สองความท้าทายใหม่ เรื่องน่าหนักใจของ “มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก”

ภาพจากรอยเตอร์

หากเอ่ยถึง “มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก” (Mark Zuckerberg) เชื่อแน่ว่าใคร ๆ ก็รู้จักเขาในนามซีอีโอเฟซบุ๊ก (Facebook) โซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ ซึ่งหากจะกล่าวไป เขาในวันนี้ถูกยกให้เป็นผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งของโลกไปแล้ว

โดยหากจะเปรียบเทียบกับประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาคนปัจจุบันอย่างนายบารัค โอบามา ที่มีทั้งกองกำลังทหาร และสามารถกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่มีมูลค่ากว่า 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐได้นั้น บารัค โอบามายังมีสภาคองเกรสคอยตรวจสอบการทำงาน อีกทั้งยังมีเวลาการทำงานที่จำกัด (4 ปีต่อ 1 สมัย)

ส่วนมาร์ค ซักเคอร์เบิร์กนั้นตรงข้าม ในฐานะซีอีโอของบริษัทที่มีมูลค่าการตลาดใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของโลกนั้น เขาไม่มีข้อจำกัดใด ๆ อย่างที่กล่าวมาเลย และด้วยวัยเพียง 32 ปี เขายังสามารถครองตำแหน่งซีอีโอเฟซบุ๊กไปได้อีก 40 – 50 ปี (เขามีหุ้นอยู่ 18% และควบคุมสิทธิในการโหวตไว้ถึง 60%)

แต่เรื่องเงินและหุ้นอาจยังไม่สำคัญเท่ากับสิ่งที่ทำให้เฟซบุ๊กมีมูลค่าอย่างแท้จริง นั่นก็คือผู้ใช้งาน โดยในปัจจุบัน เฟซบุ๊กมีผู้เข้าใช้งาน “ทุกวัน” มากกว่าวันละ 1 พันล้านคน และหนึ่งใน 4 ของเวลาทั้งหมดที่คนใช้บนอินเทอร์เน็ตก็คือการเล่นเฟซบุ๊ก

สำหรับหลาย ๆ คน เฟซบุ๊กคือสถานที่ที่คนนึกถึงเป็นอันดับแรกเมื่อต้องการแจ้งข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ภาพเรื่องกินเรื่องเที่ยว งานแต่งงาน การคลอดลูกคนใหม่ การเสียบุคคลอันเป็นที่รัก การรับปริญญา การเจ็บไข้ได้ป่วย การซื้อขายสิ่งของ ฯลฯ รวมไปถึงเป็นช่องทางในการบริโภคข่าวสารของคนในยุคปัจจุบันด้วย ส่งผลให้ในแต่ละวัน มีข้อมูลของผู้ใช้งานถูกอัปโหลดขึ้นเฟซบุ๊กถึงวันละ 500 เทราไบต์เลยทีเดียว และจากตัวเลขนี้จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เฟซบุ๊กเป็นแพลตฟอร์มที่มีความสนิทสนมคุ้นเคยกับผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก มากกว่าที่บริษัทหรือรัฐบาลไหน ๆ จะเคยมีมา

เส้นทางของเฟซบุ๊กในทุกวันนี้ นอกจากจะมีการซื้อกิจการของบริษัทที่อาจตั้งตนเป็นคู่แข่งได้ในอนาคต (เช่น Instagram, WhatsApp) เอามาไว้ใต้ปีกแล้ว เฟซบุ๊กยังพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถแข่งขันกับ YouTube ในด้านวิดีโอและ Twitter ในด้าน Real Time Communicationได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ แถมยังพัฒนา AI และพัฒนาโดรนกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ต รวมถึงการปล่อยดาวเทียม (ที่ระเบิดไปแล้วเรียบร้อย) เพื่อยิงสัญญาณอินเทอร์เน็ตด้วย

แถมเฟซบุ๊กยังใจดี มีการเปิดตัวบริการ Express Wifi ให้กับประเทศด้อยพัฒนาอย่างอินเดีย โดยคิดค่าบริการเพียงน้อยนิด เพื่อให้คนในประเทศเหล่านั้นเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ และแน่นอนว่าก็ต้องเล่นเฟซบุ๊กได้ด้วย

ด้วยเหตุนี้ แพลตฟอร์มที่ทรงอิทธิพลอย่างเฟซบุ๊กจึงต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งสำคัญสองประการ นั่นคือเรื่องของข่าวปลอม กับเรื่องของการบุกตลาดจีนแผ่นดินใหญ่

สำหรับประเด็นข่าวปลอมนั้น สถานการณ์เข้าขั้นรุนแรงที่สุดในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 45 และทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเฟซบุ๊ก

มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก และประธานาธิบดี สี่ จิ้นผิง ของจีน (ภาพจากรอยเตอร์)
มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก และประธานาธิบดี สี่ จิ้นผิง ของจีน (ภาพจากรอยเตอร์)

โดยก่อนหน้านั้น ได้เคยมีอดีตพนักงานเฟซบุ๊กให้สัมภาษณ์กับทาง Gizmodo ว่า งานในส่วนกองบรรณาธิการ ซึ่งต้องคอยคัดเลือกข่าวสารเพื่อนำเสนอแก่ผู้ใช้งานนั้นมีรูปแบบการทำงานที่แปลกประหลาด เขาใช้คำว่ามีลักษณะคล้ายอัลกอริธึม ซึ่งคล้าย ๆ กับการฝึกให้ระบบอะไรบางอย่างได้เรียนรู้ไปด้วย ประกอบกับในขณะนั้น เฟซบุ๊กกำลังถูกพลเมืองอเมริกันตั้งคำถามถึงความโน้มเอียงทางการเมือง บ้างก็ว่า เฟซบุ๊กเข้าข้างรีพับลิกัน (โดนัลด์ ทรัมป์) แต่บางส่วนก็ออกมาบอกว่า พนักงานข้างในเฟซบุ๊กนั้น อยู่ข้างฮิลลารี คลินตันมากกว่า แต่เรื่องมาถึงจุดพีค เมื่อ พนักงานในส่วนกองบรรณาธิการนี้ถูกเลิกจ้าง และมีการประกาศว่า เฟซบุ๊กได้พัฒนาอัลกอริธึมเข้ามาคัดเลือกข่าวสารแทนมนุษย์เป็นที่เรียบร้อย

ทว่า ในการเริ่มปฏิบัติงานวันแรกของอัลกอริธึม (เป็นช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์พอดี) ก็เกิดความโกลาหลมากมาย เพราะอัลกอริธึมทำงานผิดพลาด และหยิบข่าวปลอมมารายงานเป็นข่าวจริงหลายข่าว และนั่นคือฝันร้ายของจริงที่เข้ามาท้าทายเฟซบุ๊ก จนมาร์ก ซักเคอร์เบิร์กถึงกับต้องออกมาโพสต์ชี้แจงถึงปัญหาดังกล่าวด้วยตัวเอง และจากข้อความที่เขาโพสต์ ก็จับสัญญาณได้หลายประการ เช่นการที่เขาบอกว่า เฟซบุ๊กจะจัดการกับปัญหาข่าวปลอมอย่างจริงจัง รวมถึงการที่เขาออกมายอมรับว่าปัญหานี้ซับซ้อนกว่าที่คิดด้วย

อีกหนึ่งความท้าทายของเฟซบุ๊กคือ การหวนกลับสู่ตลาดจีน ซึ่งเฟซบุ๊กเคยถูกบล็อกไปเมื่อปี 2009 โดยมีรายงานจากไทมส์อ้างถึงแหล่งข่าวภายในว่า เฟซบุ๊กกำลังพัฒนาระบบเซนเซอร์ข้อมูลอยู่ ซึ่งบางสื่อเรียกมันว่า “Government Mode” เพื่อให้รัฐบาลจีนสามารถใช้เครื่องมือดังกล่าวคัดกรองข้อมูลข่าวสารก่อนแสดงผลบนแพลตฟอร์มได้

ทั้งนี้ การหาทางบุกตลาดจีนอีกครั้งนั้น อาจมาจากทั้งความต้องการของนักลงทุนที่อยากให้ยอดผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น หรืออาจเป็นความต้องการของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์กเองที่ต้องการเชื่อมโลกทั้งใบเข้าด้วยกัน แต่แผนการนี้ก็มีความเสี่ยง เพราะคนจีนยุคใหม่ไม่ธรรมดา และพวกเขามีการใช้งานแอปพลิเคชันอย่างกว้างขวาง แถมเป็นผลผลิตของคนจีนด้วยกันเองด้วย เช่น โซเชียลมีเดีย Weibo ที่มีผู้ใช้งานต่อเดือนกว่า 300 ล้านราย หรือ แอปพลิเคชัน WeChat ที่มีผู้ใช้งานกว่า 846 ล้านราย นอกจากนี้ยังมี Zhihu ที่คล้าย ๆ กับ Quora หรือ Baidu Tieba ที่ให้บริการคล้าย ๆ กับ Reddit ซึ่งหากคนจีนมีแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ใช้งานกันเป็นหลักอยู่แล้ว จะมีประโยชน์อะไรที่คนจีนจะต้องมาสมัครเฟซบุ๊กใหม่ หรือมาสนใจผลิตภัณฑ์จากโลกตะวันตก

อีกหนึ่งความเสี่ยงก็คือเรื่องของข้อมูล ซึ่งอาจพิจารณาได้จากหลายบทเรียนของบริษัทชาติตะวันตก ทั้งอูเบอร์ (Uber) กูเกิล (Google) ที่สุดท้ายแล้วก็ต้องโบกมือลาจีนแผ่นดินใหญ่ หรือก่อนหน้านั้นก็มีไอบีเอ็ม (IBM) อินเทล (Intel) ไมโครซอฟท์ (Microsoft) ที่เคยออกมาเผยว่า ถูกรัฐบาลจีนกดดันให้มอบข้อมูลและซอร์สโค้ดเพื่อตรวจสอบ

สำหรับกรณีของเฟซบุ๊กนั้น ความเสี่ยงอยู่ที่ข้อมูลโดยไม่ต้องสงสัย แถมไม่ใช่ข้อมูลธรรมดา เพราะมันคือข้อมูลของ “ผู้ใช้งานทั้งโลก” อีกด้วย

ที่มา : http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000121873