แคลิฟอร์เนีย ว้าว ฟ้อง ปปง.หลัง กลต. ไม่พบทุจริต

CAWOW ยืนยันเดินหน้าฟ้องสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง) แม้ว่า ปปง. กลับคำ ยอมรับต่อศาลในขั้นตอนการไต่สวนมูลฟ้อง ว่าผลการตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไม่พบแคลิฟอร์เนีย ว้าว ทำการทุจริต นอกจากนั้นบริษัทตรวจสอบบัญชีระดับโลก ทั้งดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศและไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ ก็ได้ยืนยันความถูกต้องของการตรวจสอบธุรกรรมของบริษัท ไม่พบความผิดปกติในการประกอบธุรกิจของแคลิฟอร์เนีย ว้าว ขณะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็ได้แจ้งยุติการสอบสวนแล้วเช่นกัน CAWOW ขอให้การฟ้องนี้เป็นกรณีศึกษา ปปง.ควรปกปิดข้อมูลเป็นความลับ ศาลยังไม่ตัดสินถือเป็นผู้บริสุทธิ์

นายเอริค มาร์ค เลอวีน อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ CAWOW กล่าวว่า “เมื่อเร็วๆ นี้ ศาลอาญา รัชดา ได้เรียกไต่สวนมูลฟ้อง หลังจากที่ตนและบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว ได้ยื่นฟ้องหมิ่นประมาทอดีตเลขาธิการ ปปง. 100 ล้านบาท ที่แถลงข่าวกล่าวหาว่าตน และบริษัทได้กระทำการที่เข้าข่ายความผิดฐานทุจริต ผู้บริหารบริษัทมิได้นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตรงกันข้ามเราได้ทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงพร้อมส่งผลการตรวจสอบของ ก.ล.ต. ที่ยืนยันว่าไม่พบข้อมูล หรือหลักฐานที่บ่งชี้ว่าผู้บริหาร CAWOW ได้มีการกระทำที่เป็นการทุจริตเลย รวมถึงการตรวจสอบของบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีที่มีชื่อเสียงระดับโลกทั้งดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศและไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ ก็ได้ยืนยันความถูกต้องของการตรวจสอบธุรกรรมของบริษัทเช่นกัน นอกจากนั้นเรายังได้พยายามติดต่อ ปปง. เพื่อแสดงความสุจริต โปร่งใสในการประกอบกิจการ ตั้งแต่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว แต่ก็ไม่เคยได้รับการติดต่อกลับจาก ปปง. เลย”

“ถ้อยแถลงของอดีตเลขาธิการ ปปง.และพวก ดังกล่าวถือเป็นการกล่าวหาโดยปราศจากข้อเท็จจริงโดยสิ้นเชิง ทำให้ตนได้รับความเสียหายทั้งต่อชื่อเสียงในระดับโลก และต่อหน้าที่การงานอย่างมาก ตนจึงมีความความจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายเพื่อพิสูจน์ความจริง และเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตนเอง” นายเอริค กล่าว

“ผมจะเดินหน้าเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมต่อศาลเกี่ยวกับอำนาจและการใช้อำนาจของ ปปง. ผมอยากให้คดีนี้เป็นกรณีศึกษาเพื่อให้ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการปราบปรามการกระทำความผิด ได้โปรดพิจารณาข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน สืบสวนในทางลับ และไม่ควรจะเปิดเผยต่อสาธารณะโดยเด็ดขาดจนกว่าจะมีหลักฐานที่ระบุความผิดชัดเจน ซึ่งเป็นหลักการที่ใช้ในการรับรองหรือคุ้มครองสิทธิของประชาชน เพราะการเปิดเผยดังกล่าวอาจหันกลับมาเชือดเฉือนประชาชนผู้สุจริตได้ ซึ่งใครก็ตามที่ถูกสงสัย ย่อมเดือดร้อน และทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงที่ยากจะเรียกกลับคืนมา เหมือนกับผมที่ถูกกระทำมาโดยตลอด ชีวิตมีแต่ความเครียด ครอบครัวมีความอับอาย หน้าที่การงานแย่ลงอย่างมาก” นายเอริค กล่าว