ตลกเจ็บตัว

อยากจะเขียนถึงมาหลายครั้ง แต่ก็ปล่อยให้ผ่านไปทุกที เพราะ มีโฆษณาที่สะดุดตาสะดุดใจมากกว่าเข้ามาแทรกอยู่เรื่อย มาคราวนี้ ยังไม่มีโฆษณาชิ้นไหนโดนใจมากกว่า ก็เลยต้องย้อนรำลึกถึงโฆษณาของบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ล่าสุด กันจริงจังเสียที

ดูจะเป็นจารีตไม่เคยเปลี่ยนแปลงมาต่อเนื่องในรอบหลายปีนี้ของโฆษณากรุงเทพประกันภัยที่ชื่นชมกับการพยายามสื่อสารแรงๆ ด้วยตลกเจ็บตัว หรือ Slapstick Comedy เป็นคอนเซ็ปต์หลัก ซึ่งว่าไปแล้ว ก็ไม่ได้เสียหายอะไร เพราะในเรื่องการตอกย้ำแบรนด์นั้น ถือว่าทำได้ดี ช่วยให้จดจำไปได้นานพอสมควรทีเดียว

ตลกเจ็บตัวนั้น ดูเผินๆ มันออกจะเกร่อไปสักนิด และไร้รสนิยม แต่ตลกเจ็บตัวที่มีรสนิยมระดับ ชาร์ลี แชปลิน ก็เป็นอมตะได้ให้เห็นมาแล้วมิใช่หรือ

รากฐานของตลกเจ็บตัวนั้น เริ่มขึ้นจากตลกในละครสัตว์ ซึ่งจะมีการเอาแผ่นไม้หรือถาดโลหะ เอามาตีหัวกันให้เกิดเสียงดังๆ หลังจากนั้นก็พลิกแพลงไปต่างๆ นานา โดยพลอตหลักของสาระก็คือ การกระทำต่อร่างกายของตัวตลกอย่างเกินจริง หรือนอกกรอบสามัญสำนึกทั่วไป ซึ่งเด็กๆ ที่เป็นคนดูชอบกันนักหนา แต่ผู้ใหญ่ที่ผ่านชีวิตมามากๆ จะคุ้นเคยและถือว่าน่าเบื่อหน่าย

ฉากคลาสสิกที่สุดและถูกใช้บ่อยที่สุดในตลกเจ็บตัวแบบยุโรป (ฝรั่ง) ก็คือ ฉากไล่ผีที่สิงอยู่ในตัวตลก ด้วยการโบยตี หรือใช้แส้เฆี่ยน หรือทรมานด้วยการทุบตีด้วยถาดโลหะ แต่สำหรับตลกเจ็บตัวทั่วโลกนั้น ไม่ชัดเจนนัก เพียงแต่มีข้อต้องห้ามเอาไว้ว่า อย่าเอาคนพิการมาล้อเลียนมากเกินไปนัก เพราะถือว่าเป็นการซ้ำเติมกันมากเกินจะรับได้

เอากันแค่เพียงว่า ข้อให้มีความเสียหายวินาศสันตะโร หรือโกลาหลเกิดขึ้นชั่วคราว ก็น่าจะเพียงพอแล้ว

ในระยะ 20 ปีมานี้ มีพัฒนาการไปอีกชั้นหนึ่งสำหรับตลกเจ็บตัวก็คือว่า มีนักจิตวิทยาเอาไปวิพากษ์กันว่า เป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนให้เกิดพฤติกรรมใช้ความรุนแรงต่อกัน ดังนั้นจึงมีข้อเสนอให้เพลามือเพลาไม้กันลงไปอย่างเห็นได้ชัดเจน แต่ก็มีการหันเหหรือเลี่ยงมาใช้ภาษาเสียดแทงกันให้สะดุ้งมากขึ้น

เพียงแต่ในภาพยนตร์โฆษณาที่ต้องจำกัดจำเขี่ยเวลาอย่างมากนั้น การใช้มุกตลกเจ็บตัวก็ยังมีให้เห็น เพราะสามารถสื่อความได้เร็วและชัดเจนตรงประเด็นมากกว่า

กรณีของโฆษณากรุงเทพประกันภัย ก็เข้าข่ายนี้

นับตั้งแต่การนำเสนอแนวเรื่องประเภท “โอกาสที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย” (ยางรถยนต์หลุดจากฐานล้อ แต่กลับมาใส่ที่เดิม หรือ พายุที่หอบบ้านไปทั้งหลังแต่กลับมาอยู่ในสภาพเดิม) เรื่อยมาจนถึงเซลส์ขายประกันเกินจริง และล่าสุด ก็มาถึงหลักประกันที่ทำให้ไม่ต้องสนใจกับความเสียหาย

ถือเป็นการสร้างจุดขายที่ไม่ต้องพึ่งพาความหวาดกลัวกับลูกค้าที่จะซื้อประกันภัยอีกต่อไป แต่มุ่งไปที่จุดซึ่งเกินเลยจากนั้นคือ “เหนือกว่าความปลอดภัย คือ บริการที่ไร้กังวล” หรือพูดสั้นแบบฝรั่งก็คือ Worry-free insurance ซึ่งถือว่า เป็นการตลาดธุรกิจประกันภัยที่เหนือชั้น

ที่ทำเช่นนี้ได้ คนทำต้องมั่นใจว่าเป็นเจ้าตลาดที่สามารถเชิดคอได้อย่างเต็มเหยียดโดยไม่ต้องปริวิตกกับคู่แข่งขันว่าจะมาไม้ไหน เพราะ…รับมือได้หมด

ชื่อเสียงของกรุงเทพประกันภัยในอดีตนั้นแนบชิดมากับธนาคารกรุงเทพ เพราะผู้ถือหุ้นใหญ่คือตระกูลโสภณพนิชเหมือนกัน จึงมีลูกค้าทับซ้อนกันค่อนข้างมาก แต่ปัจจุบัน ฐานะบริษัทมหาชนทำให้บริษัทมีอิสระมากกว่าเดิม และต้องเน้นการสร้าง

แบรนด์ที่ตอกย้ำบริการของบริษัทให้มากขึ้น ตามความเข้มข้นของการแข่งขัน

โฆษณาชิ้นล่าสุดของบริษัทในเรื่องบริการที่ไร้กังวล มีโครงเรื่องน่าสนใจเหมาะกับช่วงเวลานำเสนอที่แสนสั้น
……….
ชายหนุ่มเจ้าของรถราคาแพงระยับ เอารถไปตรวจสภาพ โดยให้พนักงานของบริษัทขับรถไปให้เอง

พนักงานคนนั้นเข้าเกียร์ผิดจะด้วยไม่ชำนาญหรืออะไรก็ตาม รถยนต์หรูคันนั้นพุ่งเข้าชนผนังพังยับเยินเหลือแต่ซาก

เจ้าของรถมองตามไปที่รถ แต่พบว่าด้านหลังซากรถคันนั้นมีร่างคนที่คุ้นเคย ซึ่งเป็นเพื่อนเก่าที่สนิทสนมยืนอยู่

แทนที่จะโวยวายเรื่องรถยนต์ที่พังพินาศต่อหน้า เขากลับส่งเสียงดังอย่างดีที่เห็นเพื่อที่ดูเหมือนจะไม่ได้เจอกันมานานพอสมควร

ด้วยความที่ไม่กังวลว่ารถยนต์ที่เสียหายจะเป็นอย่างไร (…ก็มั่นใจเสียแล้วว่า ยังไงได้เคลมประกันคืนหมดแน่นอน…) คนทั้งคู่ทักทายกันเสมือนหนึ่งไม่มีเรื่องรถยนต์ที่ชนผนังเกิดขึ้นแม้แต่น้อย

จูงแขนกันเดินจากไปโดยไม่ใส่ใจกับซากรถแม้แต่จะชำเลืองกลับมามองเสียด้วยซ้ำ

โฆษณาจบลงอย่างประทับใจ แม้จะเป็นตลกเจ็บตัว แต่ก็เป็นตลกเจ็บตัวที่ไม่ธรรมดาอย่างแท้จริง
………..

ไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของไอเดีย และใครเป็นผู้ผลิต แต่งานชิ้นนี้ต้องยอมรับเลยว่า เป็นตลกเจ็บตัวที่มีรสนิยมดีเยี่ยม และมิหนำยังชูจุดขายในธุรกิจประกันภัยได้อย่างไม่ยัดเยียดอีกด้วย

ใครก็รู้ว่าธุรกิจประกันภัยนั้นคือธุรกิจป้องกันความเสี่ยงระยะสั้น (ส่วนใหญ่จะเป็นปีต่อปี ส่วนจะเป็นต่อครั้ง หรือต่ออะไรนั้น เป็นเงื่อนไขพิเศษ ต้นทุนการจ่ายค่าเสียหายสำหรับป้องกันความเสี่ยง เรียกว่า เบี้ยประกัน เก็บทันทีครั้งเดียว และหากมีความเสียหายเกิดขึ้น โดยผู้เอาประกันไม่ได้แสดงเจตนาที่จะประดิษฐ์ความเสียหายขึ้นมาเองอย่างจงใจ (ภาษาวิชาการเรียกว่า Moral Hazard – การทำให้เกิดความเสี่ยงอย่างผิดจริยธรรม) ก็จะได้รับการชดเชยตามความเสียหายที่เกิดขึ้น ภายในวงเงินที่กำหนดเอาไว้ในสัญญา

หากการบริการป้องกันความเสี่ยงนี้สามารถทำให้ถึงขั้นปลอดกังวล (แบบโฆษณาชิ้นนี้) ก็ถือว่าเป็นจุดขายที่โดดเด่น และทำให้ลูกค้าภักดีไปยาวนาน แถมจะได้ลูกค้าใหม่จากการเล่าปากต่อปาก หรือ Viral Marketing อย่างมีนัยสำคัญ

หวังว่า กรุงเทพประกันภัย จะไม่ทำให้ลูกค้าผิดหวังเหมือนอย่างที่เป็นในโฆษณาก็แล้วกัน

ตลกเจ็บตัวได้ แต่คนเอาประกันต้องไม่เจ็บตัว กลายเป็น Worry-ridden

ชื่อภาพยนตร์โฆษณา Valet Parking
ความยาว 30 วินาที
ตราผลิตภัณฑ์ / บริการ กรุงเทพประกันภัย
บริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ / บริการ กรุงเทพประกันภัย
บริษัทตัวแทนโฆษณา ครีเอทีฟ จูซ จีวัน
บริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์โฆษณา บริษัท ฟีโนมีนา จำกัด
Executive Creative Director ธีรศักดิ์ ธนพัฒนากุล
ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ ณนัฏ เทพรักษ์ / ธีรศักดิ์ ธนพัฒนากุล
ผู้เขียนบทโฆษณา ภาณุศาสตร์ ธนจินดาวงษ์
ผู้อำนวยการถ่ายทำ / ผู้กำกับภาพยนตร์ ทิชากร ใบมรกต / ธนญชัย ศรศรีวิชัย
เอเจนซี โปรดิวเซอร์ จุฑารัตน์ ชิงดวง / อรุณศรี ศรีโรจนันท์