มซีพี จะผลักดันธุรกิจฟินเทคให้มีการเติบโตมากขึ้น เพราะได้ Know how จากประเทศจีนมาช่วย และอาลีบาบาเป็นผู้เล่นรายใหญ่ทำให้ตลาดมีความตื่นเต้น เป็นส่วนผสมทำให้ Ecosystem ของอีคอมเมิร์ซเกิดการขยายตัว และยังทำให้ผู้ประกอบการรายเล็ก หรือรายใหญ่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

แต่ผลกระทบที่อาจตามมาก็คือ อาจทำให้เกิดการผูกขาดได้ และผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือกลุ่มธนาคาร เนื่องจากธุรกิจนี้ของกลุ่มอาลีบาบาที่กำลังเติบโตในประเทศจีน ก็ส่งผลกระทบกับธนาคารเต็มๆ เพราะหลายคนสามารถกู้เงินผ่านบริการทางการเงินของอาลีบาบา แทนที่จะเป็นธนาคารเหมือนกับในอดีต ทำให้เห็นการเปลี่ยนมือจากแต่ก่อนต้องเข้าธนาคารอย่างเดียว ในไทยก็คงไม่แตกต่างกัน คนทั่วไปก็สามารถเข้าร้านเซเว่นอีเลฟเว่นกู้เงินได้เช่นกัน ซึ่งทางกลุ่มซีพีเองก็มีบริการครบทุกอย่าง เช่นเดียวกับทางอาลีบาบา ต่อไปคงได้เห็นการร่วมมือกันมากขึ้นในหลายๆ ด้าน

บุรินทร์ เกล็ดมณี ประธาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เรดดี้ แพลนเน็ต จำกัด มองว่า ต้องดูพฤติกรรมคนไทย และคนทั้งโลกมีการใช้เรื่องเพย์เมนต์ ออนไลน์มากขึ้น ในประเทศจีนขึ้นแท็กซี่ก็จ่ายเงินผ่าน อี วอลเลต หรือกระเป๋าเงินออนไลน์ ที่ผูกกับบัตรเครดิต พฤติกรรมผู้บริโภคมาทางนี้กันมากขึ้นแล้ว

สำหรับดีลนี้มองว่าไม่ว่าจะอาลีบาบา รวมทั้งผู้เล่นรายอื่นๆ จะช่วยทำให้ตลาดทางด้านการชำระเงินออนไลน์คึกคัก และตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากขึ้น เนื่องจากแต่ละรายอาจจะมีลูกเล่นและการให้บริการที่หลากหลาย ช่วยกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้บริการเพิ่มขึ้น

ส่วนตัวแล้วเชื่อว่า การผูกขาดยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ เพราะตลาดเรื่องเพย์เมนต์ในประเทศไทยยังเป็นตลาดใหม่ มีผู้เล่นหลายรายยิ่งมาช่วยทำให้ตลาดตื่นตัว และเวลานี้คนไทยเองยังกังวลเรื่องความปลอดภัยอยู่ ไม่เหมือนในจีนที่มีอาลีบาบา และเทนต์เซนต์ ที่เป็นรายใหญ่

word_icon

การมีผู้เล่นใหม่ๆ น่าจะช่วยปลุกกระแสให้ใช้ระบบเพย์เมนต์มากขึ้น ทำให้ตลาดตื่นตัว ซื้อของได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ อาจจะส่งผลให้ค่าธรรมเนียมถูกลงก็ได้ถ้ามีการแข่งขันกันมากขึ้น ผู้บริโภคก็ได้รับประโยชน์มากที่สุด

word_icon2

แต่ธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบคือธนาคาร อาจทำให้บทบาทและอำนาจของธนาคารลดลง เพราะ Non-bank เข้ามามีบทบาท และเข้าใกล้ผู้บริโภคมากกว่า มีการกู้เงิน และมีจุดแข็งเรื่องเครือข่าย ทำให้ทุกคนก็ต้องปรับตัวเพื่อให้ได้บริการที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคโดยตรง และมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน

ทิวา ยอร์ค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีเอฟ มาร์เก็ตเพลส จำกัด หรือเว็บไซต์ Kaidee.com มองว่าการจับมือร่วมกันครั้งนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อประเทศไทยอย่างแรกเห็นได้ชัดเลยก็คือทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซและตลาดเพย์เมนต์ในประเทศไทยมีการตื่นตัวจากการที่มีผู้เล่นรายใหญ่สนใจเข้ามาลงทุนจะช่วยกระตุ้นให้ตลาดมีการเติบโตเพราะที่ผ่านมาระบบการชำระเงินหรือระบบเพย์เมนต์ของไทยยังไม่ราบรื่นเท่าไหร่นักเชื่อว่าอาลีบาบาจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาต่างๆเหล่านี้ได้

word_icon

อีคอมเมิร์ซในประเทศจีนที่มีการเติบโตได้นั้นเกิดจากระบบเพย์เมนต์ที่ดีทั้งสิ้น ส่วนหนึ่งก็มาจากระบบการชำระเงินของ Alipayที่มีการวางระบบที่ดีและครอบคลุม ซึ่งในประเทศไทยยังมีปัญหาหลักก็คือเรื่องระบบการชำระเงิน หลายคนไม่มีบัตรเครดิต หรือคนที่มีบัตรเครดิตจะไม่ใช้บนช่องทางออนไลน์ รวมถึงการชำระเงินมีวิธีการยุ่งยากเกินไป บางครั้งต้องลงทะเบียนก่อน ผู้ใช้เลยไม่ค่อยสะดวกที่จะใช้เท่าไหร่ การที่ร่วมมือกันครั้งนี้เชื่อว่าจะมีวิธีทำให้สะดวกยิ่งขึ้น และช่วยยกระดับอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยด้วย

word_icon2

ขณะเดียวกัน ทางด้าน กรณ์ จาติกวณิช ประธานชมรมฟินเทคแห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว (facebook.com/KornChatikavanijDP) ถึงกรณีดังกล่าวว่า “เห็นทั้งโอกาสและความน่ากลัว”

“ผมคุยกับน้องในแวดวง Fintech เขามีแนวคิดที่น่าสนใจครับ ว่า การจับมือระหว่าง 2 เจ้าสัวนี้ทำให้ ‘เราสามารถจินตนาการเห็นลูกค้า True และลูกค้า Seven Eleven ใช้บริการทางการเงินทั้ง Online และ Offline ผนวกเข้ากับชีวิตประจำวันออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ เช่น ฝากถอนเงินได้ที่เซเว่น, โอนต่อให้ใครก็ได้ทางแอปฯ มือถือ, กู้เงิน Peer to peer ได้ทางมือถือ และจ่ายดอกเบี้ยได้ผ่านเซเว่น, บิลค่าใช้จ่ายไปเก็บรวมกับบิลมือถือทรู, ใช้ระบบ Seven Eleven เพิ่มประสิทธิภาพเรื่องโลจิสติกส์เวลาซื้อขายของผ่าน Lazada ฯลฯ’

นี่คือความสะดวกของผู้ใช้บริการ แต่เมื่อเราแทบนึกไม่ออกว่าจะมีคู่แข่งคู่ไหนที่สามารถให้บริการในระดับเดียวกันได้ เราจึงอดไม่ได้ที่จะนึกเป็นห่วงว่าการครองตลาดในระดับนี้จะมีผลอย่างไรต่อผู้ประกอบการอื่น รวมไปถึงผลต่อการพัฒนา SME และนวัตกรรมโดยทั่วไปที่ต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขัน

“ดังนั้นสิ่งที่เราอยากขอ คือ อย่ากีดกันทางการค้าคนอื่น ให้โอกาสฟินเทคอื่นๆ ที่ไม่ใช่ในเครือ Alibaba หรือ CP เติบโตบ้าง และเติบโตไปด้วยกัน เช่น ถ้าจะใช้บริการฟินเทคที่สร้างขึ้นใหม่ ก็ให้คนใช้มือถือค่ายอื่นใช้ได้ด้วย จะจ่ายเงินด้วย e-wallet ที่เซเว่นก็ให้โอกาส e-wallet เจ้าอื่นเป็น payment gateway ได้บ้าง แล้วการแข่งขันจะทำให้ประเทศไทยรวมถึงกลุ่ม CP เองพัฒนาได้อีกเยอะครับ”

เรื่องแบบนี้ไม่มีประเทศใดที่เพียงแค่ฝากความหวังไว้ว่า ผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่จะใจกว้าง ทุกประเทศเขาใช้อำนาจรัฐและกฎหมายกำกับดูแลเพื่อให้การแข่งขันมีจริง รัฐเราต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด อย่าให้ใครมาปิดประตูตีแมวในบ้านเราครับ (แนวคิดจากการสนทนาและบทความของคุณเจษฎา สุขทิศ เลขาฯ ชมรมไทยฟินเทค)

ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของบทสะท้อนถึงบิ๊กดีลที่เกิดขึ้นระหว่างซีพีและอาลีบาบา  ท่ามกลางโอกาสในการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่จะมีระบบอีเพย์เมนต์เป็นแรงขับเคลื่อนโอกาสของธุรกิจอยางเอสเอ็มอีที่จะมีช่องทางในการขายสินค้าผ่านเครือข่ายออนไลน์แต่ก็กังวลถึงอนาคตที่อาจจะเกิดการผูกขาดขึ้นได้

info_alibaba