มาแล้วโบนัสปี 59 ยานยนต์-การเงินจ่ายสูงสุด 4 เดือน 
ผู้บริหารระดับสูงไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์จ่าย 10 เดือน

บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด เว็บไซต์หางานของเอเชีย เผยผลการจ่ายโบนัสในประเทศไทย ประจำปี 2559 ระดับตำแหน่งงาน กลุ่มอุตสาหกรรมและพฤติกรรม เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการจ่ายโบนัส พบว่าอุตสาหกรรมยานยนต์และบริการด้านการเงินเป็นอุตสาหกรรมที่จ่ายโบนัสสูงสุดทั้งแบบการันตีและแบบพิจารณาตามผลงานมีนัยไม่แตกต่างจากปี 2558

นพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า จ๊อบส์ ดีบี ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นเรื่องการจ่ายโบนัส จากผู้หางานที่เป็นสมาชิกของ jobsDB จำนวน 642 ราย ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2559

ผลสำรวจระบุว่า พนักงานระดับปฏิบัติการ และระดับหัวหน้างาน ได้รับโบนัสแบบพิจารณาตามผลงานมากที่สุด คือ 4.15 เดือน และ 4.12 เดือน ตามลำดับ

ในขณะที่ผู้บริหารระดับสูง 3.96 เดือน และผู้บริหารระดับกลาง 3.89 เดือน ในส่วนของการได้รับโบนัสแบบการันตี พนักงานในระดับหัวหน้างาน ได้โบนัสสูงสุด 2 เดือน ผู้บริหารระดับกลาง 1.99 เดือน พนักงานระดับปฏิบัติการ 1.82 เดือน และผู้บริหารระดับสูง 0.96 เดือน

bonus-1

bonus-2

ธุรกิจยานยนต์จ่ายโบนัสสูงสุด 2.35-4.75 เดือน

เมื่อพิจารณาการจ่ายโบนัสทั้งสองแบบเป็นรายอุตสาหกรรม ผลสำรวจจากผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่า อุตสาหกรรมที่มีการจ่ายโบนัสสูงสุดคืออุตสาหกรรมยานยนต์ โดยองค์กรในอุตสาหกรรมนี้มีการจ่ายโบนัสแบบการันตีและพิจารณาตามผลงานเฉลี่ยสูงสุดทึ่ 2.35 และ 4.74 เดือนตามลำดับ

ธุรกิจการเงินจ่าย 3.94-1.39 เดือน

ส่วนองค์กรในอุตสาหกรรมบริการด้านการเงินจ่ายโบนัสแบบการันตีสูงเป็นอันดับสองโดยเฉลี่ยที่ 1.39 เดือน ตามมาด้วยอุตสาหกรรมเคมี/ปิโตรเคมี/พลาสติก/กระดาษ เฉลี่ยที่ 1.35 เดือน

นอกจากนี้อุตสาหกรรมบริการด้านการเงินยังครองตำแหน่งอันดับสองสำหรับการจ่ายโบนัสแบบพิจารณาตามผลงานโดยจ่ายโบนัสเฉลี่ยที่ 3.94 เดือน ตามด้วยอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่จ่ายโบนัสเฉลี่ยที่ 3.65 เดือน

ผู้บริหารระดับสูงได้ 1.94 เดือน

สำหรับการสำรวจการจ่ายโบนัสจากฝั่งผู้ประกอบการไทย พบว่าผู้ประกอบการกว่า 59% มีการการันตีการจ่ายโบนัสสูงสุดให้กับพนักงานระดับปฏิบัติการ

“ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรคงไม่ผิดหวัง ถึงแม้ว่าบริษัทหลายแห่งไม่ได้กำหนดโบนัสแบบการันตีให้ผู้บริหารระดับนี้ แต่ผู้บริหารในกลุ่มนี้ได้รับผลตอบแทนรวมสูงที่สุดเมื่อเทียบกับพนักงานในตำแหน่งอื่นๆ กล่าวคือในขณะที่ผู้บริหารระดับสูงได้รับผลตอบแทนโบนัสเฉลี่ยประมาณ 1.94 เดือน พนักงานระดับปฏิบัติการ และหัวหน้างานได้รับโบนัสเฉลี่ยที่ 1.45 เดือน และผู้บริหารระดับกลางจะได้รับเฉลี่ยที่ 1.5 เดือน”

ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ จ่ายโบนัสผู้บริหาร 10 เดือน

รายงานยังแสดงให้เห็นอีกว่าการจ่ายโบนัสให้กับผู้บริหารระดับสูงแตกต่างกันไปในแต่ละประเภทงาน โดยงานอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นประเภทงานที่การันตีจ่ายโบนัสแก่ผู้บริหารระดับสูงจนน่าประหลาดใจถึง 10 เดือน

ตามมาด้วยงานการค้าและกระจายสินค้า ที่จ่ายโบนัสเฉลี่ย 4 เดือน ขณะที่งานวิศวกรรมค้าส่งและค้าปลีก รวมไปถึงงานการผลิตจ่ายโบนัสพนักงาน 3 เดือน

75% จ่ายตามผลงาน

แนวโน้มการจ่ายโบนัสแบบพิจารณาตามผลงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยหลายบริษัทจะระบุว่ามีการจ่ายโบนัสให้พนักงานในทุกๆ ระดับ  โดย 75% ของบริษัทกล่าวว่าจะจ่ายโบนัสแบบพิจารณาตามผลงานให้กับพนักงานระดับผู้บริหารระดับกลางและระดับสูง ขณะที่ 77% จ่ายโบนัสแบบพิจารณาตามผลงานให้พนักงานระดับปฏิบัติการและระดับหัวหน้างาน

เมื่อสำรวจช่วงเวลาในการจ่ายโบนัสไปยังผู้ประกอบการไทย ผู้ประกอบการส่วนใหญ่กำหนดการจ่ายโบนัสในช่วงเวลาเดียวกัน โดย 3 ใน 5 ของบริษัทที่สำรวจจ่ายโบนัสแบบการันตีในเดือนธันวาคม และ 2 ใน 5 ของบริษัทเลือกจ่ายโบนัสให้พนักงานในเดือนมกราคมและเดือนมิถุนายน ตามลำดับ

ส่วนโบนัสแบบที่พิจารณาตามผลงาน ครึ่งหนี่งของบริษัทที่สำรวจระบุว่าจ่ายโบนัสในเดือนธันวาคม ขณะที่ 23% ของบริษัทที่สำรวจจ่ายในเดือนมกราคมและเดือนมีนาคม

“หากเปรียบเทียบการจ่ายโบนัสของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดียวกัน พบว่ามีเพียง 5% เชื่อว่าพวกเขาจ่ายโบนัสแบบการันตีสูงกว่า และอีก 9% เชื่อว่าพวกเขาจ่ายโบนัสแบบพิจารณาตามผลงานดีกว่าที่อื่น ขณะที่ 40% และ 41% เชื่อว่าพวกเขาจ่ายโบนัสพนักงานในระดับเดียวกันกับอุตสาหกรรม อีก 55% ยอมรับว่าพวกเขาจ่ายโบนัสพนักงานต่ำกว่าหากเทียบกับอุตสาหกรรมเดียวกัน ในทางตรงกันข้าม 50% กล่าวว่าพวกเขาจ่ายโบนัสแบบพิจารณาตามผลงานต่ำกว่าบริษัทอื่น”

ยุคนี้โบนัสมีผลกับความภักดีของพนักงานหรือไม่?

ผู้ประกอบการไทยยังคงมีความเชื่อมั่นที่เป็นบวกในประเด็นของการสรรหาว่าจ้างและการรักษาพนักงานในองค์กร โดย 7 ใน 10 ของผู้ประกอบการเชื่อว่าการจ่ายโบนัสแบบการันตีมีประโยชน์ในการสรรหาบุคลากร ขณะที่ 6 ใน 10 ของผู้ประกอบการเชื่อว่าโบนัสช่วยรักษาพนักงานในองค์กร ในส่วนของโบนัสแบบพิจารณาตามผลงานนั้น 6 ใน 10 ของผู้ประกอบการเชื่อว่าการจ่ายโบนัสดังกล่าวช่วยในการสรรหาบุคลากร และ 6.5 ใน 10 ของผู้ประกอบการเชื่อว่าการจ่ายโบนัสดังกล่าวจะช่วยรักษาพนักงานในองค์กรได้

ปัจจัยอะไรที่มีผลต่อโบนัส?

โบนัสที่พนักงานได้รับไม่สัมพันธ์กับตำแหน่งและอายุงานในตำแหน่งงานปัจจุบัน พฤติกรรมนี้พบเห็นได้ในจำนวนปีที่พนักงานทำงานในองค์กรเดิม และระยะเวลาของประสบการณ์ในตำแหน่งนั้น

ทัศนคติมีผลต่อโบนัสหรือไม่?

พนักงานยังได้ตอบคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมในการทำงาน ซึ่งเผยให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างพฤติกรรมกับจำนวนโบนัสที่พวกเขาได้รับอย่างน่าประหลาดใจ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้:

  • พนักงานที่ชอบทำงานที่มีความเสี่ยงสูงมักได้รับรางวัลตอบแทนสูงกว่าพนักงานที่ทำงานความเสี่ยงน้อยแต่ได้เงินเดือนคงที่
  • พนักงานที่เอาชนะความท้าทายต่างๆ ในการทำงานได้รับโบนัสมากกว่าพนักงานที่ไม่เผชิญความท้าทายใดๆ
  • พนักงานที่คิดว่าพวกเขาทำงานได้หลายหน้าที่ได้ดีเมื่อเทียบกับพนักงานคนอื่นมีแนวโน้มได้โบนัสสูงกว่า

bonus-3

ได้โบนัสแล้วใช้อะไรบ้าง

จากการสำรวจการใช้โบนัสของพนักงาน พบว่า 31% ของผู้ตอบแบบสำรวจนำไปลงทุน 29% บอกว่าเก็บไว้เป็นเงินออม และ 1 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสำรวจ จะนำไปชำระหนี้และบัตรเครดิต และอีก 11% นำไปซื้อของขวัญให้ตนเองและคนสำคัญ