นิตยสารไทม์สื่อใหญ่ระดับโลก ยกย่อง “สนามฟุตบอลรูปทรงฉีกแนว โดย เอพี ไทยแลนด์” เป็น 1 ใน 25 สุดยอดสิ่งประดิษฐ์แห่งปี 2016

ชาวไทยได้ร่วมภาคภูมิใจไปกับ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และเจ้าแห่งนวัตกรรมการดีไซน์พื้นที่ใช้สอยเพื่อการอยู่อาศัย ผู้สร้างสรรค์ ‘AP Unusual Football Field’ (สนามฟุตบอลรูปทรงฉีกแนว) ต้นแบบสนามฟุตบอลแนวคิดใหม่ย่านชุมชนคลองเตย ได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทม์ (TIME magazine) ให้เป็น 1 ใน 25 สุดยอดสิ่งประดิษฐ์แห่งปี 2016 ที่คัดเลือกจากสิ่งประดิษฐ์ที่ดีที่สุดทั่วโลก โดยตัดสินจากผลงานที่ช่วยทำให้โลกดียิ่งขึ้น ซึ่งสนามฟุตบอลดังกล่าวเป็นการส่งผ่านแนวคิดจากการออกแบบพื้นที่อยู่อาศัย สู่การออกแบบพื้นที่เพื่อคืนกลับสู่สังคมภายใต้แนวคิด ‘AP Think Space’ โดยทีม AP Design Lab ได้สร้างสรรค์พื้นที่สูญเปล่าของชุมชนคลองเตย ให้เกิดเป็นพื้นที่ที่สร้างประโยชน์ให้กับทุกคนในชุมชน จนเกิดเป็นสนามฟุตบอลรูปทรงแปลกใหม่ที่ไม่จำกัดแค่รูปทรงสี่เหลี่ยม ได้แก่ สนามรูปตัวแอล และสนามรูปซิกแซก ถือเป็นครั้งแรกของโลก อีกทั้งยังเป็นการท้าทายวิธีคิดของเอพีในการก้าวข้ามข้อจำกัดเดิมๆ ของการพัฒนาพื้นที่ด้วยการคิดต่าง สร้างสรรค์เป็น ‘พื้นที่ชีวิตที่มีคุณค่า’ และได้ประโยชน์สำหรับผู้คนในชุมชนทั้งเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ ให้สามารถใช้งานร่วมกันได้อย่างมีความสุข ถือเป็นนวัตกรรมการดีไซน์ที่ไม่มีใครเหมือน จนได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทม์ สื่อระดับโลกในครั้งนี้

นายภัทรภูริต รุ่งจตุรภัทร ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงาน Corporate Image บมจ. เอพี (ไทยแลนด์) กล่าวว่า “เวลาพูดถึงการอยู่อาศัยในชุมชนที่มีคนจำนวนมาก หลายคนมักจะนึกถึงปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเยาวชน หรือปัญหาด้านคุณภาพชีวิต ทางทีมเอพีเราก็คุยกันว่าในปีหนึ่งๆ เราอยากเอาความชำนาญของเราในเรื่องของการออกแบบพื้นที่ มาช่วยให้คนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น จนมาลงตัวที่การออกแบบอะไรสักอย่างให้กับชุมชนคลองเตย โดยมุ่งประเด็นไปที่การพัฒนาพื้นที่รกร้างหรือว่างเปล่าที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ให้กลับมามีคุณภาพ”

“หลายคนสงสัยว่าสนามฟุตบอลที่รูปทรงไม่ใช่สี่เหลี่ยมเด็กๆ เล่นได้จริงหรือ แต่ในเมื่อเราเห็นแล้วว่าสนามคือสิ่งที่คนในชุมชนต้องการ เราจึงมองว่าขนาดและรูปร่างของพื้นที่ ไม่ควรเป็นอุปสรรคต่อการสร้าง แต่เราจะทำยังไงภายใต้ข้อจำกัด ให้สนามใช้งานได้จริงที่สุด และนั่นจึงเป็นที่มาของการท้าทายวิธีคิดของทีมดีไซเนอร์เรา สนามบอลรูปทรงแปลกทั้ง 2 แห่ง ทั้งสนามรูปตัวแอล และสนามรูปซิกแซก ไม่ได้เกิดจาก ‘การคิดต่าง’ เพียงอย่างเดียง แต่เป็นการออกแบบที่บาลานซ์ทั้งความยืดหยุ่น และความกลมกลืน ให้เกิดขึ้นไปกับชุมชนมากที่สุด ที่สำคัญต้องใช้สอยได้จริง โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับรูปทรงเดิมๆ เสมอไป”

ทั้งนี้ การที่นิตยสารไทม์ ยกย่องให้ ‘AP Unusual Football Field’ (สนามฟุตบอลรูปทรงฉีกแนว) ให้เป็น 1 ใน 25 สุดยอดสิ่งประดิษฐ์แห่งปี 2016 นั้น ถือเป็นความสำเร็จที่เหนือความคาดหมาย รวมถึงการให้การตอบรับทั้งจากสื่อมวลชนในไทยและต่างประเทศก็ตาม แต่เหนือสิ่งอื่นใดนั้น ความสำเร็จสูงสุดของโปรเจกต์นี้ คือ สิ่งที่เราสร้างสรรค์ขึ้นตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง เพราะหัวใจสำคัญของการออกแบบก็คือการคำนึงถึงผู้ใช้งานเป็นหลัก ซึ่งก็คือคนในชุมชนที่ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่เราสร้างสรรค์ความตั้งใจของเราจริงๆ ดังหลักเกณฑ์ที่นิตยสารไทม์ใช้ในการคัดเลือกที่ว่าสิ่งประดิษฐ์นั้นๆ ต้องช่วยทำให้สังคมโลกดียิ่งขึ้น