บทสรุป 12 ปรากฏการณ์ร้อนฉ่าแห่งปี 2559

ปี 2559 ที่ผ่านมา เป็นอีกปีที่เรียกว่ามีทั้งดราม่าร้อนฉ่าเกิดขึ้นทั้งปี และมีเหตุการณ์ที่เป็นปรากฏการณ์ให้พูดถึงได้ทั้งเมืองได้เกิดขึ้นทั้งปีด้วยเช่นกัน เกิดทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ ในปีนี้เห็นได้ชัดว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคออนไลน์และออฟไลน์มีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออกแล้ว ส่งผลต่อไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคด้วย ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้เป็นปรากฏการณ์ทางการตลาดที่สามารถเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญได้อย่างดี

ทางเราได้รวม 12 ปรากฏการณ์ที่ร้อนแรงที่เกิดขึ้นในปี 2559 ที่ผ่านมานี้มาให้รับชมกัน

1. โปเกม่อน โก ฟีเวอร์ ปลุกกระแสเดินล่าโปเกม่อนกันทั่วเมือง

01pokemon2

กลายเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ร้อนแรงที่โด่งดังเพียงช่วงข้ามคืนเลยทีเดียวสำหรับกระแสเกม Pokemon Go ที่ดังตั้งแต่ยังไม่เปิดให้บริการในประเทศไทย แต่คนไทยมีอาการตื่นเต้นเป็นพิเศษกับการได้เล่นเกมโปเกม่อนนี้

Pokemon Go เป็นเกมในรูปแบบของเทคโนโลยี AR หรือ Augmented Reality ผสมกับ Location based เกิดขึ้นโดย 3 ผู้สร้างด้วยกัน ได้แก่ The Pokémon Company เจ้าของลิขสิทธิ์โปรเกม่อน, Nintendo บริษัทวิดีโอเกม และ Niantic ผู้พัฒนาเกมที่มี Google เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ ก่อนหน้านี้เคยโด่งดังกับเกม Ingress ที่มีรูปแบบคล้ายๆ กัน

วิธีการเล่นก็คือผู้เล่นจะเป็นเหมือนเทรนเนอร์ในการตามล่าหาโปรเกม่อนจะต้องเดินตามหาในสถานที่ต่างๆ รอบตัว ซึ่งจะมีโปรเกม่อนซ่อนอยู่และจะมีตามสถานที่สำคัญๆ ด้วย

1pokemon

สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงกระแสร้อนแรงได้ดีที่สุดก็คือ Pokémon Go ได้ทุบสถิติแอปพลิเคชั่นต่างๆ ด้วยยอดการดาวน์โหลดกว่า 10 ล้านครั้งภายในหนึ่งสัปดาห์ที่เปิดตัว ตัวเลขนี้ยังแซงหน้าผู้ใช้งานแอคทีฟยูสเซอร์ของทวิตเตอร์อีกด้วยซ้ำ และมีการใช้งานแอปพลิเคชั่นเฉลี่ยมากกว่าโซเชียลมีเดียยอดนิยมอย่างเฟซบุ๊ก สแน็ปแชท อินสตาแกรม และว้อทซ์แอป

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ก็ทำให้เกิดกระแสหลายๆ อย่างตามมาเช่นกัน อย่างเช่นเรื่องการเกิดอาชีพแปลกๆ เกิดขึ้น รับจ้างขับรถเพื่อพาไปจับโปรเกม่อน หรืออาจจะมีข่าวในเรื่องของการจราจรติดขัด เนื่องจากบางคนจอดรถเพื่อจับโปรเกม่อน หรืออาจจะเกิดเรื่องวุ่นวายขึ้นอีกมากมาย

แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือเกมโปเกม่อน โก นี้ สามารถกลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดอย่างหนึ่งได้ สถานที่ หรือแบรนด์ไหนที่ต้องการทำการตลาดร่วมกับเกมก็เพียงแค่ซื้อ Lure ในเกม เพื่อปล่อยไอเท็ม หรือมีโปเกม่อนตัวเจ๋งๆ มาดึงดูดผู้เล่นได้ ซึ่งเหล่าบรรดาห้างค้าปลีกในเมืองที่มีเสาโปเกม่อนก็ได้ใช้โอกาสนี้ในการเพิ่มโอกาสการเข้าร้านจากการที่มีคนเข้ามาจับโปรเกม่อน และอาจจะมีรายได้มากขึ้นอยากโอกาสการเข้าร้านที่สูงขึ้นด้วย

2. ตามล่าหาไอศกรีมกูลิโกะ

ในปีที่ผ่านมาตลาดไอศกรีมมีสีสันมากขึ้นเพราะการเข้ามาของ ไอศกรีมกูลิโกะโดยเป็นการดำเนินธุรกิจของเอซากิ กูลิโกะที่ได้จัดตั้งบริษัท กูลิโกะ โฟรเซ่น (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท ถือว่าเป็นการดำเนินธุรกิจไอศกรีมนอกประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก เพราะมองว่าตลาดในประเทศไทยมีศักยภาพสูง มีกาศร้อนตลอดทั้งปี ผู้บริโภคก็ชอบเปิดรับสิ่งใหม่ๆ

blogmedia-62265.jpg

ทำให้ไอศกรีมกูลิโกะกลายเป็นสินค้า Rare item หายากที่ทุกคนตามหากันอยู่พักใหญ่ เป็นกระแสที่ทุกคนต้องได้ชิมก่อนใครเพื่อได้แชร์ลงโซเชียลมีเดีย ในช่วงนั้นสินค้าขาดตลาดอยู่หลายเดือน แต่ปัจจุบันเข้าสู่สภาวะปกติที่สามารถหาซื้อได้ทุกเวลา

ซึ่งไอศกรีมกูลิโกะเคยทดลองตลาดในประเทศไทยมาแล้วในปี 2557 แต่เป็นเพียงการนำร่องทดลองตลาดเพียง 3 เดือน แต่ในช่วงนั้นมีวางจำหน่ายในโซนชานเมือง แถบรังสิต บางนา ปทุมธานีเท่านั้น จำนวน 70 ตู้แช่ เลือกทดลองตลาดในทำเลชานเมืองก่อนเป็นเพราะว่าใกล้โรงงาน ที่ผลิตเท่านั้นเอง เพราะทางกูลิโกะได้จ้างจอมธนาเป็นผู้ผลิตให้ โดยใช้สูตรจากทางญี่ปุ่น มีการนำเข้าวัตถุดิบบางส่วน และใช้วัตถุดิบภายในประเทศด้วย

1_glico

หลังจากนั้นทางกูลิโกะก็ได้กลับไปทำการบ้านอยู่พักใหญ่ จึงได้ฤกษ์ในการเปิดตัวอย่างเป็นทางการช่วงต้นปี 2559 พร้อมกับไอศกรีมรูปแบบด้วยกัน ได้แก่ พาลิตเต้ 35 บาท, ไจแอนท์ โคน 25 บาท, พาแนปป์ 25 บาท และเซเว่นทีน ไอซ์ 20 บาท เป็นการสู้ศึกกับเจ้าตลาดเบอร์ 1 อย่างวอลล์โดยตรง มีการเลือกสินค้า และวางราคาในระดับกลางเพื่อให้เข้าถึงง่าย

พร้อมกับได้พลังของพรีเซ็นเตอร์ พิมฐา ผสมกับความแข็งแกร่งของแบรนด์กูลิโกะ ทำให้ไอศกรีมกูลิโกะเป็นที่รู้จักได้ภายในเวลารวดเร็ว

3. ชีสทาร์ตเบเกอรี่เมืองนอกอิมพอร์ตเข้าไทย

ในปีนี้ได้เห็นแบรนด์ขนมหรือเบเกอรี่ชื่อดังจากต่างประเทศเข้ามาเปิดสาขาในเมืองไทยอยู่หลายราย นอกจากจะสร้างปรากฏการณ์ต่อแถวที่ไม่ได้เห็นมาสักพักใหญ่แล้ว ยังเป็นการนำเข้ามาโดยกลุ่มนักธุรกิจไทย โดยที่ตลาดขนมและเบเกอรี่ในไทยยังมีโอกาสเติบโตสูง มีการเติบอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 7%

1_mx

ในปีนี้มีทั้งร้าน mx cake & bakery โดยกลุ่มไทยเบฟเป็นผู้ลงทุน เป็นการร่วมทุนกับร้านเบเกอรี่ maxim’s cake จากฮ่องกง อยู่ในกลุ่ม Hong Kong Maxim’s Group ได้จัดตั้งบริษัท แมกซ์ เอเชีย จำกัด เป็นการขยายตลาดนอกภูมิภาคครั้งแรก สินค้าส่วนใหญ่เป็นเบเกอรี่

open_pablo

ร้าน PABLO ชีสทาร์ตชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่น โดยกลุ่มใบหยก เป็นผู้นำแฟรนไชส์เข้ามาเปิดสาขาแรกที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน สามารถสร้างปรากฏการณ์ต่อแถวให้เกิดขึ้นในเมืองไทยได้อีกครั้งหลังจากล่าสุดกับแบรนด์การ์เร็ต ป็อปคอร์นที่มาเปิดสาขาเมื่อ 2 ปีก่อน จากร้านพาโบลนี้เองทำให้เกิดกระแสชีสทาร์ตในประเทศไทย มีการทำตลาดโดยการซื้อแฟรนไชส์ของแบรนด์ชีสทาร์ตจากต่างประเทศโดยเซเลบริตี้อีก ได้แก่ ร้าน Milch ชีส คัพจากมืองยุฟิอิ โดยดาราสาว เป้ย ปาดวาด เหมมณี และร้าน Bake ชีสทาร์ตจากเกาะฮอกไกโด โดยสองพี่น้องวิลลี่คัทลียา แมคอินทอช

4. การเปลี่ยนมือของอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย

open_shop_lazadanew

มีดีลสะเทือนวงการอีคอมเมิร์ซอยู่มากมายที่ทำให้เห็นการเปลี่ยนมือบริหารดีลยักษ์ที่สุดก็คือ อาลีบาบาเข้าซื้อลาซาด้า ด้วยมูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท เพื่อรุกตลาดอาเซียน รวมไปถึงกลุ่มเซ็นทรัลเข้าซื้อซาโรล่าในประเทศไทย เนื่องจากเล็งเห็นถึงความแข็งแกร่งของ ซาโลร่า ซึ่งเป็นออนไลน์แฟชั่นยอดนิยมอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และต้องการที่จะต่อแขนต่อขาสู่การเป็น OMNI Channel ของเซ็นทรัลเองด้วย

และอีกหนึ่งรายก็คือ ทางกลุ่ม RAKUTEN ได้ประกาศปิดบริการอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ “ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” เข้าซื้อกิจการทั้งหมดคืนมาแล้วบริหารเอง ถอดชื่อ Rakuten ออกแล้วหันมาใช้แบรนด์ TARAD.com เต็มตัวอีกครั้ง และปรับโมเดล TARAD.com เข้าสู่โมเดลธุรกิจใหม่

5. “กระทะดำ” บาร์บีคิวพลาซ่า

ในปีนี้เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของแบรนด์ บาร์บีคิวพลาซ่าถึง 2 ครั้ง เมื่อต้นปีตอนเดือนกุมภาพันธ์ได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ในการตั้งบริษัทแม่ บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัดภายในประกอบด้วย 3 แบรนด์ บาร์บีคิวพลาซ่า จุ่มแซ่บฮัท และฮอทสตาร์ เพื่อในการจัดการที่ง่ายขึ้น ซึ่งบาร์บีคิวพลาซ่ายังคงเป็นหัวหอกหลัก

1_bar_b_q

นอกจากการรีแบรนด์ที่ผ่านมานั้น บาร์บีคิวพลาซ่าได้ทำการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรอบ 29 ปี เป็นการเปลี่ยนกระทะใหม่ จากกระทะทองเหลืองที่ใช้มานาน 29 ปี มาเป็นกระทะและเตา Black ที่ได้ซุ่มพัฒนามา 6 ปี ใช้งบลงทุนรวม 110 ล้านบาท แบ่งเป็น 55 ล้านบาทในการพัฒนาตัวสินค้า และอีก 55 ล้านบาทในการทำการตลาดโปรโมต

แค่เวลาไม่นานกระทะดำได้กลายเป็นวาระแห่งชาติที่ผู้บริโภคหลายคนต้องไปทดลองให้ได้ และเมื่อทดลองแล้วต่างรีวิวกันสนั่นโลกออนไลน์ ทำให้ช่วงนั้นบาร์บีคิว พลาซ่ามีคิวคึกคักขึ้นมาทันตา ซึ่งกระทะใหม่นี้จะเข้าช่วยอุดจุดอ่อนต่างๆ ทั้งเรื่องช่องตักน้ำซุปและกระทะทรงแบน รวมทั้งทำให้แบรนด์ดูพรีเมียมขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีดราม่าตามมาเมื่อลูกค้าเจอน้ำซุปสีดำ แต่แบรนด์ก็มีการจัดการอย่างรวดเร็ว ทำให้แบรนด์ไม่เจ็บตัวมากเท่าไหร่

6. “นันยางชูก้าร์” ผ้าใบสายหวาน เขย่าวงการรองเท้านักเรียน

เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ และครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของนันยางในรอบ 60 ปี ที่ออกมาทำรองเท้าผ้าใบกลุ่มผู้หญิงที่มีดีไซน์หวานขึ้น ใส่ไปโรงเรียนได้ ทำให้เป็นกระแส และของขาดตลาดอยู่เหมือนกัน

2_nanyang

ในปีนี้ได้เห็นนันยางเขย่าวงการอีกครั้งด้วยการเจาะกลุ่ม ผู้หญิงด้วยการออกรองเท้าผ้าใบสีขาวสำหรับผู้หญิงในแบรนด์นันยาง ชูก้าร์ (Nanyang Suger)” โดยทางนันยางเองได้ใช้เวลาในการคิดโปรเจกต์นี้เป็นเวลา 6 เดือน และใช้งบลงทุนในการ R&D ทั้งหมด 3 ล้านบาท

โจทย์หลักของการออกสินค้าตัวนี้ก็คือคำถามที่ว่า ทำไมผู้หญิงถึงไม่ใส่นันยาง?” เพราะด้วยรูปทรงที่ดูแมนเกินไป จึงดีไซน์สินค้าใหม่ และใช้ชื่อว่านันยาง ชูก้าร์ เพราะสื่อถึงผู้หญิงหวาน มีการใส่กิมมิกด้วยเชือกหลายสีสัน อีกทั้งในตลาดของผ้าใบผู้หญิงยังไม่มีผู้เล่นอย่างจริงจัง ทำให้มีโอกาสธุรกิจสูง และการเติบโตของกลุ่มรองเท้าผู้หญิงก็สูงด้วยเช่นกัน มีการจำหน่ายในราคาคู่ละ 329 บาท

การเจาะตลาดผู้หญิงในครั้งนี้ของนันยาง สามารถกินรวบได้ทั้งกลุ่มเด็กนักเรียนที่สามารถใส่ไปโรงเรียนได้เพราะได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการเรียบร้อยแล้ว และอีกกลุ่มหนึ่งคือเด็กวัยรุ่นทั่วไปที่ใส่เป็นรองเท้าลำลองที่เปลี่ยนสีเชือกตามใจชอบได้ สามารถใส่ไปเที่ยวได้ อีกทั้งยังราคาไม่แพง ทำให้วัยรุ่นตามหาที่อยากได้นันยาง ชูก้าร์กัน

7. ค้าปลีก เตรียมอัพเกรดสู่รีเทล 4.0”

ปีนี้ในตลาดรีเทลอาจจะไม่มีการเคลื่อนไหวมากมายเท่าในปีก่อนๆ ที่มีทั้งเปิดใหม่ที่ทวีความอลังการมากขึ้นๆ และมีการรีโนเวตมากมาย แต่ในปีนี้ก็ได้เห็นโปรเจกต์ใหญ่ๆ เกิดขึ้นเหมือนกันอย่าง สยามดิสคัฟเวอรี่ บลูพอร์ต หัวหิน และเดอะมอลล์โคราช ทำให้เห็นวิวัฒนาการของวงการรีเทลที่ต้องมีจุดต่าง จุดขายที่ดึงดูดลูกค้าได้

20160531-siam-01

17_siam

สยามดิสคัฟเวอรี่ที่ต้องการสู้ศึกรีเทลในระดับไฮเอนด์ในย่านใจกลางเมือง ได้ทำการทุ่มงบลงทุน 4,000 ล้านบาท เนรมิตพื้นที่ 40,000 ตารางเมตร ให้กลายเป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ไฮบริดรีเทล พร้อมกับวางระบบ Connected

Mobile Experiences หรือ CMX พร้อมกับ Hyperlocation โดยร่วมมือกับซิสโก้ เพื่อยิงข้อมูลหาลูกค้าแบบเรียลไทม์ได้ทันที

พร้อมกับค้าปลีกอื่นๆ ที่ได้เริ่มพัฒนาสู่รีเทล 4.0 บ้างแล้ว ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มบริการเพื่อสร้างประสบการณ์ในการช้อปปิ้งให้แก่ลูกค้าอย่างเช่น ท็อปส์ ได้เพิ่มช่องทางให้ลูกค้าได้ชำระเงินเอง เพื่อความสะดวกสบายยิ่งขึ้น

8. “กระทะวู้ดดี้” กระทะขวัญใจแม่บ้าน

Korea King กลายเป็นกระทะขวัญใจแม่บ้านที่เชื่อว่าหลายๆ ครัวเรือนต้องมีติดบ้านไว้อย่างแน่นอน ด้วยการบุกตลาดอย่างหนัก มีการทุ่มงบโฆษณาสูงสุดอันดับหนึ่งติดต่อกันเป็นเวลาหลายเดือน พร้อมทั้งดึงวู้ดดี้ มิลินทจินดา เป็นพรีเซ็นเตอร์ที่สามารถสร้างการจดจำได้อย่างดี จนกลายเป็นที่เรียกติดปากว่ากระทะวู้ดดี้ จนในภายหลังวู้ดดี้ได้ยกระดับขึ้นเป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจกับ Korea King

ความสำเร็จของกรณีกระทะวู้ดดี้นี้ ส่งผลทำให้ผู้เล่นรายอื่นในตลาดหันมาจับตลาดกระทะเคลือบบ้าง อย่าง ลักกี้เวย์ ที่มีการดึงแพนเค้กมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ และพาร์ตเนอร์ธุรกิจ เพื่อหวังที่จะตีตลาด Korea King อยู่เช่นกัน มีการดำเนินกลยุทธ์คล้ายๆ กัน เพียงแต่ยังไม่ได้ทุ่มงบการตลาดมากนัก

9. “เฟซบุ๊กไลฟ์” การมาของวิดีโอสตรีมมิ่ง

เฟซบุ๊กได้ออกฟีเจอร์ใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงให้ผู้ใช้ยังคงใช้งานไม่หนีหายกันไปไหน ในปีนี้เฟซบุ๊กได้ออกฟีเจอร์ “Live” หรือถ่ายทอดสด ที่เล่นเอาเป็นกระแสฮือฮาอยู่เหมือนกัน เพราะนอกจากจะใช้งานง่าย เพียงแค่กดปุ่มไลฟ์เหมือนกดปุ่มตั้งสเตตัสในเฟซบุ๊กส่วนตัว ก็สามารถไลฟ์ได้แล้ว พร้อมกับคอมเมนต์ หรือ Interactive กับคนดูได้แบบการสื่อสาร 2 ทาง

live

การไลฟ์วิดีโอสดๆ เป็นอีกหนึ่งกระแสของความนิยมในการชมสตรีมมิ่งวิดีโอในบ้านเรามากขึ้น เพราด้วยปัจจัยความพร้อมหลายๆ ด้าน ทั้งเรื่องระบบ และอินเทอร์เน็ต ในตอนนี้การไลฟ์ได้กลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำหรับนักการตลาดโดยเฉพาะกลุ่มอินฟลูเอ็นเซอร์ ที่มีการไลฟ์พูดคุยกับแฟนคลับได้อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น ทำกิจกรรมได้ง่ายขึ้น ในอนาคตเฟซบุ๊กได้เตรียมมีโฆษณาคั่นระหว่างดูไลฟ์สดด้วย ซึ่งตอนนี้กำลังทดลองระบบ

10. ศึกพรีเซ็นเตอร์สมาร์ทโฟนแบรนด์จีน

ตลาดสมาร์ทโฟนดูทีท่าว่ายังไม่ถึงจุดอิ่มตัว ในปีนี้มีการแข่งขันและมีการเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเซ็กเมนต์ระดับกลาง และแบรนด์ที่มาจากประเทศจีนมีการแข่งขันกันดุเดือดมาก ซึ่งแต่ละแบรนด์ล้วนจับกลยุทธ์การใช้พรีเซ็นเตอร์ทั้งสิ้น เพื่อสร้างการจดจำให้แบรนด์

ตั้งแต่ต้นปีมีการกลับมาของแบรนด์โมโต เป็นการทำตลาดภายใต้บ้านหลังใหม่ของเลอโนโว และมีการบุกตลาดอย่างหัวเว่ย ที่ชูจุดเด่นเรื่องกล้องถ่ายรูป และการเป็นพาร์ตเนอร์กับทางไลก้า ที่ช่วยสร้างแบรนด์ให้หัวเว่ยพรีเมียมมากขึ้น และทำให้ผู้บริโภคเปิดรับแบรนด์จีนมากขึ้นเช่นกัน

2_phone_presenter_new

3_phone_presenter

นอกจากนั้นยังมี OPPO, Asus, Vivo และ ZTE ที่พาเหรดกันใช้พรีเซ็นเตอร์ ทำให้แต่ละแบรนด์มีคาแร็กเตอร์ และจดจำง่ายขึ้น ออปโป้ได้เลือกใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่ เป็นพรีเซ็นเตอร์ เอซุสได้เลือกปู ไปรยา สวนดอกไม้ เป็นพรีเซ็นเตอร์ ZTE ใช้พรีเซ็นเตอร์ผู้ชายอย่าง มาริโอ้ เมาเร่อในขณะที่ Vivo ได้เลือกใช้ตัวแม่อย่างอั้ม พัชราภา ไชยเชื้อ

11. นายทุนเข้าซื้อกิจการทีวีดิจิทัล

วงการทีวีดิจิทัลก็ยังมีความเคลื่อนไหวให้เห็นอยู่อย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการแต่ละรายก็กางแผนเรื่องทำคอนเทนต์เพื่อให้ครองใจคนดูให้ได้ แต่ด้วยธุรกิจที่ต้องใช้ต้นทุนสูง ทำให้ในปีนี้ได้เห็นการเข้าซื้อกิจการของทีวีดิจิทัลของกลุ่มนายทุนธุรกิจถึง 2 ช่อง ได้แก่ ช่องอมรินทร์ทีวี ที่รวมสื่ออมรินทร์ในเครือทั้งหมดโดยกลุ่มเสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี และช่องวัน ซื้อโดยกลุ่มปราสาททองโอสถ

open_amarin

เสี่ยเจริญได้ควักกระเป๋า 850 ล้านบาท เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 47.62% ในนามของบริษัท วัฒนภักดี ซึ่งดีลนี้หลายคนอาจจะมองว่าคุ้มค่า เพราะทางของเสี่ยเจริญเองจะได้สื่อในมือเพิ่มมากขึ้น เพราะอมรินทร์มีทั้งธุรกิจโรงพิมพ์ ธุรกิจ content นิตยสาร งานแฟร์ สำนักพิมพ์ หนังสือเล่ม รวมทั้งทีวีดิจิตอลช่องอมรินทร์ทีวี เอชดี 34 ที่จะมาต่อยอดธุรกิจของเสี่ยเจริญได้

ส่วนทางด้านของกลุ่มปราสาททองโอสถ ได้ทุ่ม 1,900 ล้านบาทเข้าซื้อช่องวันจากบริษัท วัน เอ็นเตอร์ ไพร์ส ถือหุ้นในสัดส่วน 50% ส่วน GRAMMY ลดสัดส่วนเหลือ 25.50% ด้านกลุ่มนายถกลเกียรติ ลดเหลือ 24.50%

12. เพย์เมนต์บุกไทย เตรียมสู่ยุคไร้เงินสด

นอกจากเทรนด์เรื่องอีคอมเมิน์ซที่มีการเติบโตแล้ว ในปีนี้ยังได้เห็นแนวโน้มที่ดีของระบบการชำระเงิน หรือระบบเพย์เมนต์ ในปีที่ผ่านมานี้เป็นอีกหนึ่งตลาดที่เนื้อหอมอยู่พอสมควร ทั้งแบรนด์ไทยและแบรนด์ต่างชาติต่างบุกทำตลาดในประเทศไทย เพราะด้วยความพร้อมหลายๆ อย่าง และพฤติกรรมผู้บริโภคก็เปิดรับมากขึ้น

2_linepay

open_cenpay

ได้เห็นการเปิดตัวของ LINE Pay, WeChat Pay, Alipay หรือแบรนด์ไทยเองก็มีการพัฒนาเพื่อบุกตลาดเช่นกันอย่าง Pay For U รวมถึงค้าปลีกยักษ์ใหญ่อย่างเซ็นทรัลก็ลงมาทำ CenPay เพื่อเป็นระบบชำระเงินของตนเอง