กสิกรไทย ใส่เกียร์จับมือ “ฟินเทคจีน” ชำระเงินข้ามสกุล “บาท-หยวน” แบบเรียลไทม์

ธนาคารกสิกรไทย ใส่เกียร์เดินเครื่องเต็มที่รับมือกับการมาของฟินเทค ล่าสุดได้จับมือกับ “ฟินเทคจีน” ร่วมพัฒนาระบบชำระข้ามประเทศสกุล “บาท-หยวน” แบบเรียลไทม์ NGSN โอนเงินหลากหลายสกุลถึงกันได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านตัวแทนหลายธนาคาร ลดระยะเวลาการชำระเงิน ลดค่าใช้จ่าย และลดต้นทุนในการดำเนินงานในขณะที่มีความปลอดภัยสูง

บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย
บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย

บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในพิธีเซ็นสัญญาร่วมมือกับ International Business Settlement co., LTD. (IBS) ฟินเทครายใหญ่จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยีทางการเงินที่ก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่งของโลก พัฒนาระบบการชำระเงินระหว่างประเทศไทย-จีน ในรูปสกุลเงินบาท และเงินหยวน ด้วยการใช้เทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจาย (Distributed Computing) และบล็อกเชน (Blockchain) ผ่านเครือข่ายการชำระเงินข้ามประเทศ Next Generation Settlement Network (NGSN) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับชำระเงินเพื่อการค้า และโอนเงินต่างธนาคารทั่วโลกแบบเรียลไทม์ RTGS (Real-Time Settlement Network)

NGSN ได้รับการออกแบบให้เป็นระบบปฏิบัติการที่สะดวก มีสมาชิกเป็นธนาคารพาณิชย์ และหน่วยงานชำระบัญชีจากทั่วโลก สามารถโอนเงินหลากหลายสกุลถึงกันได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านธนาคารตัวแทนหลายธนาคาร จึงสามารถลดระยะเวลาการชำระเงิน ลดค่าใช้จ่าย และลดต้นทุนในการดำเนินงานในขณะที่มีความปลอดภัยสูง

ทำไมต้องจีน

บัณฑูร บอกถึงสาเหตุของการเลือกจับมือกับฟินเทคของจีน เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของประเทศไทย และยังเป็นประเทศหลักที่นำเงินลงทุน FDI เข้ามาในประเทศไทย โดยในปี 59 มียอดประมาณการค้าระหว่างไทย-จีนอยู่ที่ 2.3 ล้านล้านบาท

ดังนั้น ความร่วมมือกับ IBS ในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการชำระเงินระหว่างประเทศไทย และจีน โดยเฉพาะการพัฒนาด้านดิจิตอลแบงกิ้งของธนาคารก้าวหน้ายิ่งขึ้น ช่วยอำนวยความสะดวกในการชำระเงิน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มเสถียรภาพของค่าเงินบาท และเงินหยวน อันจะส่งผลให้ปริมาณการค้าการลงทุนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงปริมาณนักท่องเที่ยวจีนที่จะเพิ่มมากขึ้นด้วย

ปัจจุบัน ธนาคารกสิกรไทย มีสาขา และสาขาย่อยอยู่ที่ประเทศจีน ทั้งหมด 3 สาขา ได้แก่ สาขาเฉิงตู สาขาเซินเจิ้น สาขาย่อยหลงกั่ง และสาขาฮ่องกง 1 สาขา และมีสำนักงานผู้แทนอีก 3 สาขา ได้แก่ สำนักงานผู้แทนคุณหมิง สำนักงานผู้แทนปักกิ่ง และสำนักงานผู้แทนเซี่ยงไฮ้

ในปี 60 ธนาคารจะดำเนินการยกระดับจากสาขาต่างประเทศให้กลายเป็นธนาคารท้องถิ่นในประเทศจีน (LII) และเปิดสาขาแห่งที่ 4 ที่นครเซี่ยงไฮ้ เพื่อให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถของการบริการได้อย่างครบวงจร และมีความคล่องตัวในการขยายธุรกิจมากขึ้น พร้อมให้บริการนักลงทุนจีน และไทย รวมถึงการทำธุรกรรมทางการเงินของกลุ่มลูกค้าบุคคลในจีน และนักท่องเที่ยวจีนมายังประเทศไทยในรูปแบบดิจิตอลด้วย

ด้าน หลัว เฟิง ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ IBS เปิดเผยว่า บริษัทมุ่งมั่นก้าวขึ้นเป็นบริษัทเทคโนโลยีทางการเงินชั้นนำของโลก ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ พร้อมนำมาซึ่งโอกาสต่างๆ ในอุตสาหกรรมการเงินโลก โดยใช้เทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจาย (Distributed Computing) และบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยของข้อมูล เพื่อสร้างเครือข่ายการชำระเงินข้ามประเทศ (NGSN) ในรูปแบบการปฏิบัติการที่ไม่ซับซ้อน โดยมีผู้ร่วมใช้งาน คือ สถาบัน และหน่วยงานด้านการเงินทั่วโลก IBS รวมศูนย์ และเชื่อมโยงหน่วยงานชำระบัญชีในภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้บริการชำระบัญชีทุกสกุลเงินแก่ธนาคารพาณิชย์ทั่วโลกตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งสร้างช่องทางใหม่เพื่อการโอนเงินทุกสกุลข้ามประเทศแบบทันทีทันใด

ปัจจุบัน IBS มีเครือข่ายการชำระเงินประจำภูมิภาคทั้งในยุโรป เอเชียกลาง เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และภูมิภาคอื่นๆ โดยเป็นตัวกลางเชื่อมโยงธนาคารกลางกับธนาคารพาณิชย์ในแต่ละประเทศ ซึ่งทำให้สามารถให้บริการชำระเงิน และหักบัญชีได้หลากหลายสกุลเงินแบบทันทีทันใด ทั้งการบริการระหว่างประเทศ/ภูมิภาค เช่น ในจีน และทั่วโลก

นับเป็นอีกหนึ่งในก้าวรุกของธนาคารกสิกรไทย รับมือกับการมาของฟินเทค โดยก่อนหน้านี้ ได้ร่วมมือกับไอบีเอ็มทดลอบระบบบล็อกเชน มาใช้ในการรับรองเอกสารหนังสือค้ำประกัน (Letter of Guarantee : LG) เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ทำให้เกิดความสะดวก รวดเร็วและประหยัด ซึ่งจะเริ่มทดลองใช้ในปีหน้า