ไม่ใช่แค่สปีด! เกมโต้กลับของ “ทรูออนไลน์” สร้างสงครามบรอดแบนด์ที่คอนเทนต์

ในปี 2559 ที่ผ่านมาตลาดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากที่มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในตลาดอย่างเอไอเอส ไฟเบอร์และได้ทำการโหมตลาดอย่างหนัก พร้อมชูดจุดแข็งด้วยเทคโนโลยีไฟเบอร์ ช่วยเข้ามาทำให้ตลาดตื่นตัวมากขึ้นจากเดิมที่มีแต่รูปแบบ ADSL

แน่นอนว่าการมีแบรนด์ใหม่เพิ่มเข้ามา ย่อมเข้ามาแบ่งเค้กในตลาด จากที่ทรูออนไลน์ผูกขาดการเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดมาอย่างยาวนาน ถึงกับขาเก้าอี้สะเทือนอยู่บ้าง ทำให้ได้เห็นการเคลื่อนไหวของทรูออนไลน์ในการทำตลาดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์

นอกจากทรูจะมีการลงทุนเปลี่ยนเทคโนโลยีจากสาย ADSL เป็นไฟเบอร์แล้ว ตอนนี้เหลือที่มีการใช้ ADSL อยู่ราว 10% เท่านั้น ทรูยังขยายโครงข่ายปัจจุบันครอบคลุม 8.6 ล้านคัรวเรือน ตั้งเป้าให้ครอบคลุม 10 ล้านครัวเรือน เพื่อรองรับการแข่งขันในตลาด

ปัจจัยสำคัญในการแข่งขันในตลาดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์นี้ยังอยู่ที่เรื่องของความเร็วของอินเทอร์เน็ต ที่แต่ละแบรนด์ต่างอัพสปีดทั้งดาวน์โหลดและอัพโหลด ในปีก่อนยังเห็นความเร็วต่ำสุดที่ 15 Mbps แต่ในปัจจุบันความเร็วต่ำสุดอยู่ที่ 30 Mbps และมีความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 1,000 Mbps โดยที่มีราคาเริ่มต้นที่เท่าเดิมที่ 590 บาท

แต่ด้วยทุกเจ้าแข่งที่สปีดเหมือนกัน จุดเปลี่ยนที่จะเข้ามาเป็นปัจจัยในการแข่งขันอีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องคอนเทนต์ที่จะมาสร้างทางเลือกให้ลูกค้า ซึ่งทั้งสองค่ายเอไอเอสไฟเบอร์ และทรูออนไลน์ก็ได้ดำเนินกลยุทธ์ “คอนเวอร์เจนซ์” การผนึกคอนเทนต์ในเครือ โดยที่เอไอเอสได้ทำการพ่วงกับการแถมกล่องเอไอเอสเพลย์บ็อกซ์ ในการให้ดูคอนเทนต์ทีวี ภาพยนตร์ การ์ตูน กีฬา คอนเสิร์ต คาราโอเกะ รวมถึงคอนเทนต์ฮอลลีวู้ดจาก HOOQ พร้อมได้รับส่วนลดสำหรับลูกค้าเอไอเอส

ทรูออนไลน์ได้ใช้กลยุทธ์คอนเวอร์เจนซ์มานานแล้ว เพื่อเป็นการผนึกบริการทั้ง 3 อย่างของกลุ่มทรูเข้าด้วยกันก็คือทรูออนไลน์ ทรูมูฟ และทรูวิชั่นส์ จะมีแพ็กเกจเฉพาะในราคาที่สูงกว่าบริการเดี่ยว แต่ได้ครบ 3 บริการ นอกจากจะได้ค่าบริการที่มากขึ้น ยังสามารถดึงลูกค้าให้อยู่กับทรูได้นานขึ้นด้วย ซึ่งลูกค้าทรูออนไลน์กว่า 70-80% ได้ใช้แพ็กเกจคอนเวอร์เจนซ์ในราคา 799 บาท

การเปิดเกมรุกของทรูออนไลน์ในปีนี้ได้เป็นการโฟกัสที่คอนเทนต์มากขึ้น เป็นคอนเทนต์จากทางทรูวิชั่นส์ พร้อมเปิดแคมเปญ “เน็ตแรง ช่องดี ทีวีชัด” ที่ออกมาท้าชนกับเอไอเอสไฟเบอร์โดยตรง เน้นจุดแข็งความเป็นเคเบิลทีวีที่ดูทีวีชัดตลอด พร้อมเพิ่มช่องด้านกีฬา และภาพยนตร์เข้าไปอีก ในขณะที่เอไอเอสไฟเบอร์เป็น IPTV

สุภกิจ วรรธนะดิษฐ์ รองหัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่ม ด้านพาณิชย์ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “การแข่งขันในตลาดบรอดแบนด์จะสูงมากขึ้น จากเดิมที่แข่งที่ความเร็วของอินเทอร์เน็ต ตอนนี้ต้องเพิ่มมูลค่าด้วยบริการ และคอนเทนต์เข้าไปด้วย ซึ่งตลาดนี้ยังมีโอกาสเติบโตอีกมากกจากจำนวนฐานลูกค้าของอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในตลาดที่มี 6.9 ล้านครัวเรือน จากจำนวนครัวเรือนทั้งหมดในประเทศ 23 ล้านครัวเรือน และในเรื่องของความเร็วในต่างประเทศขั้นต่ำอยู่ที่ 100 Mbps แล้ว ในไทยยังแค่ 50 Mbps อยู่เลย”

สุภกิจ เดิมได้ดูแลธุรกิจทางด้านของโทรศัพท์มือถือ ก่อนที่จะมาดูแลด้านอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้ว ได้มองความท้าทายของทั้งสองธุรกิจแตกต่างกันว่า

“อุตสาหกรรมบรอดแบนด์กับมือถือต่างกันเยอะ  มือถือมีความแมสมาก ลงทุนเพียงแค่ลงเสาสัญญาณ จากนั้นเปิดสัญญาณก็ใช้ได้แล้ว และใช้ช่างไม่กี่คน แต่บรอดแบนด์เป็นตลาดเฉพาะ ต้องคนที่เชี่ยวชาญทางด้านนี้จริงๆ ต้องมีการเดินสายผ่านบ้าน และเข้าบ้าน ต้องมีประสบการณ์ในตลาด ไม่ใช่ใครจะเข้ามาทำง่ายๆ แต่การแข่งขันก็เป้นเรื่องดี ทำให้ทุกรายปรับปรุงคุณภาพ”

ปัจจุบันทรูออนไลน์มีลูกค้า 2.7 ล้านราย (ข้อมูลไตรมาส 3 ปี 2559) เติบโต 14% ในปีนี้ได้ตั้งเป้าการเติบโต 15% โดยที่กลุ่มลูกค้าที่มีโอกาสสูงและต้องการโฟกัสเพิ่มได้แก่กลุ่มคอนโดและหมู่บ้านจัดสรร เพราะไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่จะอยู่คอนโดกันมากขึ้น