รู้ทันเทรนด์! ตามติดกระแสโลก ผ่านกูรูเทรนด์ Daniel Levine

ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ผู้ที่จับต้อง ‘เทรนด์’ มาใช้ประโยชน์เชิงธุรกิจได้ทันเวลาเท่านั้น จึงจะสามารถกุมใจผู้บริโภคไว้ได้

การให้ความสำคัญกับการตามติดเทรนด์ เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่ไขไปสู่ความต้องการและพฤติกรรมที่แท้จริงของผู้บริโภค

บุคคลผู้หนึ่งที่มีอิทธิพลในการชี้นำให้บริษัทชั้นนำระดับโลกกว่า 500 แห่ง ตระหนักในการรู้เท่าทัน Global Trend และนำมาวางแผนการตลาดหรือปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางธุรกิจให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกที่ไร้พรมแดน คือ Daniel Lavine ผู้เชี่ยวชาญด้านเทรนด์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก

โดยศูนย์การเรียนรู้ M academy ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการและเชิญ  Daniel มาสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเทรนด์ พร้อมอัพเดตเทรนด์โลกและเผยเคล็ดลับในการสร้างความสำเร็จที่ยั่งยืนแก่ผู้ประกอบการไทย

“การทำความเข้าใจในเทรนด์ไม่ต่างจากการทำความเข้าใจในศาสตร์ ‘จิตวิทยาผู้บริโภค’ เทรนด์คือความคิด ความรู้สึก ซึ่งก่อให้เกิดพฤติกรรมของมนุษย์

บางครั้งเทรนด์คือ ‘ไลฟ์สไตล์’ รูปแบบการใช้ชีวิตทั่วไป เช่น รถยนต์ที่ขับ เสื้อผ้าที่สวมใส่ แต่ในบางครั้งเทรนด์ก็ดูคล้ายเป็น ‘ความลับ’ เราไม่รู้หรอกว่าลูกค้าคิดอะไรอยู่ แต่หากล่วงรู้แล้ว คุณจะรู้จักลูกค้าของคุณดีขึ้นว่าเขาต้องการอะไร รวมทั้งทราบว่าสินค้าและบริการของคุณจะต้องมีอะไร เพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้า”

มร. Daniel มองว่า การที่ลูกค้าคนหนึ่งตัดสินใจซื้อสินค้าสักชิ้น ล้วนมีเหตุผลรองรับ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีที่มาที่ไป ดังนั้น งานหลักๆ ของทีมวิจัยกว่า 9,000 ชีวิตของ WikiTrend. เว็บไซต์ที่ทำเรื่องเทรนด์ทางสังคมและเศรษฐกิจ ที่มี มร. Daniel นั่งเป็นบรรณาธิการอยู่ คือการเรียนรู้และตามติดการใช้ชีวิตของผู้คนทั่วโลก เพื่อทำความเข้าใจมุมมองความคิดและพฤติกรรมของผู้บริโภค แล้วจับทิศทางของ Global Trend ออกมาช่วยให้องค์กรธุรกิจตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าจะสร้างสรรค์สินค้าและบริการไปในทิศทางใด

Green –Eco Product ขาดไม่ได้

เขาหยิบยก Global Trend ที่กำลังมีบทบาทต่อทุกธุรกิจ ทุกอุตสาหกรรมของโลกในเวลานี้ คือ Green หรือ ECO ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ทุกองค์กรบริษัทต่างเห็นตรงกันว่า ‘ดี’ แต่คำถามคือจะสามารถนำเทรนด์ดังกล่าวมาเชื่อมต่อเข้ากับธุรกิจ เพื่อเพิ่มยอดขาย สร้างผลกำไรให้กับบริษัทได้อย่างไร? เขาตอบว่า…

“หน้าที่ของผมคือการช่วยให้ลูกค้าองค์กรบริษัทเข้าใจ และตอบคำถาม 3 ประเด็นเหล่านี้ด้วยตนเองให้ได้ก่อน หนึ่ง องค์กรมีความเข้าใจว่า Green หรือ Eco Product ว่าอย่างไร? สอง คำนี้มีความหมายอย่างไรในมุมมองขององค์กร ทั้งนี้ ผมจะไม่ไปชี้นำทางความคิด แต่ให้องค์กรอธิบายออกมาว่าเขามองสิ่งนี้อย่างไร อะไรคือประเด็นสำคัญ และสุดท้าย ทำอย่างไรให้ลูกค้าผู้บริโภคมองเห็นความสำคัญและติดตามเข้ามาใช้บริการ จนนำไปสู่ยอดขายหรือรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

เพื่อให้เห็นภาพการต่อยอดเทรนด์ในธุรกิจชัดเจนยิ่งขึ้น เขายกเคสเจ้าของผับแห่งหนึ่งในประเทศฮอลแลนด์ เจ้าของผับแห่งนี้เข้าใจดีว่าลูกค้าของตนแคร์เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก จึงตัดสินใจผลิตฟลอร์เต้นรำที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าในตัว ยิ่งลูกค้ามาเต้นบนฟลอร์นี้มากเท่าไร ก็จะผลิตและเก็บกระแสไฟฟ้ามากขึ้นเท่านั้น ท้ายที่สุดก็กลายเป็นเทรนด์นิยมของธุรกิจคลับ ซึ่งล้วนทำตามอย่างกัน ในขณะที่ลูกค้าก็เข้ามาใช้บริการที่ผับมากขึ้น เพราะสัมผัสได้ถึงความแปลกใหม่ และรู้สึกดีใจที่ตนได้มีส่วนร่วมในการดูแลโลกใบนี้

ด้วยเทคโนโลยีเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารถึงกันอย่างรวดเร็ว ทำให้โลกใบนี้เล็กลงเรื่อยๆ แม้แต่ละประเทศจะมีความแตกต่างทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม แต่ทุกธุรกิจสามารถปรับประยุกต์ใช้ Global Trend ร่วมกันได้ทั้งโลกเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคของตน แม้ในเวลานี้ฮอลแลนด์ สวีเดน จะเป็นประเทศที่มีความสนใจเรื่อง Eco Trend มากกว่าประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทย แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านเทรนด์เชื่อมั่นว่า Eco Trend มาแน่นอน เพราะเป็นเทรนด์ที่ถูกต้อง แม้อาจจะล่าช้า แต่กระแสจะค่อยๆ พัดไปในทิศทางเดียวกันทั่วทั้งโลก   

ด้วยเหตุนี้ มร. Daniel จึงบินตรงจากนิวยอร์กมายังเมืองไทย เพราะต้องการให้ผู้ประกอบการธุรกิจในประเทศไทยได้ตระหนักและเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าอย่างลึกซึ้งผ่านกระแสของเทรนด์

‘เทรนด์’ แตกต่างจากคำว่า ‘แฟชั่น’ ที่อาจเป็นเพียงแค่กระแส ความหวือหวา มาแล้วก็ไป ขณะที่ ‘เทรนด์’ มีความหมายชัดเจนว่า ‘ยั่งยืน’ และ ‘ถูกต้อง’ เพราะเทรนด์เกิดจากความต้องการของคนจริงๆ และสามารถสร้างการเชื่อมต่อและก่อให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจได้

สิ่งหนึ่งในการทำธุรกิจ เราต้องทำให้ลูกค้าผู้บริโภครู้สึกตื่นเต้นให้ได้กับไอเดียที่เราทำ เพราะบางครั้งลูกค้าก็ไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วตนเองต้องการอะไร หากเราจับเทรนด์ที่ซ่อนอยู่ข้างใน เราจะสามารถบริหารจิตวิทยาของผู้บริโภคได้ และทำให้ลูกค้าเกิดความต้องการอยากจะใช้สินค้าและบริการของเรามากขึ้น”

ยกตัวอย่างเช่น นาฬิกา Smart Watch นั้นไม่ใช่สินค้าแฟชั่น แต่เป็นสินค้าที่มีเทรนด์สุขภาพแฝงอยู่ สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนที่ทุกวันนี้หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพตนเองที่บ้านมากขึ้น ในต่างประเทศผู้บริโภคเริ่มนิยมซื้อ Home Lab ติดบ้านไว้เพื่อใช้วิเคราะห์ข้อมูลอาการป่วยของตัวเองก่อนที่จะไปพบแพทย์ ซึ่งทางโรงพยาบาลได้มองเห็นการเกิดขึ้นของเทรนด์ดังกล่าวแล้ว และพยายามมองหาวิธีปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ธุรกิจให้เหมาะสม เพื่อเชื่อมโยงกับความต้องการของผู้บริโภคยุคดิจิตอลต่อไป

เจาะลูกค้ารายบุคคล ตอบโจทย์ง่าย-เร็ว

ในฐานะที่ปรึกษาของบริษัทสินค้าชั้นนำทั่วโลกในหลากหลายกลุ่มธุรกิจ อาทิ MasterCard, Intel, BMW, Starbucks, The World Tourism Organization ฯลฯ มร. Daniel แนะแนวทางแก่ผู้ประกอบการไทยในการทำธุรกิจรับปี 2017 ว่าเทรนด์ที่น่าจับตามองคือ ‘แตกต่าง’ และ ‘ไม่เหมือนใคร’ ปัจจุบันเจ้าของแบรนด์ต่างหันมาใส่ใจสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่แตกต่าง และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยก็ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติเช่นกัน โดยมองลูกค้าเป็น ‘รายบุคคล’ ไม่ควรเหมารวมว่าลูกค้าจะเหมือนกันทั้งหมด

“เราต้องเข้าใจก่อนว่าลูกค้ายุคนี้ต้องการเป็นคนพิเศษ และมีความคาดหวังจากสินค้าและบริการมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น เจ้าของแบรนด์ต้องพยายามหาคำตอบที่เฉพาะเจาะจงไปในรายบุคคล ที่สำคัญต้องทำทุกเรื่องให้ ‘ง่าย’ และ ‘เร็ว’ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ดีที่สุด

ยกตัวอย่างเช่น รองเท้า Nike ได้สร้างเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อให้ลูกค้าเข้ามาดีไซน์รองเท้าในแบบที่ตนเองชอบ โดยสามารถเลือกวัสดุและสีได้ตามต้องการ ทำให้ลูกค้ารู้สึกตื่นเต้นและสนุกกับประสบการณ์ดังกล่าว และท้ายที่สุดก็ได้เป็นเจ้าของรองเท้าที่ออกแบบเองคู่เดียวในโลก หรือแนวทางการออกแบบ iPhone ก็เกิดจากการทำความเข้าใจอินไซต์ของผู้บริโภคว่าต้องการความสะดวกและรวดเร็ว จึงออกแบบให้มีปุ่มเดียวบนหน้าจอสมาร์ทโฟน เพื่อลดขั้นตอนและทำให้ลูกค้าใช้งานได้ง่ายขึ้น”

สินค้าไทยดีแต่คนไม่รู้จัก

การทำธุรกิจที่แตกต่าง และตอบโจทย์ลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจง จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย มร. Daniel ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าอาจเริ่มต้นจากจับกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้หญิง เช่น ในบางประเทศจะมีคนขับรถแท็กซี่ผู้หญิงที่ให้บริการแก่ลูกค้าผู้หญิงด้วยกันโดยเฉพาะ โดยมอบการบริการที่น่าประทับใจคือ การจอดรถแท็กซี่รอจนกว่าลูกค้าจะเดินเข้าบ้านไปอย่างปลอดภัย จึงจะขับรถกลับออกไป

word_icon

เทรนด์คือโอกาสในการทำธุรกิจขององค์กรบริษัททั่วโลก เมืองไทยเป็นประเทศที่มีความคิดสร้างสรรค์มากมาย เช่น ลิปติกไทยที่มีด้ามเป็นที่เป่านกหวีดในตัว ถือเป็นตัวอย่างของสินค้าที่ดีมากๆ เพราะช่วยตอบโจทย์เรื่องความปลอดภัยในชีวิตของผู้หญิง ความจริงประเทศไทยมีสินค้าดีๆ อยู่มาก แต่อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก จึงควรพยายามผลักดันออกไปสู่ตลาดโลกให้มากขึ้น

word_icon2

ขณะเดียวกัน องค์กรบริษัทต่างๆ ไม่ควรจำกัดความคิดสร้างสรรค์ของพนักงาน และหันหลังให้กับเทรนด์ เพราะนั่นเท่ากับว่าเรากำลังหันหลังให้กับความต้องการของผู้บริโภค หากเข้าใจในเทรนด์ และเปิดโอกาสให้ทุกคนในองค์กรได้มีส่วนร่วมคิด ร่วมสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ผมเชื่อว่ามันจะเป็นทางลัดที่ช่วยให้สินค้าและบริการแข็งแรง สามารถครองใจผู้บริโภคได้มากขึ้น และทำให้องค์กรธุรกิจเติบโตยั่งยืนอย่างแน่นอน”